บทที่ ๑
ขุนนิคมบริบาล สิ้นใจเมื่อวันอาทิตย์แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล โทศกพุทธศักราช ๒๔๙๓ – เก้าสิบสองปีหลังจากลืมตาดูโลกและผ่านชีวิตมาแล้วโชกโชนอย่างยากที่ผู้ชายน้อยคนจะได้ผ่านและพบ การตายของแกเป็นไปอย่างสงบ ภายในอ้อมแขนของภรรยาคู่ยาก ยิ้มด้วยความสุขปรากฏอยู่ที่ริมฝีปากซึ่งเผยอ ที่หนังตาอันหรี่หลับ ที่หน้าผากอันกว้าง และแก้มทั้งสองซึ่งซูบจนเห็นแต่กระดูกโปนเป็นสัน
ขุนบริบาล สิ้นใจแล้ว ! พร้อมด้วยวันเริ่มต้นของจุลศักราชใหม่ อย่างที่มนุษย์เราทุกคนจะต้องตายเพียงแต่ช่างกระทันหันอะไรเช่นนั้น ขณะที่วิญญาณและกลิ่นไอของมหาสงกรานต์ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ และกลิ่นแป้งหอมของกระแจะจันทน์ที่บรรดาลูกหลานประพรมในวันรดน้ำอวยพรยังติดอยู่ที่เสื้อผ้า มันเป็นวันเดียวที่คนเราไม่น่าจะตาย ในเมื่อดอกไม้กำลังบานอยู่เต็มป่า และบรรดานกทั้งหลายส่งเสียงร้องไพเราะอยู่เต็มดง ป่าอ้อและกอพงบนเกาะกำลังออกดอกขาวเป็นทะเลหิมะ
ตลอด ๓ วันเต็ม ๆ หลังจากการประชุมเพลิง และบำเพ็ญกุศลผ่านไป หญิงชรารู้สึกเหมือนตกอยู่ในเขาวงกต พิศวงงงงวยและมืดมิดไปหมด ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ? จะทำอะไร ? และคิดอะไร ? นอกจากนั่งอยู่ข้างเชี่ยนหมากบนระเบียงบ้านฟากนอกชานกว้าง ซึ่งเปิดออกไปสู่ทางเดินริมตลิ่ง เหนือฝั่งแม่น้ำปิงที่เดือดแห้งแลเห็นแต่หาด – – หาด – – และหาดทั่วไป
ขุนนิคมบริบาล สิ้นใจแล้ว ! การฌาปนกิจศพของแกที่กระทำกันเอิกเกริกมโหฬารอย่างนานเต็มที ในชั่วชีวิตชาวบ้านนั้น จะได้เคยเห็นการละเล่นแทบทุกชนิด นับแต่โขน ละคร ลิเก หุ่นกระบอก และหนังตะลุง อาจจะเรียกคน แต่อิทธิพลของมันก็ยังไม่มากเท่ากับบุคลิกภาพของชายชราผู้ตาย เมื่อเสร็จพิธีและการงาน บรรดามหรสพเหล่านั้นอาจจะขนเครื่องขึ้นรถและลงเรือ คนดูทั้งหลายก็พากลับบ้าน แต่ไม่มีใครจะลืมขุนนิคมบริบาลได้ ๖๐ ปีเต็ม ๆ แกใช้ชีวิตร่วมมากับชาวบ้านนั้น ๖๐ ปีเต็ม ๆ แกได้ผ่านการพบอย่างที่ปู่ตายายของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเดียวกันได้ผ่านและพบ ๖๐ ปีของชีวิตที่บางครั้งสงบ บางครั้งผาดโผน รู้รสดีว่าความจนหมายถึงอะไร ความทุกข์ทรมาน อันตราย อดทน และการเสียสละของมนุษย์หมายถึงอะไร ก่อนที่จะบุกด้วยความบากบั่นขึ้นมาถึงฐานะในปัจจุบัน
