รู้จัก สด กูรมะโรหิต
กำเนิด ท่านผู้เป็นนักคิด นักเขียน นักอุดมคติ หายใจเป็นเรื่องสหกรณ์ หรือในนาม สด กูรมะโรหิต เกิดที่ตำบลท่าเรือจ้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับปีวอก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ มีอายุ ๖๙ ปี ๕ เดือน ๒๐ วัน สิริรวมอายุนับแต่ปีถ้วน ๆ ก็เท่ากับ ศรีบูรพาหรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ สันต์ เทวรักษ์ ท่านแก่กว่าสันต์เพียง ๓ วัน แต่สันต์จากไปก่อนราวกลางเดือนมกราคมศกเดียวกัน มีครั้งหนึ่งได้จัดอภิปรายชีวิตและผลงานของสดและสันต์ควบกันไป ณ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็น่าจะเป็นด้วยเป็นนักเขียนร่วมรุ่นที่เด่นดังมาด้วยกัน แล้วลาลับดับชีพในเวลาไล่เลี่ยกัน
ท่านเป็นบุตรของพระจรูญภารการ (เติม กูรมะโรหิต) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีก่อนเกษียณอายุราชการ และคุณแม่เหนย มีน้องสาวร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียวคือ คุณนิธิวดี ที่ได้สมรสกับนายแพทย์ขจร อันตระการ และมีพี่น้องต่างมารดาอีก ๖ คน นามสกุล “กูรมะโรหิต” นี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงแปลงจาก กูรมะ แปลว่า เต่า (อันเป็นชื่อคุณทวด) และ โรหิต แปลว่า สีแดง (แดงเป็นชื่อคุณปู่) แรกเกิดท่านเล่าไว้ว่าอยู่ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังแผ่อิทธิพลเข้ายึดเมืองตราด ซึ่งบิดาว่าที่หลวงรามฤทธิรงค์เป็นยกกระบัตรเมืองตราดอยู่ได้รับคำสั่งให้มอบแก่ฝรั่งเศส จำต้องอพยพมาอยู่จันทบุรี มารดาต้องอุ้มท้องลงเรือใบถูกพายุกระหน่ำเกือบอับปาง
การศึกษา เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีอายุได้ ๕ ขวบ เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เพียงปีเดียวก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย นครปฐม จนจบชั้นมูล แล้วจึงเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ในชั้นประถมปีที่ ๑ ซึ่งเป็นช่วงที่มารดาแยกตัวจากบิดาที่ยังคงรักษาราชการอยู่ต่างจังหวัด มาอยู่กับลูกทั้งสองที่กรุงเทพฯ โดยมาเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้า และให้เช่าหนังสืออ่านที่ถนนนครสวรรค์ นางเลิ้ง ชื่อร้านว่า เนยะประดิษฐ์ ประกอบกับมารดามีฝีมือในการช่างและการครัว ขนาดเคยเป็นแม่งานใหญ่ ๆ เช่น งานเลี้ยงรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ ที่เกาะช้าง เป็นอาทิ กิจการจึงรุ่งเรืองดี แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นร่ำรวย คุณสดเริ่มต้นเป็นชาวเทพศิรินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ เรื่อยมาเป็นเวลา ๑๑ ปี ก็จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ หรือประโยคมัธยมบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ หลักสูตรการศึกษาสมัยนั้นแบ่งเป็น ชั้นมูล ๒ ปี ชั้นประถม ๓ ปี (ป. ๑–๓) และมัธยม ๘ ปี ความที่เรียนดีมีคะแนนเฉลี่ยระหว่าง ๘๐–๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ ๑ มาโดยตลอด และได้เรียนอยู่ห้อง ก หรือห้องคิงส์ตั้งแต่ชั้น ม. ๒ เรื่อยไป จึงได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียนมาโดยตลอดเช่นกัน โดยเฉพาะชั้น ม. ๗ ทำคะแนนได้ถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ กล่าวได้ว่าท่านเป็นชาวเทพศิรินทร์เต็มตัว มีความภาคภูมิใจในตัวถึงกับกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าเกิดที่เทพศิรินทร์ บวชที่เทพศิรินทร์และคงจะเผาที่เทพศิรินทร์ ทั้งเนื้อทั้งตัวของข้าพเจ้าเป็นเทพศิรินทร์ และจะเป็นต่อไปจนวันสุดท้าย...”
