- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
พระมหาปราสาท
เหตุ เรื่องพระบรมมหาราชวังเป็นเรื่องที่น่ารู้อย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง ผู้ที่รู้เรื่องปราสาทราชฐานในพระบรมมหาราชวังนั้น น้อยตัวลงเต็มทีแล้ว จึงทูลถามไว้เพื่อจะได้ทราบเรื่องราว
ปัญหา การสร้างพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังนั้น ทรงสร้างกันด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร องค์ไหนมีความสำคัญเพียงไร
ตอบ เมื่อสร้างวังหลวงและวังหน้าของกรุงเทพฯนี้ การสร้างทั้งพระพุทธยอดฟ้าฯ ทั้งวังหน้าต่างก็ยึดเอาแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา แต่ดื้อกันคนละอย่าง วังหน้าว่า วังกรุงเก่าเขาหันหน้าไปทางตะวันออก ฉะนั้นวังหน้าจะต้องหันหน้าไปทางตะวันออก คือหันหน้าออกสนามหลวงดังที่เห็น พระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า กรุงเก่าหันข้างลงน้ำเอาแม่น้ำไว้ด้านข้างเพื่อลงแพได้สดวก จึงหันหน้าวังไปทางเหนือ ตอนสร้างในวังก็เอาแบบกรุงเก่ามาสร้าง ที่กรุงเก่ามีมหาปราสาทสามองค์เรียงกันอยู่ เริ่มแต่พระวิหารสมเด็จ สรรเพชญ์ปราสาท สุริยาสน์อมรินทร์ พระวิหารสมเด็จนั้นใกล้วัดพระแก้วแทนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ สร้างจักรพรรดิพิมาณตรงวิหารสมเด็จทรงสรรเพ็ชญ์ปราสาทนั้น ในรัชกาลที่ ๑ - ๒ - ๓ ยังเป็นโรงช้าง สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แทนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ อยู่ริมน้ำ ที่ตรงกลางว่างอยู่
ตามประเพณีถือกันว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ควรสร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างแล้ว พระพุทธเลิศหล้าฯ ยังไม่ได้สร้าง พระนั่งเกล้าฯ สร้างพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ที่พลับพลาสูงอย่างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง สำหรับทอดพระเนตรกระบวนทหาร มาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างพระที่นั่งมหิศรปราสาท ถวายเป็นของพระพุทธเลิศหล้าฯ สำหรับพระองค์เองทรงสร้างพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท อยู่บนกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วทรงสร้างพระราชทานพระปิ่นเกล้าฯ อย่างเดียวกันอีกองค์หนึ่งที่วังหน้า อยู่ตรงเกยช้างที่ตั้งรูปพระนารายณ์ทรงปืน (ถือศร) ในพิพิธภัณฑสถานทุกวันนี้ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งคชกรรมประเวศ” ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสร้างพระราชวังบางปะอิน จึงทรงถ่ายแบบให้ไปสร้างที่กลางสระอีกองค์หนึ่ง เอานามปราสาทของพระเจ้าปราสาททองที่สร้างไว้ที่บางปะอินเดิมมาขนานนามว่า “ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์”
ในรัชกาลที่ ๕. นี้ ในชั้นต้นจะทรงสร้างพระที่นั่งใหญ่ตรงห้องเสวยที่ห้องทอง แต่เมื่อเสด็จประพาสสิงคโปร์ ไปทอดพระเนตรเห็นเกาวเมนท์เฮ้าส์เข้าโปรดมาก ทั้งตัวอากีเตกก็ยังอยู่ชื่อมิสเตอร์กลูนิทซ์ (ดูหนังสือคอรฺท๑) จึงโปรดให้เข้ามาสร้างพระที่นั่งถวาย แปลนเดิมจะสร้างเป็นตึกฝรั่ง สร้างจวนจะสำเร็จอยู่แล้ว เมื่อมาถึงเครื่องบน สมเด็จเจ้าพระยาฯ กราบบังคมทูลว่า ที่กรุงเก่ามีปราสาทสามองค์เรียงกันอยู่ ที่กรุงเทพฯ ยังไม่มี และรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้สร้างปราสาทในพระบรมมหาราชวังเลย ที่ทำขึ้นก็เป็นอย่างใหม่แบบฝรั่ง กราบบังคมทูลขอให้แก้เครื่องบนเป็นแบบไทยเสีย จึงโปรดฯ ให้แก้เป็นรูปอย่างที่เห็น ตาดี ๆ อย่างกรมนริศ ฯ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์) ว่า “รูปไม่เข้ากันเลยเหมือนฝรั่งสวมชฎา”
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้น เอาอย่างมาจากพระวิหารสมเด็จที่กรุงเก่ามาก่อขึ้นเป็นรูปดังเห็นในภายหลัง เดิมทีเป็นเสาใหญ่ ๆ โปร่งไม่มีฝา การสร้างว่าเอาแบบมาจากกรุงเก่า แต่จะเอาตอนไหนมาหาไม่พบ วังหน้าเอาตอนหลังวังมาสร้าง มีพระที่นั่งทรงปืน พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์เป็นตัวอย่างส่วนวังหลวงสงสัยจะเอาแบบวังจันทร์มาต่อเข้าด้วย
การสร้างปราสาทในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างปราสาทย่อมกว่าพระที่นั่งศิวาลัยขึ้นแถวนอก ภายในพระบรมมหาราชวังทางด้านใต้ ที่ตรงนั้นเดี๋ยวนี้ตัดออกมาเป็นฝ่ายหน้าแล้วอยู่ต่อถัดพระตำหนักสวนกุหลาบออกไป ได้ยินว่าทรงพระราชดำริจะให้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านาย แทนหอพระนาคในวัดพระแก้วแต่ปราสาทนั้นมีแต่โครงไม้ ค้างมาตลอดรัชกาลที่ ๔. ไม่ปรากฏว่าขนานนามอย่างไร
ปราสาทอีกองค์หนึ่งทรงสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ จะสร้างให้คู่กันกับพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ สำหรับทอดพระเนตรซ้อมเรือรบ จึงสร้างบนกำแพงที่เป็นเขตต์ชั้นนอกทางตะวันตก ถ้าผ่านทางนั้นสังเกตดูจะยังเห็นก่อกำแพงเมืองออกไปข้างนอกตรงที่จะสร้างประสาท เตรียมขนานนามว่า “พระที่นั่งทัศนานิกร” ก็ค้างเป็นโครงอยู่อีก แล้วรื้อโครงออกเสียเป็นป้อมทหารล้อมวัง ปราสาทอีกองค์หนึ่งคือพระที่นั่งศิวาลัย สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของพระเจ้าแผ่นดินและได้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้น จนย้ายมาไว้ที่ปราสาทพระเทพบิดรทุกวันนี้.
-
๑. หนังสือคอรฺทเป็นหนังสือข่าวราชการที่เจ้านาย ๗ พระองค์ทรงช่วยกันเขียน พิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ ↩