บทที่ ๑๔

– ๑ –

เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ทำนองเดียวกับกระแสน้ำในลำแม่ปิง ไหลเซาะเกาะและตลิ่งทลายเปลี่ยนรูปไปทุกฤดูน้ำ คลองสวนหมากก็กำลังจะแปรสภาพจากหมู่บ้านขึ้นไปเป็นตำบล ผู้คนที่อพยพจากล่างและจังหวัดอื่นไปตั้งภูมิลำเนาลง ณ ที่นั้น เท่า ๆ กับสำมะโนครัวของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตลอดเวลาที่ผ่านไป เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น และพร้อมกับข่าวที่แว่วกันมาจากเมืองเกี่ยวกับเรื่องยกฐานะคลองสวนหมากขึ้นเป็นตำบล ข่าวระบุตัวบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันก็ติดตามมา

“เห็นเขาว่าท่านเจ้าเมืองเจาะจงตัวรื่นแน่” ตาถมบอกแคล้ว ขณะที่แวะเข้าไปเยี่ยมแกที่บ้านในเย็นวันหนึ่ง “มีแต่นายอำเภอเท่านั้นคัดค้านไว้ เขาว่านายอำเภอวารื่นไม่ใช่คนบ้านนี้ นายอำเภออยากได้นายศรีเป็นกำนัน แต่นายศรีเพิ่งข้ามจากเมืองมาอยู่ที่นี่ได้ปีเดียวเท่านั้น แล้วก็ไม่ใช่คนบ้านเราเหมือนกัน”

“แต่เขาก็เป็นคนของนายอำเภอ ป้าแคล้วพึมพำ ป้ายน้ำหมากจากมุมปากเช็ดกับขอบกระโถน “ลืมเสียแล้วรึ คราวตั้งรื่นเป็นผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอแกโปรดปานนักเมื่อไหร่ ดีใจเสียด้วยละกะมัง เมื่ออ้ายทิดมันบอกไม่ยอมรับ คราวแรกเพราะเห็นแก่อ้ายพูน ต้องเจ้าเมืองท่านเรียกตัวอีกครั้ง รื่นมันถึงขัดไม่ได้ นายอำเภอท่านโกรธ หาว่าอ้ายทิดมันเล่นตัว”

แต่เมื่อเวลาล่วงไป ข่าวลือซึ่งแพร่งพรายออกมา เพราะครั้งหนึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปรารภถึงรื่น ในการประชุมคณะกรรมการที่ศาลากลางเกี่ยวกับการปราบปรามโจรผู้ร้าย ผู้ใดก็ตามซึ่งฟังผิดไปบอกเล่ากันต่อ ๆ มา ไม่ปรากฏเป็นความจริง ข่าวนั้นก็ถูกทอดทิ้ง และลืมเลือนไปในท่ามกลางของชีวิตประจำวันอันแห้งแล้ง

รื่นคงทำงานของเขาต่อไป มิได้สนใจไยดีต่อข่าวเหล่านี้ มากไปกว่าภาวะที่เขาเผชิญอยู่ในตลาดของการค้าไม้ บทเรียนที่เขาได้รับจากพวกลูกค้า และบรรดาผู้ที่เคยติดต่อกันมาครั้งสุดท้าย ทิ้งรอยความผิดหวัง และขมขื่นไว้ในควลมทรงจำของเขา อย่างไม่สามารถจะลืมได้ง่าย ๆ เขาหยุดค้าไม้ทุกชนิดในปีต่อมา ด้วยเจตนาที่จะพิจารณาสถานการณ์และเตรียมตัวรับงานต่อไป มากกว่าจะยอมพ่ายแพ้ด้วยความท้อถอย เขารู้ดีว่าพ่อค้าเล็ก ๆ และกำลังทุนน้อยอย่างเขา ไม่มีหนทางเลยในการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างนายเสถียร และบรรดาพ่อค้าซึ่งเป็นตัวแทนของเขา ตลอดสองฟากแม่น้ำนั้น และการขอความช่วยเหลือหรือร่วมมือจากผู้อื่น ก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาประสงค์

เขารู้ และเชื่อในความปรารถนาดีของพะโป้ เมื่อพ่อค้าใหญ่ใจกว้างผู้นั้น เอ่ยปากอนุญาตไว้ในการที่จะช่วยเหลือ เขารู้และเชื่อ เมื่อต่วนด่ำแสดงความไว้วางใจเขาเช่นเดียวกัน ในจดหมายที่เขาได้รับในกาลต่อมา แม้กระนั้นรื่นก็ไม่สามารถจะเอาชนะทิฐิของเขา พอที่จะยอมรับความช่วยเหลือ หยิบยืมทุนรอนจากสองพ่อค้าใหญ่นั้นได้

ด้วยประการฉะนี้เอง รื่นปล่อยให้ปีหนึ่งล่วงไปอย่างเกียจคร้านตามสายตาของคนทั้งปวง และหมดอาลัยไยดีต่ออนาคตของชีวิตตามสายตาของครอบครัว

“ผัวเอ็งเห็นจะคอยให้วิมานลอยมาหา” ป้าแคล้วปรารภกับหลานสาว ภายหลังที่พิจารณาดูการใช้ชีวิตประจำวันของหลานเขยมาเป็นเวลาช้านาน “กูดูมันวิปริตผิดไปทุกวัน ตั้งแต่รอดชีวิตมาจากเรือแตกครั้งนั้น”

แต่ในฐานภรรยาผู้มีศัรทธาต่อสามี ไม่ว่าเขาจะดีหรือร้ายตามสายตาของคนอื่น สุดใจมิได้ปริปากแก่รื่นเลยในเรื่องนี้

“เห็นพี่รื่นว่าอยากจะพักสักปีสองปี เพราะเหนื่อยเต็มทน” หล่อนพยายามอธิบาย

แม่เฒ่ายกไหล่อย่างผิดหวัง

“หลังจากปีสองปี ไปจับงานเข้าอีกครั้ง เอ็งก็มีแต่จะอยู่สุดโด่ง” แกบ้วนน้ำหมาก “อยากค้าไม้เอ็งหยุดไม่ได้ ถึงจะเหนื่อย––เอ็งเหนื่อยไม่ได้ ถ้ารักจะเป็นใหญ่อยู่บ้านนี้”

รื่นมิได้เอ่ยตอบประการใด เมื่อได้ฟังเรื่องนี้จากสุดใจ แต่เมื่อถูกกรอกหูบ่อยเข้า อย่างไม่มีทางเลี่ยงพ้น เพราะบริเวณบ้านอยู่ภายในรั้วเดียวกันเช่นนั้น เขาก็ถอนใจ

