๔๙

ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง บัดนี้ความหลังเรื่องหนึ่งได้จบไปแล้วด้วยความเศร้า นั่นคือความตายของวลาดิมีร์ บุรุษผู้มีกิริยาองอาจเหมือนพญาราชสีห์ สง่าผ่าเผย ชวนให้เข้าใจไปได้เนือง ๆ ว่า เขาจะต้องมีความหลังที่รุ่งเรือง เต็มไปด้วยอำนาจวาสนา เมื่อสมัยอยู่ในกรุงมอสโก วลาดิมีร์ได้ปิดฉากชีวิตของเขาอย่างเยือกเย็น เขาได้เดินทางไปสู่หลุมฝังศพด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ทุก ๆ ก้าว ที่เดินไปบนพื้นหิมะ พร้อมด้วยปืนพกที่จ่ออยู่ตรงหัวใจ เขาคงจะคิดว่าเขาได้กระทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับวารยา ไม่มีทางใดเหลืออยู่อีกที่ดีกว่านี้ ข้าพเจ้ารู้ดีว่าวลาดิมีร์ได้สั่งวารยาไว้ว่ากระไรบ้าง ออกจากปักกิ่งไปแมนจูเรียและที่นั่นเจ้าจะพบชีวิตที่สวยงามเงียบสงบ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับความยุ่งยากของโลกและชีวิตอีกต่อไป

ข้าพเจ้าไปเยี่ยมวารยาหลายครั้ง หลังจากที่ได้ทำพิธีฝังศพบิดาที่รักของหล่อนที่เชิงเขาซีซานแล้ว วารยาเปลี่ยนแปลงไปมาก หน้าซีดเซียวไม่สู้จะมีเลือด แววตาหมดความแจ่มใส น้ำเสียงแหบและเบา พูดน้อยไป ผู้ที่รู้จักวารยาย่อมจะเห็นใจหล่อนทุกคน มนัสก็แสดงความเห็นใจด้วยเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ค่อยจะได้พบปะกับหล่อนบ่อยนัก วารยาเหลืออยู่แต่ตัว ไม่มีเงิน ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีใครพอที่จะพึ่งพาอาศัยได้ หล่อนจะต้องเผชิญหน้ากับชีวิตใหม่ต่อไปโดยลำพังผู้เดียว ความอบอุ่นของชีวิตได้ผ่านไปสิ้นแล้ว เหลืออยู่แต่ความเยือกเย็นเปลี่ยวเปล่า เหมือนต้นไม้ในฤดูหนาวที่อยู่กลางหิมะ มีแต่กิ่งไม่มีใบ เมื่อลมพัดมาก็ไหวสะเทือนสั่นสะท้านอย่างน่าสังเวช

วันหนึ่งข้าพเจ้าไปเยี่ยมวารยาอีก พบหล่อนนั่งกอดหนังสือไบเบิลอยู่ในห้องโถงข้างเตาผิง หล่อนยิ้มอย่างเหี่ยวแห้งเมื่อเห็นข้าพเจ้า

“ดูเหมือนจะมีเธอคนเดียวเท่านั้นที่เวียนมาเยี่ยมฉันบ่อย ๆ” หล่อนเอ่ยขึ้นก่อน “ฉันไม่รู้ว่าจะขอบใจเธอได้อย่างไร ระพินทร์ มานั่งทางนี้ซิ ใกล้เตาหน่อย วันนี้อากาศเย็นจัดกว่าทุกวัน”

“ข้างนอกแทบไม่มีคนเดินถนน” ข้าพเจ้าพูดพลางนั่งลงยังเก้าอี้นวมตรงหน้าของหล่อน เหยียดเท้าเข้าไปใกล้เตาเพราะรู้สึกเย็นข้อเท้ามาก

“แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังอุตส่าห์มา” หล่อนสวนขึ้นโดยเร็ว “ฉันจะทำชาร้อน ๆ ให้เธอถ้วยหนึ่ง นั่งรอประเดี๋ยวนะจ๊ะ”

