๕๔
ท่านสหายที่รัก บัดนี้วารยา ราเนฟสกายา ได้แสดงบทของหล่อนจบลงแล้ว บทของชีวิตในปักกิ่งนครหลวงเก่าแก่อันเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของประเทศจีน เรา วารยากับข้าพเจ้า–เกิดอยู่ห่างไกลกันคนละมุมโลก มีเชื้อชาติขนบธรรมเนียมประเพณีต่างกัน มีความเชื่อถือในศาสนาคนละอย่าง แต่ความไม่เหมือนกันเหล่านี้ไม่ทำให้เราต่างกันในทางน้ำใจ เรามีจิตใจตรงกันมากพอที่จะรักกันได้ รักกันอย่างเพื่อนร่วมใจเท่านั้น–ไม่ใช่อย่างเพื่อนร่วมชีวิต ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า เมื่อเราไม่มีโอกาสจะรักกันได้มากกว่านี้ ทำไมเราจึงจะต้องมาพบกันด้วย มันเป็นเรื่องของโชค โชคตัวเดียวที่เป็นเจ้าชีวิตของมนุษย์ทุกตัวคนโดยไม่มีการยกเว้น อย่างไรก็ดี ชีวิตเป็นแต่ความฝัน เราอาจฝันไปได้ทั้งร้ายและดี แต่เราจะไม่จริงจังกับความฝันจนเกินไปไม่ใช่หรือท่าน?
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ วารยาได้ลาจากปักกิ่งไปแมนจูเรีย ตอนบ่ายวันเสาร์หล่อนไปเยี่ยมหลุมฝังศพของวลาดิมีร์ที่เขาซีซานพร้อมด้วยข้าพเจ้า นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้อยู่ใกล้ชิดกัน
ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง! บัดนี้ความหลังเรื่องที่ ๑ ของระพินทร์ พรเลิศได้ปิดฉากลงแล้ว ความจดจำของข้าพเจ้ายังแจ่มใสดีมาก ข้าพเจ้ายังไม่ลืมเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ วารยาชะโงกหน้าต่างรถไฟขบวนปักกิ่ง–มุกเดน สีหน้าของหล่อนค่อนข้างเศร้าสลด ความตั้งใจอันเข้มแข็งที่จะไม่คิดถึงอะไร ดูเหมือนจะลดถอยลงไปมาก หล่อนไม่ได้พูดอะไรกี่คำ แต่เรารู้ว่าหัวใจของเรากำลังพูดกันอยู่ทุกขณะจิต
“เขียนจดหมายถึงฉันบ้างนะ วารยา” ข้าพเจ้าพูด ตาจับอยู่ที่หน้าหล่อน “เล่าให้ฉันฟังว่าชีวิตใหม่ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง”
“ฉันจะไม่เขียนบ่อยนัก” หล่อนยิ้มเศร้า ๆ ขณะที่พูด “ฉันเขียนมากใจก็ไม่สบายมาก ปล่อยให้ฉันตั้งต้นชีวิตใหม่ดีกว่า ให้ฉันอยู่เงียบ ๆ แต่ลำพัง ไม่ต้องคิดถึงอะไร”
ข้าพเจ้านิ่งงันไปขณะหนึ่ง
“ถ้านั่นเป็นความสุขของเธอ ฉันก็จะไม่ขอร้อง แต่ฉันจะหาโอกาสไปแมนจูเรียให้ได้เวลาหยุดฤดูร้อน”
“ถ้าเธอไปแมนจูเรีย เราก็คงได้พบกันอีก แต่ไม่ใช่พบอย่างนี้ ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ต้องบอกให้เธอรู้ล่วงหน้าไว้”
น้ำเสียงของหล่อนแม้จะพยายามดัดให้เป็นปรกติ แต่ข้าพเจ้าก็จับได้ว่า วารยากล่าวออกมาอย่างฝืนใจที่สุด
“ถึงอย่างไรก็ตาม ฉันจะไม่ลืมเธอเลย” ข้าพเจ้าพูดเบา ๆ
วารยายิ้มอย่างประหลาด–ยิ้มอย่างที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร หล่อนสบตาข้าพเจ้านิ่งอยู่โดยมิได้ปริปากพูด อีกไม่ถึง ๑ นาทีต่อมา เราก็ได้ยินเสียงระฆังบอกเวลารถออก
วารยายื่นมือให้ข้าพเจ้าจับ เราบีบมือกันแน่น ดวงตาประสานกัน พยายามที่จะอ่านความรู้สึกอันลึกซึ้งซึ่งซ่อนอยู่ในหัวใจ
“ลาก่อน ระพินทร์ ขอให้เธอจงมีชีวิตที่รุ่งเรืองเสมอ” หล่อนพูดเสียงเครือ
“ลาก่อน วารยา ฉันจะพบเธออีกในแมนจูเรีย” ข้าพเจ้ากล่าวตอบพลางเดินตามรถซึ่งกำลังเคลื่อนขบวนออกช้า ๆ ดูเหมือนว่าข้าพเจ้ายังไม่เคยได้รับความรู้สึกอะไรที่ทรมานใจเท่ากับในตอนเช้าวันนั้น
รถแล่นเร็วเข้าทุกที แล้วในที่สุดมือของวารยาก็หลุดไปจากกำ มือข้าพเจ้า หล่อนโบกมือให้อย่างอ่อนแรง ข้าพเจ้ามองดูตาหล่อนแล้วก็ใจหายวาบ ดวงตาคู่นั้นกำลังชุ่มไปด้วยอัสสุชล!
อีกไม่ถึง ๑ นาทีต่อมา รถพิเศษขบวนยาวยืดก็แล่นลับไปกับโค้งกำแพงเมืองอันสูงตระหง่าน นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้แลเห็นวารยา ราเนฟสกายา