“คอยดูต่อไป สุดใจ” เขาบอกด้วยเสียงเหนื่อยอ่อน “ข้าไม่โทษป้าแกหรอกที่เห็นข้าเป็นคนอย่างนั้น ต่างคนต่างคิดกันคนละอย่าง ป้าอยากจะให้ข้าทุ่มตัวเข้าไปแข่งกับพวกนั้น จนกว่าจะชิบหายกันไปข้างหนึ่ง นั่นเป็นเลือดของป้า มันเป็นเลือดของข้าด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเราโจนเข้าไปแข่งขันในตลาดไม้กับเขาเวลานี้ มันก็เหมือนแมงเม่าโจนเข้าสู่กองไฟ เหมือนพยายามกันน้ำเหนือในเวลาขึ้นจัด เปล่า, นั่นไม่ใช่วิธีฉลาดเลย ที่เราจะสู้กับคนที่มีทั้งเงินและอำนาจ อย่างนายเสถียร เรามีอย่างเดียวเท่านั้นที่จะชนะเขาได้ สุดใจ”

“อะไรกันจ๊ะ พี่รื่น ? อะไรกัน ?” ภรรยามองหน้าสามีอย่างเต็มไปด้วยความคาดหวัง

รื่นยกนิ้วชี้ขึ้นที่ทรวงอกเบื้องซ้ายค่อนข้างแรง สีหน้าที่เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียดขึ้นมา

“ใจของข้า !” เขาตอบดุ ๆ “นิสัยของข้า–ประเพณีของเรา ! เสมอต้น เสมอปลาย พูดอะไรเป็นนั่น สัญญาหรือไม่สัญญาไม่สำคัญ”

ประกายซึ่งวับขึ้นในตาคู่นั้นเป็นไปอย่างน่ากลัว แต่อีกครู่เดียวต่อมา รื่นก็หัวเราะ

“นายเสถียรทำให้ข้าหายจากตาบอดมาเป็นเวลาช้านาน นายลูกจ้างต่วนด่ำคนนั้นก็เหมือนกัน–เขาทำให้ข้ารู้จักตัวของข้าและคนพวกนั้นดีขึ้น คนบ้านนี้ เมืองนี้ จะดีต่อเอ็งรักเอ็งตราบใดที่เอ็งยังเป็นประโยชน์ต่อเขา แต่ทันใดที่เห็นเงิน ตาก็ฝ้าฟางไป เอ็งกลายเป็นคนอื่น และคำพูดก็เป็นเพียงลมปากที่หาค่าไม่ได้––”

ความขมขื่นของเขาปรากฏอยู่ในวาจาเหล่านั้น มันทำให้หล่อนรู้สึกใจสั่น เมื่อรู้สึกเหมือนเขาจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากรื่นผู้ยอมเสียเปรียบเพื่อนไม่ว่าใคร มาเป็นรื่นผู้ไม่ยอมให้อภัยแก่ใคร ไม่ว่าเพื่อนหรือไม่เพื่อน

“เอ็งคอยดูต่อไป สุดใจ” เขาพูดอีก “คอยดูว่าเมื่อไม่มีข้าอยู่เป็นก้างขวางคอเขาพวกเหล่านั้นจะได้รับการปะเหลาะเอาใจจากนายเสถียรและคนของเขา อย่างที่เป็นแต่แรกหรือไม่ –– เอ็งคอยดูกันไป––”

คำพยากรณ์ของเขา ถ้ามันจะเป็นคำพยากรณ์, ไม่มีผิดเพี้ยนเลย เพราะในแล้งต่อมาเท่านั้น บรรดาพวกตัดไม้ที่เคยติดต่อกับรื่นมาแต่แรกและหันไปหานายเสถียร ก็เริ่มระส่ำระสาย ประเดี๋ยวพวกท่าไม้แดง และประเดี๋ยวก็พวกคลองเมืองให้มีอันเป็นไป ที่จะต้องลงมาธุระที่กำแพง เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา ที่ขากลับจะต้องแวะเยี่ยมรื่นขาประจำเก่า

“ทำไมวางมือเสียง่าย ๆ รื่น?” เป็นประโยคที่เขาได้รับกระทู้ถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ “ตลาดไม้กำลังตื่นตัวเหมือนน้ำกำลังขึ้น เป็นโอกาสเหลือเกินที่ควรจะรีบตัก”

และด้วยยิ้มที่กร้าวอยู่เหนือริมฝีปาก รื่นก็เพียงแต่ส่ายหน้า ตอบโดยมิได้เฉพาะเจาะจงกับใครว่า

“หิ้งห้อยอย่างข้า จะไปแข่งอะไรกับพระอาทิตย์อย่างนายเสถียรไหว?”

ตามธรรมดาในกรณีเช่นนั้น ผู้ตั้งกระทู้ถามก็มักจะเงียบไปอึดใจหนึ่ง พร้อมด้วยสีหน้าที่เปลี่ยน และกระแสเสียงที่อึดอัดใจ

“รื่นคงจะยังไม่รู้กระมังว่าพวกเราหลายคน ถูกนายเสถียรเล่นงานเสียงอม”

เขาเลิกคิ้วอย่างอัศจรรย์ใจ ทั้ง ๆ ที่คาดคะเนอยู่ล่วงหน้าแล้วว่า อะไรคือเรื่องต่อไปที่เขาจะได้ยิน

“ทำไมล่ะ ?”

“จะทำไม ? ราคาไม้ที่เขาเคยให้อย่างงามถูกกด กำหนดชำระเงินก็คลาดเคลื่อน “หลายคนต้องขายเกวียนขายควายไป เพราะต้องให้ค่าจ้างคนงานพวกเรามันไม่ทันเขาเอง ทำสัญญาส่งไม้ให้เขาทันกำหนด ตามรายการที่บังคับ มิฉะนั้นจะถูกปรับแต่ที่เราไม่ได้เงินตามข้อตกลงกลับทำอะไรเขาไม่ได้ มันไม่มีระบุไว้ในสัญญา”

รื่นหัวเราะอยู่ในลำคอด้วยความขมขื่น แทนสมเพชเวทนา ความรู้สึกสมน้ำหน้า เป็นอย่างเดียวเท่านั้นที่เขาจะให้แก่พวกนั้นได้ ถึงกระนั้นเขาก็ไม่เคยแสดงกิริยาอันใดออกไปให้ปรากฏ แม้บางครั้งจะคิดด้วยความดุเดือด จนเกือบเป็นคนโหดร้ายและทารุณ

ไม่มีอะไรจะมาทำให้เขารู้สึกต่อพวกลูกค้าไม้เหล่านั้นอย่างที่เคยมีไมตรีจิตมิตรภาพต่อกันมาแต่กาลก่อนต่อไปอีกได้ ไม่มีอะไรอีกเหมือนกัน ที่จะมาเป็นอุปสรรคกีดกั้นมิให้เขาปฏิบัติตามบทเรียนใหม่ที่ได้รับ เมื่อขึ้นแล้งใหม่ และวิธีการติดต่อค้าขาย นายเสถียรและตัวแทนของเขายิ่งปรากฏชัดขึ้น บันไดบ้านรื่นก็ต้อนรับพวกตัดไม้แทบไม่เว้นแต่ละวัน

“ปีกว่าแล้วรื่น ฉันยังไม่ได้เงินค่าไม้จากคนของนายเสถียร” คนหนึ่งปรารภ

“เดิมตกลงทำสัญญากันไว้อย่างหนึ่ง ถึงคราวชำระเงินไปเสียอีกอย่างหนึ่ง” อีกคนหนึ่งอุทธรณ์

