คำนำ

ทำนองเดียวกับ ทุกประเทศ และชาติ หมู่บ้าน และ ตำบล มีประวัติของมันไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงกระนั้น ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าในการเขียน “ทุ่งมหาราช” ก็มิได้ปรารถนาจะให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนนามกันมาเป็น นครชุม หรือประวัติของชาวบ้านนั้นโดยแท้จริง มากไปกว่าเสมือนบันทึกของเหตุการณ์ ประจำยุคประจำสมัย ซึ่งผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้า และก่อนหน้าข้าพเจ้าขึ้นไป ฉะนั้นจึงไม่ต่างอะไรกับการเขียนจากความทรงจำรำลึก และความรู้สึกซึ่งอาจผิดพลาดได้ง่าย ข้อเท็จจริงที่ได้อาจจะคร่าวเกินไป ลางเลือนและเลอะด้วยกาลเวลา นั่นมิใช่วิธีเขียนนวนิยาย ซึ่งจะเรียกกันว่าชีวประวัติ และนั่นมิใช่แบบอย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ

ถึงกระนั้นความทรงจำรำลึกของคนเรา ก็แจ่มชัดในวัยเยาว์มากกว่าในวัยต่อมา ภาพใด ๆ ที่พิมพ์อยู่ในอนุสติก็เช่นเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้ “ทุ่งมหาราช” ก็อาจจะหลีกหนีไม่พ้นจากภาพของชีวิตบุคคลประจำยุคที่ปรากฏในท้องเรื่อง ภาพของเมือง และตำบล ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความทุกข์ทรมานของบุคคลเหล่านั้นก็เช่นเดียวกัน พัวพันอยู่กับวิถีชีวิตของตัวละครในเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจินตนภาพ และนอกจากบางบุคคล ซึ่งนามและการบำเพ็ญกรณีย์ยังเป็นอนุสาวรีย์ประจำกำแพงเพชรมาเป็นเวลาช้านาน ในฐานผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่อนาคตของเมืองนั้น บรรดานามใดก็ดี บุคลิกภาพใดก็ดีที่ไปสอดคล้องหรือละม้ายคล้ายคลึงกันเข้ากับท่านผู้ใด ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือวายชนม์แล้ว เป็นการบังเอิญและโดยมิได้มีเจตนา

อย่างไรก็ดี สิ่งใดที่เป็นไปโดยบังเอิญเกี่ยวกับความพ้องกันของบุคคลและนาม ความพยายามของข้าพเจ้าที่จะบรรยายถึงขนบประเพณีชีวิต และนิสัยส่วนใหญ่ของชาวคลองสวนหมากก็เป็นไปโดยเจตนา เหตุการณ์อันเกิดจากมหาภัยธรรมชาติ นับแต่โรคระบาด อุทกภัย ทุพภิกขภัยก็เช่นเดียวกัน เพราะครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยผ่านชีวิตเช่นนั้น อย่างที่พวกเขาได้ผ่าน และเพราะขนบประเพณีชีวิตและนิสัยเหล่านั้นเอง ที่ทำให้คลองสวนหมาก และชาวคลองสวนหมากพร้อมด้วยลูกหลานของเขาต่อมา สามารถต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และชนะแก่ภัยธรรมชาติเหล่านั้นจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

น่าเสียดาย ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะบรรยายให้ถึงเพียงครึ่ง หรือเสี้ยวของเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ความพยายามใด ๆ ล้มเหลว มิใช่เกี่ยวด้วยความล่วงไปของกาลเวลา มากกว่าความยิ่งใหญ่ในการเสียสละและความทรหด อดกลั้น ของชาวบ้าน รุ่นและยุคนั้น ซึ่งบากบั่นบุกเบิกวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตไว้สำหรับคนรุ่นหลัง ธรรมชาติมากกว่ามนุษย์ เป็นภัยที่ร้ายกาจสุดสำหรับคลองสวนหมาก และชาวคลองสวนหมากสมัยนั้น การอยู่เพื่อกันและกันไม่ว่าในวันดีหรือวันเลว เป็นสายสัมพันธ์อย่างเดียวที่ช่วยรั้งให้เขาเป็นออกมาจากมรณะอย่างอเนจอนาถได้

ภาพที่โหดร้ายสยดสยอง แต่ก็พิมพ์ประทับกับใจของข้าพเจ้าอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ได้แก่คราวฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาด คร่าชีวิตชาวบ้านไปเกือบหมดปากคลอง และความอดอยากซึ่งพวกเราได้รับอย่างแสนสาหัสในกาลต่อมา ทั้ง ๒ กรณี ครอบครัวของข้าพเจ้าต้องอพยพเข้าไปอยู่ในป่ารวมกับบรรดาเพื่อนบ้านที่ยังเหลืออยู่ ชีวิตเด็ก ๗ – ๘ ขวบอาจจะไม่รู้ว่าการเสียสละและภราดรภาพคืออะไร แต่การร่วมรับภัยก็ผูกพันจิตใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กไว้เหมือนครอบครัวเดียวกัน ข้าวทะนานเดียวปนกลอยกินทั้งชมรม เนื้อหรือปลาที่ได้มาตัวเดียวแจกจ่ายกันไปทุกครัวเรือน บางวันพวกผู้ชายยอมอด เพื่อให้พวกผู้หญิงและเด็กได้กิน บางวันทั้งผู้ชายผู้หญิงและเด็กไม่มีอะไรจะกิน ต่างก็ออกขุดรากไม้เผือกมัน ได้มามากน้อยเท่าใดรวมไว้เป็นกองกลางแล้วก็เฉลี่ยกันไป ความทุกข์ยากเจ็บปวดรวดร้าวของสมาชิกครอบครัวหนึ่งครอบครัวใด เหมือนสมาชิกในครอบครัวของเรา ความทรมานของเขา คือความทรมานของเรา ความตายของคนหนึ่งเหมือนความตายของญาติสนิทและมิตรรักทุกคน ไม่มีใครหัวเราะเมื่อเกิดการร้องไห้เพราะไม่มีใครร้องไห้ เมื่อเกิดการหัวเราะ

อะไรเป็นเหตุให้เราปฏิบัติต่อกัน และระหว่างกันเช่นนั้น ?

ข้าพเจ้าไม่สามารถจะค้นหาสาเหตุได้จนกระทั่งบัดนี้ อย่างดีที่สุดที่จะระลึกออกก็เพียงแต่นับแต่จำความได้ ประเพณีและนิสัยเช่นนั้นมีอยู่ระหว่างชาวคลองสวนหมาก มันอาจจะมาจากผลของพระพุทธศาสนา และมันก็อาจจะมาจากธรรมชาติของคนที่เกิดในป่าในดงอย่างเรา

แต่ความทรงจำรำลึกถึงบุคคลเหล่านั้นเอง ข้าพเจ้าขออุทิศ “ทุ่งมหาราช” ให้ – – – เรื่องเล็กๆ ที่พยายามจะเข้าให้ถึงส่วนลึกแห่งความยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์เรา เพื่อความสุขและสวัสดิภาพของส่วนรวม ความพยายามนั้นอาจจะไม่ถึงที่หมาย แต่มันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์และความยิ่งใหญ่ของเขา มากกว่าการหย่อนสมรรถภาพในสมาธิ และจินตนาการของผู้เขียนเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