- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
ฝิ่นเมืองเชียงตุง
เหตุที่จะทรงเล่าเรื่องนี้ เนื่องมาจากทรงปรารภเรื่องการทำฝิ่นว่าเมืองเชียงตุงเป็นเมืองฝิ่น และฝิ่นเมืองเชียงตุงนั้นเข้ามาเมืองไทยช้านานแล้ว
เมืองเชียงตุงนั้นอาณาเขตต์ตกลำน้ำสาละวินทางตะวันตกด้านหนึ่ง ตกลำน้ำโขงทางตะวันออกด้านหนึ่ง แต่พื้นเมืองเป็นเทือกภูเขาเรียงกันไปทั้งนั้น ไม่ใคร่มีที่ราบสำหรับทำนา ในหนังสือเรื่องเมืองพม่าของสก๊อทว่า เมืองเชียงตุงมีสินค้าที่เกิดขึ้นสำหรับขายนอกประเทศ ที่เป็นสิ่งสำคัญมีสามสิ่งคือ ฝ้าย ขายไปทางเมืองจีน ไม้ขอนสักขายไปทางเมืองขึ้นของฝรั่งเศสลำน้ำโขง และฝิ่นขายมาทางสยาม จำนวนเงินรายได้ของเชียงตุงราวปีละ ๑๐๐,๐๐๐ รูปีย์เศษ ต้องเสียส่วยแก่อังกฤษปีละ ๑๐,๐๐๐ รูปีย์
เมื่อสมัยสันนิบาตชาติประสงค์จะจำกัดฝิ่น อังกฤษไปว่าเจ้าฟ้าเชียงตุงจะให้เลิกปลูกฝิ่นในเขตต์ของเมืองเชียงตุง เจ้าฟ้าเชียงตุงร้องทุกข์ว่า ถ้าห้ามปลูกฝิ่นในเขตต์ของเมืองเชียงตุงแล้ว ราษฎรก็จะพากันเดือดร้อนไปด้วยไม่มีทางทำมาหากินเหมือนแต่ก่อน เงินรายได้สำหรับใช้ในการบ้านเมืองก็ตกต่ำขาดแคลน จะเอาเงินที่ไหนไปเสียส่วย อังกฤษเห็นอก จึงผ่อนผันยอมให้ชาวเมืองเชียงตุงปลูกฝิ่น แต่เอาสัญญาว่าให้ขายกันแต่ในพื้นเมือง มิให้ส่งฝิ่นไปขายในแดนพะม่าหรือประเทศอื่น แต่การห้ามนั้นไม่เป็นได้จริง เพราะพวกค้าฝิ่นเถื่อนทั้งในเมืองไทยและเมืองพม่าพากันลอบไปซื้อ ใครซื้อชาวเมืองเชียงตุงก็ยอมขายให้ ด้วยถือว่าขายแต่ในอาณาเขตต์ของเชียงตุงตามที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้กับอังกฤษ การที่ผู้ซื้อจะเอาฝิ่นไปที่ไหน ไม่ใช่ธุระของเมืองเชียงตุง มูลมีมาเช่นนี้พวกพ่อค้าฝิ่นเถื่อนจึงไปซื้อฝิ่นเมืองเชียงตุงเข้ามาขายในเมืองไทยเนือง ๆ