แต่ละเรื่องแต่ละรายล้วนแต่เป็นเครื่องหมายในการค้าของนายเสถียรทั้งนั้น ความเข้าใจที่ว่ารื่นราข้อไปแล้วจากการชิงชัยอันไม่คู่ควร เป็นเหตุให้ชายผู้นั้นคิดว่าตนรวบตลาดไม้เบญจพรรณบนสองฝั่งแม่ปิงไว้ในกำมือได้โดยสิ้นเชิง

รื่นรับฟังรายงานเหล่านี้ ด้วยกิริยาสงบเสงี่ยมแม้ความรู้สึกภายในจะเดือดพล่าน ความเห็นอกเห็นใจปรานี และสงสาร ยังคงอยู่ที่นั่น แต่สัญชาตญาณแห่งการแก้แค้นทดแทน ก็ไม่หายไปไหน

เขาไม่เคยปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือพวกนั้น แต่การให้ทุกกรณีจะต้องมีการรับเสมอไป เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ตกไม้ตกข้าวหรือยาสูบ จะต้องมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร สิ้นสุดกันทีสำหรับค่าของวาจา สัญญา–สัญญา–และสัญญาเท่านั้นจะเป็นประกันฐานะของเขาให้อยู่ในที่ปลอดภัย

ฉันจะทำให้คนพวกนี้กินจากมือของฉันตลอดไป เขาคิดด้วยความดุเดือด ฉันจะทำให้ทุกคนรู้ว่าค่าของฉันอยู่ที่ไหน พร้อมด้วยฉันเขาจะตั้งตัวอยู่ได้ด้วยดี ปราศจากฉันทุกคนก็มีแต่จะถอยหลังกลับไปสู่โลกเก่าซึ่งคนเราพร้อมที่จะเป็นทาสมากกว่าจะคิดเป็นนาย

“รู้รสเสียได้ยังงสักครั้ง จะได้เข็ดไปจนวันตาย” เขาคิดแล้วคิดอีก

หลังจากสงกรานต์ปีนั้น รื่นขึ้นไปลานดอกไม้ด้วยเรือชะล่ากาบแป้นของเขา พร้อมด้วยสุดใจ และลูกชายทั้ง ๓ คน มณี มิลินทร์ และอรุณ เพื่อตรวจไม้ที่เขาตกไว้แต่ปลายปี ความพิถีพิถันในการพินิจพิจารณาของเขา เป็นที่หลากใจแก่บรรดาพวกลากไม้เหล่านั้น รื่นตรวจแล้วตรวจเล่า ทั้งในเรื่องขนาดเรื่องความโพรกหรือตัน อย่างที่พึงจะตรวจลักษณะม้า นกกระทา หรือนกเขาสำหรับเลี้ยง

“ฉันมีชื่อเสียงที่จะต้องรักษาไว้เหมือนกัน” เขาบอกแก่เจ้าของไม้รายหนึ่ง ซึ่งยืนยันในขนาดและคุณภาพของไม้ที่ลากมาไว้ริมตลิ่ง

ไม่มีอะไรในโลกนี้ จะทำให้เขาสามารถเผชิญหน้าต่วนด่ำได้อีกครั้งพร้อมด้วยความบกพร่อง อย่างที่ได้ผิดพลาดมาแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ จะทำให้เขาสามารถเผชิญกับตนเองได้ด้วยความรู้สึกถึงความบกพร่องทำนองนั้นอีกต่อไป

๗ วันที่ลานดอกไม้ เพียงพอที่จะทำให้เขาแน่ใจถึงความสำเร็จของภาระ ที่ขึ้นมาจากคลองสวนหมาก ท่าไม้แดง และคลองเมืองเป็นจุดหมายปลายทางของเขาต่อไป แต่ก่อนหน้าออกเดินทาง ได้วันเดียวมณีลูกคนหัวปีก็จับไข้

ในชั้นแรก อาการของแกก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้รื่นวิตก อากาศที่ร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน หนาวจัดในเวลากลางคืน อาจจะทำให้ร่างกายคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ซึ่งปล่อยกันตามบุญตามกรรม ตามประเพณี และความเคยชินของเด็กบ้านนอก เปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะฉะนั้นไข้หวัดเป็นอย่างมากที่เขาสงสัย และในวันต่อมา เมื่อปรากกฏผื่นแดงขึ้นที่หน้า ที่ลำตัว อีสุกสีใสหรือหัด ก็เป็นอย่างมากที่เขาจะระแวง จนกระทั่งถึงวันที่สามและผื่นแดงเหล่านั้นลุกลามไปทั่วทั้งตัว พร้อมด้วยหัวที่เป่งเหมือนคนเป็นผี และพร้อมด้วยลายที่หน้าเหมือนตาสัปปะรด รื่นก็ชักเอะใจให้เรืองขึ้นไปตามหมอบนบ้านทันที เพียงแวบเดียวจากสายตาเท่านั้นหมอเฒ่าเก่าแก่ของลานดอกไม้ เนื้อตัวและหน้าตาลายพร้อยไปด้วยริ้วรอยของไข้ทรพิษที่แกได้รับ และรอดมาแต่วัยหนุ่มก็ระบุได้

“ฝีดาษ !” แกบอก คว้าล่วมยาออกมาจากในประทุนเรือทันที “ลองยากะน้ำมนต์ที่ฉันให้ไว้ ผู้ใหญ่ อาการเป็นยังไงส่งข่าวให้รู้ จะได้คิดแก้ไขกันต่อไป”

เปล่า ยาซึ่งประกอบไปด้วยข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้โกฏิ และสมอ ร้อยแปดพันประการมิได้ทำให้อาการของมณีดีขึ้น น้ำมนต์บาตร์นั้นก็เช่นเดียวกัน ท่านอาจารย์ผู้รักษาได้รับทราบข่าวนั้น แต่อย่างมากที่ท่านอาจารย์จะคิดแก้ไขก็เพียงส่งยา ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้มาให้อีกหม้อหนึ่ง พร้อมด้วยการออกตัวว่าไม่สบายยังไปไหนมาไหนไม่ได้

ข่าวนั้นแพร่ออกไปทั่วลานดอกไม้ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่ถึง ๒๐ หลังคาเรือน เหมือนไฟไหม้ป่าผู้คนซึ่งเคยลงมาอาบน้ำที่ตีนท่าหายไป ใคร ๆ ที่เคยไปมาหาสู่ตลอดเวลาที่เรือของรื่น แวะจอดอยู่ที่นั้น พากันออกห่าง การเดินทางไปท่าไม้แดงและคลองเมืองต้องงดโดยเด็ดขาด

รุ่งเช้าของวันต่อมา รื่นก็ตื่นขึ้นพบประกาศิตอยู่ที่หน้าท่า ซึ่งเรือของเขาจอด

“ลูกผู้ใหญ่เป็นผิดาษ รีบไปเสียจากที่นี่ มิฉะนั้นจะเกิดเรื่อง

รื่นอ่านลายมือขยุกขยิกนั้นโดยปราศจากความรู้สึกขุ่นเคือง ฝีดาษมีความหมายร้ายกาจเกินไปที่ชาวบ้านนั้นและชาวบ้านทั้งหลายบนสองฝั่งแม่ปิง ซึ่งเคยผ่านมาแล้วหลายครั้งหลายครา จะสามารถทนรับได้ – – – ร้ายเสียยิ่งกว่ารากสาด ร้ายเสียยิ่งกว่าอหิวาต์ – – โรคห่า สำหรับความเข้าใจของคนในสมัยนั้น

“ถ้ามันเป็นความประสงค์ของเทพยดาฟ้าดินท่านก็แล้วแต่มันจะเป็นไป” เขาบอกสุดใจ

ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง รื่นก็ถอยเรือล่องกลับปากคลอง!

