มหานครปักกิ่ง

เรื่อง Moment in Peking ที่หลินยู่ถังแต่งขึ้นนี้ ได้วางฉากไว้ในมหานครปักกิ่งหลายตอน ท่านคงจะได้อ่านพบชื่อสถานที่ต่าง ๆ มากมายหลายชื่อ ซึ่งควรจะได้มีคำชี้แจงประกอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น “สันตสิริ” ผู้แปลได้แสดงความประสงค์จะให้มีการชี้แจงดังกล่าวนี้เท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย และยินดีปฏิบัติตามที่ผู้แปลขอร้อง

ปักกิ่งเป็นนครเก่าแก่มาก ได้ตั้งเป็นนครมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด ๓๐๐ ปี ประวัติของนครปักกิ่ง ข้าพเจ้าได้เคยเขียนไว้ในท้ายหนังสือ “ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง” (วารยา) ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ ๑ (ครั้งต่อ ๆ มาไม่มีเพราะกระดาษหาไม่ได้) ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลายท่านคงจะได้อ่านมาแล้ว การบรรยายประวัติในที่นี้อาจจะทำให้ซ้ำซากมากความไป แลอนึ่งกระดาษก็หาพิมพ์ยาก ข้าพเจ้าจึงเลือกเอาวิธีที่ได้ประโยชน์ทั้งทางผู้อ่านและทางผู้พิมพ์ คือชี้แจงสถานที่เป็นรายละเอียด ซึ่งไม่เป็นการซ้ำกับเรื่องประวัติมหานครปักกิ่ง ดังที่ได้เคยเขียนบรรยายมาแล้วในหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้รวบรัดชี้แจงเป็นชื่อ ๆ ไปเท่าที่จะทำได้สะดวก

๑. หูทุ่ง คือตรอก ปักกิ่งเต็มไปด้วยหูทุ่ง ไม่ว่าจะหันหน้าไปทิศใดท่านจะต้องเจอตรอก ตรอกปักกิ่งมีอยู่แทบนับไม่ถ้วน โดยมากเป็นตรอกที่ตัดตามผังเมืองเก่าคือตรง ไม่ค่อยคิด และมักตัดกันเป็นมุมฉาก ถ้าท่านเปิดแผนที่ปักกิ่งดู จะเห็นถนนใหญ่ซึ่งตรงขนานไปกับเส้นกำแพงเมือง (เมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม) และตัดกันเป็นมุมฉากเสมอ ไม่ค่อยมีถนนเลี้ยวโย้เย้หรือทแยงอย่างในเมืองเรา ถนนเหล่านี้มีตรอกแยกไปมากมาย ทุกตรอกตั้งได้ฉากกับถนน ตรอกเหล่านี้ยังแยกซ้ายขวาออกไปอีก และมักตัดกันเป็นมุมฉากเสมอ ข้าพเจ้าไม่มีปัญญาจะนับตรอกปักกิ่งได้ถ้วน แม้จะพยายามกางแผนที่ค่อย ๆ นับมากกว่าสิบครั้ง ผลที่ได้จากการนั้นก็คือปวดศีรษะ เป็นอันว่าข้าพเจ้าไม่รู้ว่าปักกิ่งมีตรอกเท่าใด ตรอกเหล่านี้ไม่มีการโรยอิฐหิน โดยมากเป็นดินธรรมดา ฤดูร้อนฝุ่นเกือบท่วมหลังเท้า ฤดูหนาวเวลาหิมะตกและละลาย ฝุ่นก็กลายเป็นโคลนแทบจะเดินกันไม่ได้ ในตรอกทุกตรอกเต็มไปด้วยบ้านคนอยู่ ไม่ค่อยมีโรงร้าน สองข้างตรอกมักขนาบไปด้วยกำแพงบ้าน

๒. ผายโล่ว คือประตูซุ้ม มักสร้างไว้ตามสี่แยกใหญ่ ๆ หรือตามส่วนสำคัญของถนน เช่นหน้าพระราชวัง ปากสะพาน ปากทาง (เช่นปากทางไปหลุมฝังพระศพ) เป็นต้น ที่สี่แยกเขาสร้างทั้งสี่ด้านคร่อมถนนไว้ โดยมากมักตั้งเสาใหญ่สี่เสาทาสีแดง ข้างบนทำหลังคาลูกฟูกคลุมไว้ ผายโล่วที่เรียกขานกันมากก็คือ ตุงซื่อผายโล่ว และ ซีชื่อผายโล่ว ตุงซื่อผายโล่วตั้งอยู่ที่สี่แยกใหญ่ทางภาคตะวันออกของเมือง ซีซื่อผายโล่วตั้งอยู่ที่สี่แยกใหญ่ทางภาคตะวันตกของเมือง ผายโล่วทั้งสองแห่งนี้จัดว่าเป็นผายโล่วที่ใหญ่โตมาก