ด้วยความเป็นผู้ที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในชั้นสุดท้าย คือ ม. ๘ จึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าสอบชิงทุนสกอลาร์ชิปกับโรงเรียนอื่น เพื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษ ปีนั้นมีคู่แข่งเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบ และปทุมคงคา แต่ท่านเกิดป่วยเป็นโรคลำไส้จึงจำต้องสละสิทธิ์ แต่เนื่องจากอายุยังน้อย อยู่ในเกณฑ์ที่จะสอบชิงใหม่ได้อีก ๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านจึงต้องมากวดวิชากับอาจารย์ใหญ่ชื่อ เอ็น. แอล. เซลลีย์ และผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ชื่อ เอ็ม. พี. คีน เจ้าคุณพระยาจรัลชวนะเพท อาจารย์ผู้ปกครองตั้งให้ท่านเป็น ช้างเผือก ของโรงเรียน ถึงกำหนดสอบชิงทุนอีกครั้ง คราวนี้มีนักเรียนเข้าสอบ ๖ คน เป็นสวนกุหลาบ เทพศิรินทร์และปทุมคงคาเช่นเคย ผลปรากฏว่า สนั่น สุมิตร เป็นที่ ๑ ละเอียด โสภียะ เป็นที่ ๒ เป็นชาวสวนกุหลาบ ส่วนช้างเผือกของเทพศิรินทร์มาเป็นที่ ๓ สร้างความผิดหวังให้กับเทพศิรินทร์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางการกระทรวงธรรมการกำหนดไว้เพียง ๒ ทุนเท่านั้น ท่านถึงกับน้ำตาตกและคิดมากจนเป็นโรคปวดศีรษะอยู่หลายเดือน เหตุเพราะความเห่ออยากเป็นนักประพันธ์ มัวแต่เพลินแปลเรื่อง อัสฌาเทวี มากไป ท่านระบายความรู้สึกไว้ใน “เทพศิรินทร์....โรงเรียนแห่งความหลัง” (เมื่อ ๑๓ มี.ค. ๒๕๐๖) ว่า “ข้าพเจ้าเดินออกจากรั้วเทพศิรินทร์ด้วยน้ำตาของผู้แพ้ในปลายปี ๒๔๖๙ งุนงงและเศร้าสลด ข้าพเจ้าควรจะได้รับโทษอย่างหนัก ที่ทำให้เทพศิรินทร์ต้องอับอายขายหน้าในสนามสกอลาร์ชิปทั้งสองปี คือ ปี ๒๔๖๘ กับปี ๒๔๖๙... ทั้งหมดนี้คือความหลังในโรงเรียนเทพศิรินทร์ บ้านเก่าที่ข้าพเจ้ารักและไม่เคยลืมตลอด ๑๑ ปี ในเทพศิรินทร์ ข้าพเจ้าได้พบแสงสว่างแห่งชีวิต แต่ในวันสุดท้ายข้าพเจ้าเดินออกจากเทพศิรินทร์ด้วยความมืด...นั่นคือรสชาติของชีวิตที่ข้าพเจ้าได้ลิ้มเป็นครั้งแรกขณะที่ก้าวออกไปในโลกอันประหลาดและกว้างใหญ่”
ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมาย (ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) รุ่งขึ้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เสด็จในกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดี กระทรวงธรรมการสมัยนั้น ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งบิดาของคุณสดมีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ คุณสดได้ไปพักผ่อนอยู่กับบิดาในช่วงปิดการศึกษา ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า แล้วต่อมารับสั่งถามความสมัครใจถึงการไปเรียนเมืองจีน และได้รับทราบข่าวเมื่อสำเร็จจากปักกิ่งแล้ว จะส่งไปทำปริญญาการศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายว่าเมื่อกลับมาแล้วจะให้เป็นผู้ควบคุมดูแลโรงเรียนจีนทั่วประเทศ ซึ่งมีสิ่งแอบแฝงเป็นอันตรายต่อประเทศ