หล่อนลุกขึ้นเดินหายออกไปทางห้องด้านหลัง ข้าพเจ้ายื่นมือเข้าไปผิงไฟ ใจนึกถึงดวงหน้าที่ไม่มีความสุขและความหวังของหล่อน แล้วก็อดเศร้าไม่ได้ ไฟในเตาลุกโชน ถ่านหินก้อนใหญ่ถูกเผาจนกลายเป็นสีขาว ดูเปลวไฟแล้วก็คิดไปถึงชีวิตที่ควรจะรุ่งโรจน์เหมือนไฟในเตานี้อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ความรุ่งโรจน์นั้นผู้ที่ฉลาดย่อมไม่หวังจะให้ยืนนานอยู่ได้ชั่วนาตาปี อีก ๒–๓ ชั่วโมงไฟในเตาก็จะดับมอดไป แลชีวิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องเดินทางไปสู่ความตกต่ำ ถึงจะไม่ตกต่ำทางอำนาจวาสนาและเงินทอง แต่ก็จะต้องตกต่ำทางกำลังกายกำลังความคิด เราจะต้องแก่ชราจะต้องสิ้นความหวังอันสูงลิบซึ่งมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในวัยหนุ่ม สำหรับวารยา ชีวิตของหล่อนต้องตกต่ำในวัยสาว ความหวัง ความทะเยอทะยานยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจ แต่โชคไม่อนุญาตให้หล่อนได้พบความสำเร็จในความหวังทั้งมวลได้ ชีวิตของวารยาอาจจะได้ขึ้นถึงขีดสูงสุดเสียแล้ว ต่อนี้ไปเส้นชีวิตของหล่อนอาจจะวิ่งต่ำลง–ต่ำลง จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของความคิดฝัน แต่ชีวิตเป็นอนิจจัง ใครจะกล้าพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ชีวิตของวารยาอาจจะอับเฉาอยู่เพียงชั่วขณะ ใครจะรู้ได้ว่าต่อไปวารยาจะเป็นอย่างไร หล่อนอาจจะได้เป็นราชินีอยู่ในแมนจูเรียก็ได้!

วารยากลับออกมาพร้อมด้วยน้ำชาถ้วยหนึ่ง ข้าพเจ้ารับมาดื่มด้วยความขอบใจ หล่อนนั่งลงยังที่เดิม พยายามยิ้มอย่างร่าเริงเท่าที่จะทำได้

“มนัสมาบ้างหรือเปล่า?” ข้าพเจ้าถาม

“เคยมาเยี่ยมครั้งหนึ่งแล้วก็หายไป อ้อ ฉันพบแอลเลนของเธอเมื่อวานนี้ที่มอริสสันสตรีต แปลกมาก เข้ามาทักและแสดงความเสียใจด้วย”

“เขามาหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าเรื่องเคราะห์ร้ายของเธอให้ฟัง”

“ดูเขาดีขึ้นมาก”

“ดีอะไร?”

“เธอไม่ได้สังเกตดอกหรือ เมื่อก่อนนี้เขามีความรู้สึกต่อฉันอย่างไร?”

“อ๋อ แอลเลนเป็นเช่นนั้นเอง” ข้าพเจ้ารีบแก้ให้ “เขาเป็นคนไม่ค่อยจะละเอียดนัก พูดจาเป็นดุ้น ๆ ไม่สู้จะใช้ความคิด แต่เป็นเพื่อนที่ดี”

“เปล่า ฉันหมายความว่า แอลเลนมีความเข้าใจในตัวฉันน้อยไป”

“เขาเป็นคนพูดมาก แต่ไม่ระวัง”

“สำหรับฉันเขาพูดน้อย แต่คิดมาก” วารยาคัดค้าน “แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะเพื่อนร่วมชาติของฉันที่นี่ส่วนมากหาเช้ากินค่ำ ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีที่อาศัย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนอื่นเขาจะต้องดูถูก แต่มนัสของเธอดีจัง เขาไม่ดูถูกฉันเลย”

“มนัสเป็นคนละเอียด ถึงจะคะนองสักหน่อยก็ดูมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นดีพอใช้”

“พูดถึงเพื่อนร่วมชาติ ฉันก็อดคิดไม่ได้ เธอมีความเห็นอย่างไรบ้าง?”