– ๒ –

เด็กชายทั้งสองนอนอยู่บนเตียงเล็กคนละฟากฝาห้องใบตองอ่อนสีเหลืองนวลซึ่งรองรับอันเปลือยเปล่า เลอะเทอะไปด้วยน้ำเหลือดน้ำหนอง แทนผ้าปูที่นอนขับผิวซึ่งเกือบจะกลายเป็นสีมะพลับแก่แลดูเป็นที่น่าสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง และรื่น –– ยืนนิ่งอยู่ข้างหน้าต่างที่เปิดออกไปสู่สวนอันมืดครื้มภายนอก พิจารณาดูหน้ามณีผู้พี่ชาย ซึ่งลายพร้อยไปทั้งเนื้อทั้งตัวและหน้าตา จนไม่สามารถจะบอกประพิมพ์ประพายเดิมได้ และมิลินทร์น้องชายผู้เริ่มปรากฏอาการทีหลัง แล้วก็หันไปหาสุดใจซึ่งนั่งเหม่ออยู่กับเครื่องบดยากลางห้อง

“หมอมาไม่ได้” เขาบอก “ลูกชายแกเจ็บเมียแกเจ็บ เจียดให้แต่ยามา” ภรรยาเงยหน้าขึ้นดูเขาหน่อยหนึ่งเมื่อได้ยินเสียงนั้น แล้วก็หันไปหาลูกชายคนโตอีกอย่างที่ได้จ้องมาตลอดเวลาครึ่งชั่วโมงหลัง โดยมิได้พูดอะไร สีหน้าที่เฉื่อยเฉยเหมือนปราศจากความรู้สึกของหล่อนมิได้เปลี่ยนแปลง ราวกับ คาดหมายล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะได้ฟังประโยคนั้น ตลอดเวลา ๗–๘ วันนับแต่กลับมาจากลานดอกไม้ หมอรายไหนรายนั้นจะต้องให้มีอันเป็นไปมาเยี่ยมไข้ไม่ได้ และหมอในคลองสวนหมากใต้ก็มีไม่มากนัก ท่านพระครูที่วัดเป็นองค์แรกที่รักษามณีในทันทีที่รื่นพาลูกกลับมาถึงบ้าน แต่ภายใน ๓ วันแรกท่านก็ล้มเจ็บ อาการไข้ทรพิษปรากฏโดยรวดเร็วเสียยิ่งกว่าเด็ก หมอจากเมืองเป็นคนต่อมา แต่พอรู้ว่าฝีดาษแกก็หายหน้าตั้งแต่นั้นไป ทุก ๆ วันข่าวที่ได้รับจากบ้านไร่และคลองเหนือ ไม่บ้านใดก็บ้านหนึ่งจะต้องมีคนป่วยด้วยโรคระบาดเดียวกันนี้ ความจริงนั้นหลายครอบครัวล้มเจ็บด้วยฝีดาษ ก่อนมณีจะลงมาถึงปากคลองด้วยซ้ำไป หลายคนโทษว่าลูกชายรื่นเป็นสื่อนำโรคนั้นมาสู่บ้าน แต่อีกหลายคนก็ยืนยันได้โดยมีหลักฐานว่าคนงานป่าของพะโป้นำมาจากป่าต้นคลองเหนือ เมื่อเวลาล่วงไปและอาการเจ็บไข้ระบาดออกไปทั่ว ต่างคนต่างก็วุ่นอยู่แต่สวัสดิภาพของตัว จนไม่มีเวลาพอที่จะไปคิดโทษใคร

“ตาแดงเพ้อตลอดเวลาที่พี่รื่นไม่อยู่” สุดใจบอกหมายถึงลูกชายคนโต “บดยาให้กินกับชะโลมตัวเมื่อกี้ถึงค่อยหลับไปได้”

“ตาใหญ่เป็นยังไง ?” รื่นกระซิบ หมายถึงมิลินทร์พลางก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป นั่งลงข้างหล่อนอย่างอ่อนใจ นัยน์ตาของเขาแดงก่ำ จากการอดนอนมาเป็นเวลาหลายวันหลายคืนติด ๆ กัน

“อาการค่อยยังชั่วกว่ากลางวัน” หล่อนยกตะเกียงลานขึ้นส่องดูลูกคนรองซึ่งนอนหายใจแรงหลับตาพริ้ม “อรุณไปนอนกับป้า เห็นแกว่าขืนให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวก็อีกคน”

รื่นพยักหน้าช้า ๆ เอนกายลงชันศอกข้างโกร่งบดยา หรี่ตาเหมือนจะหลับ แต่เพียงอึดใจเดียวก็กลับลืมโพลงขึ้นมาด้วยความฝืนใจ

“พี่รื่นเหนื่อยมาไปนอนเสียก่อนดีกว่า ฉันจะอยู่เฝ้าแกเอง” ภรรยาบอก “ลูกเป็นอะไรไปถึงจะเรียก”

เขาสั่นศีรษะ โดยมิได้ตอบประการใด แต่ก็อดอ้าปากหาวไม่ได้

ภายในห้องนั้นเงียบสงัด ไม่มีเสียงอื่นใดนอกจากเสียงถอนใจขัด ๆ ดังมาจากเตียงเด็กคนไข้ทั้งสองอยู่เป็นระยะ ๆ และเสียงตะเกียงลานที่หวืออยู่เบา ๆ เหมือนเสียงมอดกัดไม้หรือแมลงเล็ก ๆ ร้อง นอกห้องออกไปมีแต่ความมืด และเสียงน้ำค้างตก นัยน์ตาของรื่นหรี่ปรือจนกระทั่งหลับ ศีรษะของเขาผงกหงุบหงับเมื่อความง่วงเข้าครอบงำ แต่ทุกคราวแขนซึ่งเท้าอยู่เซเสียหลักได้สติคืน ก็ฝืนใจลืมตากวาดไปที่เตียงทั้งสองหันมามองภรรยา ต่อมาอาการง่วงงุบก็เข้าครอบงำอีก

สุดใจซึ่งไม่ได้เปลี่ยนจากอิริยาบถเลย เอื้อมไปหยิบหมอนบนเสื่ออ่อนที่หล่อนปูนอนอยู่ระหว่างเตียงทั้งสองข้างมาสอดให้เข้าข้างหลังเขา