เมื่อเป็นที่ตกลง ท่านจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ มีพื้นความรู้ภาษาจีนจากที่เคยเรียนกับหลวงอำนวยจีนพากย์อยู่บ้าง แต่ต้องไปอยู่ที่ฮ่องกงก่อนเพราะในจีนกำลังมีสงครามกลางเมืองจึงเข้าเรียนเป็นนักเรียนประจำที่ St. Stephen’s College ที่ฮ่องกงเป็นเวลา ๒ ปี อุทิศชีวิตหมด เปลืองไปกับการศึกษาอย่างหนัก และสอบผ่านเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ประจวบกับมีเหตุบังเอิญที่เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเสด็จผ่านมาจะไปปักกิ่ง ท่านจึงได้ร่วมขบวนเสด็จตามไปด้วย ถึงปักกิ่งในฤดูหนาวปี ๒๔๗๓ ได้เข้าเรียนภาษาจีนต่อที่ College of Chinese Studies ซึ่งอยู่ในจีนเหนือก่อน คุณสดมีความเพลิดเพลินและมีความสุขกับห้องสมุดที่นี่มาก ถึงกับกล่าวว่า “เมื่อความตายมาถึง ข้าพเจ้าเชื่อว่าที่ซึ่งวิญญาณข้าพเจ้าจะลอยไปเยี่ยมแห่งแรกก็คือมุมอันอบอุ่นในห้องสมุดแห่งนี้”
พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ เข้าเรียนในแผนกประวัติศาสตร์ และเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเลือก ใช้เวลา ๔ ปีก็ได้รับปริญญาตรี แต่เป็นเรื่องเศร้าในปีแรกที่เข้าเรียนได้เกิดปฏิวัติในเมืองไทย คณะปฏิวัติได้สั่งยึดทุนเล่าเรียนหลวง อ้างว่าเป็นทุนฟุ่มเฟือย หากจะเรียนก็ได้ แต่ต้องเป็นการกู้เงินจากรัฐบาลเรียน ประจวบกับเวลานั้นบิดาของคุณสดประสบการค้าขาดทุน จากการตั้งห้างค้าเครื่องแก้วที่ถนนบรรทัดทอง คุณสดจำต้องยอมตาม เป็นนักเรียนทุนที่กลายเป็นลูกหนี้รัฐบาล ดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี ได้รับความลำบากในตอนเรียนอย่างมาก ต้องหารายได้พิเศษมาจุนเจืออีกแรงหนึ่งด้วย เช่นเขียนบทความมาลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เป็นอาทิ และต้องทำราชการชดใช้หนี้อยู่ ๑๐ ปี
ชีวิตรัก ผู้เป็นคู่ทุกข์คู่ยากของท่าน ที่พบรักครั้งแรกที่ปักกิ่งและครองรักจวบจนวันตายคือ คุณเนียน ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจินคุณ (ที่ตรอกพระยาสุนทร) และโรงเรียนสีอิ้ว (ที่สะพานเหลือง) แล้วมาต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา จึงถูกส่งไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลา ๒ ปีก็สอบเทียบชั้นมัธยมได้ แล้วจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยจี้หนาน นอกเมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เรียนได้ปีเศษก็ไปต่อที่มหาวิทยาลัยเยนชิง กรุงปักกิ่ง สำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ จากนั้นก็เข้าทำงานที่หอสมุดแห่งชาติจีนอยู่ ๓ ปี และในปี ๒๔๗๔ ณ ที่ มหาวิทยาลัยเยนชิง ท่านได้พบกับคุณเนียน ชีวิตรักได้ก่อตัวและเจริญงอกงาม จวบจนกระทั่งท่านจบการศึกษา เมื่อปี ๒๔๗๙ คุณสดและคุณเนียนจึงได้จูงมือเดินทางกลับเมืองไทย พร้อมด้วย เวณิกา ลูกสาวอายุ ๑๑ เดือน และพำนักอยู่ที่บ้านพญาไทจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต มีบุตรธิดารวม ๕ คน คือ
เวณิกา กูรมะโรหิต ปริญญาสังคมสงเคราะห์ จากธรรมศาสตร์
กุลภัทร กูรมะโรหิต ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาฯ
อัปสร กูรมะโรหิต ปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปริญญาโทแขนงเดียวกันจากสหรัฐฯ
ดร. ครรชิต กูรมะโรหิต ปริญญาเอกจากสหรัฐฯ
ชนินทร์ กูรมะโรหิต ชั้น ม. ๗ หยุดการเรียนต่อเพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ
และมีหลานที่น่ารักอีก ๒ คน
ชีวิตการประพันธ์ ที่กล่าวกันว่านักเขียนรุ่นเก่ามักเริ่มต้นการเป็นนักประพันธ์ตั้งแต่สมัยอยู่โรงเรียน คุณสดก็เป็นเช่นกล่าวนั้น เก็บความจากที่ท่านเขียนเล่าไว้โดยสังเขปว่า ตั้งแต่อยู่ชั้น ม. ๓ เมื่อได้ขึ้นไปพักร้อนตอนหยุดปลายปีที่จังหวัดแพร่ ซึ่งบิดาเป็นปลัดมณฑล ก็ได้เป็นผู้สอนให้แต่งโคลงสี่สุภาพ ประกอบกับมีใจรักทางหนังสือล้นหัวใจ และมีนิสัยชอบเขียนหนังสือมากขึ้น ขึ้นชั้น ม. ๔ ก็ได้เป็นบรรณาธิการออกหนังสือ ดรุณสาส์น ในชั้นเรียนอ่านกันภายในโรงเรียน เขียนด้วยลายมือ (ดอกไม้ ศรีวิจารณ์ เพื่อนร่วมชั้นลายมืองามทำหน้าที่นี้) มีคณะผู้จัดทำเป็นเพื่อนร่วมชั้นและครู ที่ขอเอ่ยชื่อบ้าง ได้แก่ สนิท เจริญรัฐ และ สุดใจ พฤฒิสาลิกร (นามปากกา บุศราคำ) เป็นอาทิ เนื้อเรื่องเป็นบทกวี นวนิยาย บทความ และชวนหัว ตัวท่านเองนอกจากเขียนบทความและนิยายลึกลับผจญภัย ตลอดจนเรื่องรักหวานจ๋อยแล้วยังรับเขียนภาพปก การ์ตูน ภาพหัวเรื่อง และภาพประกอบ ซึ่งท่านมีหัวทางศิลป์มาตั้งแต่เด็กแล้ว จนเมื่อไปเรียนเมืองจีนก็ได้บันทึกภาพไว้ให้ปรากฏฝีมืออยู่ หนังสือดังกล่าวยังออกมาเรื่อย ๆ แต่เปลี่ยนเป็นใช้พิมพ์ดีดแทนไปตามลำดับชั้นการเรียนทุกชั้น จนถึงชั้น ม. ๗ ออกได้อีกฉบับเดียวก็หยุด เพราะต้องอุทิศเวลาให้กับการเรียนซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายและมีความสำคัญต่อชีวิต ช่วงนั้นเป็นปี ๒๔๖๖ มีหนังสือ ศรีเทพ ที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเรียนสูงกว่าชั้นหนึ่งร่วมกับเพื่อนในชั้นออกมาเป็นคู่แข่งด้วย