คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๔

การที่หนังสือเรื่อง ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง ตอน วารยา ราเนฟสกายา ได้มีโอกาสพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ ในครั้งนี้ก็เพราะความเรียกร้องของท่านผู้อ่านเป็นอันมาก ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นความร่วมมืออันดีอย่างหนึ่งที่ท่านผู้อ่านอาจให้แก่นักประพันธ์ได้ เพื่อช่วยให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานรับใช้สังคมต่อไปประการหนึ่ง และช่วยส่งเสริมศิลปะทางการประพันธ์ให้เฟื่องฟูกว่าที่ได้เป็นมาแล้วอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ผู้เขียนได้เขียนไว้ในคำนำครั้งก่อน ๆ ว่า ในการเขียนเรื่องปักกิ่งเรื่องแรกนี้ ผู้เขียนยังไม่มีอะไรจะแถลงมาก เพราะได้เขียนออกมาด้วยความไม่สะดวกใจหลายประการ ท่านผู้อ่านอาจต้องการจะทราบว่า ความไม่สะดวกใจที่กล่าวไว้นี้หมายความถึงอะไร เรื่อง ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง ตอน วารยา ราเนฟสกายา ได้เขียนขึ้นในสมัยที่เสรีภาพถูกจำกัดเขตเมื่อ ๓ ปีกว่ามาแล้ว ในสมัยนั้นเราพูดอะไรกันไม่ค่อยได้ จะมีความคิดความเห็นอะไรมากนักก็ไม่ได้ เมื่อจับปากกาขึ้นทุกคราว ผู้เขียนจะต้องใช้ความพินิจทุกขณะก่อนที่จะเขียนอะไรลงไปสักคำหนึ่ง เพราะหาไม่แล้วผู้เขียนอาจถูกเก็บตัวจนไม่มีโอกาสจะเขียนอะไรอีกเลยก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ศิลปะซึ่งต้องการเสรีภาพที่จะแสดงออก หรือระบายจินตนาการและอารมณ์ จึงถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่จะกระดิกตัวไม่ได้เลย ซึ่งทำให้ศิลปะในสมัยที่กล่าวนี้ เป็นศิลปะแบบตะโกดัดไป หมดความสวยงามโดยธรรมชาติ ในสมัยที่ศิลปะได้รับความบีบรัดอย่างสาหัสเช่นนี้ ผู้ที่รักศิลปะเป็นชีวิตจิตใจก็ต้องนั่งเช็ดน้ำตามองดูความล่มจมของศิลปะด้วยความเสียดาย

ท่านผู้อ่านที่เข้าใจชีวิตจิตใจของนักประพันธ์และจิตรกรตลอดจนนักศิลปะประเภทอื่น ๆ คงจะเห็นใจผู้เขียนบ้างไม่มากก็น้อย ในการที่กล่าวเช่นนี้เราผู้ประกอบงานศิลปะย่อมแบกเอาจินตนาการและอารมณ์ไว้คนละมาก ๆ เพราะหาไม่แล้วเราก็จะสร้างงานของเราให้ดีไม่ได้ จินตนาการ (Imagination) และอารมณ์ (Emotion) เป็นบ่อเกิดของงานศิลปะ–เป็นอำนาจที่มนุษย์ได้ไว้โดยธรรมชาติ ความสวยงามของโลกที่มนุษย์ได้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมื่อคนยังอยู่ในถ้ำ จนถึงสมัยที่คนมาอยู่ตึก ย่อมมาจากจินตานาการและอารมณ์ของมนุษย์ ภาพม้า กวาง ช้าง ฯลฯ ที่มนุษย์สมัยเมื่อหมื่นกว่าปีมาแล้วขีดเขียนไว้บนผนังถ้ำ เช่นที่ Font de Gaume ก็ดี รูปแกะสลัก เช่น รูปหัวม้า หัวควาย ในสมัยเมื่อหมื่นกว่าปีมาแล้วก็ดี แจกัน เครื่องปั้นดินเผา และขวดแก้วอันเต็มไปด้วยลวดลายงดงามสมัยอียิปต์ก็ดี เสาหินมหึมาอันเต็มไปด้วยลวดลายสลักอย่างสวยงามที่ Karnak ในอียิปต์ก็ดี ตัวสฟิงซ์ใหญ่และพีระมิดที่ Gizeh ก็ดี Osiris Columns ที่ Thebes ก็ดี รูปสลักหิน The Dying Gaul ในสมัย ๒๔๐ ก.ค. ก็ดี ประตูชัย The Arch of Constantine ที่โรมก็ดี โบสถ์ The Mosque of Cordova ในสเปนก็ดี โบสถ์ Notre Dame ที่ปารีสก็ดี พระราชวัง The Doge’s Palace ที่เวนิสก็ดี ภาพขอทานของ Rembrandt (ค.ศ. ๑๖๔๘) ก็ดี ภาพการจลาจลของ H. Daumier (ราวกลางศตวรรษที่ ๑๙ ) ก็ดี Valkyrie (โอเปรา) ของ Wagner ก็ดี เพลง Kreutzer Sonata ของ Beethoven ก็ดี เพลงเขมรไทรโยคของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ก็ดี กวู่เฟิงฉือหวูโส่วของหลี่ไป๋ก็ดี จาเหรินของตู้ฝู่ก็ดี อมตนิยายเรื่อง The Fortsyte Saga ของ John Galsworthy ก็ดี พระอภัยมณีของสุนทรภู่ก็ดี พระราชนิพนธ์ไกลบ้านของรัชกาลที่ ๕ ก็ดี สามัคคีเภทคำฉันท์ของชิต บุรทัต ก็ดี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นด้วยจินตนาการและอารมณ์ อันอิ่มชุ่มไปด้วยความเป็นอิสรเสรี หาไม่แล้วก็คงจะไม่สามารถใช้ความสามารถส่วนดีที่สุดของเขา ผลิตงานอันสวยงามออกมาประดับโลกและชีวิตของเราได้