“นอนเสียเถอะ พี่รื่น จะได้มีแรง” หล่อนบอกอีก

นัยน์ตาของรื่นลืม แลสบหล่อนอย่างปรือ ๆ แต่ก็ยังคงแข็งใจสั่นศีรษะปฏิเสธอยู่ตามเคย

“เชื่อฉันดีกว่า” ภรรยาอ้อนวอน

หล่อนจับแขนเขาที่เท้าพื้นห้องอยู่ยกขึ้น พลางสอดหมอนเข้าใต้ศีรษะ สามีปฏิบัติตามอย่างเด็กว่าง่าย

“อย่าลืมปลุกข้าถ้าลูกเป็นอะไรไป” เขาบอกมองดูหล่อน ถอนใจอีกครั้ง แล้วก็หลับไปเพราะความอ่อนเพลีย

สุดใจยังคงนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิม หันหน้าออกสู่หน้าต่าง มือทั้งสองประสานกันวางอยู่บนตัก กิริยาของหล่อนสงบ เงียบเหมือนแม่ชี ที่เข้าฌาณสมาบัติ เสียงหายใจขัด ๆ ของลูกทั้งสองแว่วมาเป็นระยะ ๆ จากเตียงมณีชัดกว่าเตียงมิลินทร์ ครั้งหนึ่งหล่อนได้ยิน เสียงระฆังวัดดังมาแก่ไกล จากที่หนึ่งที่ใด เสียงสุนัขเห่าเกรียว ประเดี๋ยวก็หอน ประเดี๋ยวก็เงียบ ในหัวใจของหล่อนเย็นเฉียบ เมื่อคิดถึงความอ้างว้างของเวลาวิกาล และอนาคตอันมืดมนของลูกทั้งสอง หล่อนมองออกไปยังยอดมะพร้าวในสวน ซึ่งสว่างนวลเรื่อ ๆ เพราะแสงเดือนข้างแรมเริ่มส่อง หันกลับมามองหน้าลูกซึ่งกลายไปเป็นหน้ากากอันน่าเกลียดสพึงกลัว แล้วก็ก้มลงพิจารณาดูหน้ารื่น ซึ่งเคร่งเครียดแม้ในยามหลับ ความสำนึกอันแรงกล้าก็ปรากฏขึ้นอีกในดวงจิตอย่างที่ปรากฏมาตลอดเวลาที่เฝ้าพยาบาลลูก จนนับครั้งไม่ถ้วน

บุคคลเหล่านี้เป็นทั้งหมดที่หล่อนมี ชีวิตของหล่อนไม่เคยมีค่าและความหมายอะไร จนกระทั่งได้พบรื่นและครั้งหนึ่งที่พบเขา รักเขา หล่อนก็ไม่เคยรู้ค่าของชีวิตสมรส จนกระทั่งมีลูกเป็นเครื่องผูกพัน

ฉันจะทำอย่างไร ถ้าปราศจากคนหนึ่งคนใดไป สุดใจคิดแล้วคิดอีก หายงัวเงีย อ่อนเพลีย และครุ่นคิดถึงสวัสดิภาพของคนอื่น แม้กระทั่งตนเอง หล่อนไม่เคยคิดว่าความรักจะเป็นเหตุให้คนเราเห็นแก่ตัวมากถึงเพียงนั้น และในขณะเดียวกันหล่อนก็ไม่เคยคิดว่า มีอะไรที่หล่อนจะไม่สามารถเสียสละเพื่อคนทั้ง ๓ ได้

ตอนใกล้สว่าง เสียงครางดังมาจากเตียงของมณี สุดใจผวาเข้าไปที่ข้างเตียงนั้น เสียงที่กระซิบถามสั่น หน้าที่ซูบอยู่แล้วซีดหนักขึ้น

“อะไรหรือลูก ? จะเอาอะไร ? เป็นยังไงบ้าง ?”

มณียังครางต่อไป ทั้ง ๆ ที่มิได้พยายามลืมตา ซึ่งลืมไม่ขึ้นมาสองวันเพราะต้อขึ้นเต็ม หล่อนรู้ว่าลูกยังไม่ได้สติ แต่ก็อดเรียกต่อไปไม่ได้ จนกระทั่งในที่สุดเสียงครางนั้นเงียบหายไปเอง

ท่ามกลางความวังเวงในเรือนและอากาศ ที่เย็นยะเยือกไปด้วยน้ำค้างอยู่ภายนอก ทุกนาทีล่วงไปอย่างแช่มช้าและทนทุกข์ทรมาน ตะเกียงซึ่งลานอ่อนเริ่มหรี่แสงจวน ๆ ท้องฟ้าเริ่มจะสาง และพระจันทร์เสี้ยวสว่างอยู่กลางท้องฟ้าสีหม่นนั้นเอง สุดใจก็โงกหงุบไปงีบหนึ่ง เพราะทนความง่วงไม่ได้

รุ่งขึ้นทั้งวัน อาการของมิลินทร์ค่อยดีขึ้น ในขณะที่มณีมีแต่ทรุดหนักลง แกได้แต่นอนนิ่ง ไม่ไหวติงไม่พูดจา อาหารใด ๆ กินไม่ได้แม้กระทั่งน้ำข้าวต้ม ร่างอันยังเละไปด้วยฝีที่แตกดูเหมือนตอตะโก ที่กลิ้งอยู่กลางหนองผี ซึ่งซับและเช็ดไม่รู้จักหมด อาการหายใจระรวยเท่านั้นที่แสดงว่าเป็นสิ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่

ป้าแคล้ว ซึ่งเป็นคนแรกที่เข้าไปดูอาการของหลานทั้งสอง ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนอื่นหรือสุดใจจะตื่น น้ำตาคลอกลับออกไปหาจำปาซึ่งคอยผลัดเวรเฝ้าพยาบาลในเวลากลางวัน

“เจ้าใหญ่ฝีตกสะเก็ดแล้ว เห็นจะไม่เป็นไร แต่อ้ายหมา––” แกหมายถึงมณี หยุดนิ่งอยู่นานก่อนที่จะกล้ำกลืนน้ำตาไว้ได้ “อ้ายหมาไม่ดีขึ้นเลย”

รื่นเป็นคนต่อมาที่สังเกตเห็นอาการทรุดหนักอย่างผิดปกติของลูกชายคนหัวปี สีหน้าของแกซึ่งไม่เป็นหน้าตาอีกต่อไป เกือบจะกลายเป็นสีขี้เถ้า แม้กระนั้นเขาก็มิได้เอ่ยอะไรกับสุดใจซึ่งตื่นขึ้นภายหลัง วันนั้นทั้งวันผ่านไปอย่างเงียบเหงา ประเดี๋ยวได้ข่าวคนตายจากบ้านไร่ ประเดี๋ยวจากท้ายวัด ประเดี๋ยวจากคลองเหนือ จากนอกชานเรือนของเขารื่นแลเห็นเรือหลายลำนำศพของผู้ตายข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นป่าพุทรา–– ป่าช้าฝังศพมาแต่ไหนแต่ไร บางรายอย่างเงียบเชียบเหมือนภาพที่เห็นในฝันร้าย และบางรายเสียงร้องไห้ของญาติและมิตรของผู้ตายก็แว่วข้ามแม่น้ำมาถึง เขารู้ดีว่าวันหนึ่งบางทีจะชั่วโมงใดต่อไปข้างหน้า เขา สุดใจ จำปา ป้าแคล้วและคนในบ้านอันเป็นที่รักใคร่อย่างสุดสวาทขาดใจของเด็กผู้น่าสงสาร ก็คงจะต้องตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน รื่นรู้ว่าทุกชั่วนาฬิกาและนาทีเขาคอยเวลานั้นด้วยการปลงตกเสียแล้ว แต่เมื่อกาลอวสานของลูกชายหัวปีมาถึงเข้าจริง เขาก็อดสะเทือนใจ ทอดอาลัยตายอยากในชีวิตไปชั่วครู่ยามหนึ่งไม่ได้

