- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
“เงินตราสยาม”
เหตุ ที่จะเกิดปัญหาเรื่องนี้มาจากอยากจะทราบถึงเรื่องเงินตราของไทยในสมัยโบราณ
ปัญหา เงินตราของไทยนั้นแต่โบราณมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
ตอบ เรื่องเงินตรานั้นเป็นปัญหาแก่ฉันมาตั้งแต่สร้างเมืองนครปฐมเป็นที่ว่าการมณฑลในรัชกาลที่ ๕ ด้วยขุดพบเงินตราที่นั่นเนือง ๆ เป็นเงินเหรียญขนาดสักเท่าเงินครึ่งบาท มีตราด้านหนึ่งเป็นรูปสังข์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปคล้ายมณฑป มีรูปปลาอยู่ข้างล่าง ให้สืบถามดูว่าพบเงินอย่างนั้นที่ไหนอีกบ้าง ได้ความว่าพบที่เมืองอู่ทองคือเมืองสุพรรณภูมิอยู่ทางเหนือเมืองนครปฐมขึ้นไปอีกแห่งเดียว จึงอยากรู้ว่าเป็นเงินตราของเมืองนครปฐมครั้งเป็นราชธานีหรือมาจากประเทศอื่น จึงได้ฉายรูปส่งไปถามพิพิธภัณฑ์สถานในลอนดอนว่า เงินตราอย่างนี้เป็นของประเทศไหนกัน รับตอบว่าเงินตราอย่างนี้พบแต่ที่เมืองพุกามแห่งเดียว
ต่อมาได้เงินเหรียญตราโบราณที่ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มาอีกอย่างหนึ่ง ขนาดเท่าเงินบาทแต่บางกว่า ตราข้างหนึ่งคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่กลางรัศมี อีกข้างหนึ่งลายคล้ายมณฑปเช่นเงินเมืองนครปฐม สันนิษฐานว่าเป็นเงินของพวกขอม เพราะเมื่อพบเงินชนิดนี้ในเมืองเราแล้วไม่ช้านัก ปราชญ์ฝรั่งเศสก็ขุดพบเงินอย่างเดียวกันที่ในแผ่นดินระหว่างเมืองไซง่อนกับกรุงกัมพูชา เขาถามมาว่าในประเทศสยามพบเงินเหรียญอย่างนั้นบ้างหรือไม่ เงินโบราณทั้งสองอย่างที่ว่ามา ยังรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ เมื่อฉันไปเมืองพะม่าไปเห็นหนังสือแต่งเรื่องเมืองพะม่าเล่มหนึ่ง เขาจำลองรูปเงินโบราณต่าง ๆ ที่พบในเมืองพะม่าพิมพ์ไว้ในนั้น มีทั้งเงินตราอย่างที่พบที่นครปฐมและที่ดงศรีมหาโพธิ และยังมีตราอย่างอื่นอีก สอบหลักฐานได้ว่าเป็นเงินอินเดียทั้งนั้น คือเงินตราที่พวกชาวอินเดียเอาเข้ามาใช้ในทางการค้าขายตามประเทศเหล่านี้ ไม่ใช่ทำใช้ในเมืองนครปฐมหรือที่เมืองพุกาม
แต่โบราณประเพณีการใช้เงินซื้อขาย กำหนดราคาเงินด้วยน้ำหนัก เวลาใช้ต้องชั่งเสมอไป ตราต่าง ๆ ที่ตีไว้กับเงินเป็นเครื่องหมายชื่อของพ่อค้าที่ทำหรือแห่งที่ทำเงินนั้น กับบอกน้ำเงินและน้ำหนักอย่างรับประกันความบริสุทธิ์ของเงินตราที่ทำขายนั้น ใช้ประเพณีนี้กันทุกประเทศทางตะวันออก ตั้งแต่อินเดียตลอดจนถึงเมืองจีน เมื่อพวกฝรั่งชาวโยนก (กรีก) มาได้ครองเมืองอินเดียเข้าทางฝ่ายเหนือ จึงนำวิธีทำเงินเหรียญตีตราของพระเจ้าแผ่นดินมาใช้ แต่ก็ใช้อยู่เพียงชั่วคราว ยังใช้น้ำหนักเป็นมาตราเป็นพื้น จนถึงสมัยเมื่ออังกฤษได้อินเดีย