นอกเหนือจากนั้นการเรียนในชั้น ม. ๖ ก็กล่าวได้ว่าเป็นชั้นสำคัญมากในชีวิต เพราะได้ครูประจำชั้นที่เชี่ยวชาญทางภาษาไทยคือ หลวงสำเร็จวรรณกิจ ได้สร้างชีวิตการแต่งหนังสือและมีชีวิตในโลกใหม่คือโลกของหนังสือ ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแต่งหนังสือและอบรมให้มีวิญญาณในการต่อสู้ด้วยปากกา และพากเพียรแนะนำให้แต่งเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ แถลงการศึกษาเทพศิรินทร์ ซึ่งท่านเป็นบรรณาธิการคนแรก ลิลิตราชูปไตย บทร้อยกรองเรื่องยาวเรื่องแรกของคุณสดที่เขียนจากเรื่อง “The Man Born to Be King” โดยคุณครูท่านนี้ตั้งชื่อเรื่องให้ ก็ได้นำลงตีพิมพ์เมื่อคุณสดมีอายุ ๑๕ ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม. ๖ พอขึ้นชั้น ม. ๗ หลวงสำเร็จฯ ก็ตามมาสอนอีก และให้หัดแต่งบทกวีมากขึ้น จึงมีผลงานกลอน ๖ ลงพิมพ์ในหนังสือฉบับของโรงเรียนดังกล่าวอีกหลายเรื่อง มี กำสรวลเจ้าลังกา เป็นอาทิ และได้แปลเรื่องสั้นเขียนนวนิยายเช่นเรื่อง ละครแห่งความสลดใจ เป็นต้น กล่าวได้ว่า แถลงการศึกษาเทพศิรินทร์ เป็นสนามกำเนิดการประพันธ์ของคุณสด และเริ่มชีวิตการประพันธ์ด้วยบทกวีเมื่อเรียนอยู่ชั้น ม. ๘ ความเห่ออยากเป็นนักประพันธ์ จึงได้เขียนเรื่องส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายในท้องตลาด เช่น วารสาร ศัพท์ไทย เสนาศึกษา ไทยเขษม และมัวหมกมุ่นแปลเรื่องอัสฌาเทวี ร่วมกับเพื่อนชื่อทองใบ พูลโภคา (ซึ่งต่อมามีนามปากกาว่า “ช่อมาลี” และ “นายช่วยตีแปลง”) ตั้งนามปากการ่วมว่า โภคโรหิต จากเรื่อง “She” ของ เซอร์ไรเดอร์ แฮกการ์ด จึงทำให้พลาดการสอบชิงทุนดังกล่าวแล้ว
และไม่ว่าจะเป็นระหว่างศึกษาที่ปักกิ่ง หรือจบมาแล้วเข้ารับราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ งานประพันธ์ของท่านก็มีควบคู่อยู่ด้วยเสมอ ต่อเมื่อออกจากราชการแล้วจึงได้จับงานด้านการประพันธ์อย่างเต็มที่ และมีส่วนในการปลุกปั้นแนะนำให้คุณเนียนได้เป็นนักประพันธ์ขึ้นมาด้วย
ชีวิตราชการ เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ทำงานใช้หนี้รัฐบาลตามสัญญา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลโรงเรียนจีน หัวหน้าแผนกตำรา กองการศึกษาผู้ใหญ่ ขณะนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแทรกซึมเข้าเมืองไทยในโรงเรียนจีน จึงออกปราบปรามและปิดโรงเรียนจีนไปหลายแห่ง กวาดเก็บหนังสือต้องห้ามส่งสันติบาล แม้จะประสบปัญหาการเงินไม่พอใช้ ได้รับการติดสินบนให้คุณเนียนเข้าสอนในโรงเรียนจีนได้ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่ท่านจะยอมรับ ทั้งสองสู้อุส่าห์ทำงานหนัก โดยคุณเนียนแปลวรรณคดีจีนลงในนิตยสารต่าง ๆ ส่วนคุณสดก็เขียนบทความ สารคดี นวนิยาย ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี พอดีกับใช้หนี้รัฐบาลหมด และสุขภาพทรุดโทรม จึงอำลาชีวิตราชการ
