ประวัติผู้เขียน

นายมาลัย ชูพินิจ เป็นบุตรนายสอน นางระเบียบ ชูพินิจ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ ตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร (บรรพบุรุษนั้น สืบมาจากตระกูลเก่าของ “บางช้าง” รับราชการติดต่อกันมาจนถึงชั้นปู่ และถูกย้ายไปประจำที่จังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยรัชกาลที่ ๕) บิดา มารดามิได้รับราชการ หันมาประกอบอาชีพในทางค้าไม้สักและไม้กระยาเลย

ได้ทราบจากคุณมาลัยว่า เมื่อเด็ก ๆ นั้นได้เรียนหนังสือที่วัดพระบรมธาตุ แล้วต่อมาก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร จนกระทั่งอายุครบ ๑๐ ขวบ จึงเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ฯ ที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข จนจบชั้นสูงสุดคือมัธยมปีที่ ๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึง ๒๔๖๕ จากโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข คุณมาลัยไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๗ ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เรียนอยู่ ๑ ปี พอสอบชั้นมัธยมปีที่ ๗ ได้แล้ว ก็ลาออกไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๘ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คุณมาลัยสำเร็จชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ชาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนี้เอง

คุณมาลัยผ่านวัดมาแล้ว ๒ วัด คือ วัดบพิตรพิมุข กับวัดเทพศิรินทร์ วัดที่ ๓ ที่คุณมาลัยเข้าเรียนอีก คือ วัดบวรนิเวศ ที่วัดบวรนิเวศนี้คุณมาลัยสมัครเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครู ส่วนวัดที่ ๔ ที่คุณมาลัยไปอยู่อีก คือ วัดสระเกศ ที่วัดสระเกศนี้ คุณมาลัยไม่ได้ไปเรียนแต่คุณมาลัยไปสอน คุณมาลัยรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดสระเกศถึง ๒ ปี คุณมาลัยลาออกจากอาชีพครู มุ่งหน้าเข้าหางานประพันธ์และงานหนังสือพิมพ์ เพราะรักที่จะแสวงหาความรู้ความชำนาญ เพื่อหวังจรรโลงกิจการทางหนังสือพิมพ์ และงานประพันธ์ให้ก้าวหน้าทันสมัยเทียบมาตรฐาน กับสถาบันที่มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและต่อประเทศชาติ คุณมาลัยตั้งเข็มไว้สูงสุด โถมทั้งกำลังใจ กำลังกาย เข้าต่อต้านอุปสรรคและอันตราย คุณมาลัยไม่ยอมหวาดเกรง มิหนำซ้ำยังใจเย็น ยิ้มสู้....สู้ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ท่ามกลางความบีบคั้นและกดดันเกือบตลอดเวลา

พบข้อความจากสมุดพกของคุณมาลัย ซึ่งบันทึกประวัติของตัวเองไว้ว่า

รับราชการเป็นครูอยู่ ๒ ปี

งานหนังสือพิมพ์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ลาออกจากครูไปทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ไทยใต้” อยู่ที่จังหวัดสงขลาเป็นเวลา ๑ ปี

ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ เดินทางกลับกรุงเทพ ฯ ประจำแผนกสารคดีของหนังสือพิมพ์รายวัน “บางกอกการเมือง”

ใน พ.ศ. ๒๔๗๑–๒๔๗๒ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และต่อมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายปักษ์ “สุภาพบุรุษ”

ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดีหนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” ที่ตรอกกัปตันบุช ยุคแรก จึงหยุด การพิมพ์จำหน่าย “สุภาพบุรุษ”

ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ลาออกจาก “ไทยใหม่” มาออกหนังสือ รายสัปดาห์ “ผู้นำ” ที่โรงพิมพ์ไทยพณิชยการเดิม ถนนสีลม

