๒๐
ชีวิตของวารยา ราเนฟสกายา เป็นละครฉากหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจดจำ ภาพของละครฉากนี้เป็นภาพของความมืดมัว ไม่แจ่มใส แต่ก็เป็นภาพที่มีค่าอันประเสริฐสำหรับการศึกษาเรื่องของชีวิต ชีวิตของวารยาเป็นบทเรียนที่ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจยิ่งขึ้นว่าโชคเป็นศัตรูของความยุติธรรม ภาษิตที่ว่าทำดีได้ดีนั้นควรจะเลิกล้มเสียได้ จำเป็นด้วยหรือที่เราจะต้องได้ดีเสมอไปในเมื่อเราทำความดี? ภาษิตบทนี้เป็นการปลอบใจคนมากกว่า เป็นการกล่าวตามความจริงของชีวิต วารยา ราเนฟสกายาได้พยายามทำความดี แต่หล่อนได้รับผลตอบแทนอะไรบ้าง? มันเป็นเรื่องของความสลดใจ
การที่ข้าพเจ้าได้พบวารยา และได้รู้จักหล่อนอย่างใกล้ชิด ข้าพเจ้าถือว่าเป็นโชคอย่างหนึ่ง ที่ว่าเป็นโชคก็เพราะว่าข้าพเจ้าได้มีโอกาสสร้างความหลังขึ้นอีกอย่างหนึ่งในสมุดปกเขียว ระพินทร์ พรเลิศเป็นผู้ที่มีคติของชีวิตว่า ความหลังคือบทเรียนที่มีค่า ระพินทร์มีความหลังที่จะต้องจดจำมาก ความหลังของเขาจะหมดไปก็ต่อเมื่อความตายได้มาถึงแล้ว เรื่องของวารยาเป็นแต่เพียงเรื่องของความหลังบทหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเศร้า ยังมีความหลังอีกมากมายก่ายกอง ที่ควรจะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความหลังเหล่านี้มีรสชาติต่างกัน เป็นเรื่องของความเสียสละ ความกดขี่ ความเกลียดชัง ความหลอกลวง ความเห็นแก่ตัว รวมความเป็นเรื่องของความชั่วและความดี ซึ่งวกเวียนอยู่ในชีวิตของปุถุชนทั้งหลาย
สปริง ๑๙๓๒ ได้เปิดฉากชีวิตของผู้หญิงคนนี้ให้ข้าพเจ้าแลเห็นอย่างใกล้ชิด สีของสปริงและสีของชีวิต วารยาดูออกจะเป็นสีที่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับสีขาวกับสีดำ วารยาแจ่มใสชื่นบานไม่แพ้ดอกไม้ที่บานสะพรั่งอยู่เต็มต้น แต่ในหัวใจของหล่อนในส่วนลึกของความรู้สึก วารยาได้ซ่อนอะไรไว้บ้าง ข้าพเจ้ากำลังจะเริ่มเข้าใจ
เราพบกันอีกหลายครั้ง วารยากับข้าพเจ้าพบกันโดยไม่ได้เจตนา แต่ดูเหมือนว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพบกัน ข้าพเจ้าพบวารยาก็เพื่อจะเรียนชีวิตอันมืดมัวน่าเอาใจใส่ของหล่อน วารยาพบข้าพเจ้าก็เพื่อจะพูด–พูดให้หัวใจมีความสุข–พูดให้ความอัดอั้นในอกเบาบางลงไป “ระพินทร์ เธอเป็นคนปลอบใจคนดีที่สุดในโลก” วารยากล่าวแก่ข้าพเจ้าในวันหนึ่ง “ดูเหมือนเธอจะเที่ยวไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนทุกคนที่เธอพบ”
ข้าพเจ้าหัวเราะ
“ฉันเก่งเพียงนั้นเทียวหรือ วารยา? เธอคงคิดว่าฉันเป็นคนที่ยุ่มย่ามพอใช้ เที่ยวเอาเรื่องคนอื่นมาเป็นเรื่องของตัว”
“ฉันคิดว่าเธอเป็นคนใจดี” หล่อนพูดพลางยิ้มอย่างอ่อนหวาน ตาจับอยู่ที่ช่อดอกสาวเย่าตรงหน้า “นี่ ระพินทร์ เธอจะอยู่ที่ปักกิ่งอีกนานสักเท่าใด”
“นานเท่าที่ฉันจะเบื่อ” ข้าพเจ้าตอบ
“ความเบื่อมีอยู่ในหัวใจเธอด้วยหรือ?”