“ชาวรัสเซียที่นี่น่ะหรือ? ฉันมองในแง่มนุษยธรรมทั้งนั้น เห็นใจที่ต้องพลัดเมือง ฉันจากบ้านมารู้ดีว่าความรู้สึกของคนที่ต้องจากบ้านเป็นอย่างไร”

“พวกเราเป็นมนุษย์ที่เคราะห์ร้ายพวกหนึ่ง แต่ถ้ามองกันทางแง่ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ของแปลก”

“ไม่ได้รับความอารักขาป้องกันอะไรเลย คล้าย ๆ กับไม่มีชาติ ข้อนี้ฉันเห็นใจด้วยมาก ฉันรู้ดีว่าชาวรัสเซียที่นี่ไม่ค่อยจะได้รับความช่วยเหลือจากใครมากนัก”

“พวกเราถูกดูถูกไม่ว่าจะไปที่ไหน” วารยาพูดเบา ๆ น้ำเสียงแสดงความน้อยใจ “แต่ก็ควรให้เขาดูถูก เพราะยากจนด้วยกันทั้งนั้น ทางทำมาหากินก็ไม่มี ผู้ที่เคราะห์ร้ายที่สุดก็คือผู้หญิง เมื่อไม่มีทางทำมาหากินก็หันไปหาทางที่ชั่ว”

ข้าพเจ้าถอนใจเบา ๆ แต่มิได้ตอบว่ากระไร วารยาพูดต่อไปว่า

“มองดูชีวิตของพวกเราแล้ว ฉันเบื่อโลกเต็มที พ่อก็จากไปแล้วเพราะเบื่อโลกเหมือนกัน ฉันยังจะต้องตัดสินชีวิตของฉันเองว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป”

“แต่เธอต้องเลือกทางที่ถูก” ข้าพเจ้ากล่าวขึ้นโดยเร็ว “ชีวิตคือการต่อสู้ วารยา ก่อนที่เราจะตาย ขอให้เราต่อสู้ให้เต็มฝีมือเสียก่อน”

“เธอเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความหวัง เธอมีชีวิตที่สวยงาม มีอนาคตที่รุ่งเรือง อีกไม่นานเธอก็จะกลับเมืองไทย เธอจะได้พบญาติพี่น้องตลอดจนคนที่เธอรักใคร่ คอยอ้าแขนต้อนรับอยู่ แต่สำหรับฉัน–” หล่อนหยุดนิ่งไปขณะหนึ่ง “ฉันไม่อยากจะพูดถึงความทุกข์ยากหรอก เพราะมันแสดงให้เห็นความอ่อนแอในนิสัย แต่สำหรับเธอ ฉันคิดว่าพอจะพูดได้ เธอไม่ใช่แอลเลน เธอเข้าใจฉันดี ฉันอยากจะให้เธอทราบว่าฉันไม่รู้จะมีหวังมากนักในชีวิต ชีวิตของฉันก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของผู้หญิงรัสเซียที่ตกระกำลำบากอยู่ที่นี่ ไม่มีที่หวังอะไรนอกจากจะคิดว่าอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ จนกระทั่งจะตายไปให้พ้นทุกข์พ้นร้อน”

“ฉันเข้าใจ วารยา” ข้าพเจ้าพูดเสียงหนักแน่น “ฉันเห็นใจเธออย่างที่สุด ทุกครั้งที่ฉันมาเยี่ยมเธอ ฉันอยากจะถามเธอว่า ฉันจะช่วยเธอได้ทางใดบ้าง แต่ฉันไม่กล้าถาม เพราะเธออาจไม่เข้าใจ”

“ไม่เข้าใจ” วารยาทวนคำ “มีอะไรในจิตใจเธอที่ฉันไม่เข้าใจ? เธอพูดเช่นนี้ก็หมายความว่าเธอไม่เข้าใจฉันพอ”

“เข้าใจสิ วารยา เข้าใจอย่างดีทีเดียว” ข้าพเจ้ารีบตอบ “แต่สิ่งที่ฉันจะถามมันมากเกินที่ฉันควรจะถามได้”

“เธอจะถามว่ากระไร?”

