๕๐

มีประโยชน์อะไรที่จะปล่อยให้วารยาเข้าใจว่าข้าพเจ้าอาจจะรักหล่อนได้? ถูกแล้ว มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ซึ่งมีจิตใจไม่โหดร้าย ไม่เห็นแก่ตัว อาจขบได้ไม่ง่ายนัก แต่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องขบให้แตก ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องชี้ให้หล่อนเข้าใจว่าเราไม่มีทางจะร่วมชีวิตกันได้ ข้าพเจ้าใจแข็งพอที่จะทำเช่นนั้น เพราะมันเท่ากับเป็นการผ่าตัดเนื้อร้ายครั้งสำคัญ โรคเช่นนี้จะปลอดภัยไม่ได้เลยถ้าไม่ผ่านการผ่าตัด ถูกแล้ว การผ่าตัดเป็นการกระทำที่เจ็บปวด แต่เมื่อได้ผ่าตัดเสร็จสิ้นลงแล้ว คนไข้ก็ย่อมจะพ้นจากความทุกข์ทรมาน วารยาเป็นคนไข้ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเพิกเฉยได้ ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัด และวารยาจำเป็นจะต้องได้รับความเจ็บปวดรวดร้าว แต่ถึงอย่างไรก็ดีคงไม่ถึงกับตาย

เมื่อเห็นข้าพเจ้านิ่งไปนาน วารยาก็เอ่ยขึ้นอีกว่า

“เออ ระพินทร์ เธอเคยบอกฉันว่า กลับเมืองไทยแล้วจะไปทำนาไม่ใช่หรือ?”

“ฉันคิดเช่นนั้น ถ้าไม่ทำนาก็ออกไปหากินบ้านนอก”

“แล้ววิชาที่เธอเรียนจะมีประโยชน์อะไร”

“อ๋อ ไม่เห็นแปลก ฉันเรียนก็เพื่อว่าฉันจะได้เป็นคนสมบูรณ์ขึ้น มีความรู้สึกนึกคิดสูงขึ้น ส่วนเรื่องอาชีพนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันควรจะมาทีหลัง”

“เป็นความคิดเห็นที่ดีมาก” หล่อนกล่าวอย่างจริงใจ “เธอเอาใจไว้หน้าท้อง แต่คนโดยมากเขาเอาท้องไว้หน้าใจ เขาจะทำอะไรได้ทุกอย่างเพื่อท้องของเขา น่าอนาถใจนะ ระพินทร์ มันเป็นเรื่องของสันดาน จะแก้ไขกันไม่ได้ มนุษย์เราเป็นอย่างนี้แหละ เห็นแก่ตัวเป็นที่หนึ่ง เวลานี้เราต่อสู้กันอย่างใจนักเลงน้อยมาก มีแต่ห้ำหั่นเอาเปรียบกันไม่มีที่สิ้นสุด”

“ฉันอยากจะไปเกิดเป็นคนอีกสักครั้งในพันปีข้างหน้า” ข้าพเจ้าพูดพลางยิ้ม “อยากจะรู้นักว่ามนุษย์เราจะตัดความเห็นแก่ตัวลงไปได้สักเพียงไหน”

“ฉันเคยอ่านประวัติศาสตร์มาบ้าง” วารยากล่าวอย่างตรึกตรอง “รู้สึกว่าเมื่อพันปีก่อนกับเวลานี้ มนุษย์มีความป่าเถื่อนเกือบจะเท่ากัน ผิดกันอยู่ที่เวลานี้เรามีพิธีมาก จนกระทั่งใครต่อใครก็กลายเป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรีไปแทบทั้งสิ้น”

ข้าพเจ้าหัวเราะ

“ฉันเคยคิดเช่นนั้นเหมือนกัน เรามีพิธีมากกว่าแต่ก่อน เธอชอบพิธีไหม วารยา?”

