- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
พระบรมธาตุ
เหตุ ที่จะถามปัญหาเรื่องพระบรมธาตุนี้ เนื่องจากไทยได้มอบบรมธาตุที่ขุดได้จากพระเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระนครศรีอยุธยาให้แก่ญี่ปุ่น พระบรมธาตุนี้บรรจุอยู่ในเจดีย์แก้วผลึก เจดีย์ทอง เจดีย์เงิน ฯลฯ เรียงตามลำดับหลายชั้น เป็นของโบราณมีค่าควรแก่การหวงแหน
ปัญหา พระบรมธาตุที่ขุดได้ในพระสถูปที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และให้ญี่ปุ่นไปนั้น บรรจุไว้แต่ครั้งไร เป็นพระบรมธาตุที่แท้หรือมิใช่
ตอบ พระบรมธาตุในสถูปที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์นั้น มีอยู่ในหนังสือ “ยวนพ่าย” ว่า
“แถลงปางพระเลี้ยงโลกย์ | ลองธรรม์ |
เกษมอโยทธยายง | ยิ่งฟ้า |
แถลงปางพระศรีสรร | เพชญ์โพธิ์ |
แสดงสดูปพระเจ้าหล้า | ข่าวขจร” |
เรื่องพระบรมธาตุนี้เป็นเรื่องที่ยากอยู่หน่อยหนึ่ง ด้วยคนเขาเชื่อกันอย่างอื่นยังมีอีกมาก ผู้เชื่ออย่างพวกเรานักปราชญ์ หรือไซแอนติสท์๑ เชื่อนั้นยังมีน้อยนัก ถ้าเอาตามที่เราเชื่อไปพูดกับพระๆ ก็จะเตะเอาออกจากวัดไม่ทัน ฉนั้นหากจะเอาไปเล็กเช่อร์๒ในโรงเรียนก็ดูยังไม่ถึงเวลา ตัวนิทานมีอยู่ดังนี้
เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานที่เมืองกุสินารา ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วมีการแจกพระบรมธาตุให้แก่ผู้เลื่อมใส เอาไปบรรจุลงไว้ในพระสถูป ธรรมเนียมบรรจุธาตุลงในสถูปนั้นมีมาก่อนพุทธกาล การแจกนั้นรวมแจกแปดแห่งด้วยกัน ตอนนี้เป็นตอนที่ควรสังเกต พวกถือพระพุทธศาสนาที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าไม่นับถือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเท่าบริโภคเจดีย์สี่แห่ง เมื่อก่อนเข้าปรินิพพานตามความในหนังสือปฐมสมโพธิว่า พระอานนท์กราบทูลถามว่า พวกพุทธบริษัทเคยเห็นพระพุทธองค์ขณะมีพระชนม์อยู่ หากเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วจะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ ควรจะปฏิบัติสถานไรจึงจะแก้ได้ ทรงตอบว่า ถ้าใครเปลี่ยวใจคิดถึงตถาคตก็จงไปปลงธรรมสังเวช ณ สังเวชนียสถานสี่ตำบล ๆ ใดตำบลหนึ่งเถิด คือที่ปสูติ ลุมพินีวันกรุงกบิลพัสดุ์ ที่ตรัสรู้ พุทธคยาหรือโพธิคยา ที่ประกาศพระศาสนา อิสิปัตนมฤคทายวันเมืองพาราณสี หรือที่ป่าสาลวันเมืองกุสินาราที่นิพพาน ใครคิดถึงจะไปปลงยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้
ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพุทธสาวกไปบูชาสังเวชนียสถานทั้งสี่ตำบลนี้เสมอมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ที่พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานอยู่ทั้งแปดแห่งนั้นเงียบหายไป จนไม่ปรากฏว่าใครได้ทำนุบำรุงอย่างไร มาถึงพุทธกาลล่วงแล้ว ๒๐๐ ปีเศษ พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพุทธศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์สถานเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าให้แพร่หลายไปทั่วอาณาเขต จึงได้เที่ยวรวบรวมพระธาตุที่แยกย้ายกันไปเมื่อ ๒๐๐ ปีเศษมาแล้วทั้งแปดแห่ง นัยว่าเอามาได้เจ็ดแห่งด้วยกัน แต่พระบรมธาตุส่วนที่รามคามไม่สามารถเอามาได้ด้วยพระยานาคราชผู้เป็นเจ้าของหวงแหน ส่วนพระธาตุอีกเจ็ดแห่งที่ได้มานั้น พวกถือพระพุทธศาสนาจะสร้างวัดที่ไหน มาทูลขอพระเจ้าอโศกก็ประทานไปส่วนละน้อยแห่งละส่วน ในพระบาลีว่าแบ่งไปเบ็ดเสร็จด้วยกัน ๘๔,๐๐๐ แห่งโดยประมาณ นี่เป็นเรื่องทางอินเดีย