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จในกรมนราธิป ฯ ออก “ประชาชาติ” รายวัน ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสารคดีและบันเทิงคดี ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการ “ประชาชาติ” ทั้งรายวันและรายสัปดาห์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ลาออกจาก “ประชาชาติ” เพราะสุขภาพไม่ดี ไปทำไร่อยู่ที่หัวหินเป็นเวลา ๑ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ กลับมาพระนคร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าสารคดีและบันเทิงคดีของหนังสือพิมพ์รายวัน “ประชามิตร” ซึ่งออกใหม่ที่บางขุนพรหม ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บ่ายฉบับนั้น และบรรณาธิการของ “สุภาพบุรุษ” หนังสือเช้า ซึ่งเป็นของบริษัท ไทยวิวัฒน์” จำกัด เช่นเดียวกัน

ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ ลาออกจาก “ประชามิตร–สุภาพบุรุษ” ด้วยสุขภาพไม่สมบูรณ์ ลงไปทำสวนมะพร้าวอยู่ที่พนังตัก จังหวัดชุมพร เป็นเวลา ๑ ปี

ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ บริษัทไทยพณิชยการขายกิจการให้แก่นายอารีย์ มีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” รายวัน และหนังสือ SIAM CHRONICLE รายวัน ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน และเป็นหุ้นส่วน มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัท เขียนบทความและคอลัมน์ “ระหว่างบันทัด” ประจำ “พิมพ์ไทย หนังสือเช้าซึ่งออกใหม่ประจำวันจนถึงปัจจุบันรวมเวลา ๑๘ ปี

งานประพันธ์ เริ่มเขียนเรื่องสั้นลงหนังสือ “เสนาศึกษา” และ “ศัพท์ไทย” “ไทยเขษม” แต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นประจำตลอดมา เมื่อได้เป็นบรรณาธิการ “สุภาพบุรุษ” รายปักษ์ ก็เริ่มประพันธ์นวนิยายขนาดยาวและเรื่องสั้นลงหนังสือนั้น และเพื่อนหนังสือรายคาบแทบทุกฉบับ ตลอดจนแปลงานวรรณกรรม ของ เมรี คอเรลลี, จอห์น กอล สเวอธี, อนาโตล ฟรานซ์, ฮาร์ดี, กี เดอ โมปาสซองส์ และอื่น ๆ ตลอด ๓๘ ปี ของชีวิตนักหนังสือพิมพ์ ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตของการประพันธ์ ได้ทำควบกันไปทุกโอกาสและเวลาอำนวย ได้ประพันธ์เรื่องสั้นลักษณะต่าง ๆ กัน ไว้กว่า ๓,๐๐๐ เรื่อง นวนิยายและวิทยานิพนธ์ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ กันกว่า ๕๐ เล่ม และที่องค์การค้าของครุสภารับไว้จะพิมพ์ต่อไปอีกกว่า ๒๐ เล่ม ทางวิทยุกระจายเสียง เขียน “ข้อคิด” ซึ่งเกี่ยวกับปรัชญาในการครองชีวิต เป็นการประจำวันอยู่ ๒ ปี ออกอากาศโดย ท.ท.ท. และที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งเดียวกันนี้เอง ได้เขียนบทละครวิทยุ เรื่อง “ล่องไพร” อันเป็นนวนิยายผจญภัย ออกอากาศเป็นประจำสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปีเต็ม

ทางโทรทัศน์ เขียนบทละครออกอากาศทั้งช่อง ๔ และช่อง ๗ มากกว่า ๕๐ เรื่องและยังเขียนอยู่ เป็นการประจำเดือน

งานสาธารณะ

เป็นกรรมการบริหารในคณะกรรมการชุดแรกของ ส.น.ท.