“พิธีที่ไม่ใช่หน้ากาก ฉันชอบ เราต้องมีระเบียบแบบแผนบ้าง เราต้องมีสูงมีต่ำ มีความสวยงาม”

“ฉันชอบความสะดวกจนเกินที่จะคิดถึงพิธี” ข้าพเจ้าพูดอย่างจริงใจ “เอากันที่สุจริตใจดีกว่า ความสุจริตใจเป็นแบบแผนอยู่ในตัวของมันเองแล้ว”

“มนัสของเธอดูเป็นคนมีพิธีมาก”

ข้าพเจ้าพยักหน้า

“แต่เป็นเพื่อนที่สุจริตพอใช้”

“พูดถึงมนัส ฉันนึกขึ้นมาได้ เมื่อคราวมาเยี่ยมฉันวันก่อน เราคุยกันเพลินถึงเรื่องเมืองไทย ผลที่สุดมนัสพูดถึงคนคนหนึ่ง”

หล่อนหยุดมองหน้าข้าพเจ้า “เป็นเพื่อนสนิทของเธอ และดูเหมือนเธอจะรักมาก”

“ใคร?” ข้าพเจ้าถามโดยเร็ว

“เป็นผู้หญิงเพื่อนบ้านของเธออย่างไรเล่า”

“อ๋อ ประนุทใช่ไหม”

“นั่นแหละ”

“เป็นคนดีที่สุดคนหนึ่ง เธอคงจะชอบประนุท ถ้าเธอได้รู้จัก”

วารยายิ้มอย่างฝืน

“เป็นคนสวยมากไม่ใช่หรือ?”

“ฉันคิดว่าสวย” ข้าพเจ้าตอบอย่างไม่แน่ใจ

“เอ๊ะ ทำไม เธอไม่รู้ดอกหรือว่าสวยหรือไม่สวย?”

“ฉันจากเขามาหลายปีแล้ว บางทีเขาอาจเปลี่ยนแปลงไปก็ได้”

“อ้อ” หล่อนร้องอย่างไม่มีความหมาย “มนัสดูเอาใจใส่ตัวประนุทมาก เขารู้จักกันดีหรือ?”

“ก็เห็นว่ารู้จักกันดี ทำไม เขาเล่าอะไรให้เธอฟังมากกระมัง?”

“ก็ไม่มากนัก แต่ฉันจับได้ว่าเขาเอาใจใส่ในประนุทไม่น้อยกว่าเธอ”

ข้าพเจ้านึกชมวารยา ในข้อที่หล่อนมีความสังเกตดี ถูกแล้ว มนัสเอาใจใส่ในตัวประนุทมาก อย่างน้อยเขาจะต้องรักหล่อน และประนุทก็คงจะชอบเขาบ้างเป็นธรรมดา แต่หล่อนจะรักตอบเขาหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าเดาไม่ได้ จดหมายของประนุททุกฉบับ มักทำให้ข้าพเจ้าคิดไปว่าประนุทจะไม่แต่งงาน นี่คงเป็นความคิดที่เขวมากไป หรือลำเอียงเข้าข้างตัวเองมากไป ประนุทนับถือข้าพเจ้าอย่างพี่ชาย ข้าพเจ้าจากหล่อนมาก็หลายปีแล้ว ความนับถือนั้นไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็นความรักไป ความรักจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยความใกล้ชิดเป็นรากฐาน ข้าพเจ้าอยู่ห่างประนุทหลายร้อยหลายพันไมล์ ส่วนมนัสได้พัวพันอยู่ใกล้ชิด เพราะฉะนั้นถ้าประนุทจะมีความรัก ผู้ชายที่เคราะห์ดีก็ควรเป็นมนัส ไม่ใช่ข้าพเจ้า เมื่อนึกถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็ใจหายชอบกล ไม่ใช่เพราะริษยา แต่ก็ประหลาดนัก เรื่องอะไรประนุทจะต้องบอกมาในจดหมายว่าหล่อนอาจจะไม่แต่งงาน? มีประโยชน์อะไรที่จะพูดเช่นนั้น ถ้าหล่อนมีความรักในผู้ชายคนหนึ่ง? หล่อนรอข้าพเจ้าเช่นนั้นหรือ? เป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผลจะเป็นไปได้เลย

ดูวารยาเอาใจใส่ในเรื่องประนุทมาก นี่ก็เป็นเรื่องแปลกอีกเหมือนกัน หล่อนมีกิริยาตื่นเต้นเมื่อพูดถึงเพื่อนต่างเพศผู้นี้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะเข้าใจดังที่คาดหมายไว้ เพราะดูออกจะคิดไกลเกินไป