ชีวิตการทำไร่ในโครงการไร่แผ่นดินไทย เพื่อเป็นการริเริ่มระบบสหกรณ์ในเชิงปฏิบัติ เมื่อลาออกจากราชการแล้วในปี พ.ศ ๒๔๘๙ ก็ได้หันมาซื้อที่ดินที่ตำบลดงหัวโขด จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มชีวิตชาวไร่ตามที่เคยใฝ่ฝันเมื่ออยู่ปักกิ่งด้วยการปลูกไผ่ตง ชั่วเวลาเพียง ๖ ปี ไร่แผ่นดินไทยผืนแรกก็ถูกรังแกจากทหารพ่อค้าคนกลาง และถูกกดราคาจากผู้ซื้อชาวจีนรุมเล่นงานจนในที่สุดต้องพบกับความล้มเหลว จำต้องขายไร่นั้นไป แล้วมาซื้อไร่และที่ดินว่างเปล่าที่หมู่บ้านหนองจับเต่า ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งใจบูรณะให้เป็นไร่แผ่นดินไทยผืนใหม่ ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้เพื่อช่วยชาวไร่ที่ยากจนไม่ให้ถูกกดขี่ขูดรีดแรงงาน พร้อมกับการตั้งมูลนิธิไร่แผ่นดินไทย เพื่อช่วยชาวบ้านให้มีชีวิตที่ดี โดยใช้วิธีการสหกรณ์เป็นตัวหลัก แต่แล้วมรสุมลูกใหญ่จากการเมืองก็เล่นงาน จนดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ ตกเป็นลูกหนี้ใครต่อใครนับล้านบาท โครงการนั้นจึงพังทลาย ต้องอาศัยงานเขียนในเชิงบทความและนวนิยายที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นเรื่องสหกรณ์มาช่วยปลดเปลื้องหนี้สินนั้น เป็นต้นว่า บทความเรื่อง เมืองสหกรณ์ ลงในปิยะมิตร โครงการบูรณะชนบท ลงในไท–รายสัปดาห์ และ “ข้อคิดจากไร่แผ่นดินไทย” ในปิยะมิตร เป็นอาทิ ในนามปากกา บาร์บารา มีเนื้อหาเข้มข้นและเฉียบคมจนบางครั้งถูกระงับการเขียนก็มี
งานการประพันธ์ เป็นผู้ที่มีผลงานมากท่านหนึ่ง มีทั้งนวนิยาย สารคดี งานแปล บทละคร บทภาพยนตร์ บทเพลง และเรื่องสั้น
นวนิยาย —ชุด ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง (วารยา ราเนฟสกายา, คนดีที่โลกไม่ต้องการ และเมื่อหิมะละลาย), เลือดสีน้ำเงิน, นักปฏิวัติ, ขบวนเสรีจีน, ชีวิตคือความฝัน, นี่แหละชีวิต และระย้า ฯลฯ
สารคดี —มหายุทธสงคราม, ข้อคิดจากไร่แผ่นดินไทย, เมืองสหกรณ์, โครงการบูรณะชนบท, ไขปัญหาชีวิตของขุนลีลาศาสตรสุนทร, บทความบาร์บารา, ขบถเมืองซีอาน ฯลฯ
งานแปล —ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์, อัสฌาเทวี และแซมไวท์ ใต้ธงสยาม
บทละคร —ละครเวทีประมาณ ๑๐ เรื่อง, ละครวิทยุมากกว่า ๕๐ เรื่อง, บทละครโทรทัศน์ประมาณ ๕–๖ เรื่อง
บทภาพยนตร์ —ทาสหัวใจ, ขบวนเสรีจีน, ไฟชีวิต และพลายมะลิวัลย์
