บันทึกเรื่องเมืองปักกิ่ง

ในที่สุด ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง เรื่องที่ ๑ ก็ได้จบลง วารยา ราเนฟสกายา ได้ปิดฉากชีวิตลงฉากหนึ่ง แต่ข้าพเจ้ายังไม่คิดว่าวารยาจะหายสูญไปอย่างไม่มีวันกลับ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ใครจะกล้ายืนยันได้ว่าวารยาได้ปิดฉากชีวิตอย่างเป็นการปิดตาย ระพินทร์จะมีความหลังอะไรมาเล่าอีกสำหรับวารยาผู้นี้ เป็นเรื่องที่จะต้องดูต่อไป

ความหลังในเมืองปักกิ่งเป็นเรื่องยืดยาว เกินที่จะบอกได้ว่ามีขอบเขตเพียงไหน ข้าพเจ้าพูดได้แต่เพียงว่า ความหลังในนครโบราณแห่งนี้ จะสิ้นสุดลงได้ก็ต่อเมื่อได้มีเหตุผลมาลบล้างความทรงจำของข้าพเจ้าให้หายสูญไปจนหมดสิ้นแล้ว และเหตุสำคัญยิ่งนี้ก็คือความตาย

ทำไมข้าพเจ้าจึงมาเขียนเรื่องเมืองปักกิ่ง? ข้าพเจ้าได้ถามตัวข้าพเจ้าเองมาเท่ากับที่ข้าพเจ้าควรจะถูกคนหลายคนถาม ทุกครั้งข้าพเจ้าได้รับคำตอบถูกต้องตรงกันเสมอ ซึ่งแสดงว่าความมุ่งหวัง ในการเขียนเรื่องเมืองปักกิ่งนี้ เป็นความมุ่งหวังที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรเปลี่ยนตามความกลับกลายของอารมณ์ ทุกวันนี้ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าอยู่ข้อหนึ่ง คือปรารถนาที่จะได้พูดความในใจ ซึ่งข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะปิดบัง อันที่จริงความในใจเป็นสิ่งที่ควรจะหวงแหนกันให้มาก แต่สำหรับข้าพเจ้าความในใจที่มีอยู่ไม่ใช่ของลี้ลับอะไร ข้าพเจ้าถือว่าความในใจของข้าพเจ้าเป็นของสาธารณะ ที่ถือเช่นนี้ก็เพราะข้าพเจ้าไว้ใจตัวเองว่า ข้าพเจ้ามีความสุจริตต่อทุก ๆ คนในโลกนี้ ความสุจริตนี้เองคงจะช่วยให้ข้าพเจ้ามีแต่มิตร ซึ่งอาจจะไม่ทำอันตรายต่อข้าพเจ้าเลย

ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงความในใจของข้าพเจ้าหลายประการในเรื่อง ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าคงจะได้กล่าวความในใจสืบไปในเรื่องต่อ ๆ ไป ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข มากกว่าความสุขที่ข้าพเจ้าอาจจะได้รับจากการเป็นเจ้าของสิ่งซึ่งเมื่อตายแล้วก็จะขนเอาไปไม่ได้ ความสุขของข้าพเจ้าเป็นสิ่งที่มิตรสหายหลายคนไม่เข้าใจ ความสุขที่เกิดจากการพินิจพิจารณาดูชีวิตแต่ลำพังคนเดียว ความสุขที่เกิดจากความเงียบสงบ ความสุขที่เกิดจากเสียงนกร้องและเสียงน้ำไหลในลำธาร ความสุขที่เกิดจากการมีชีวิตง่าย ๆ ห่างไกลต่อพิธีซึ่งอาจเป็นแต่เพียงหน้ากากบังหน้า ฯลฯ ความสุขเหล่านี้ข้าพเจ้าอาจพบได้ในแผ่นดินที่สวยงามด้วยธรรมชาติ ข้าพเจ้าคิดว่าวัวควายในท้องทุ่งก็ดี สัตว์ร้ายอันมีสันดานป่าเถื่อนในป่าดงพงพีก็ดี คงจะไม่ทำให้ข้าพเจ้าผิดหวังในความสุข ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าคงจะได้รับจากความสงัดเงียบร่มเย็นของธรรมชาติเหล่านั้น ข้าพเจ้าเคยคิดถึงเด็กเลี้ยงควายที่มีชีวิตอยู่กับควายตลอดวัน ข้าพเจ้านึกเอาว่าเด็กเหล่านี้คงจะมีความสุขมาก เพราะเขาได้พบเห็นแต่ความเป็นจริงของธรรมชาติ ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในเวลาเช้าตรู่ ได้สูดกลิ่นบัวในหนองน้ำ ได้ฟังเสียงนกร้องเพลง ฯลฯ เขาคงจะไม่ได้รับความผิดหวังเพราะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก หรือได้ดมกลิ่นบัวซึ่งไม่ใช่กลิ่นบัว หรือได้ฟังเสียงเพลงของนกซึ่งกลายเป็นเสียงนินทาว่าร้าย หรือเสียงซึ่งเต็มไปด้วยความโกหกพกลม แม้แต่เจ้าควายโง่ที่เขานั่งดูมันกินหญ้า ก็ไม่ทำให้เขาผิดหวังอะไร เพราะถึงมันจะโง่อย่างควาย แต่มันก็มีความสุจริตอยู่ในใจ ไม่รู้จักหลอกลวง ไม่รู้จักตลบตะแลง ถ้ามันจะขวิดเขา มันก็ขวิดซึ่ง ๆ หน้า ซึ่งเขาอาจมีเวลาป้องกันตัวได้ นี่คือความสุขของเด็กเลี้ยงควายในอุดมคติของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าข้าพเจ้าไปเลี้ยงควายบ้าง ข้าพเจ้าคงจะได้พบกับความสุขเหล่านี้

ปักกิ่งเป็นเมืองประหลาด ข้าพเจ้าได้พบความสุขที่เต็มไปด้วยความสงบ–ความสุขที่เกิดจากธรรมชาติและศิลปะซึ่งสวยสดงดงามอยู่เสมอ ข้าพเจ้าได้พบความเชื่องของชีวิตที่เต็มไปด้วยความเห็นใจ ชีวิตในปักกิ่งเป็นชีวิตที่ดูง่ายคล้ายกับชีวิตในเมืองชนบท แต่ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของจีนมานับด้วยจำนวนศตวรรษ และในสมัยที่ข้าพเจ้าอยู่ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและวัฒนธรรมอยู่ตามเดิม นครหลวงเก่าแห่งนี้ช่างมีความเก่าเสียจริง ๆ ถนนเต็มไปด้วยฝุ่นในฤดูร้อน เต็มไปด้วยโคลนเวลาหิมะละลาย บ้านเรือนส่วนมากควรจะอยู่ในสมัยที่มาร์โคโปโลเข้าเฝ้าพระเจ้าหยวนซื่อจู่ แต่ข้าพเจ้ามองปักกิ่งอย่างมองดูชิ้นลายครามอันมีชื่อเต็มไปด้วยศิลปะและพงศาวดารของชีวิต ซึ่งบันทึกไว้ในสมุดประวัติศาสตร์มากกว่า ๓,๐๐๐ ปี บางทีอาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ข้าพเจ้าจึงชอบปักกิ่ง และต้องการจะมีความสุขด้วยการเขียนเรื่องของเมืองปักกิ่ง