ขุนนิคมบริบาลสิ้นใจแล้ว ! แต่ขณะเดียวกันแกยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่แกเคยเกี่ยวข้อง บ้างญาติพี่น้อง บ้างเป็นมิตรสหายและบ้างก็เป็นศัตรู ขุนนิคมบริบาลยังอยู่ในอากาศที่หายใจเข้าไปในชีวิตและขนบประเพณีประจำวันของนครชุม ในฐานะสิ่งหนึ่งและส่วนหนึ่งของตำบลบ้าน เป็นสัญญลักษณ์ประจำถิ่นที่ไม่มีขนบประเพณีและอารยธรรมแผนใหม่ หรือกาลเวลาจะลบเลือนให้เจื่อนจางไปได้
นั่งอยู่หน้าระเบียงบ้านบ่ายวันนั้น แม่เฒ่าคู่ทุกข์คู่ยากของขุนนิคมบริบาลรู้ดีว่า ไม่มีใครจะลืมชายอย่างนั้นได้ หลายคนอาจจะบูชาว่า ขุนนิคมใจดี และหลายคนก็อาจจะซุบซิบนินทาว่า ขุนนิคมใจร้าย แต่ดีหรือร้ายแม่เฒ่าสุดใจรู้ว่าไม่มีใครในตำบลหรือจังหวัดนั้น กล้าเผชิญกับขุนนิคมบริบาลในสนามเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเวทีของการงาน หรือเวทีของชีวิต ขุนนิคมเกิดมาอย่างลูกผู้ชาย ตั้งใจจะใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชายและแกก็ใช้เต็มความหมายของมันอย่างสมค่า
“ที่นี่ดีทุกอย่างสำหรับจะอยู่ จะกินและตาย” ขุนนิคมบริบาลบอกแกเมื่อ ๖๐ ปีก่อน ขณะเจอกันเป็นครั้งแรกที่ท่าน้ำวันนั้น “ผู้หญิงสวยอย่างเอ็ง ผู้ชายเปิดเผยอย่างข้า ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ เสียอย่างเดียวแต่ขาดหัวหน้า – – ข้านี่แหละ เทวดาส่งมาสำหรับเป็นนาย”
เมื่อ ๖๐ ปีก่อน – – ที่ท่าน้ำ – –! ช่างนานอะไรเช่นนั้น ขณะที่มันเหมือนกับเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเมื่อวานซืนนี้เอง แม่เฒ่ารู้สึกนัยน์ตาพร่าด้วยฝ้าน้ำตา ซึมออกมาบังความทรงจำถึงประโยคเหล่านั้น ชักนำไปสู่ความทรงจำถึงภาพอื่น ๆ วันคืนและเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว
เมื่อ ๖๐ ปีก่อน! นครชุมยังเป็นคลองสวนหมาก พร้อมด้วยเหย้าเรือนฝาขัดแตะและมุงแฝกไม่กี่สิบหลังคา และบ้านไร่เพิ่งมีพวกเวียงจันทน์ อพยพมาอยู่ไม่กี่ครอบครัว ป่ามะพร้าวยังโหรงเหรง เป็นกำแพงเมืองเก่าชั้นนอกยังไม่ถูกทลายลงมาถมถนน และดงเศรษฐียังทิ้งซากของนครร้าง เป็นอนุสาวรีย์แก่คนรุ่นหลัง เกาะหน้าบ้านยังห่างตลิ่ง และมะม่วงสายทองต้นนั้น ยังแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่เหนือหน้าท่า – –
สาวใช้คนหนึ่ง หน้าตายังซูบซีดอิดโรยจากการตรากตรำงาน ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไป คลานเข้ามานั่งอยู่ตรงหน้า
“เรือที่คุณย่าสั่ง มาแล้วค่ะ” หล่อนรายงาน
แม่เฒ่าสุดใจ หันไปอย่างเลื่อนลอย
“เรืออะไรกัน ?”