มรณะมาถึงมณี ท่ามกลางราตรีที่มืดสนิท วังเวงไปด้วยเสียงสุนัขหอน สะท้านสะเทือนไปด้วยเสียงบ่างที่ร่อนร้องขึ้นลงอยู่ในดงมะพร้าวหลังบ้าน และพระจันทร์ข้างแรมที่ทอแสงแดงเรื่อเหมือนโลกทั้งโลกร้างผู้คน ในคืนต่อมา แกขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้เป็นครั้งแรกในระยะ ๓–๔ วันหลัง ยื่นมือทั้งสองออกไขว่คว้าอากาศพร้อมกับเสียงร้องแหลมซึ่งฟังไม่ได้ศัพท์

รื่นซึ่งนั่งอยู่ข้างเตียงขยับใกล้เข้าไปอีก กระซิบถามด้วยเสียงเครือว่า

“อะไรกันลูก ? อะไร ?”

เด็กน้อยไม่ตอบ คงได้แต่ไขว่คว้าอากาศเบื้องบนต่อไป นัยน์ตาซึ่งเคยปิดสนิทเพราะพิษฝีที่แตก ลืมโพลงแลไม่เห็นอะไรนอกจากหนอง

“บอกพ่อ ว่าอะไร ?” รื่นปลอบต่อไป

“เข้านิโรธเสียแล้ว พี่รื่น” สุดใจสะอื้น ความตื้นตันคอหอยทำให้หล่อนพูดไม่ออก

“บอกพ่อ !” รื่นกระซิบอีก ยื่นมือหนึ่งออกไปลูบหลังสุดใจ นัยน์ตายังจับอยู่กับลูก

ริมฝีปากซึ่งบอบช้ำยับเยินของเด็กน้อยขมุบขมิบด้วยความพยายามอย่างเหลือฝืน รื่นก้มหน้าใกล้เข้าไปอีก “บอกพ่อว่าอะไร ?”

“ใกล้เข้ามาอีกนิด––ใกล้เข้ามาหนูคว้าเกือบถึงแล้ว” มณีพึมพำแผ่ว แต่ก็ฟังถนัดชัดเจน แกเหยียดแขนทั้งสองออกเป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนั้นเสียงก็เงียบหาย นัยน์ตาที่เต็มไปด้วยหนองทั้งคู่ปิดสนิท และแขนทั้งคู่ตกลงประสานกันอยู่บนทรวงอก คางที่ยื่นตกลงชิดกับยอดอก และนั่นเป็นวินาทีสุดท้ายที่รื่นกับสุดใจได้เห็นลูกหัวปีมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

สุดใจปล่อยเสียโฮใหญ่ หล่อนร้องไห้อย่างที่ไม่เคยร้องในชีวิต โดยไม่ยอมฟังเสียงปลอบโยนของรื่น ของจำปา ป้าแคล้วและใคร ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็หยุดเงียบไปเอง เพราะความเหนื่อยอ่อน ได้ยินแต่เสียงสะอึกสะอื้นอันแผ่วเบา ปรากฏออกมาจากในลำคอเป็นระยะ ๆ

“เขาทำบุญร่วมกับเรามาเพียงแค่นั้นเอง สุดใจ” รื่นพึมพำแล้วพึมพำเล่า ทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่างเปล่าเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไปจากชีวิตอย่างไม่มีอะไรจะทดแทนได้ นัยน์ตาของเขาแดง แต่ก็แห้งเกราะเพราะความรักและความเสียดายเกินไปเกินที่จะร้องไห้ เกินที่จะรู้สึกปวดร้าว

ฉันหรือคิดไว้หนักหนา ว่าโตขึ้นเขาจะเหมือนฉันหรือดีกว่า เพื่อเป็นทายาทรับช่วงงานใดๆ ที่ยังเหลือค้างไว้ต่อไป เขาคิดด้วยความคิดเดียวกันกับเมื่อวันมณีแรกเกิด ต่างแต่คราวนี้เป็นวาระสุดท้ายของมณีและความคิดนั้น ตลอดเวลาของการอาบน้ำ ยกศพใส่โลงและสวดพระอภิธรรม จนกระทั่งนำร่างอันปราศวิญญาณของลูกข้ามไปฝังที่ป่าพุทราฟากโน้น รื่นรู้สึกเหมือนคนที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น ทุกการยิ้มเป็นไปอย่างฝืน ทุกวาจาเป็นไปอย่างไม่มีความหมาย อากัปกิริยาภายนอกของเขาอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ซึ้งลงไปภายในไม่มีใครบอกได้ว่าเขาได้รับความกระทบกระเทือนเพียงใดจากการสูญเสียลูกคนนี้ไป เขาปลอบโยนสุดใจ เพื่อให้หล่อนคลายจากความเศร้าโศก แต่ขณะเดียวกันไม่มีใครหรืออะไรจะปลอบโยนใจเขาได้ อาการหายวันหายคืนของมิลินทร์จนกระทั่งลุกนั่ง เดินเหินได้ในวันต่อๆ มาเพียงแต่จะทำให้คลายกังวล แม้กระนั้น ลูกทุกคนก็ไม่เหมือนมณี เพราะเหตุที่แกเป็นตัวแทนของความตื่นเต้นยินดีในชีวิตของการเป็นพ่อคน และความปรารถนาทั่วปวงเป็นครั้งแรก

รื่นรู้ว่า เขามิใช่ผู้เดียว ตลอดคลองใต้ บ้านไร่และคลองเหนือ ที่ได้รับการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ เพราะความฝัน ความหวังและความปรารถนาเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตต้องแหลกสลายไป หลายสิบครัวเรือนตกอยู่ในสภาพและภาวะเดียวกัน ไม่มากก็น้อย ด้วยการสูญเสียบุคคลที่รักไป บางรายเป็นลูก บางรายเป็นพ่อแม่ และบางรายก็ทั้งครัวเรือน จนกระทั่งเย็นยะเยือกไปทั้ง ๓ หมู่บ้านซึ่งติดต่อกัน บรรดาวัดทั้งหลายใกล้ลักษณะร้างเพราะเหลือพระจำพรรษาอยู่ไม่กี่องค์ หลายศพถูกฝังโดยมิได้สวดอภิธรรม หรือบังสุกุล และหลายสิบศพถูกฝังโดยปราศจากแม้แต่โลงจะใส่