ข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าคงจะต้องเขียนเรื่องปักกิ่งต่อไปอีกหลาย ๆ เรื่องก่อนที่ข้าพเจ้าจะตาย เพราะฉะนั้น ถ้าข้าพเจ้าจะเล่าประวัติของปักกิ่งไว้ในที่นี้สักเล็กน้อย ก็คงจะช่วยให้ภาพในเรื่องที่ข้าพเจ้าจะเขียนต่อ ๆ ไปมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง เป็นนครเก่าแก่ มีชีวิตมาแล้วในสมุดประวัติศาสตร์เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด ๓,๐๐๐ ปี ความเก่าของปักกิ่ง เมื่อเทียบตามจดหมายเหตุในประวัติศาสตร์แล้ว ก็เก่ากว่าโรมหรือเอเธนส์ ขณะที่ชาวจีนได้มาสร้างเมือง ๆ แรกที่นครปักกิ่ง (เวลานั้นเรียกเมืองฉี–๑๑๒๑ ก.ค.) ปรากฏว่าพวกกรีกเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนกรีซปัจจุบัน และบรรพบุรุษของพวกอิตาเลียนก็เพิ่งจะอพยพเข้ามาในแหลมอิตาลี ขณะนั้นโรมก็ดี เอเธนส์ก็ดี ยังอยู่ในเงามืด ยังไม่มีอะไรจะพูดถึงได้เลย ความเก่าของเมืองปักกิ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้ละเอียด เท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ได้ความแต่เพียงว่า ได้มีการสร้างเมืองขึ้นที่ปักกิ่งเป็นจำนวน ๖ ครั้ง ตลอดเวลา ๓,๐๐๐ ปี แต่เพียงชั่วระยะเวลาที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นี้ ปักกิ่งก็แก่กว่าโรมหรือเอเธนส์เสียแล้ว เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าชนชาติจีนที่อพยพเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเหลืองเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด ๕,๐๐๐ ปี ก็พอจะประมาณได้ว่าปักกิ่งคงได้เคยเป็นเมืองมาแล้วนานมาก ก่อนที่จะปรากฏในสมุดประวัติศาสตร์ ที่ประมาณเช่นนี้ก็เพราะปักกิ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง ตรงทำเลเหมาะที่จะเป็นเมืองหรือชุมนุมชน พิจารณาทางภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่าปักกิ่งตั้งอยู่บนที่ราบ ขนาบด้วยแม่น้ำป๋ายเหือและหวงเหือ (แม่น้ำเหลืองหรืออึ้งโห) จากปักกิ่งไปจดทะเลในอ่าวจื๋อลี่ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก เป็นที่ราบซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารพอที่จะเลี้ยงพลเมืองได้ถึง ๒๐ ล้านคน จากปักกิ่งไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่มาของศัตรู พื้นที่สูงชันขึ้นทันที เมื่อเดินออกจากปักกิ่งไปทางทิศตะวันตก หรือทางทิศเหนือเพียง ๒๐ ไมล์ ก็จะพบพืดเขาซึ่งสูงถึง ๒,๖๐๐ ฟุต พูดภูเขานี้จะสูงมากขึ้นทุกที เหมาะสำหรับป้องกันศัตรูซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ควรสังเกตว่ากำแพงเมืองจีน (The Great Wall of China) สร้างขึ้นบนสันเขา ห่างจากปักกิ่งไปทางเหนือประมาณ ๓๕ ไมล์ พืดเขาที่สร้างกำแพงไว้บนยอดนี้สูงถึงประมาณ ๔,๐๐๐ ฟุต เมื่อปักกิ่งตั้งอยู่ในชัยภูมิอันดีและบริบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเช่นนี้ จึงประมาณได้ว่า ก่อนจะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ ปักกิ่งน่าจะได้เคยเป็นเมืองหรือชุมนุมชนมาแล้วเป็นเวลานานมาก

ปักกิ่ง ปรากฏในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในสมัยของโจว ภายหลังที่หวู่หวางได้ปราบกษัตริย์ราชวงศ์ยิ้นราบคาบไปแล้ว หวู่หวางได้ตั้งตัวเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว (๑๑๒๒ ก.ค.) เวลานั้นประเทศจีนเต็มไปด้วยเจ้านครเล็ก ๆ เมื่อหวู่หวางได้เป็นกษัตริย์แล้ว ก็แบ่งที่ดินให้แก่บรรดาขุนนางนายทหาร ตลอดจนเจ้าราชวงศ์ปกครองเป็นรัฐเล็ก ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนความดีความชอบที่ได้ช่วยตนโค่นราชวงศ์ยิ้นลง โดยประการเช่นนี้ อาณาจักรโจวจึงเต็มไปด้วยรัฐเล็ก ๆ คล้ายกับสหรัฐเยอรมัน (German Confederation) ในศตวรรษที่ ๑๘ ในการมอบดินแดนและเมืองต่าง ๆ ให้ขุนนางนายทหารและเจ้าราชวงศ์ปกครองนี้ มีข้อความปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าหวู่หวางได้มอบนครฉี (คือปักกิ่ง) ให้แก่เชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าเหยา ซึ่งยังตกค้างอยู่ นั่นเป็นเรื่องราวของปักกิ่งเรื่องแรกในสมุดประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านั้นก็สันนิษฐานได้ว่าปักกิ่งจะต้องเป็นเมืองมาแล้ว เพราะอยู่ในทำเลที่ดี ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้น แต่ไม่ปรากฏความชัดในประวัติศาสตร์

นครฉีที่พระเจ้าหวู่หวางพระราชทานให้แก่เชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าเหยานี้ สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ทางด้านเหนือของกำแพงเมืองปักกิ่งเดี๋ยวนี้ พระเจ้าเฉียนหลุง (ค.ศ. ๑๗๓๕–๑๗๖๕) ซึ่งใส่พระทัยทางอักษรศาสตร์มาก ได้ทรงค้นคว้าพบหลักฐานที่ควรเชื่อถือได้ ว่านครนี้ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเมืองด้านเหนือของปักกิ่งขึ้นไปเพียง ๕ ลี้ คือประมาณ ๑.๗๘ ไมล์ เมื่อทรงสันนิษฐานแน่นอนแล้ว พระเจ้าเฉียนหลุงก็โปรดให้ก่อหลักศิลาขึ้นตรงที่ ๆ ทรงคิดว่าเป็นประตูเมือง ดังนี้ ถึงแม้เมืองฉีจะมิได้ตั้งครอบเมืองปักกิ่งทีเดียว แต่ก็ย่อมกล่าวได้ว่า ชานเมืองฉีได้คลุมปักกิ่งปัจจุบันอยู่ทั้งเมือง