จินตนาการและอารมณ์ของผู้ประกอบงานศิลปะเป็นกำลังแรงของจิตที่ธรรมชาติได้ให้แก่เขามาแต่กำเนิด กำลังแรงนี้ไม่มีอะไรในโลกที่จะมาบังคับกดขี่ได้ ยิ่งถูกบีบมากเท่าไร กำลังแรงนี้ก็จะดันตอบมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นบรรดานักปกครองที่ดีเขาจึงไม่บังคับกันอย่างหยุมหยิม เขาย่อมเข้าใจดีว่า ชีวิตของคนไม่ใช่เครื่องจักร คนเราต้องการความสวยงามของชีวิต ต้องการศิลปะที่จะให้ความสุขแก่ตา หู และใจ การข่มขู่ศิลปะเอาตามอำเภอใจของคน ๆ เดียว เป็นการทำลายความสุขโดยธรรมชาติของคนอีกล้าน ๆ คน ซึ่งเป็นภัยแก่ความสงบของจิตมาก

ได้กล่าวแล้วว่าเรื่อง ปักกิ่ง–นครแห่งความหลัง ตอน วารยา ราเนฟสกายา หรือแม้แต่เรื่องปักกิ่งเรื่องที่ ๒ คือ คนดีที่โลกไม่ต้องการ ได้สร้างขึ้นในสมัยที่ศิลปะถูกควบคุมอย่างกระดิกตัวไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงขอสารภาพว่า เรื่องปักกิ่งฯ ที่ได้เขียนขึ้นแล้วนี้ ยังห่างไกลต่อความพึงพอใจของผู้เขียนอยู่ ผู้เขียนได้เคยต้องการจะเขียนอะไร ๆ อีกหลายอย่าง แต่ก็ไม่สามารถจะเขียนได้ เพราะเกรงไปว่าจะผิดวัฒนธรรมบ้าง จะเป็นที่ระคายเคืองต่อใครโดยที่ผู้เขียนไม่รู้ตัวบ้าง เพราะฉะนั้น บางตอนของเรื่องปักกิ่งฯ ซึ่งควรที่ผู้เขียนจะเป็นสุขใจเพราะการระบายอารมณ์และจินตนาการออกมาอย่างเป็นอิสรเสรี จึงได้ตกลงอยู่ในสภาพที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ซึ่งในการพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่มีโอกาสจะแก้ไขอะไรได้ เพราะอยู่ในระหว่างรีบด่วน