“เย็นนี้ ข้าหลวงนัดประชุมเรื่องซ่อมวัดที่จวนไงคะ คุณย่าได้รับเชิญไว้ แล้วสั่งให้แก้วเอาเรือออก”
หญิงชราถอนใจ นั่นเป็นเพียงกิจวัตรอย่างหนึ่งซึ่งในชีวิตไม่มีวันจะเลี่ยงพ้น ไม่ว่าจะเป็นการกุศลสาธารณะ หรือเป็นงานของบ้านเมืองไม่เคยปรากฏว่า จะขาดมือของขุนนิคมและแม่เฒ่า เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในทางใดทางหนึ่งได้ แต่นี้ไป เมื่อขาดขุนนิคมบริบาล – – – ภาพของท่าน้ำใต้ร่มมะม่วงสายทองบ่ายวันนั้น ปรากฏขึ้นมาในความทรงจำอีก แจ่มชัดและสดชื่นกว่าความทรงจำเหมือนจะนำวัยสาวกลับมาสู่แกอีกครั้ง
“บอกแก้วเถอะว่า ข้าเปลี่ยนใจ เก็บเรือได้ วันหลังค่อยพบท่านข้าหลวง”
กิจธุระอื่นคอยได้ ในขณะที่ธุระของชีวิต ซึ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของคนเราอาจผ่านไปโดยไม่มีหวังจะย้อนกลับมาอีก แม่เฒ่าต้องการรำลึกถึงคืนวันเหล่านั้น ในยามที่ความทรงจำกำลังแจ่มใส และใครต่อใครปล่อยให้แกมีเวลาอยู่แต่ลำพังคนเดียว มิลินทร์ลูกชายคนโตพร้อมด้วยบุตรภรรยาของเขาลงไปธุระที่ปากน้ำโพ สอิ้งกับผัวซึ่งไม่เอาถ่าน ก็ยังไม่กลับจากช่วยงานในเมือง ครั้งหนึ่งลูกและหลานเคยเป็นความสุข แต่คนเหล่านั้นใครบ้างที่รู้ว่า ความทุกข์คืออะไร ? ชีวิตเหล่านั้นเกิดมาสายเกินไป ไม่ทันรู้รสของชีวิตอย่างที่ขุนนิคมบริบาลและแกได้รู้ ลูกทั้งหญิงและชาย แม้กระทั่งดรุณและสอางค์ซึ่งถึงแก่ความตาย ในระหว่างที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว แม้กระทั่งลูกหัวปีที่จากอกไปแต่ยังเยาว์สมัยฝีดาษทำลายบ้านนั้น เพียงแต่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่นไปทั้งกายและใจ เมื่อพ้นจากอก ขุนนิคมและแกสองตายายเท่านั้นเป็นของกันและกันตลอดมา ถึงแม้ว่าหลายครั้งเลือดหนุ่มและความคะนองจะเรียกร้องขุนนิคมให้เตลิดไป และแม้ว่าจะหลายรักหลายเมียเพียงใด ขุนนิคมก็ยังคงเป็นของแกวันยังค่ำ
ท่ามกลางระเบียง ซึ่งลมโกรก – – และโลกซึ่งวิญญาณของมหาสงกรานต์เพิ่งจากไป สายตาของแม่เฒ่าเพ่งออกไปยังท่าน้ำ ในมโนคติและที่อันเวิ้งว้างว่างเปล่าซึ่งครั้งหนึ่งมะม่วงสายทองต้นนั้นเคยตั้งอยู่ มิได้เอาใจใส่ต่อผู้คนที่เดินผ่านไปมาและยกมือไหว้ มิได้เอาใจใส่ต่อเสียงเด็กที่เล่นเกรียวกันอยู่ หลังบ้าน – –
ฉันยังจำได้ดีทุกอย่าง แม่เฒ่าคิด จำได้แน่ เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน มะม่วงสายทองต้นนั้น ซุงที่ท่าน้ำ แม่ปิงที่เวิ้งว่าง เต็มไปด้วยจอกและสวะ เต็มไปด้วยแพไม้ แพเสา เรือโกลนติดธงสีต่าง ๆ กัน เรือระหัดท้ายของมิสหลุยส์ ซึ่งไม่มีวันจะกลับมาอีก และก็เรือชะล่าลำนั้น และ – – และเขา