ตลอดสมัยราชวงศ์โจว จีนเต็มไปด้วยสงครามกลางเมือง บรรดารัฐต่าง ๆ ที่เกิดเพราะพระเจ้าหวู่หวางพระราชทานที่ดินให้แก่ขุนนางนายทหารและพวกเจ้าราชวงศ์ ต่างก็พากันตั้งตัวเป็นใหญ่ แก่งแย่งชิงอำนาจรบราฆ่าฟันกันเป็นเวลานานมากกว่า ๘๐๐ ปี (The Feudal Period หรือชุนชิวจ้านกวอ) สงครามกลางเมืองนี้ได้สุดสิ้นลงโดยเจ้านครฉินได้เป็นผู้ชนะในระยะสุดท้าย เจ้านครฉินได้ตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฉิน ทรงพระนามว่าพระเจ้าฉินฉื่อหวง กษัตริย์องค์นี้ทรงเห็นว่าการปกครองอย่างให้รัฐต่าง ๆ เป็นอิสระแก่ตนเองแบบที่กษัตริย์ราชวงศ์โจวกระทำ ย่อมทำให้บ้านเมืองระส่ำระสายเพราะแก่งแย่งกันเอง ฉะนั้นจึงเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ โดยรวบอำนาจการปกครองจากรัฐต่าง ๆ มาไว้ในกำมือของพระองค์อย่างเด็ดขาดตัดตอน แต่แม้กระนั้นแล้วพระองค์ก็ยังไม่วางพระทัย ยังเกรงอยู่ว่าบรรดาคนฉลาดทั้งหลายจะก่อการกบฏขึ้น จึงออกคำสั่งให้เผาบรรดาสรรพตำราต่าง ๆ เสีย (ยกเว้นบางชนิด เช่น ตำราแพทย์ ตำราเพาะปลูก) เพื่อป้องกันไม่ให้คนได้ร่ำเรียนมีความรู้ และเพื่อทำลายประวัติศาสตร์จีน เป็นการบังคับให้ประวัติของประเทศจีนเริ่มต้นในสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังจับบรรดาปราชญ์ทั้งหลายมาฆ่าเสียเป็นอันมาก การเผาตำรานี้ทำให้พระเจ้าฉินฉื่อหวงกลายเป็นศัตรูของประเทศจีนไป คนชั้นหลังได้พากันตำหนิติเตียนและโกธรแค้นกันอยู่ตลอดมา เพราะต่างก็พากันเสียดายเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์และวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งได้สูญหายไปในกองไฟครั้งนั้นเป็นจำนวนมากสุดคณานับ

ในสมัยที่พระเจ้าฉินฉื่อหวงรวบอำนาจการปกครองไว้ในกำมือ นครฉีได้ถูกพระองค์ทำลายราบเป็นหน้ากลอง และแคว้นเยี้ยนซึ่งนครเป็นเมืองหลวงก็กลายเป็นจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งในอาณาจักรของราชวงศ์ฉิน

เมื่อนครฉินถูกทำลายแล้ว ก็ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์อย่างแน่ชัดว่ามีเมืองใดตั้งขึ้นตรงนครแห่งนี้อีก ตราบจนกระทั่ง ค.ศ. ๗๐ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น นครฉีจึงได้กลายเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนครเนี้ยน เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับแคว้นเยี้ยนซึ่งคลุมนครฉีอยู่ในสมัยโจว

ต่อมานครเยี้ยนได้เปลี่ยนชื่อเป็น หยูโจว เมื่อสอบดูตามบันทึกต่าง ๆ ปรากฏว่าเมืองหยูโจวนี้ตั้งอยู่เกือบจะสวมกับเมืองปักกิ่งปัจจุบันเหมือนกัน คือตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองปักกิ่ง กำแพงเมืองหยูโจวกับกำแพงเมืองปักกิ่งเหลื่อมกันพอดี เมืองหยูโจวกับเมืองฉีซึ่งถูกทำลายไปดังได้กล่าวไว้แล้ว มีขนาดเท่ากัน แต่เทียบกับปักกิ่งแล้วก็เล็กกว่าประมาณ ๑ ใน ๗

เมื่อสิ้นราชวงศ์ฮั่นใน ค.ศ. ๒๒๑ หยูโจวก็เปลี่ยนมือไปอยู่กับผู้มีอำนาจคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง เพราะหลังสมัยฮั่น บ้านเมืองแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า (สามก๊กและหนานเป่เฉา) และผลที่สุดได้ตกอยู่ในกำมือของพวกตาร์ดเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี เมื่อสิ้นสมัยสามก๊กและหนานเป่เฉาแล้ว ก็ถึงสมัยแผ่นดินสุยและแผ่นดินถัง ซึ่งจีนได้รวบรวมกันเข้าเป็นปึกแผ่นแน่นหนาอีกครั้งหนึ่ง หยูโจวได้ตกมาอยู่ในความปกครองของจีนตามเดิม

ในกลางศตวรรษที่ ๑๐ จีนยกดินแดนภาคเหนือให้พวกเชี่ยะตานหลายจังหวัด ตอนนี้เมืองหยูโจวได้ตกไปอยู่ในกำมือของพวกเชี่ยะตานด้วย และได้กลายเป็นเมืองหลวงเชี่ยะตานซึ่งตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นชื่อว่าเหลียว ใน ค.ศ. ๙๓๗ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น หนานจิง (เขียนอย่างเดียวกับชื่อเมืองนานกิง แต่ไม่ใช่เมืองเดียวกัน หนาน แปลว่า ใต้, จิง แปลว่า นคร) ใน ค.ศ. ๙๘๖ พวกเชี่ยะตานได้ทำลายเมืองหยูโจวเสีย และสร้างเมืองใหม่ขึ้นแทน ซึ่งสวยงามกว้างขวางกว่า เรียกชื่อเมืองนี้เหมือนเดิมคือหนานจิง เมืองหนานจิงจึงสร้างคร่อมเมืองหยูโจว แต่ขยายกำแพงออกไปทางใต้และทางตะวันตก ทำให้ใหญ่ขึ้นประมาณ ๓ เท่าตัว แต่ก็ยังคงเล็กกว่าปักกิ่งมาก กำแพงเมืองใหม่นี้ยาว ๓๖ ลี้ (๑๓ ไมล์) และสูง ๓๐ ฟุต ทุก ๆ ด้านมีประตูใหญ่ ๒ ประตู รอบกำแพงมีคูล้อมถึง ๓ ชั้น ปราสาทราชวังที่ประทับของกษัตริย์ พวกเชี่ยะตานสร้างไว้ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ กำแพงล้อมพระราชวังนี้มีส่วนสูงถึง ๔๐ ฟุต กำแพงเมืองหนานจิงใหม่นี้ยังคงมีซากอยู่ทางมุมกำแพงด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองปักกิ่ง ใน ค.ศ. ๑๐๑๓ เมืองหนานจิงได้เปลี่ยนชื่อเป็นเยียนจิง

ใน ค.ศ. ๑๑๑๔ พวกกิมหรือพวกหนู่เจินมีอำนาจมากขึ้นทางเหนือ พากันแผ่อำนาจลงมาคลุมพวกเชี่ยะตาน เมืองเยียนจิงได้ถูกพวกหนู่เจินยึดไว้ได้ใน ค.ศ. ๑๑๒๒ อาศัยที่ตั้งอยู่ในทำเลอันดี อะกูตา ประมุขของพวกหนู่เจินจึงยกขึ้นเป็นเมืองหลวง ทั้งนี้เพื่อสะสมกำลังสำหรับบุกลงมาตีจีนทางภาคใต้ต่อไปอีกด้วย เวลานั้นราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) กำลังปกครองจีนอยู่ แต่ยังไม่มีกำลังจะเอาดินแดนภาคเหนือที่ตกอยู่ในกำมือพวกหนู่เจินคืนมาได้