หลายหลังคาเรือนที่เขาไปเยี่ยมเยียนเตรียมอพยพเข้าป่า เพราะไม่สามารถที่จะข้ามฟากไปฝั่งเมืองหรือไปที่ไหนได้ อีกหลายหลังคาเรือนอยู่อย่างซังกะตายไปวันหนึ่งๆ เพราะทอดอาลัยตายอยากในชีวิต และหลายสิบหลังคาเรือนร้างไปเพราะไร้ชีวิตอยู่อาศัย เขาไม่มีทางที่จะช่วยเหลืออะไรได้เลย เพราะไม่รู้ว่าจะให้ความช่วยเหลือในทางใด ขณะที่แม้แต่ตนเองยังช่วยไม่ได้ ตลอดเดือนต่อมาเต็ม ๆ ไม่มีใครผ่านไปมาในคลองสวนหมาก การงานประจำวันทุกอย่างหยุดชะงัก ชีวิตก็เหมือนจะย้อนกลับไปสู่สมัยหิน ซึ่งทุกคนมอบอนาคตให้อยู่ในเงื้อมมือของธรรมชาติ และอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปราศจากตัวตนมองไม่เห็น และสัมผัสไม่ได้

เขารู้ว่า ขึ้นเป็นอยู่ตามยถากรรมเช่นนี้ต่อไปจะเป็นบ้าตายในวันหนึ่ง ด้วยความว้าเหว่เยือกเย็นเข้าจับหัวใจ ด้วยความว่างเปล่าของบรรดาบ้านช่อง ซึ่งมิตรสหายผู้รู้จักรักใคร่และคุ้นเคยกันมาเป็นเวลาช้านานทิ้งไว้ และด้วยความทรงจำรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักเหล่านั้น

“ช่วยฉันคิดหน่อยเถอะป้า ว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป ?” เขาปรารภกับแม่เฒ่าแคล้ว ขณะที่กลับจากฝังศพเพื่อนบ้านในเย็นวันหนึ่ง “ขืนนิ่งกันอยู่อย่างนี้ต่อไป อีกเจ็ดแปดหลังคาเรือนที่เหลือ ก็คงวอดวายรวมทั้งเราด้วย”

นัยน์ตาของหญิงชราเพ่งออกไปข้างหน้า เหมือนจะพยายามมองให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นิ่งอยู่สักครู่ ลงท้ายก็ถอนใจ หันกลับมาหาหลานเขย

“เมื่อยังสาวๆ แรกมาอยู่ที่นี่ ข้าเคยขึ้นไปในคลองกับแม่ของสุดใจมัน” แกบอก “ข้าเคยเห็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงกะพวกแม้ว กองเป็นเถ้าถ่าน ชั้นแรกก็คิดว่าถูกไฟป่าไหม้ แต่ลองถามพวกที่พบปะดู กลับปรากฏว่าไม่ใช่ เอ็งรู้ไหม อ้ายทิดว่ามันเกิดจากอะไร ? พวกนั้นเอาไฟเผา!––เพราะห่าลงกิน เป็นที่ไหนมันเอาไฟจุดที่นั่น มันอาจจะอพยพไปอยู่กันที่อื่น แต่พวกเราที่เข้าไปหาของป่าอยู่ทับที่เก่า ไม่เคยปรากฏว่าเป็นโรคนั้นซ้ำเลยจนรายเดียว”

“แต่เราไม่ใช่พวกกะเหรี่ยงหรือแม้ว จึงจะทำอย่างนั้นได้” รื่นค้านด้วยเสียงอ่อนอกอ่อนใจ “ไม่ชอบใจจากที่หนึ่งก็เพียงแต่หอบเสื่อผืนหมอนใบ ไปตั้งเพิงพักกันใหม่ในที่อื่น แล้วก็ที่ต่อไป เราปลูกเรือนลงที่นี่ก็ด้วยหมายจะให้เป็นที่อยู่อาศัยไปจนวันตาย ป้า ฉัน สุดใจ กับลูกๆ”

แม่เฒ่าส่ายหน้าไปมาช้า ๆ

“ข้าไม่สำคัญอะไร อ้ายทิด” แกบอก “อีกไม่ช้าไม่นานวันตายของข้าก็คงจะมาถึง ก่อนเอ็ง ก่อนสุดใจ ก่อนอ้ายใหญ่อ้ายเล็ก การตายเป็นเรื่องของคนแก่อย่างข้า แต่การอยู่เป็นเรื่องของเด็ก คิดดูให้ดีเอ็งกะสุดใจมันมีอะไรติดตัวมาแต่แรก บ้านช่องของนอกกายสำหรับความสะดวกสบายทั้งหลายแหล่ เกิดทีหลังด้วยน้ำพักน้ำแรงทั้งนั้น มันเป็นของที่อยู่ในอำนาจเอ็ง แต่ชีวิตไม่ใช่ เอาชีวิตไว้ก่อนอ้ายทิด ตราบใดยังมีชีวิต เอ็งยังมีความหวัง ตราบใดที่เอ็งยังมีหวัง เอ็งตั้งตัวอีกได้”

สุดใจไม่สามารถจะให้คำแนะนำเขาได้เลยในเรื่องนี้ จำปา เรื่อง พันและแวว ก็อย่างเดียวกัน

“พี่รื่นตกลงอย่างไร ฉันเอาด้วยทั้งนั้น” ทุกคนบอก

มันเป็นปัญหาที่ยากลำบาก และปวดร้าวแสลงใจที่สุดรายหนึ่ง ในชีวิตของเขาที่จะตัดสิน รื่นลังเลอยู่หลายวัน ในขณะที่มรณะคุกคามใกล้เข้ามา จนกระทั่งลูกชายคนเดียวของจำปาล้มเจ็บลงอีกคนหนึ่ง เขาจึงตกลงใจ

“บอกทุกคนที่นี่กะที่บ้านไร่ ว่าเราจะออกไปอยู่ที่วังกระทะชั่วคราว” เขาสั่งเรือง พันและแวว “ใครจะไปด้วยให้เตรียมตัวไว้ บ้านไหนร้างจุดไฟเผาให้หมด บ้านที่ยังมีคนอยู่ สุดแท้แต่เจ้าของจะเลือก ของข้าเองจะปล่อยไว้อย่างนี้ ตามแต่พระเพลิงท่านจะชี้โชคชะตา แต่เทวดาท่านจะโปรด กำหนดออกจากที่นี่พรุ่งนี้เช้า”

ราวย่ำรุ่งของวันต่อมา รื่นก็ได้รับคำตอบ เมื่อปรากฏว่า แสงไฟสว่างจับท้องฟ้าเหนือบ้านไร่ ต่อมาก็ท้ายวัดพระบรมธาตุ และสว่างถัดมาเป็นลำดับ แต่ต่างกับคราวถูกไฟป่า ไม่มีใครจะวิ่งโกลาหล ไม่มีใครสนใจที่จะดับ หรือขนของหนี ทุกครัวเรือนที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่างก้มหน้าก้มตาเก็บข้าวของที่จำเป็นใส่กระบุงตะกร้า หรือเกวียนแล้วแต่จะมี ต่อมาก็ยกหนีบริเวณที่ไฟจะลามถึง ออกไปนั่งนอนอยู่ตามทางเกวียนหลังบ้าน โดยปราศจากความกระปรี้กระเปร่า ปราศจากการกระตือรือร้น