“ประนุทควรจะมาเรียนที่ปักกิ่งนี่เหมือนกัน” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้น “แต่ฉันไม่แนะนำให้มา”

“อ้าว ทำไมล่ะจ๊ะ ระพินทร์”

“มีประโยชน์อะไรที่จะต้องเรียนภาษากันใหม่ เขาอยากเรียนแพทย์”

“น่าสงสาร ตกลงเลยไม่ได้เรียน”

“ที่เมืองไทยก็มีเรียนนี่ การแพทย์ของเขาก็ดีเหมือนกัน”

“ถ้ามาก็จะดีมากทีเดียว เธอคงต้องการพบหน้ามานานแล้ว คิดถึงมากไหม ระพินทร์?”

“ก็เป็นธรรมดาที่เคยนึกคิดถึง”

วารยายิ้มแห้ง ๆ ดูเหมือนจะพยายามกลบลอยพิรุธในสีหน้า

“เห็นมนัสว่าเธอเป็นเพื่อนบ้านของประนุทมาตั้งแต่เล็ก”

“ฉันเคยส่งเขาไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ของเราก็ชอบพอกันมาก เขามีพี่ชายคนหนึ่งชื่อประมัย”

“แหม ชอบกันหลายชั้นจริง” หล่อนพูดอย่างระวังกิริยาและน้ำเสียง “มิน่าเล่า มนัสจึงทำท่าเดือดร้อน”

ข้าพเจ้ามองตาหล่อนอย่างแปลกใจ

“อ้าว ทำไม? เอ๊ะ มนัสเล่าอะไรให้เธอฟังบ้าง?”

“กลัวฉันจะรู้หรือ ระพินทร์?”

“เปล่า” รีบตอบ แต่ข้าพเจ้าไม่กล้าสู้สายตาหล่อน “ฉันวิตกแต่ว่ามนัสจะพล่ามมากไป”

“เขาทำให้ฉันเกือบเข้าใจว่า—” หล่อนหยุดคล้ายกับจะพยายามหาคำพูดที่เหมาะ “แต่ฉันอาจจะเข้าใจผิดก็ได้”

“ว่าอย่างไร?” ข้าพเจ้ารีบถามโดยเร็ว

วารยาจ้องหน้าข้าพเจ้า ประหนึ่งว่าจะล้วงเอาความจริงที่หล่อนคงคิดว่าซุกซ่อนอยู่อย่างมิดชิดในหัวใจ

“เธอไม่โกรธไม่ใช่หรือ ถ้าฉันจะเดาออกไปตรง ๆ?”

ข้าพเจ้ามองเห็นถนัดว่าหล่อนหมายความว่ากระไร แต่ขณะนั้นดูงวยงงไปสิ้น จึงตอบชุ่ย ๆ ไปว่า “ไม่โกรธ เอามาเถิด”

“ฉันคิดว่า” วารยาพูดเบาแต่แน่นแฟ้น “ฉันเข้าใจว่าเธอรักประนุทมาก”

ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่ยากที่สุด–ปัญหาที่จะให้คำตอบอย่างตรงกับหัวใจไม่ได้ ข้าพเจ้ารักประนุทหรือ? คำถามนี้ข้าพเจ้าเคยถามตนเองหลายครั้ง แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ข้าพเจ้าอาจยังไม่นึกรักหล่อน แต่พร้อมกับความรู้สึกเช่นนี้ข้าพเจ้าก็สงสัยว่าอาจหลอกตัวเองก็ได้กระมัง ถึงจะอย่างไรก็ตามเถิด ข้าพเจ้าควรจะตอบวารยาว่ากระไร แน่นอน จะตอบว่ารักอย่างไรได้ในเมื่อข้าพเจ้ายังไม่รู้จักตัวเองอย่างดีพอว่าได้รักประนุทหรือไม่ นึกจะตอบปฏิเสธไปตามความรู้สึก แต่ทันใดนั้นเอง ความตั้งใจเดิมก็กลับคืนมาสู่ความนึกคิดอีกครั้งหนึ่ง ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจถูก ปัญหาระหว่างวารยากับข้าพเจ้าเป็นปัญหามนุษยธรรมซึ่งเป็นภัยสำหรับคนใจอ่อน ข้าพเจ้าเคยเปรียบปัญหานี้เหมือนโรคเนื้อร้าย ไม่มีทางใดเหลืออยู่อีกแล้วที่จะเยียวยารักษาให้หายขาดนอกจากจะรีบทำการผ่าตัดเสีย เราจะรักกันไม่ได้–วารยากับข้าพเจ้า มีเหตุผลร้อยแปดพันประการที่ไม่อนุญาตให้เรารักกัน ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ข้าพเจ้าควรจะช่วยให้วารยาบ่ายหน้าไปสู่ความเงียบสงบดังที่วลาดิมีร์ปรารถนา ถูกแล้ว! น้ำตาของหล่อนอาจจะต้องไหลริน ข้าพเจ้าอาจจะทารุณต่อหล่อนอย่างขาดความรู้สึกของมนุษยธรรม แต่มนุษยธรรมที่มีเหตุผลไม่สมบูรณ์ ย่อมไม่อำนวยความสุขที่มั่นคงถาวรให้ใคร ข้าพเจ้าจะต้องใจแข็งพอที่จะฟาดฟันปัญหาข้อนี้ให้เด็ดขาดลงไป มันเป็นทางเดียวที่จะช่วยวารยาให้เดินทางไปสู่โลกที่สะอาด–โลกที่ไม่มีการดิ้นรนอย่างเห็นแก่ตัว–โลกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ถูกทิ้งอยู่ในโลกแต่ลำพังผู้เดียว!

ข้าพเจ้าจะต้องทำการผ่าตัดครั้งใหญ่ยิ่ง เพื่อความสุขอันราบรื่นของวารยาเพื่อนรัก แน่แล้ว น้ำตาอาจจะต้องไหลนอง แต่มันคงเป็นการร้องไห้ครั้งเดียว–และครั้งสุดท้ายของวารยา

เมื่อได้สำรวจจิตใจจนแน่ใจว่ามั่นคงดีแล้ว ข้าพเจ้าก็ตอบว่า

“ถูกแล้ว ฉันรักประนุท เรารักกันมานาน เราสัญญาว่าจะแต่งงานเมื่อฉันกลับ”

ถ้าข้าพเจ้าเป็นวารยา ข้าพเจ้าคงรู้สึกคล้ายถูกสายฟ้าฟาดแผ่นดินสั่นสะเทือน และมืดหน้ามัวตาไปสิ้น วารยาอาจรู้สึกเช่นนั้น เพราะหน้าหล่อนขาวเผือดไปทันที นิ่งอั้นมิได้พูดว่ากระไร ดวงตาอันลอยที่จ้องหน้าข้าพเจ้าอยู่นั้น ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความตกตะลึงจังงัง ข้าพเจ้ากัดริมฝีปากจนรู้สึกเจ็บ นึกเกลียดตัวเองที่แสดงความทารุณออกไป ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่โกหกคนทั้งโลกแม้แต่ตัวเอง ข้าพเจ้านั่งงง นึกไม่ออกว่าจะพูดอะไรต่อไปอีก ข้าพเจ้าได้พูดประโยคสุดท้ายแล้ว–ประโยคที่จะทำให้เราต้องแยกทางกันเดินจนตลอดชีวิต

เงียบสงัด ได้ยินแต่เสียงพายุหิมะพัดอย่างแรงอยู่ข้างนอก ไฟในเตายังลุกโพลงส่องแสงเข้าหน้าเราทั้งสอง วารยาหลบตาลงต่ำ เม้มริมฝีปากคล้ายกับกำลังสะกดความรู้สึกบางอย่าง เราไม่ได้พูดอะไรกันอีกเป็นเวลานาน

ในที่สุด ข้าพเจ้าได้ยินหล่อนกล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงอันแหบเครือว่า

“ฉันขอแสดงความยินดีด้วย ระพินทร์”

อาการยิ้มอย่างประหลาด และแววตาอันเศร้าหมองแต่เฉียบขาดอยู่ในตัว ได้แสดงให้เห็นว่าวารยาได้ตัดสินใจแล้ว–ตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย ว่าหล่อนจะยึดเอาแมนจูเรียเป็นเรือนตาย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