ที่คาราซาร์–เวทีเต้นรำอันงามหรูแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง–ข้าพเจ้าพบวารยา ราเนฟสกายา หล่อนอยู่ในชุดสีโศก สมกับแววตาซึ่งมีประกายโศกอยู่เสมอ หล่อนมากับเหลียง บุรุษหนุ่มผู้ถือคติว่าชีวิตเป็นเกมที่จะต้องเล่นให้ชนะจะโดยวิธีใดเป็นได้ทั้งสิ้น คืนนั้นข้าพเจ้าไปกับแอลเลนเบราน์ นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันประจำ The North China Star เราทั้งสองจำวารยาได้ดี เพราะหล่อนเป็นดาราคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมคาราซาร์ และสถานที่เต้นรำแทบทุกแห่งในนครปักกิ่ง แอลเลนมองดูชายหญิงทั้งสองด้วยความเข้าใจอย่างตลอดปลอดโปร่ง ส่วนข้าพเจ้าก็มองดูด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกับเขา วารยา–แม่เทพธิดาของเวทีเต้นรำ–จะให้เราเข้าใจหล่อนให้ดีกว่าที่เราควรจะเข้าใจได้อย่างไร

เมื่อได้แนะนำให้รู้จักกันแล้ว เราทั้งสี่คือ วารยา เหลียง แอลเลน และข้าพเจ้าก็สนทนากันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน วารยาสนิทกับเราง่าย เพราะหล่อนเป็นคนไม่ตระหนี่ตัว แต่ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่หล่อนจะต้องตระหนี่ตัวอย่างมากมาย การทำตัวปอปปิวลาร์ย่อมเป็นของมีประโยชน์สำหรับหล่อน ข้าพเจ้าสนทนากับหล่อนด้วยความรู้สึกธรรมดา ให้เกียรติยศอย่างพอเพียงในฐานะที่หล่อนมากับเหลียง แอลเลนพูดกับหล่อนอย่างมีเลศนัยเวลาเหลียงลุกไปที่โต๊ะอื่น แต่วารยาไม่แสดงว่าหล่อนไม่พอใจในคำพูดของเขา นั่งอย่างไว้ตัว พูดด้วยน้ำเสียงอันสุภาพ ไม่มีอะไรในตัวหล่อนที่ควรจะเชื้อเชิญให้เราพูดอย่างที่เราควรจะพูด ความไว้ตัวของวารยาทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจ หล่อนมีอะไรบางอย่างในแววตาและคำพูดที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าแอลเลนอาจเข้าใจหล่อนผิดอย่างถนัด

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเต้นรำกับวารยาสามรอบ แอลเลนนั่งดูอยู่กับเหลียง คืนนั้นดูเขาออกจะเป็นนักปราชญ์จัดไปสักหน่อยคือพูดแต่เหตุการณ์ในจีนเหนือ และไม่ยอมแตะต้องวอดก้าหรือแม้แต่เบียร์ แอลเลนไม่เต้นรำสักรอบเดียว ซึ่งดูผิดวิสัยไปอย่างที่คาดไม่ถึง ขณะที่เหลียงประคองวารยาออกไปยังเวที ข้าพเจ้ากระซิบถามเขาว่า

“เป็นยังไงคืนนี้ ดูเงียบไป”

เขายิ้มอย่างเก็บความรู้สึก ควักบุหรี่ขึ้นจุดสูบแล้วก็พูดว่า

“วารยาของเราเป็นอย่างไรบ้าง พอใจไหม?”

“ไม่เลว” ข้าพเจ้าตอบ ชำเลืองดูรูปร่างอันอ้อนแอ้นของหล่อน ซึ่งกำลังลอยไปตามจังหวะดนตรี “เป็นคนช่างพูดและพูดเพราะเสียด้วย”

“ชอบหล่อนเข้าแล้วหรือ?” เขาถามพลางหัวเราะ

“เธอล่ะ แอล?”

“อยากจะชอบ แต่หล่อนจองหอง”

ข้าพเจ้าเม้มริมฝีปาก ดวงตาจับอยู่ที่ร่างในชุดสีโศกซึ่งถูกนักเรียนบอสตันของเราหมุนเฉียดเข้ามาใกล้โต๊ะ

“สังเกตอะไรบ้างหรือเปล่า?” ข้าพเจ้าถามโดยมิได้มองหน้า “วารยาพูดเพราะ ไว้ตัว สุภาพผิดผู้หญิงที่เราเคยพบตามโรงเต้นรำ”

“งั้นหรือ นั่นมันกลของหล่อนต่างหาก”

ข้าพเจ้าไม่ออกความเห็น แอลเลนจึงพูดต่อไป

“ผู้หญิงรัสเซียอย่างวารยา เรามีเยอะที่เทียนสิน”

“พวกรัสเซียขาว น่าสงสาร” ข้าพเจ้าพูดค่อนข้างเบา รู้สึกได้กล่าวออกมาด้วยความจริงใจ

“คนไม่มีชาติ” แอลเลนพูดพลางโคลงศีรษะ “จริงอย่างเธอว่า น่าสงสาร ขืนกลับรัสเซียก็คงถูกยิงเป้าเรียบ”

เราคุยกันอีกสองสามคำ เพลง Love Me Tonight ก็จบลง เหลียงพาวารยามาที่โต๊ะ แอลเลนมิได้พูดกับหล่อน ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าทำไมวารยาจึงไว้ตัวเกินไปสำหรับแอลเลน แต่หล่อนมีสิทธิจะทำเช่นนั้น เพราะเพื่อนอเมริกันของเราไม่ได้ให้เกียรติแก่หล่อนอย่างเพียงพอ ตลอดเวลาเขาใช้คำพูดอย่างที่เขาเคยใช้กับพวกชาวรัสเซียในเมืองเทียนสิน

ภายหลังเที่ยงคืน เราก็แยกกันกลับ เหลียงไปกับวารยา ข้าพเจ้าไปกับแอลเลน คืนนั้นเดือนหงายกระจ่างท้องฟ้า มีเกล็ดเมฆบาง ๆ ทั่วไป ลมเย็นยังพัดมาฉิว ๆ แม้สปริงจะได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว แต่อากาศตอนดึกก็ยังหนาวอย่างเข้ากระดูก เราสวมเสื้อคลุมหนา เอามือซุกกระเป๋า เดินไปตามขอบสนามฝึกทหารของบรรดาสถานทูตนานาชาติ ซึ่งอยู่เยื้องกับภัตตาคารคาราซาร์ เราพูดถึงวารยา พูดกันอย่างมากมายตามความพอใจ แอลเลนไม่มีความรู้สึกดีกว่าที่เขาได้รู้สึกมาแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังไม่อยากจะคิดว่าวารยาเป็นผู้หญิงชนิดไหน คำพูดและกิริยาท่าทางของหล่อนแฝงอะไรไว้บางอย่าง ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่าหล่อนควรจะมีเชื้อสายเหล่ากอที่ดีกว่าชนสามัญ วารยา ราเนฟสกายาเป็นใคร? มาจากไหน? คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในใจข้าพเจ้าขณะที่เดินคุยกันไปกับแอลเลนจนถึงมอริสสันสตรีต ที่นั่นเราก็ขึ้นรถแยกทางกันกลับบ้าน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