เป็นอุปนายกของ ส.น.ท. ในปัจจุบัน

เป็นอุปนายกของสมาคมภาษาและหนังสือ

เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์

เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

เป็นกรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย

เป็นกรรมการสภาสังคมสงเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์

เป็นกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

เป็นที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

เป็นประธานกรรมการประชาสัมพันธ์สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย

เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นผู้บรรยายพิเศษลักษณะวิชาการบริหารฝ่ายบรรณาธิการ ในแผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านต่างประเทศ

๑. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันตะวันตกไปสังเกตสถานการณ์ในเบอร์ลิน และเยอรมันตะวันตก

๒. ใน พ.ศ. เดียวกันนี้ ได้รับเชิญไปประชุม APACL องค์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ ๕ ณ เซอูล ประเทศเกาหลี

๓. ได้รับเชิญจากรัฐบาลไต้หวัน ให้ไปสังเกตการณ์ ณ เกาะคีมอย

๔. ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้รับเชิญไปประชุม APACL ครั้งที่ ๖ ณ กรุงไทเป และดูงานทั่วเกาะไต้หวัน

๕. ปีเดียวกันนี้ ได้รับแต่งตั้งร่วมคณะผู้แทนไทย ไปร่วมสัมนาขององค์การซีโต้ ณ เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน

๖. ได้รับเชิญจากบริษัทการบิน AIR FRANCE เดินทางรอบโลก

๗. ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมัน ไปสังเกตสถานการณ์เบอร์ลิน และเยอรมันตะวันตกอีก พร้อมทั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

๘. ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปเยือนประเทศนั้น เพื่อสังเกตการณ์การเศรษฐกิจ ศึกษา วัฒนธรรม และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกันก่อนนายกรัฐมนตรีอิเคดะจะเดินทางมาเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน

๙. ได้รับเชิญจากสมาคมการประพันธ์ฟิลิปปินส์ ให้ไปประชุมที่บาเกียว ในเดือนธันวาคม

๑๐. ได้รับเชิญจากบริษัทการบิน SWISSAIR และ รัฐบาลสวิสส์ให้ไปเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์

งานอดิเรก

๑. ค้นคว้าทางพุทธปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์

๒. ปาฐกถาและอภิปราย

๓. เลี้ยงกล้วยไม้

๔. การดนตรี

๕. ออกป่าล่าสัตว์ใหญ่

เมื่ออายุ ๑๐ ปี คุณมาลัยจากกำแพงเพชรมากรุงเทพ ฯ คุณมาลัยมาเรียนหนังสือต่อ เมื่อจบการศึกษาแล้ว คุณมาลัยก็มิได้ทอดทิ้งการศึกษาเสียเลยทีเดียว ยังคงศึกษาหาความรู้ ความชำนาญต่อไปอีก ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ในบั้นปลายของชีวิต คุณมาลัยได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ทางวารสารศาสตร์ ซึ่งมีคนหนังสือพิมพ์น้อยคนที่จะได้รับเกียรตินี้ คุณมาลัยเริ่มชีวิตการศึกษาที่วัด โดยเริ่มต้นแต่วัดบพิตรพิมุข วัดเทพศิรินทร์ วัดบวรนิเวศ และวัดสระเกศ แต่ขณะนี้คุณมาลัยจากไปแล้ว คุณมาลัยอายุ ๕๘ ปี คุณมาลัยจากกระท่อม ป.ล. ถนนราชวิถีไปเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๑๗.๔๕ น. ด้วยโรคมะเร็งในปอด ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๑ คุณมาลัยก็ได้กลับไปอยู่ที่วัดอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นวัดมกุฏกษัตริยาราม นับเป็นวัดสุดท้าย

คุณมาลัยสร้างตัวที่วัด และต้องสลายตัวที่วัดอีกเช่นเดียวกัน ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของโลกมีเกิดก็มีดับ แต่คุณมาลัยดับ ดับจริงๆ บุตรและภรรยาต้องต่อสู้กับความมืดมนอย่างทรหด เหลือแต่พระคุณอันสูงสุด ผลงานที่มีค่า และปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางวารสารศาสตร์ของคุณมาลัยเท่านั้น ที่คอยค้ำจุนใจให้ครอบครัวดำเนินภาวะไปด้วยความทะนงและความสุข จวบจนชีวิตทุกชีวิตในสกุล “ชูพินิจ” จะตามไปพบกับคุณมาลัยอีก ทั้งนี้สักกี่ชาติก็ตาม ได้มุ่งมาตรปรารถนาไว้เป็นที่สุดแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