อะกูตาได้ลงมือขยายเมืองเยียนจิงออกไปอีก คือต่อกำแพงออกไปทางตะวันออก คลุมด้านใต้ของเมืองปักกิ่งปัจจุบันทั้งหมด ทำให้ตัวเมืองมีรูปยาวเหมือนแผ่นอิฐ มีขนาดโตประมาณ ๒ เท่าของเยียนจิงเดิม มีบันทึกไว้ว่า ในการสร้างเมืองหลวงใหม่ของพวกหนู่เจินนี้ ต้องใช้กุลีถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน รวมกับพวกทหารอีก ๔๐๐,๐๐๐ คน การก่อสร้างได้เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ผู้คนไม่มีเวลาพักผ่อน พวกกุลีและทหารได้พากันล้มตายไปเป็นอันมากเพราะความตรากตรำ อะกูตาได้ตั้งตัวขึ้นเป็นจักรพรรดิ เรียกราชวงศ์ของตนว่า จิน แปลว่า ทอง ปราสาทราชวังก็สร้างอย่างโอ่โถง ภายในนครหลวงใหม่มีบันทึกไว้ว่า เครื่องประดับต่าง ๆ ล้วนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น ขื่อเพียงอันเดียวมีผู้ตีราคาถึง ๒๐,๐๐๐ เหรียญ ราชรถของอะกูตาก็ทำใหญ่โตมาก ต้องใช้คนลากถึง ๕๐๐ คน นอกจากปราสาทราชวังแล้ว อะกูตาได้สร้างอุทยานและปราสาทพักร้อนขึ้นอีกทางด้านเหนือของตัวเมือง ตรงอุทยานซานกงหยวน (เซนทรัลปาร์ก) ของเมืองปักกิ่งปัจจุบัน เมืองหลวงใหม่นี้อะกูตาเปลี่ยนชื่อจากเยียนจิงเป็น จงตู แปลว่า นครกลาง

พวกเชี่ยะตานมีอำนาจอยู่ประมาณ ๑๐๐ ปี พวกมองโกลก็เข้ามามีอำนาจแทน ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของนครจงตูตลอดเวลาที่อยู่ในกำมือของพวกเชี่ยะตาน ได้ระบือแพร่ออกไปไกล พวกมองโกลซึ่งมีเจงกีสข่าน หรือเฉินจีซือฮ่าน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เถี่ยมูเจิน ได้ยินกิตติศัพท์อันนี้ จึงเกิดความกระหายอยากจะได้ไว้ในกำมือบ้าง จึงยกกำลังเข้าบุกรุกอาณาจักรของพวกเชี่ยะตานในจีนเหนือเรื่อยมา พวกเชี่ยะตานสู้ไม่ได้ก็หันเข้าหาวิธีติดสินบน พยายามหาของดีมีค่าเอาไปบรรณาการ เพื่อจะไม่ให้บุกเข้ามาถึงจงตู แต่เจงกีสข่านได้มุ่งหมายไว้แล้วว่าจะตีเอาจงตูให้ได้ จึงยกทหารรุกลงมาโดยมิได้หยุดยั้ง ผลที่สุดก็ยึดนครจงตูได้ใน ค.ศ. ๑๒๑๕ พวกเชี่ยะตานได้ต่อสู้อย่างสุดกำลัง ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ โดยเหตุนี้พอพวกมองโกลเข้าเมืองได้ จึงเอาไฟเผาบ้านเรือนพินาศไปแทบทั้งสิ้น และขนเอาแก้วแหวนเงินทองของมีค่าไปเป็นจำนวนสุดคณานับ ไฟไหม้นครจงตูอยู่เดือนกว่าจึงได้ดับไปเอง เมื่อได้จงตูแล้ว เจงกีสข่านก็แผ่อำนาจออกไปทางตะวันตก เข้ายึดแคชกา ยาคาน โคเต็น ผ่านช่องแคบพืดเขาหิมาลัยเข้ายึดลุ่มน้ำสินธุ และผ่านเข้าไปในจอร์เจียและภาคใต้ส่วนอื่นของรัสเซีย ผลที่สุดก็ตีทะลุเข้าไปในยุโรป เจงกีสข่านเข้าเมืองไหนได้ก็เผาเสียจนราบลงกับพื้นดิน ซึ่งทำให้คุยโตว่าเขาสามารถจะขี่ม้าเข้าไปในเมืองโดยไม่มีอะไรที่ใหญ่พอที่จะมาขวางหน้าให้ม้าสะดุดได้เลย เจงกีสข่านเป็นจักรพรรดิ “ผู้ปราบ” อันใหญ่ยิ่งของทวีปเอเชีย ไม่แพ้อเลกซานเดอร์มหาราช ฮันนิบัล หรือจูเลียส ซีซาร์

เมื่อเจงกีสข่านตายแล้ว พวกลูกหลานก็แสดงการแผ่อำนาจสืบต่อ ๆ กันมา ในสมัยที่พวกเชี่ยะตานปกครองจีนเหนืออยู่นั้น ทางจีนภาคใด้อยู่ในความปกครองของราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) พวกจีนพยายามที่จะแย่งเอาจีนเหนือกลับคืนมาจากพวกเชี่ยะตาน แต่ก็ไม่สำเร็จสักที พอพวกมองโกลบุกลงมาจากภาคเหนือ พวกจีนก็พยายามเอาใจพวกมองโกล เพื่อยืมมือพวกนี้เข้ากำราบพวกเชี่ยะตาน พระเจ้าซ่งหลี่จงได้ส่งทูตไปทำไมตรีกับพวกมองโกลสัญญาจะร่วมรบพวกเชี่ยะตาน เมื่อพวกเชี่ยะตานปราชัยไปแล้ว พระเจ้าซ่งหลี่จงก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่พระองค์หารู้ไม่ว่าการปล่อยให้พวกมองโกลเข้ามาครอบครองจีนเหนือนี้ ย่อมหมายถึงความพินาศของจีนใต้โดยตรง

เมื่อพวกเชี่ยะตานหมดอำนาจไปแล้ว พระเจ้าซ่งหลี่จงก็รีบส่งกองทัพขึ้นไปยึดเมืองไคเฟิงฝู่และเมืองลั่วหยาง (ลกเอี๋ยง) ในจีนเหนือไว้ แต่พวกมองโกลไม่ยินยอม เพราะได้ตั้งใจไว้แล้วว่า พอเสร็จศึกกับพวกเชี่ยะตานก็จะลงมือรุกจีนต่อไป โดยเหตุนี้มหายุทธ์สงครามระหว่างพวกมองโกลกับพวกจีนจึงเปิดฉากออก เมิ่งเกอข่านซึ่งสืบอำนาจจากโอโกไตหรือวอคว่อไถราชบุตรเจงกีสข่าน ได้เป็นข่านใน ค.ศ. ๑๒๓๕ เมิ่งเกอกับน้องชายคือกุไบลข่าน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ฮุปิเลี่ยะได้เป็นผู้นำของพวกมองโกลที่เข้ามาทำสงครามกับจีนต่อมาจนกระทั่งจีนต้องพ่ายแพ้ไป และราชวงศ์ซ่งถึงแก่ความพินาศ รวมเวลาที่จีนต้องต่อสู้กับพวกมองโกลนี้เป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี ซึ่งนานกว่าการต่อสู้ของประเทศใด ๆ ที่ต้องปราชัยแก่พวกมองโกลในสมัยนั้น