“เราอาจจะเบื่อได้เหมือนกัน ถ้าเราชินกันมากไป”
“ถ้าเช่นนั้นคนที่เป็นเพื่อนกันนาน ก็คงจะเบื่อกันได้ในที่สุด เธอคิดเช่นนั้นหรือ ระพินทร์?”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะ ยกน้ำชาขึ้นจิบ แล้วก็ตอบว่า
“เราจะลืมกันได้อย่างไร ถ้าเราต่างคนต่างดีต่อกันมาก ๆ”
“แต่ฉันถืออุดมคติอันเก่าของเธอ ความเคยชินทำให้เบื่อ”
“มันแล้วแต่เหตุการณ์นี่นะ วารยา”
หล่อนยิ้มอีก กิริยาอาการเยือกเย็นประหนึ่งว่ามีความเข้าใจต่อชีวิตอย่างดียิ่ง บางทีวารยาคงจะคิดว่าหล่อนรู้จักชีวิตดีกว่าข้าพเจ้า เพราะเท่าที่ได้สังเกตดูเวลาหล่อนพูด วารยาวางตัวคล้ายกับเป็นผู้รู้อะไร ๆ ดีกว่าข้าพเจ้าเสมอ แต่เวลาที่หล่อนนอบน้อมนุ่มนวลอย่างน่าเอ็นดูก็มีเหมือนกัน และเวลานั้นดูเหมือนว่าหล่อนจะสวยงามยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่าวารยาคงจะได้ผ่านเรื่องชีวิตมามากพอที่หล่อนจะวางตัวเป็นคนรู้จักโลกได้คนหนึ่ง หล่อนไม่ตื่นเต้นเวลาข้าพเจ้าพูดถึงเรื่องร้าย ๆ หรือเรื่องที่แปลก ๆ สงครามเซี่ยงไฮ้และสงครามแมนจูเรียไม่กระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทของหล่อนเลย ความชั่วของมนุษย์ตลอดจนของสังคมก็ไม่ทำให้หล่อนต้องนั่งคิด เรื่องที่ขันที่สุดหรือเรื่องที่ชื่นบานที่สุด ก็ไม่ทำให้หล่อนหัวเราะอย่างปล่อยตัว วิธีแสดงความสุขของวารยาก็คือการยิ้ม ในแววตาแจ่มใส ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลย เวลาหล่อนเศร้า–ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสเห็นน้อย–วารยาก็ไม่แสดงอะไรมากเหมือนกัน หล่อนพยายามยิ้ม พยายามพูด เพื่อจะกลบเกลื่อนความรู้สึกอันมืดมัวที่เกิดขึ้นในใจ แต่วารยาน่ะหรือจะเก่งพอที่จะตบตาข้าพเจ้าได้ เช่นในวันที่เราพบปะสนทนากันในครั้งนี้ เมื่อพูดถึงความเบื่ออันเกิดเพราะความเคยชิน แววตาของวารยาก็ซึมไป ท่วงทีคล้ายกับว่ามีความเจ็บปวดเพราะคำว่าเบื่อ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมวารยาจึงต้องเอาใจใส่กับคำว่าเบื่อ หล่อนมีเรื่องเกี่ยวกับความเบื่ออะไรเช่นนั้นหรือ
เมื่อวารยานิ่งไป เราก็เปลี่ยนเรื่องที่สนทนากันเป็นเรื่องอื่น ซึ่งเต็มไปด้วยสีของฤดูสปริง วารยาบอกข้าพเจ้าว่า สปริงในฮาร์บินสวยไม่แพ้สปริงในปักกิ่ง หล่อนเล่าเรื่องชีวิตเด็กและชีวิตในวัยที่จะข้ามพ้นประตูโรงเรียนออกมายังโลกภายนอกให้ข้าพเจ้าฟัง หล่อนมีความใฝ่ฝันถึงชีวิตมาก เห็นชีวิตเป็นของสวยงาม เต็มไปด้วยความหวังและความสำเร็จ แต่หล่อนไม่เคยปริปากเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ว่าชีวิตจริง ๆ ที่หล่อนได้เผชิญหน้าอยู่ในปักกิ่งนี้เป็นอย่างไร มันลึกซึ้งเกินกว่าที่วารยาจะเล่าได้ ข้าพเจ้าคิด