พระธาตุแปดแห่งเดิมที่จ่ายไปเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วนั้น มาปรากฏภายหลังว่าพระเจ้าอโศกไม่ได้ไปอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ คือส่วนที่ศากยวงศ์ได้ไป พวกศากยวงศ์อันเป็นพระญาติ ได้เอาไปก่อพระสถูปไว้ ต่อมามิสเตอร์ปิ๊ป คนทำไร่ไปขุดพบเข้า ที่ผะอบพระธาตุมีจารึกเป็นสำคัญว่า พระธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนที่พวกศากยบรรจุไว้ จึงเชื่อแน่ได้ว่าเป็นพระธาตุแท้ เพราะผะอบก็เก่า หนังสือที่จารึกก็เก่า เวลาที่ขุดได้นั้นลอร์ดเคอรสันเป็นไวสรอยอยู่ที่อินเดีย หลอดเคอรสันเคยเข้ามากรุงเทพฯ และคุ้นเคยกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อได้พบพระบรมธาตุเช่นนี้ก็ส่งข่าวมาทูลถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เหตุด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ถือพระพุทธศาสนามีอยู่พระองค์เดียวในโลก จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เมื่อเป็นพระยาสุขุมเป็นราชทูตไปรับพระบรมธาตุถึงอินเดียเข้ามาถวาย สร้างพระเจดีย์บรรจุไว้บนภูเขาทอง เป็นพระธาตุที่แท้จริงไม่มีที่เถียงอยู่แห่งเดียว
ข้อสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่งคือ บรรดาพระธาตุจะเป็นพระธาตุพระพุทธเจ้าก็ตาม ธาตุพระสาวกก็ตามที่พบในอินเดียนั้น เป็นกระดูกคนทั้งสิ้น ถึงที่ไวสรอยส่งเข้ามาถวายก็เป็นกระดูกคน ในอินเดียมีมากที่ว่าเป็นพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าก็ยังมีอีกหลายแห่ง แต่ขาดหลักฐานที่เชื่อถือได้ ถ้าจะว่าไป พระธาตุที่ว่าเป็นของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในอินเดีย เอาแต่พระธาตุเท่านั้นมาปั้นเข้าก็จะเกินองค์พระพุทธเจ้าเสียอีก ที่บริติชมิวเซียมในกรุงลอนดอนก็มี มีผ้าห่ออยู่แต่ผ้าดูค่อนข้างใหม่ ตัวหนังสือที่เขียนที่ผ้าก็ดูใหม่กว่าสมัยพระพุทธเจ้าหลายร้อยปี จึงไม่ได้ขอเขามา เพราะถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแท้ ไหว้ผิดตัวไปไหว้กระดูกแขกอื่น ไหว้ก้อนกรวดก้อนทรายเสียดีกว่า.
เรื่องพระธาตุยังไม่จบ มีตำนานเกิดขึ้นที่ลังกาว่า เมื่อพระเจ้าอโศกจะไปเอาพระธาตุที่รามคามพระยานาคหวงเอาไว้นั้น ต่อมาพระยานาคราชเกรงว่าจะมีผู้มาลักเอาไปเสียจึงเชิญไปไว้เมืองนาคใต้บาดาล อยู่มามีพระอรหันต์องค์หนึ่งในเกาะลังกาให้สามเณรองค์หนึ่งนัยว่ามีอิทธิฤทธิ์มาก ไปหาพระยานาคราชถึงเมืองบาดาลไปบอกให้รู้ว่าพระพุทธศาสนามาเจริญอยู่ในลังกาทวีป อยากจะได้พระบรมธาตุส่วนที่อยู่ที่พระยานาคราชไปบูชา ก็ด้วยอิทธิฤทธิของสามเณรนั้นปรากฏว่าพระยานาคราชยอมรับว่าจะยอมให้พระบรมธาตุส่วนที่ได้แก่ตนจึงเชิญพระบรมธาตุขึ้นมาจากเมืองบาดาล มาวางไว้ที่หาดทรายเกาะลังกา เพราะพระธาตุตกไปถึงเมืองบาดาล ในมือนาคเป็นเหตุให้พระธาตุส่วนที่อยู่ที่รามคามนี้เป็นศิลาไม่ใช่กระดูกคน บอกไว้ในตำราว่าให้พึงสังเกตมีลักษณะต่างกันถึงห้าอย่างแต่จำไม่ได้หมดว่า สีเหมือนแก้วผลึก เหมือนดอกพิกุลแห้ง เหมือนทองอุไร ฯลฯ เพราะฉนั้น พระบรมธาตุที่ออกจากลังกามายังประเทศต่าง ๆ เช่น เมืองไทยเรา ที่ได้รับพระธาตุมาจากลังกานั้น เป็นพระธาตุกรวดทรายทั้งสิ้น ไม่ใช่กระดูกคนอย่างที่อินเดีย แต่ก็เชื่อคำและตำราที่กล่าวอันเป็นของลังกามาแต่สมัยสุโขทัย ที่กรุงศรีอยุธยาได้มา แม้ที่บรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ขุดได้และให้ญี่ปุ่นไปนั้นที่จะเป็นกระดูกคนหามีไม่ ที่หลวงธำรงฯ ได้มาก็เป็นกระดูกคน