เมื่อจีนสิ้นอำนาจลงทั่วประเทศแล้ว กุไบลข่านก็ขึ้นครองอำนาจแทน และตั้งตัวเป็นจักรพรรดิแห่งประเทศจีน โดยตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นว่า ราชวงศ์หยวน (หงวน) เนื่องจากกุไบลข่านเห็นว่าตนควรจะครองจีนให้ถาวรดีกว่าจะเป็นข่านของมองโกเลีย เพราะจีนเจริญรุ่งเรืองกว่ามาก มีวัฒนธรรมสูงกว่าพวกมองโกล ทุก ๆ ทางฉะนั้นจึงพยายามเอาขนบธรรมเนียมประเพณีและอักษรศาสตร์ของจีนมาใช้ โดยหวังจะกลมกลืนกับจีนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แม้แต่ชื่อของตน เมื่อประกาศเป็นจักรพรรดิแล้ว ก็เรียกชื่อจีนว่า หยวนซื่อจู่ หรือ ง่วนสีโจ๊ว การกระทำของจักรพรรดิมองโกลนี้ ผลที่ปรากฏต่อมาพวกมองโกลก็ถูกจีนกลืนหมด ไม่ใช่พวกจีนถูกมองโกลกลืน นี่คือผลของความแน่นหนามั่นคงของวัฒนธรรมจีน ซึ่งมีอายุในประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี

เมื่อกุไบลข่านประกาศตนเป็นจักรพรรดิของจีนแล้ว ก็เลือกเอาเมืองจงตูเป็นเมืองหลวง โดยเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า คานบาลิก (บางฉบับเขียนว่า คัมบูลัค) แปลความหมายว่า “เมืองแห่งข่านผู้ยิ่งใหญ่” เมืองนี้พวกจีนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้าตู เมืองจงตูถูกเผาพินาศไปสิ้นในสมัยที่เจงกีสข่านเข้ายึดเอาไปจากพวกเชี่ยะตาน ฉะนั้นเมื่อได้จีนไว้ในกำมือหมดแล้ว ก็สร้างนครใหม่ชิดกำแพงเมืองจงตูขึ้นไปทางเหนือ ครอบด้านเหนือของเมืองปักกิ่งปัจจุบันไว้ทั้งหมด เมืองคานบาลิกนครหลวงของพระเจ้าหยวนซื่อจู่นี้สร้างใหญ่โตมาก สวยงามมั่งคั่งยิ่งกว่าสมัยใด ๆ กำแพงเมืองด้านตะวันออกกับด้านตะวันตกทับอยู่กับกำแพงเมืองปักกิ่งปัจจุบันพอดี ส่วนกำแพงด้านเหนือเหลื่อมกับกำแพงปักกิ่งขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๑ ๓/๔ ไมล์ พูดง่าย ๆ ก็กล่าวได้ว่า ที่ฝรั่งเรียกว่า Tartar City ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปักกิ่งเดี๋ยวนี้ ก็คือเมืองคานบาลิกหรือต้าตูทั้งหมด

ตลอดสมัยราชวงศ์หยวน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเมืองคานบาลิก ๓ เรื่อง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ย่อ ๆ เรื่องแรกคือมาร์โคโปโลชาวเวนิส ได้เดินทางไปถึงเมืองคานบาลิก และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหยวนซื่อจู่ (กุไบลข่าน) มาร์โคโปโลไปถึงเมืองจีนใน ค.ศ. ๑๒๗๑ และได้พำนักอยู่ในประเทศจีนถึง ๑๗ ปี มาร์โคโปโลได้เป็นผู้ใกล้ชิดราชสำนักของกษัตริย์มองโกล ได้มีโอกาสแลเห็นความมั่งคั่งรุ่งเรืองของราชสำนักและนครหลวงคานบาลิก ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงของพระเจ้าจักรพรรดิ เดินทางออกไปตรวจจังหวัดส่านซี ซานซี ซื่อชวน (เสฉวน) และยุนนาน ต่อมามาร์โคโปโลได้รับหมอบหมายจากพระเจ้าหยวนซื่อจู่ให้เป็นผู้พาเจ้าหญิงมองโกลไปยังประเทศเปอร์เซีย เพื่อประทานให้เป็นชายาของข่านแห่งประเทศนั้น เมื่อเสร็จกิจนี้แล้ว มาร์โคโปโลก็ออกจากเปอร์เซียเดินทางกลับเมืองเวนิส มาร์โคโปโลได้เขียนเรื่องเมืองจีนยืดยาว ชี้ให้เห็นความมั่งคั่งสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรืองของจีน ซึ่งนำหน้ายุโรปอยู่เป็นอันมาก จดหมายเหตุของมาร์โคโปโลได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวยุโรป ทำให้เลื่องลือแตกตื่นกันทั่วไปถึงเรื่องความ มั่งคั่งสมบูรณ์ของตะวันออก กล่าวได้ว่าจดหมายเหตุของมาร์โคโปโลเป็นมูลเหตุสำคัญอันหนึ่ง ที่กระตุ้นเตือนให้ชาวยุโรปเริ่มเอาใจใส่กับตะวันออก เป็นผลให้เกิดการแผ่อิทธิพลเข้ามาในตะวันออก ในสมัยต่อ ๆ มา

เหตุการณ์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในสมัยของนครคานบาลิกก็คือ คอร์วิโน หมอสอนศาสนานิกายคาทอลิก ได้เดินทางไปถึงนครคานบาลิก โดยเป็นผู้ถือราชสาสน์ของโป๊ปไปให้พระเจ้าหยวนซื่อจู่ จักรพรรดิมองโกล ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอันดี และยินยอมให้คอร์วิโนทำการเผยแพร่ศาสนาได้ตามความประสงค์ คอร์วิโนได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์ได้ และใน ค.ศ. ๑๓๐๗ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราชประจำนครคานบาลิก

เหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การบูรณะคลองใหญ่ (ยุ่นเหือ) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Grand Canal โดยต่อเติมจากใต้ให้ถึงเมืองเทียนสิน ทำให้การติดต่อระหว่างจีนภาคกลาง (หางโจว) กับจีนเหนือได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

