๓๐
ข้าพเจ้าได้พาท่านไปกรุงปักกิ่ง นานพอที่จะเข้าใจได้ว่าปักกิ่งคืออะไร ในเวลาเดียวกัน ข้าพเจ้าได้เริ่มแนะนำให้ท่านรู้จักวารยา ผู้หญิงชาวรัสเซีย ซึ่งดูเหมือนจะมีความลึกลับแฝงอยู่ในชีวิตหลายชั้นหลายเชิง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าวารยาเป็นลูกสาวคนเดียวของวลาดิมีร์ แต่วลาดิมีร์เล่าเป็นใคร? เท่าที่พอจะรู้ได้อย่างแน่ ๆ ก็คือ วลาดิมีร์เป็นผู้ที่ไม่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ทุกครั้งที่พูดถึงคอมมิวนิสต์รัสเซีย ดวงตาอันกล้าแข็งของเขาก็มีแววที่แสดงถึงความไม่พอใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งฝังแน่นอยู่ในดวงจิต เขามีกิริยาคล้ายกับว่า แม้ตราบจนกระทั่งความตายมาถึง เขาก็ชอบลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้ เขาบอกข้าพเจ้าว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้เขาเสียทุกอย่างที่เคยเป็นของเขา เมื่อข้าพเจ้าถามว่าเสียอะไรบ้าง วลาดิมีร์ก็ยิ้มแทนคำตอบ เขาไม่ยอมพูดอะไรมากกว่านั้น ท่วงทีดูประหนึ่งว่า ถ้าจะพูดออกมาข้าพเจ้าอาจจะตกใจก็ได้ เท่าที่ความสังเกตของข้าพเจ้าจะอนุญาตให้เดา ข้าพเจ้าคิดว่าชายชราผู้นี้ไม่ใช่คนธรรมดา คำพูดและกิริยาท่าทางของเขาบอกอยู่เสมอว่า เขาเป็นคนใหญ่คนโตคนหนึ่ง
เมื่อไม่รู้แน่ว่าวลาดิมีร์เป็นใคร ข้าพเจ้าก็รู้ไม่ได้ว่าวารยาเป็นใครกันแน่ ความรู้สึกที่ว่าวารยามีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง ทำให้ข้าพเจ้าทวีความเอาใจใส่ในตัวหล่อนมากขึ้นเสมอ ถูกแล้ว ชีวิตของวารยาเต็มไปด้วยความเศร้า แต่ความเศร้าเหล่านั้นมีมูลเหตุมาจากอะไร? ความรักชาติหรือ? ความรักระหว่างเพศหรือ? ความทุกข์ยากในครอบครัวหรือ เท่าที่ข้าพเจ้าพยายามเรียนรู้ชีวิตของวารยา ข้าพเจ้าจับได้ว่าความเศร้าของหล่อนมีรากฐานมาจากเหตุ ๒ ประการ คือการที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนหนึ่ง และความผิดหวังในความรักหนึ่ง ในประการหลังหล่อนไม่พยายามพูดอะไรมาก ไม่ต้องสงสัยว่าหล่อนกำลังสิ้นหวังในตัวเหลียง ซึ่งข้าพเจ้าเคยคิดว่าเป็นเทพบุตรคนแรกของหล่อน เหลียงกำลังทำท่าจะทิ้งหล่อนไปจับคู่กับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง–เป็นผู้หญิงชาวจีน เชื้อชาติเดียวกันกับเขา แต่วารยาไม่ได้ทำท่าจะบอกแต่เพียงว่าต้นเหตุแห่งความผิดหวังของหล่อนมีมูลมาจากเหลียงแต่เพียงผู้เดียว หล่อนได้แย้ม ๆ ไว้ว่า หล่อนมีเรื่องของชีวิตมากมาย–มากจนเกินที่จะเล่าได้หมด เรื่องของชีวิตเหล่านี้กระมังที่เป็นบ่อเกิดของความเศร้าทั้งปวง วารยายังเป็นคนลึกลับสำหรับข้าพเจ้าอยู่ ถึงแม้จะได้พบปะกันหลายครั้งหลายหน และถึงแม้หล่อนจะมีความไว้วางใจข้าพเจ้าเป็นอย่างดี แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยรู้จักวารยาเกินไปกว่าที่ได้บันทึกไว้ เรื่องของชีวิต! มันมีอะไรนอกจากความรัก! จริงหรือที่วารยาเคยรักผู้ชายมาแล้ว และผิดหวังมาแล้วก่อนที่จะพบกับเหลียง? สำเนียงของหล่อนบ่งอยู่ว่าหล่อนได้ผ่านชีวิตมามาก ม่านชีวิตของหล่อนที่เผยให้ข้าพเจ้าเห็นในวันนั้น เป็นแต่เพียงฉากแรก ซึ่งเกือบจะไม่ให้ความพิสดารอะไรมากไปกว่าความจริงที่หล่อนสารภาพว่าชีวิตของหล่อนเต็มไปด้วยความเศร้า แต่การสารภาพในวันนั้น สำหรับความรู้สึกของข้าพเจ้า ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ข้าพเจ้าเอาเรื่องชีวิตของหล่อนได้อย่างไกลพอสมควรทีเดียว หล่อนเรียกข้าพเจ้าว่าผู้บริสุทธิ์ นั่นหมายความว่ากระไร? หล่อนไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ด้วยดอกหรือ? การที่เน้นกล่าวถึงตัวข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำอย่างนั้น ไม่แสดงดอกหรือว่า หล่อนได้เกลือกกลั้วกับความไม่บริสุทธิ์มาแล้ว? หล่อนขอร้องไม่ให้ข้าพเจ้ายื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรเลย เพราะเกรงว่ามืออันบริสุทธิ์สะอาดของข้าพเจ้าจะต้องเปรอะเปื้อนมลทินบางอย่างไปด้วย นี่มันอะไรกัน ทำไมหล่อนจึงมองตัวเองต่ำเช่นนั้น? วารยาเป็นใคร? ได้เคยทำอะไรมา จึงไม่คิดว่าตัวเองบริสุทธิ์พอที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้?
เรื่องระหว่างวารยากับเหลียง เป็นนิยายพิศวาสบทหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาศึกษาด้วยความเอาใจใส่ แอลเลนไม่เข้าใจว่าทำไมข้าพเจ้าจะต้องพูดถึงคนทั้งสองบ่อย ๆ วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันผู้นี้มาจากเทียนสิน เพื่อสัมภาษณ์คณะรัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่งเรื่องการรบในเยโฮล เสร็จธุระแล้วเขาก็มานอนขลุกอยู่ในที่พักของข้าพเจ้า ๒–๓ ชั่วโมง เพื่อรอเวลารถด่วนซึ่งจะออกในตอนบ่าย แอลเลนคุยถึงเรื่องการเมืองในจีนเหนือแทบตลอดเวลา เมื่อได้พูด–พูด–พูดจนกระทั่งไม่มีอะไรจะพูดแล้ว เขาก็นึกถึงวารยาได้ จึงถามว่า
“เออ! วารยาของเธอเป็นอย่างไรบ้าง? คงจะเหงาไปไม่น้อยเป็นแน่”
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าแอลเลนมีเลศนัยบางอย่างซ่อนอยู่ในคำพูดจึงรีบถามขึ้นว่า
“หมายความว่ากระไรกัน?”
“ฉันพบเหลียงที่เทียนสิน เขาไปกับมิสหลิว”
“แล้วยังไง?”
“เขาแนะนำให้ฉันรู้จักกับคู่หมั้นของเขา”
“อะไรนะ คู่หมั้นอะไรกัน?” เสียงข้าพเจ้าผิดปรกติ
“คู่หมั้นน่ะซี เธอไม่รู้ดอกหรือว่าคู่หมั้นแปลว่าอะไร?”
“มิสหลิวน่ะหรือ คือคู่หมั้นของเหลียง?”
“ถูกแล้ว”
“คนที่เราพบวันนั้นใช่ไหม?”
“คนที่อยู่ในเรือกับเหลียงที่พระราชวังฤดูหนาวนั่นแหละ”
ข้าพเจ้าคิ้วขมวดด้วยความฉงน นิ่งงงไปครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า
“เป็นข่าวประหลาดแทบไม่เชื่อทีเดียว แล้วยังไง?”
“เหลียงก็หมั้นแล้วน่ะซี เขาจะแต่งงานในเดือนหน้า”
“นี่เธอไม่ได้พูดเล่นดอกหรือ แอลเลน?”