๓. ว่อฝัวซื่อ เป็นวัดพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งในปักกิ่ง ตั้งอยู่นอกประตูจุงเหวินเหมิน สร้างเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๘ ในโบสถ์มีพระนอนองค์ใหญ่ทำด้วยทองเหลือง โบสถ์นี้เปิดให้นมัสการในเดือนห้า

๔. ปี้หยุนซื่อ เป็นวัดพระพุทธศาสนาสร้างในแผ่นดินหมิง (เหม็ง) ตั้งอยู่นอกประตูเมืองภาคตะวันตกห่างออกไปประมาณ ๑ ไมล์ ตามตัวอักษรแปลว่าวัดเมฆเขียว ที่น่าดูในวัดนี้ก็มีกุฏิที่สร้างด้วยหินอ่อนล้วนแบบอินเดีย มีลวดลายสลักงดงามมาก ในวัดนี้มีพระพุทธรูปมากมาย

๕. หลุงฝูซื่อ เป็นวัดพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้ตุงซื่อผายโล่ว ในภาคตะวันออกของตัวเมือง วัดนี้สร้างในแผ่นดินหมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘–๑๖๖๑) ขณะนี้พังทลายไปเป็นส่วนมาก ในวัดนี้ก็มีการออกร้านขายของต่าง ๆ รวมทั้งโบราณวัตถุ ต้นไม้ดอก ไม้ดัด ทุก ๆ วันที่ ๙, ๑๐, ๑๙, ๒๐, ๒๙, ๓๐ ของเดือน

๖. ซีซาน เป็นพืดเขาทางตะวันตกของปักกิ่ง (Western Hills) อยู่ห่างจากเมืองไม่มากนัก สามารถไปถึงได้โดยรถยนต์ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า บนพืดเขานี้มีที่พักตากอากาศและวัดหลายวัด คนมักไปเที่ยวกันมากในฤดูร้อนและในฤดูชุนเทียน (ใบไม้ผลิ) บนพืดเขานี้มีโบสถ์ใหญ่อยู่ ๘ แห่ง เรียกว่า ป๊ะต้าซู่ซึ่ ผู้ที่ไปเที่ยวมักยึดเอาเป็นจุดหมายของการปีนเขา โบสถ์เล็ก ๆ ก็มีมาก แต่ได้ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับผู้เที่ยวเตร่ไปหมด ก่อน ค.ศ. ๑๙๐๐ ชาวต่างประเทศมักไปตากอากาศกันที่ซูซานนี้ แต่หลังจากที่เกิดกบฏนักมวยแล้ว (ค.ศ. ๑๙๐๐) สถานที่ต่าง ๆ ถูกพวกกบฏทำลายมาก จึงย้ายไปพักตากอากาศตามเมืองชายทะเล เช่น เป่ไต้เหือ เป็นต้น

๗. ยู่ฉวนซาน หรือเขาน้ำพุหยก ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ว่านโส้วซาน (Summer Palace) ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘–๙ ไมล์ เดิมเป็นตำหนักพักร้อนตำหนักหนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) เดี๋ยวนี้ตำหนักและโบสถ์ได้หักพังไปมากแล้ว บนยอดเขาเนินนี้มีเจดีย์สูงแบบเจดีย์จีน ที่ชายเนินมีบึงใหญ่ เหนือน้ำพุนี้พระเจ้าเฉียนหลุงแห่งราชวงศ์ชิงได้ทรงจารึกอักษรไว้แถวหนึ่งแปลความว่าเป็นน้ำพุที่หนึ่งที่อยู่ใต้ฟ้า

๘. อี้เหือหยวน หรือ ว่านโส้วซาน (Summer Palace) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองประมาณ ๘ ไมล์ เป็นที่ตั้งพระราชวังพักร้อนของพระนางตฺสือสี มีตำหนักปลูกสร้างบนเขาและชายเขาเรียงรายอยู่โดยรอบ ยังรักษาไว้ได้อย่างบริบูรณ์ ชายเขามีทะเลสาบชื่อ คุ้นหมิงหู น้ำใสสะอาด เป็นน้ำที่ไหลมาจากฉวนซาน ทะเลสาบนี้วัดโดยรอบประมาณ ๑๐ ไมล์ กลางทะเลสาบมีเกาะน้อยชื่อ หลุงหวางต่าว มีสะพานหินยาวถึง ๑๗ ช่วง ทอดข้ามจากฝั่งไปยังตัวเกาะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