ยืนดูแสงไฟสว่างโพลงอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา บน นอก ชานเรือนกับสุดใจคืนนั้น รื่นหันไปมองดูสีหน้าซึ่งยังไม่หายซูบซีดอิดโรยของหล่อน แล้วก็พึมพำว่า

“มันน่าขันไหมล่ะ สุดใจ ที่ข้าต้องทำสิ่งตรงกันข้ามสองครั้งในเรื่องอย่างเดียวกัน คราวแรกเป็นคนสั่งให้ช่วยดับ เพราะมันไม่ได้เกิดจากมือคน มาคราวนี้กลับสั่งให้เผาเพราะมันเป็นหนทางเดียว ที่จะช่วยให้พวกเรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้”

และสุดใจ ด้วยสีหน้าซึ่งปราศจากความยินดีหรือยินร้าย เพ่งดูท้องฟ้าและยอดมะพร้าวที่สว่างไสวไปด้วยแสงเพลิงเหล่านั้น ก็เพียงแต่จะพึมพำว่า

“ลูกไฟมันคงจะปลิวมาตกลงบนหลังคาเรือนเราอีกไม่ช้าก็จะไหม้เป็นจุณไป”

“เราจะปลูกมันใหม่ เมื่อกลับมาอีกครั้ง” เป็นคำตอบเรียบ ๆ ของรื่น

“คงจะเป็นเวลาอีกหลายเดือนหลายปี หรือชั่วชีวิตกว่าที่นี่จะกลับเป็นที่นี่”

“อีกกี่ปี กี่สิบปี หรือชั่วชีวิตเราก็จะช่วยกันสร้างให้เป็นอย่างเก่า และดีกว่าเก่า”

“แต่เราไม่มีวันจะเรียกชีวิตคนเหล่านั้นกลับมา คืนมาได้”

“ชีวิตเกิดใหม่ทุกวัน มิฉะนั้นโลกนี้ก็ร้างไปนานแล้ว มีแต่เกิดไม่มีตาย ป่านนี้เอ็งก็คงไม่มีที่อยู่ในโลก”

“ถึงอย่างไร มันก็ไม่เหมือนคนเก่า เรารู้จักเขามานาน รักกันมานาน”

“ทุกคนล้วนแต่แปลกหน้าทั้งนั้น ก่อนที่เอ็งจะรู้จัก และรัก อย่างข้า อย่างเอ็ง – สุดใจ !”

ภรรยามิได้เอ่ยตอบอะไรอีกต่อไป มือทั้งสองของหล่อนประสานกันอยู่ข้างหน้า เมื่อรื่นก้มลงมองดูก็เห็นประกายของหยาดน้ำตา ซึ่งต้องแสงไฟเกาะอยู่ที่แก้มหล่อน

“ไปเสียอกเสียใจทำไม ไม่ตายเสียยังหาใหม่ได้” เขาโบกมือไปที่ตัวเรือนและบริเวณรอบๆ กาย

“ฉัน – – ฉันกำลังคิดถึงมณีจ๊ะ พี่รื่น” สุดใจสะอื้น

นามของลูก ซึ่งหล่อนเอ่ยขึ้นมาโดยไม่ทันเตรียมตัว ทำให้เขานิ่งด้วยความรู้สึกตื้นตันคอหอยไปเป็นนาน แต่แล้วก็หักใจได้

“แกตายอย่างสงบ ตายโดยไม่ได้ดิ้นรนกระวนกระวาย” เขาพึมพำพยายามปลอบใจตนเอง เท่า ๆ กับปลอบหล่อน “นอกจากนั้น – – พ่อแดงอดทนกว่าใคร ๆ อดทนเสียยิ่งกว่าผู้ใหญ่บางคน”

เขาปลอบโยนหล่อนจนหายสะอึกสะอื้น แล้วก็จูงมือลงบันไดเรือนไปสมทบกับคนอื่น ๆ ที่เกวียนซึ่งเทียมควายบรรทุกของจอดคอยอยู่หลังบ้าน

ท่ามกลางกลิ่นควันที่ลอยมาตามลม และรุ่งอรุณซึ่งเรื่อเรืองขึ้นที่ขอบฟ้าเบื้องตะวันออกนั่นเอง ขบวนเกวียน และหาบคอนของบรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ จากเงื้อมมือมฤตยูซึ่งกวาดผู้คนไม่เลือกหน้า เกือบเตียนคลองสวนหมาก และบ้านไร่ในปีนั้น ก็เคลื่อนที่มุ่งตรงไปยังวังกระทะหลังดงเศรษฐีอันสมบูรณ์ไปด้วยน้ำท่าทุกฤดูกาล อย่างเงียบ ๆ และเศร้า ๆ เหมือนขบวนแห่ศพหรือเจตภูตผู้ไร้แผ่นดิน เกือบไม่มีใครได้ผินหน้ากลับไปดูเคหสถานที่จากมาอีก เพราะเกรงความวาบหวามที่จะได้รับจากภาพของเปลวไฟ ที่กำลังแลบเลียหรือเหลือแต่ซากที่เป็นเถ้าถ่านแล้ว เกือบไม่มีใครได้ผินหน้าไปหากันและกัน เพราะหวาดหวั่นต่อความทุกข์ทรมานและเศร้าหมอง ที่จะได้เห็นจากนัยน์ตาของแต่ละคู่ เสียงกงล้อของเกวียนลั่นและเกราะหรือกะดึงที่ผูกคอควายลั่นสะเทือนขณะเดินดังอยู่เป็นระยะ ๆ เท่านั้น ที่แสดงว่านี่มิใช่ขบวนปีศาจหรือเจตภูต ––– มนุษย์ผู้มีความหวังและกำลังใจเป็นเกราะป้องกันตัวในการเผชิญกับมหาภัยและอุปสรรค ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติหรือมนุษย์

เบื้องหลังออกไป หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านยังคงตกเป็นเหยื่อของไฟต่อมาตลอดทั้งวัน จนกระทั่งมันโทรมและมอดดับไปเอง เหลือแต่ควันที่ลอยกรุ่น เมื่อปราศจากเชื้อ และไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกสำหรับจะไหม้ หลายหลังคาเรือนที่เจ้าของละทิ้งไว้ด้วยความเสียดาย เหลือแต่กองถ่านและเสาที่ดำเหมือนตอตะโกและหลายหลังคาเรือน ก็รอดพ้นไปได้เพราะกระแสลม เปลี่ยนทางลูกไฟหรืออยู่ในบริเวณที่มันลุกลามไม่ถึง แต่จะไหม้หรือไม่ไหม้ ไม่มีหลังใดเลยจะอยู่ในสภาพเดิมของมันอีกต่อไป ไม่มีหลังใดที่เหลืออยู่เลยจะปราศจากริ้วรอย ซึ่งแสดงว่าครั้งหนึ่งทัพมัจจุราชลงมาเยือนที่นั่น.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