“ฉันจะไปโกหกเธอทำไม ระพินทร์ เออ แล้ววารยาว่าอย่างไร?”
“วารยาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้”
“แต่จะแปลกอะไร ยังมีผู้ชายอีกเยอะแยะ”
ข้าพเจ้ารู้สึกสะเทือนใจอย่างแรง เมื่อได้ฟังคำพูดอันเต็มไปด้วยการดูถูก จึงรีบค้านขึ้นโดยเร็ว
“โปรดอย่าคิดอย่างที่เธอเคยคิดเลย แอลเลน วารยาไม่ใช่ผู้หญิงอย่างที่เธอเข้าใจดอก”
น้ำเสียงอันหนักแน่นจริงจัง ทำให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์อเมริกันต้องเงยหน้าขึ้นมองดูตาข้าพเจ้า เขาคงสังเกตเห็นความไม่พอใจในแววตา จึงรีบพูดว่า
“ขอโทษเถอะ ระพินทร์ ฉันอาจจะออกความเห็นรวดเร็วไปหน่อย”
“ฉันขอยืนยันว่า วารยาไม่ใช่ผู้หญิงชนิดนั้น” ข้าพเจ้าพูดเสียงแข็ง “วารยาเป็นสุภาพสตรีที่มีเกียรติ วารยาเป็นคนดี ฉันอยากให้เธอสนิทกับหล่อนแล้วเธอจะเข้าใจ”
คำพูดของข้าพเจ้าทำให้แอลเลนเริ่มจริงจังมากกว่าเดิม แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าเขาคงไม่เชื่อถือในถ้อยคำของข้าพเจ้านัก แอลเลนดูถูกผู้หญิงชาวรัสเซียทุกคนที่เขาพบ มันช่วยไม่ได้ เขาไม่เคยพบคนดี ชีวิตของเขาเป็นชีวิตของชายโสดที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานร่าเริง ไม่ต้องการจะจริงจังกับอะไร ข้าพเจ้าไม่อยากจะลงโทษแอลเลนอย่างรุนแรง เพราะชีวิตโสดของเขาต่างกับชีวิตโสดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบคิด ชอบสังเกต แต่แอลเลนเห็นว่าการคิดคือการทูนก้อนหินไว้บนศีรษะ มันไม่เกิดประโยชน์อะไร เขาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องของมนุษย์ในโลกนี้ยุ่งจนเกินที่เราจะเอาใจใส่ด้วยได้ ตัวใครก็ตัวมันนั่นแหละดี เมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ ใครเล่าเขาจะไปช่วย โลกนี้เป็นโลกของผู้ชนะ–โลกของผู้ที่แข็งแรง ผู้แพ้หรือผู้ที่อ่อนแอไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่าแอลเลนจะชักชวนให้มนุษย์พากันเห็นแก่ตัวเสียหมดทั้งโลก คิดแต่จะเอาตัวรอด คิดแต่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน แอลเลนคิดอย่างพวกฝรั่งหลาย ๆ คนคิด ไม่ต้องการจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้ที่อ่อนแอและล้าหลัง ใฝ่ฝันแต่จะเอาตัวรอดและรักษาผลประโยชน์ของตนเท่านั้น แต่ข้าพเจ้ายังรักน้ำใจแอลเลนอยู่ข้อหนึ่ง เขาเป็นนักมนุษยธรรมที่สุจริตในบางครั้ง เขาไม่ดูถูกผิว เขาให้โอกาสคนอื่นแม้แต่ปรปักษ์ เพื่อได้ทำการต่อสู้ตามหนทางที่ถูกและควร เขาอาจหวังผลประโยชน์ของเขา แต่เขาไม่ริษยา ถ้าผู้อื่นดิ้นรนเพื่อผลประโยชน์ที่ตนควรจะได้ตามหลักของความยุติธรรม เขายังมีราคามากกว่าฝรั่งเป็นจำนวนล้าน ๆ ที่ปากพูดอย่างหนึ่งแล้วใจคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ฝรั่งพวกนี้ถือตัวว่าเป็นผู้ดีชั้นสูงเหนือมนุษย์ทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเขาเป็นโจรผู้ดีมากกว่า