ตลอดสมัยที่แผ่นดินจีนตกอยู่ในกำมือของพวกมองโกลนี้ กล่าวได้ว่ากษัตริย์มองโกลที่เข้มแข็งที่สุดก็มีพระเจ้าหยวนซื่อจู่หรือกุไบลข่านแต่พระองค์เดียว เมื่อกุไบลข่านตายแล้ว เถี่ยมู่เอ๋อผู้หลานชายก็ขึ้นครองราชสมบัติแทน และหลังจากนั้นความเข้มแข็งในส่วนตัวกษัตริย์และในบรรดาพวกมองโกลก็ลดน้อยลงทุกที เพราะเมื่อได้รับความสะดวกสบายอันเต็มไปด้วยความมั่งคั่งรุ่งเรืองแห่งวัฒนธรรมความเจริญของจีนอย่างเต็มที่แล้ว พวกมองโกลก็เลิกขี่ม้ารำทวน นิสัยนักรบได้ลดน้อยถอยลงเจื่อนจางหายไปทุกที ต่างคนต่างมุ่งหวังแต่ความสุขสำราญบานใจอยู่ทุกเช้าค่ำ ประกอบด้วยพวกจีนได้พากันซ่องสุมคบคิดกันจะชิงเอาแผ่นดินอยู่ตลอดมา ฉะนั้นความมั่นคงของฐานะพวกมองโกลก็ลดลงทุกวัน จนกระทั่งในที่สุดก็เกิดปฏิวัติขึ้นทั่วไป และหัวหน้าปฏิวัติคนสำคัญก็คือ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง

ครั้น ค.ศ. ๑๓๖๘ จูหยวนจางก็รวบรวมกำลังได้อย่างพอเพียง จึงนำทัพจีนบุกขึ้นไปจากลุ่มน้ำหยางจื่อเจียง เข้าตีนครต้าตูหรือคานบาลิก เมืองหลวงของกษัตริย์มองโกล จูหยวนจางตีได้เมือง หลวงโดยไม่ยากนัก พวกมองโกลไม่มีกำลังจะต่อต้านได้ก็ถอยหนีออกจากแผ่นดินกลับไปมองโกเลีย

จูหยวนจางตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าหมิงท่ายจู่ เรียกราชวงศ์ของตนว่า หมิง (เหม็ง) แปลว่า แจ่มใส สุกสว่าง พระเจ้าหมิงท่ายจู่ไม่เอาเมืองต้าตูเป็นเมืองหลวง แต่ยกขึ้นเพียงให้เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งเท่านั้น โดยเปลี่ยนชื่อเรียกว่าเป่ผิงฝู่ กำแพงเมืองด้านเหนือและด้านใต้ได้ถูกรื้อออก และร่นให้ต่ำลงมาทางใต้นิดหน่อย คือด้านเหนือร่นลงมา ๕ ลี้ ด้านใต้ร่นลงมา ๑ ลี้ กำแพงใหญ่นี้คงรูปเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งหมายความว่าส่วนหนึ่งของเมืองปักกิ่งปัจจุบัน (ด้านเหนือ) ก็คือ เมืองเป่ผิงฝู่ ที่พระเจ้าหมิงท่ายจู่ร่นกำแพงแก้รูปมาจากคานบาลิกของกษัตริย์มองโกลนี้เอง

กษัตริย์ราชวงศ์หมิงองค์ที่หนึ่งและที่สอง เอานครนานกิง (เรียกตามภาษาเหนือกว่า หนานจิง แปลว่า นครใต้) เป็นเมืองหลวง แต่ใน ค.ศ. ๑๔๒๑ กษัตริย์องค์ที่สามได้ย้ายเมืองหลวงกลับมายังเมืองเป่ผิงฝู่ และเปลี่ยนชื่อเป่ผิงฝู่เป็น เป่จิง (แปลว่านครเหนือ) คือที่เรียกกันในเมืองไทยว่า ปักกิ่ง

กษัตริย์ราชวงศ์หมิงได้บูรณะเมืองปักกิ่งให้มั่นคงสวยงามอยู่เรื่อยมา ได้สร้างสถานที่สำคัญ ๆ ขึ้นหลายแห่ง ซึ่งเหลือมาให้เห็นแม้ในปัจจุบันนี้ เช่น หวู่ถาซื่อ (เจดีย์ห้าชั้น) เที้ยนฐาน (วิหารสวรรค์) ต้าจงซื่อ (วิหารระฆังใหญ่) เป็นต้น ใน ค.ศ. ๑๔๓๕ ได้บูรณะกำแพงเมืองใหม่โดยแซมอิฐเข้าไปทำให้สูง ๔๑ ฟุต ฐานกว้าง ๖๐ ฟุต และยอดกำแพงกว้าง ๕๐ ฟุต ดังที่ปรากฏเป็นรูปอยู่ในขณะนี้ ใน ค.ศ. ๑๕๒๔ ได้ขยายเขตเมืองออกไปทางใต้ ในการขยายเมืองนี้ได้ขุดรากกำแพงส่วนหนึ่งของเมืองเยียนจิงสมัยพวกเชี่ยะตานเข้าครอบครอง (ค.ศ. ๙๘๖–๑๒๑๕) ออก แล้วปราบที่สร้างทับลงไป การขยายเมืองได้เสร็จสิ้นลงใน ค.ศ. ๑๕๖๔ รูปเมืองปักกิ่งปัจจุบันก็ได้กำเนิดมาแต่ปีนั้น คือส่วนเหนือทับเมืองคานบาลิกของพวกมองโกล (ร่นกำแพงด้านเหนือลงมา ๕ ลี้ และด้านใต้ลงมา ๑ ลี้) ส่วนใต้สร้างทับส่วนหนึ่งของเยียนจิงเมืองหลวงพวกเชี่ยะตาน และเมืองจงตูเมืองหลวงของพวกหนู่เจิน

ราชวงศ์หมิงสุดสิ้นลงใน ค.ศ. ๑๖๔๔ ตอนปลายของราชวงศ์นี้ปรากฏว่าบ้านเมืองเกิดกบฏขึ้นหลายแห่ง หัวหน้ากบฏคนหนึ่งชื่อ หลีจื้อเฉิง ได้คุมสมัครพรรคพวกเข้ายึดปักกิ่งไว้ได้ โดยอาศัยขันทีผู้หนึ่งเป็นผู้เปิดประตูเมือง พระเจ้าจวงเลี่ยตี้หนีไม่ทันก็เสด็จขึ้นไปบนเขาเหมซานหรือ Coal Hill ซึ่งเป็นเนินสูงประมาณ ๒๑๐ ฟุต ตั้งอยู่หน้าพระราชวังหลวง แล้วทรงแขวนพระศอสิ้นพระชนม์กับกิ่งสนซึ่งยังคงรักษาต้นไว้จนกระทั่งบัดนี้ หลี่จื้อเฉิงครองปักกิ่งอยู่ได้ไม่กี่วัน แม่ทัพคนหนึ่งชื่อหวูซานก้วย ก็เข้ารวมกำลังกับพวกแมนจูเข้ายึดปักกิ่ง ขับไล่หลี่จื้อเฉิงออกไป และจับตัวประหารชีวิตเสีย แต่ก่อนที่หลี่จื้อเฉิงจะหนีออกไปจากปักกิ่ง ได้เอาไฟเผาปราสาทราชวังและบ้านเรือนเสียหายลงเป็นอันมาก เมื่อได้ปักกิ่งคืนแล้ว พวกแมนจูก็เลยยึดเอาไว้ในกำมือ และยกทายาทของราชวงศ์แมนจูชื่อฟู่หลินขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าซุ่นจื้อ ได้ปราบปรามจีนราบคาบ ตั้งแต่นั้นมาราชวงศ์ชิ้งซึ่งเป็นพวกแมนจู ก็เข้าปกครองประเทศจีนไว้ทั้งประเทศ จนกระทั่งถึง ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งเป็นปีที่จีนทำการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองเป็นรีพับลิก