อีกข้อหนึ่งซึ่งต้องขอชี้แจงไว้ก็คือสรรพนามที่ใช้ในเรื่องปักกิ่งฯ เดิมผู้เขียนใช้สรรพนามที่คนไทยเคยใช้มาแต่สมัยปู่ย่าตาทวด แต่ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ และต่อมา ซึ่งเป็นสมัยที่ศิลปะถูกกดขี่หนักขึ้น และนักปราชญ์ของวัฒนธรรมทางภาษาได้โหมโรงช่วยกันสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจด้วยการบังคับคนไทยให้พูดและเขียน “ฉัน” “ท่าน” “จ้ะ” “ไม่” ฯลฯ หนักมือขึ้น สรรพนามในเรื่องปักกิ่งจึง ต้องถูกบังคับให้แก้เป็น “ฉัน” “ท่าน” ฯลฯ หมด บางตอนผู้เขียนเกือบจะต้องแก้ต้นฉบับของตนเองด้วยน้ำตา เช่นตอนที่ต้องการความอ่อนหวานระหว่างเพศ ซึ่งควรจะใช้สรรพนามที่ซาบซึ้งและละเอียดอ่อน แต่ต้องถูกบังคับให้ใช้ “ฉัน” “ท่าน” ผู้เขียนไม่คิดว่าจะมีคนไทยคนใด (นอกจากนักปราชญ์ต้นคิด) ที่สามารถอ่านได้ด้วยความซาบซึ้งตรึงใจ ถ้าพระเอกจะพูดกับนางเอกว่า “ฉันรักท่านมาก ท่านจะไม่เห็นใจฉันบ้างหรือ?” และผู้เขียนก็ไม่คิดว่าจะมีคนไทยคนใดที่สามารถอ่านได้ โดยไม่รู้สึกขบขันหรือรำคาญ ถ้าพ่อจะพูดกับลูกว่า “ท่านต้องไปโรงเรียน ท่านจะเกียจคร้านไม่ได้” บางตอนเมื่อผู้เขียนจนปัญญาเข้าจริง ๆ ก็ต้องหันมาใช้เรียกชื่อเอาแทนการใช้สรรพนาม “ท่าน” เพื่อช่วยรักษารสของคำไว้เท่าที่จะหาทางช่วยได้

การควบคุมศิลปะจนผู้ประกอบงานศิลปะแทบจะเป็นบ้าตายนี้ ยังมีเรื่องขันอีกมากมาย เช่นในการแต่งเรื่องซึ่งเปิดฉากสมัยเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว ตัวละครจะนุ่งผ้าโจงกระเบนไม่ได้ ต้องนุ่งกางเกงสากลและผูกไทใส่หมวก! ตัวละครเมื่อสมัยคุณตาคุณปู่ก็จะมีบรรดาศักดิ์ไม่ได้เพราะเดี๋ยวนี้บรรดาศักดิ์เขาเลิกกันหมดแล้ว! เรื่องชนิดผัวมีเมียน้อยก็แต่งไม่ได้ เพราะเป็นที่ระคายเคืองคนบางคน! ในท้องเรื่องบางเรื่อง ตัวละครเกิดยิงตัวตาย ผู้แต่งจะพูดว่ามีเลือดหยดอยู่บนพรมก็พูดไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องก่อให้ผู้อ่านที่ขวัญอ่อนเกิดความหวาดเสียว! ในท้องเรื่องเรื่องหนึ่งตัวละครได้รับมรดกก้อนหนึ่งแต่ไปขัดกับนโยบายนักปกครองสมัยนั้น ตัวละครจะรับมรดกไม่ได้เพราะขัดกับนโยบายสร้างตนเอง แต่ต่อมานโยบายอันนี้ก็ไปขัดกันเองกับ “วีรธรรม” ข้อที่ว่าไทยเป็นชาติสะสมมรดกไว้ให้ลูกหลาน สมมุติว่าท่านเป็นนักประพันธ์ผู้เต็มไปด้วยจินตนาการและอารมณ์ที่จะสร้างงานศิลปะของท่านในสมัยเช่นนี้ ท่านจะรู้สึกอย่างไร? ไม่มีปัญหา อย่างน้อยท่านคงจะรู้สึกคล้ายผู้เขียน คือรู้สึกเหมือนถูกกดน้ำ!

เรื่องปักกิ่งฯ ทั้งสองเรื่องได้เกิดมาในสมัยที่ศิลปะถูกเขียนวงบังคับ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงยังไม่มีความพอใจอย่างควรจะพอใจในงานที่สร้างขึ้นแล้วนี้ แต่ว่าบัดนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าโลกนี้ได้เป็นของผู้เขียนแล้ว เสรีภาพทางการแสดงความคิดในทางพูดและคงจะให้เขียนได้คลี่คลายออกจนเข้าขีดที่ควรจะพอใจได้บ้าง ความชุ่มชื่นเสมือนหนึ่งมัจฉาที่ติดแห้งได้มีโอกาสลงน้ำอีกครั้งหนึ่ง ความหวังได้ว่าเรื่องที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่ เช่นเรื่อง ผู้เสียสละ ซึ่งสืบเนื่องจากเรื่อง คนดีที่โลกไม่ต้องการ เรื่อง เมื่อหิมะละลาย และเรื่อง ซุนยัดเซน คงจะเป็นที่พอใจของผู้เขียน เพราะคงจะเขียนได้อย่างไม่อั้นประตู

สด กูรมะโรหิต

พญาไท

๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๗

หมายเหตุ : ได้ปรับแก้อักขระตรงตามพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน ซึ่งของเดิมเป็นอักขระในยุคอักขรวิบัติ–บรรณาธิการบริหารโครงการฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