เรื่องสั้น —มีหลายร้อยเรื่อง ลงพิมพ์ในศัพท์ไทย ไทยเขษม ประชาชาติ เสนาศึกษาฯ สุภาพบุรุษ ไทยใหม่วันจันทร์ ประชามิตร ปิยะมิตร วิทยาจารย์ เอกชน สวนอักษร ศิลปิน และรุ่งอรุณ ฯลฯ
นามปากกาที่ใช้ “โภคโรหิต” ใช้ร่วมกับทองใบ พูลโภคา โดยเอานามสกุลแต่ละคนมารวมกัน แปลเรื่อง อัสฌาเทวี (หรือที่ผู้แปลคนอื่นให้ชื่อว่า สาวสองพันปี), ขุนลีลาศาสตรสุนทร ใช้ตอบปัญหาชีวิตทางหนังสือพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น, แอนน์ ใช้กับงานแปลเช่นเรื่องชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์, บาร์บารา ใช้กับบทความทางการเมือง เศรษฐกิจ เริ่มใช้ตั้งแต่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ที่ปักกิ่ง ตั้งจากชื่อคริสเตียนเนมของคุณเนียน ผู้ภรรยาเมื่อครั้งเรียนที่เมืองจีน, เสรี ใช้เมื่อนามปากกาบาร์บาราถูกสั่งห้ามการเขียน, สากล ใช้เมื่อนามปากกา “เสรี” ถูกห้ามอีก, บุหรง ใช้กับงานนวนิยายบางเรื่อง, ส. กูรมะโรหิต ใช้อยู่ครั้งเดียว นอกนั้นแล้วจะใช้ชื่อจริงเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีนามปากกาอื่น ๆ อีก
นวนิยายที่รักที่สุด คือ ระย้า แต่ที่นักอ่านรู้จักมากที่สุด คือ ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง บทภาพยนตร์เรื่อง ขบวนการเสรีจีน ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองคำ ประจำปี ๒๕๐๒ ในฐานะบทประพันธ์ยอดเยี่ยม
การก่อตั้งจักรวรรดิศิลปิน เพื่อก่อตั้งศูนย์รวมให้กับบรรดาศิลปินสาขาวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏกรรมและสถาปัตยกรรม และกระทำหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีป้องกันมิให้นายทุนกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบแรงงานทางศิลปะและแรงปัญญา ให้ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า จึงตั้งค่าเรื่องในราคาที่สูงและดำเนินการในรูปสหกรณ์นักเขียน โดยได้รับความอุดหนุนจากคุณชลอ รังควร ให้ใช้ส่วนหนึ่งของโรงพิมพ์อักษรนิติเปิดเป็นสำนักงานและอุปถัมภ์ทางด้านการเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งด้วย ได้ชักชวนศิลปินแขนงต่าง ๆ มาร่วมงานได้ประมาณ ๒๐๐ คน แต่คงทำได้เพียงสองสาขาคือ วรรณกรรมและจิตรกรรม ได้ออกนิตยสารเพื่อเปิดสนามให้นักเขียนมี เอกชน (รายสัปดาห์), สวนอักษร (รายปักษ์), ศิลปิน (รายเดือน), ฉุยฉาย, ชวนชื่น และรุ่งอรุณ แต่ด้วยความซื่อ มองคนในแง่ดี ขาดเล่ห์เหลี่ยม และขาดเงิน ชั่วเวลาผ่านไปได้ ๒ ปี จักรวรรดิศิลปินก็ถึงกาลอวสาน คงไว้แต่ตราสัญลักษณ์ ๕ นิ้ว ที่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานแบบไว้ให้ กับคำขวัญที่ว่า “ศิลปะคืออาภรณ์ของศิลปิน” อยู่ในความทรงจำเป็นประวัติการณ์