กษัตริย์แมนจูไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากภายในนครหลวงปักกิ่ง เป็นแต่ทำการบูรณะปราสาทราชวังที่ถูกไฟไหม้ และกำหนดเมืองออกเป็น ๔ ภาค คือ ภาคราชวังหลวงตั้งอยู่กลางใจเมือง มีกำแพงล้อมรอบเรียกว่า จื่อจิ้นเฉิง ฝรั่งเรียกว่า Forbidden City ซึ่งในสมัยรีพับลิกได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดินดูเป็นวัน ๆ ก็ไม่สามารถจะดูให้ตลอดได้ ภาคที่สองคือที่อยู่สำหรับเจ้าราชวงศ์ ตั้งล้อมกำแพงราชวังหลวงโดยรอบเรียกว่า หวงเฉิง ฝรั่งเรียกว่า Imperial City ภาคที่สามคือส่วนที่จัดให้เป็นที่อยู่ของพวกแมนจูโดยเฉพาะ คือส่วนที่เคยเป็นเมืองเดิมในสมัยราชวงศ์หยวน นั่นคือส่วนที่อยู่ในตอนเหนือซึ่งเรียกว่า Tartar City ภาคที่สี่คือภาคด้านใต้ ซึ่งขยายจาก Tartar City ออกไปทางใต้ในสมัยราชวงศ์หมิง ภาคนี้จัดให้พวกจีนอยู่โดยเฉพาะ Tartar City นี้ (คลุม Imperial City และ Forbidden City) จีนเรียกว่า เน่เฉิง แปลว่า เมืองในกำแพง เพราะมีกำแพงล้อมอยู่ตลอดมา ส่วนภาคใต้ที่ขยายออกไปในสมัยหมิง จีนเรียกว่า ว่ายเฉิง แปลว่า เมืองนอกกำแพง คือนอกกำแพงเมืองเก่าราชวงศ์หยวน แต่เพิ่งจะมามีกำแพงล้อมขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงดังได้กล่าวไว้แล้ว

ภาคที่หนึ่งซึ่งเป็นพระราชวังหลวง (Forbidden City หรือจื่อจิ้นเฉิง) นี้มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ตารางลี้ คือราวครึ่งตารางไมล์ มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ยาวประมาณ ๒ ๑/** ไมล์ สูง ๒๒ ฟุต และกว้าง ๓๐ ฟุต มีคูล้อมรอบกำแพงโดยรอบ คูนี้กว้างประมาณ ๒๐๐ ฟุต

ภาคที่สองอันเป็นที่อยู่ของเจ้าราชวงศ์ซึ่งล้อมภาคที่ ๑ อยู่โดยรอบ ได้สร้างขึ้นโดยเจ้าแผ่นดินราชวงศ์หมิง ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๐๖ ถึง ๑๖๓๗ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ตารางลี้ คือราว ๑.๙๓ ตารางไมล์ มีกำแพงล้อมทั้ง ๔ ด้าน ยาวประมาณ ๓ ไมล์ครึ่ง กำแพงนี้สูง ๑๘ ฟุต หนาราว ๖ ฟุต เดิมมีประตู ๔ ประตู ต่อมาได้เจาะอีกหลายประตูเพื่อให้การจราจรได้รับความสะดวกขึ้น

ภาคที่สามคือที่เรียกว่า Tartar City หรือเมืองเดิมของราชวงศ์หยวน มีเนื้อที่ประมาณ ๙๑ ตารางลี้ คือราว ๑๑ ตารางไมล์ครึ่ง มีกำแพงล้อม ๔ ด้าน กำแพงนี้หนา ๖๒ ฟุตที่ฐาน และหนา ๕๐ ฟุตที่ยอด สูง ๔๑ ฟุต ยาวประมาณ ๑๔ ไมล์ครึ่ง มีประตูทั้งหมด ๙ ประตู คือด้านเหนือ ๒ ประตู ด้านตะวันตกและตะวันออกด้านละ ๒ ประตู ด้านใต้ ๓ ประตู เมื่อขยายเมืองออกไปทางใต้ในสมัยหมิง กำแพงด้านใต้ของเมืองเดิมมิได้รื้อออก แต่ใช้เดินต่อเนื่องถึงกันโดยผ่านประตูทั้ง ๓ นี้ ประตูเมืองทุก ๆ ประตูสร้างกำแพงล้อมปากประตูอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกตีหักเข้ามาได้ง่าย กำแพงเมืองทั้งที่เมืองเดิม (Tartar City) และที่เมืองซึ่งขยายออกไปทางด้านใต้ ล้วนสร้างไว้อย่างมั่นคงแข็งแรงสำหรับต่อต้านศัตรู และรอบกำแพงเมืองก็มีคูใหญ่ล้อมอยู่โดยรอบทุกด้าน ที่ประตูเมืองทุกประตูสร้างเป็นตึกใหญ่คล้ายป้อมซ้อนอยู่ เหนือประตูตึกนี้มี ๔ ชั้น สูงประมาณ ๔๙ ฟุต ถ้าวัดจากฐานกำแพงถึงยอดหลังคาก็สูง ๙๐ ฟุต ในตึกใหญ่นี้เดิมเป็นที่พักทหารและเก็บเสบียง ตลอดจนใช้เป็น ป้อมสำหรับยิงข้าศึกในระยะไกล เมื่อคราวเกิดกบฏนักมวย (The Boxer Outbreak) ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ พวกนักมวยใช้ตึกนี้ซุ่มยิงทหารต่างชาติ ๘ ประเทศ ซึ่งยกกันเข้ามาเพื่อจะแก้เอาพลเมืองของตนออกจากที่ล้อมในปักกิ่ง ตึกบางตึกยังมีรอยถูกปืนให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

ภาคที่สี่คือที่ขยายออกไปในสมัยหมิง (ค.ศ. ๑๕๔๕) มีกำแพงล้อม ๓ ด้าน อีกด้านหนึ่งอาศัยกำแพงด้านใต้ของตัวเมืองเดิม กำแพงที่สร้างใหม่ทั้ง ๓ ด้านสูงเพียง ๒๕ ฟุต หนา ๒๐ ฟุต ที่ฐาน ๑๔ ฟุต ที่ยอดยาวประมาณ ๑๐ ไมล์ มีประตู ๑๐ ประตู ทางด้านใต้มี ๓ ประตู ด้านตะวันออกมี ๑ ประตู ด้านตะวันตกมี ๑ ประตู ด้านเหนือ (กำแพงเมืองเดิม) มี ๕ ประตู (ของเดิมมีอยู่ ๓ ประตู ดังได้กล่าวไว้แล้ว)