ข้าพเจ้านิ่งคิดแล้วจึงตอบ

“ฉันอยากจะถามว่า..... ฉันจะช่วยเธอในทาง...” หยุดนิ่งเพราะไม่กล้าพูดให้จบ วารยามองตาอย่างแปลกใจ นิ่งอยู่ขณะหนึ่ง ข้าพเจ้าพูดต่อไปว่า “พูดง่าย ๆ เธอเต็มใจจะให้ฉันช่วยอะไรเธอได้บ้าง?”

“ขอบใจเธอเหลือเกิน ระพินทร์” หล่อนพูดเสียงเครือ “ฉันรู้ว่าเธอคงเป็นห่วงเรื่องเงินทอง ฉันยังมีพอสำหรับใช้เป็นค่าเดินทางไปอยู่ที่อื่นได้ ถ้าเธอจะช่วยฉัน ฉันอยากให้เธอช่วยทางน้ำใจมากกว่า”

“ก็ฉันช่วยอยู่ทุกวันแล้วนี่ วารยา ขอให้ฉันได้ช่วยทางอื่นบ้าง”

หล่อนยิ้มอย่างมีนัย

“ฉันอยากให้เธอช่วยทางใจ” หล่อนย้ำคำเดิม “แต่ฉันรู้ดีว่าเธอช่วยไม่ได้”

“เธอคิดหรือว่าฉันไม่มีความเห็นใจเธอเลย”

“เปล่า” วารยาตอบอย่างเยือกเย็น “ฉันรู้ว่าเธอเห็นใจ เพียงแต่เห็นใจเท่านั้น แต่นั่นแหละ ระพินทร์ ความเห็นใจเป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนที่ดีจะมอบให้แก่กันได้”

ข้าพเจ้ามองดูหล่อนอย่างไม่เข้าใจ

“บางทีฉันอาจละเลยอะไรไปบางอย่าง จนเธอคิดว่าฉันมีความเห็นใจน้อยไปก็ได้”

หล่อนมองดูข้าพเจ้าด้วยดวงตาอันงาม ดวงตาคู่นี้เคยทำให้ข้าพเจ้างวยงงไปหลายครั้ง และในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันอีก

“เธอเป็นมิตรที่ดีที่สุดของฉัน เธอได้ทำดีแล้วทุกอย่างสำหรับเพื่อน แต่ฉันอาจจะหวังมากไปเอง” หล่อนก้มหน้าหลบสายตาข้าพเจ้า “นั่นแหละระพินทร์ คนเรามักจะโลภไม่รู้จักสิ้นสุด ความโลภของฉันอาจเกิดเพราะนิสัยหรือเพราะต้องผจญกับความเงียบเหงามากไป ยิ่งเวลานี้ฉันอยู่ตัวคนเดียวในโลก ฉันก็ยิ่งต้องการความเห็นใจจากเธอมากขึ้น เธอจะมีให้ฉันสักเท่าใดก็ไม่เพียงพอดอก ระพินทร์”

ข้าพเจ้ามองหน้าหล่อนเฉยอยู่โดยมิได้ตอบ วารยาพูดวกไปวนมาจนแทบจะจับอะไรไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาดูความรู้สึกในแววตา ตลอดจนอิริยาบถทุกกระเบียดนิ้ว ก็เห็นได้ว่าหล่อนได้ซ่อนความหมายสำคัญไว้ภายใน วารยาต้องการอะไรจากข้าพเจ้า? คิดดูแล้วก็ใจเต้น หล่อนต้องการมากกว่ามิตรภาพเช่นนั้นหรือ? ข้าพเจ้าควรจะเชื่อไหมว่าหล่อนมีความรู้สึกเช่นนั้น? และข้าพเจ้าพร้อมแล้วหรือที่จะปล่อยใจให้ติดตามหล่อนไปโดยปราศจากความยับยั้ง? เป็นไปได้หรือที่ข้าพเจ้าจะรักวารยา และวารยาจะรักข้าพเจ้า? เมื่อนึกถึงความสงสัยข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ถอนใจ มันไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยเพราะข้าพเจ้าจะรักวารยาไม่ได้ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องถือว่าวารยาเป็นแต่เพียงเพื่อนสนิท ข้อสำคัญหล่อนต่างชาติและต่างศาสนา นอกจากนี้หล่อนควรจะเป็นของเหลียง ไม่ว่าอะไรจะได้เกิดขึ้นแล้วในลักษณะใด ๆ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