เท่าที่กล่าวมาโดยย่อนี้ จะเห็นได้ว่าปักกิ่งเป็นเมืองซ้อนกันหลายชั้น ชั้นในที่สุดคือพระราชวังหลวง มีกำแพงและคูล้อมรอบ ชั้นต่อมาคือเมืองที่อยู่ของเจ้าราชวงศ์ สร้างรอบกำแพงพระราชวังหลวง มีกำแพงล้อมทั้ง ๔ ด้านเหมือนกัน อีกชั้นหนึ่งคือเมืองเดิม มีกำแพงล้อมแข็งแรงกว่าทุกชั้น ส่วนด้านใต้คือเมืองที่ขยายออกไปในสมัยราชวงศ์หมิง

ในสมัยราชวงศ์ชิ้ง เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับปักกิ่งก็มีเรื่องปักกิ่งถูกทหารต่างด้าวยึด ๒ คราว คือใน ค.ศ. ๑๘๖๐ คราวหนึ่ง และ ค.ศ. ๑๙๐๐ อีกคราวหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส ได้รวมกำลังกันรุกขึ้นไปถึงปักกิ่ง สาเหตุของการบุกรุกครั้งนั้น เนื่องมาจากจีนในภาคใต้พยายามบิดพลิ้ว ไม่ยอมทำตามสัญญาสงบศึกที่นานกิง เมื่อสมัยสงครามฝิ่น (สิงหาคม ๑๘๔๒) เช่นไม่ยอมเปิดเมืองแคนตอนให้เป็นเมืองท่าเป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องหยุมหยิมอีกหลายอย่าง เช่น เรื่องจีนยึดเรือแอร์โรว์ ซึ่งใช้ธงของอังกฤษเป็นเครื่องคุ้มกัน จีนมีความไม่พอใจอังกฤษมากขึ้นเสมอ เพราะพวกฝรั่งยังคงแอบเอาฝิ่นเข้ามาขายให้ราษฎรชาวจีน และยังใช้อุบายล่อลวงชาวจีนเอาไปขายเป็นกุลีในคิวบา แคลิฟอร์เนีย และเปรู พฤติการณ์เหล่านี้ทำให้จีนไม่อยากติดต่อกับฝรั่ง แต่การพยายามหลีกเลี่ยงเช่นนี้ เป็นการขัดกับข้อสัญญาแห่งเมืองนานกิง ฉะนั้นจึงเกิดเป็นศึกขึ้นอีก

กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสได้รุกประชิดปักกิ่ง พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จหนีไปประทับที่เยโฮล ทิ้งปักกิ่งไว้ให้เจ้าฟ้ากุงดูแล พอกองทัพฝรั่งยกมาถึง ก็เข้ายึดปราสาทพักร้อนหยวนหมิงหยวนซึ่งอยู่นอกปักกิ่ง และเข้าปล้นเอาข้าวของมีราคาไป เสร็จแล้วก็เอาไฟเผาเสีย เจ้าฟ้ากุงเกรงปักกิ่งจะถูกเผาด้วย จึงยอมตกลงทำสัญญายอมแพ้ สัญญาครั้งนั้นทำให้เกาลูนต้องตกไปเป็นของอังกฤษ

ครั้นถึง ค.ศ. ๑๙๐๐ จีนเกลียดชังพวกฝรั่งมากขึ้น จึงเกิดมีคณะพรรคการเมืองขึ้นคณะหนึ่ง คือพวกกบฏนักมวย พวกนี้มีนโยบายแอนตี้ฝรั่งอย่างรุนแรง ได้คุมกันเข้าจับฝรั่งและพวกจีนที่เข้ารีตฆ่าเสียเป็นอันมาก นี่เป็นสาเหตุของสงครามซึ่งทำให้ปักกิ่งถูกยึดอีกครั้งหนึ่ง กองทัพของต่างชาติรวม ๘ ประเทศ ได้ยกเข้าโจมตีปักกิ่ง และยึดปักกิ่งไว้ได้จึงต้องยอมแพ้ และต้องใช้ค่าเสียหายแก่ต่างชาติเป็นจำนวนเงินมากมาย

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ ปักกิ่งได้เป็นเวทีของความตื่นเต้นอีกครั้งหนึ่ง ในปีนั้นจีนได้ปฏิวัติใหญ่ทำการล้มราชวงศ์แมนจู และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นรีพับลิก สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงปักกิ่ง ต่อมายวนซีไขซึ่งรับช่วงการปกครองจาก ดร. ซุนยัดเซน (หลังจากที่ ดร. ซุน ได้ละมือจากการปกครองเพื่อประสงค์จะรวมจีนเหนือกับจีนใต้เข้าด้วยกัน) ได้พยายามจะหันไปหาการปกครองแบบเก่า โดยตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ปักกิ่งก็วุ่นวายไปอีก

ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้มีความพยายามจะเอากษัตริย์แมนจูขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง ความพยายามครั้งนี้ไม่ได้รับผล เพราะเป็นการฝืนใจราษฎร จึงเกิดนองเลือดขึ้น ถนนในปักกิ่งนองไปด้วย เลือดเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง หลังจากลูกบอมบ์ได้ตกลงมา ๑ หรือ ๒ ลูกแล้ว ฝ่ายที่จะยกกษัตริย์ขึ้นครองแผ่นดินก็ยอมสิ้นความหวัง

ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ปักกิ่งได้เป็นเวทีของการต่อสู้ในเกมการเมืองอีกหลายครั้ง และโดยมากมักเป็นการต่อสู้กันเองระหว่างพวกนายพลจีน เช่นในสมัยจางโซหลินเป็นต้น รายละเอียดเรื่องนี้จะต้องพูดกันยาว ผู้เขียนอาจหาเวลารวบรวมขึ้นไว้ในการเขียนเรื่องปักกิ่งคราวต่อ ๆ ไป

 

  1. ๑. คือพวกฉงหนู (Western Tartars) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกมองโกลและพวกเสียนเป (Eastern Tartars) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกแมนจู

  2. ๒. พระเจ้าเหยาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญองค์หนึ่ง ครองราชย์เมื่อ ๒๓๕๖ ก.ค.

  3. ๓. ตอนนี้จีนแตกออกเป็นหลายก๊ก คือสมัยหวูต้าย ประมุขของจีนองค์หนึ่งคบคิดกับประมุขพวกเชี่ยะตาน ยอมยกดินแดนดังกล่าวให้โดยมีเงื่อนไขว่า พวกเชี่ยะตานจะต้องช่วยกันยกตนขึ้นเป็นกษัตริย์ พวกเชี่ยะตานก็ช่วยจนสมประสงค์ (คือฉือจิ้นถัง ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์โฮ่วจิ้น ซึ่งดำรงอยู่ได้เพียง ๑๑ ปีเท่านั้น)

  4. ๔. พวกเชี่ยะตานคือพวกเหลียว (ราชวงศ์ที่ครองเมืองปักกิ่งสมัยที่มีชื่อว่าเยียนจิง หรือหนานจิง มีชื่อว่าเหลียว) พวกเชี่ยะตานนี้เป็นแขนงหนึ่งของพวกตาร์ตา

  5. ๕. พวกหนู่เจินคือพวกแมนจูนั่นเอง พวกนี้เรียกชื่อตามสมัย เช่น สมัยจิ้นเรียกว่าซู่เสิ่น สมัยเว่ยเรียกว่าวู่จี ต่อมาภายหลังสมัยราชวงศ์หมิงจึงเรียกว่าแมนจู

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