จึงเอาการทำเงินตราการผูกขาดเป็นของรัฐบาล และทำเหรียญรูปีใช้ต่อมา พวกพม่ากับพวกอินเดียมีการไปมาค้าขายติดต่อกันอยู่เสมอ พะม่าจึงใช้เงินรูปีจากอังกฤษถือเป็นตราของบ้านเมืองมาช้านาน ทางเมืองจีนก็เป็นทำนองเดียวกัน เดิมจีนก็ใช้ราคาเงินด้วยน้ำหนัก ครั้นเมื่อยอมให้ฝรั่งมาค้าขาย พวกฝรั่งเอาเงินเหรียญตราที่ทำในประเทศแมกซิโกมาซื้อสินค้า พวกจีนชอบ ด้วยเงินแมกซิโกเนื้อเงินดีและน้ำหนักเท่ากันไม่ต้องชั่งให้ลำบาก ก็รับใช้เงินแมกซิโกเป็นอย่างเงินของจีน เมืองไทยเราเดิมก็ใช้เงินด้วยน้ำหนักเหมือนอย่างเงินตราขาคีม ที่ตีตราและอักษรไทยบอกนามเมืองก็ดี เงินพดด้วงขนาดใหญ่ตีตราช้างและตราอื่น ๆ ก็ดี เงินลาดตีตราใช้ทางมณฑลอุดรแต่ก่อนก็ดี ว่าตามพิจารณาตัวอย่างเงินที่มีอยู่ดูก็จะเป็นเงินที่พ่อค้าทำขาย อย่างประเพณีโบราณในอินเดียและเมืองจีนดังกล่าวแล้ว จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเอาการทำเงินตรามาเป็นการหลวงและห้ามมิให้ผู้อื่นทำเงินตราขายเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่นั้นจึงมีเงินตรารูปพดด้วง ขนาดหนักบาทหนึ่ง สองสลึง สลึงหนึ่งและเฟื้องหนึ่ง เนื้อเงินและน้ำหนักเสมอกันตามจำพวก และมีตราหลวงตีสำคัญเป็นสองดวง คือตราจักรหมายว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำดวงหนึ่ง ตรารูปอื่นที่สำคัญของสมัยที่ทำดวงหนึ่งเช่นเดียวกันทุกขนาด เรื่องตำนานการใช้เงินตราในประเทศสยามนี้ ผิดกับประเทศพะม่าและประเทศจีนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ปรากฏในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ มากขึ้น พวกฝรั่งเอาเงินเหรียญแมกซิโกที่ใช้กันในเมืองจีนมาซื้อสินค้า แต่ราษฎรไทยไม่ยอมรับเงินอย่างอื่นนอกจากเงินบาท พวกพ่อค้าฝรั่งต้องเอาเงินเหรียญแมกซิโกมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติ ไปแลกเปลี่ยนสินค้า สมัยนั้นมีเตาสำหรับทำเงินตราที่พระคลังมหาสมบัติ ๑๐ เตา แม้ให้คนผลัดกันทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ทำได้เพียงวันละ ๒,๐๐๐ บาทเป็นอย่างมาก ไม่พอพวกพ่อค้าต้องการ เป็นเหตุให้พระบาทบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สั่งเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระษาปณ์ทำเงินตราเป็นเหรียญแทนพดด้วง และให้เลิกใช้เบี้ยหอย ใช้เหรียญทองแดงและดีบุกแทนเบี้ยต่อมา
ธรรมเนียมทำเงินบาทเดิมนั้น ในโรงทำเงินชั่งเงินส่งไปเท่าไร ต้องลดน้ำหนักลง น้ำหนักที่ลดเรียกว่า “สูญไฟ” หรือ “สูญเพลิง” เพราะไฟจะต้องกินเนื้อเงินไป ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อคิดตั้งโรงกระษาปณ์ทำเงินเหรียญขึ้นนั้น ได้สั่งเครื่องจักรจากห้างยอห์นเทเลอร์มา ห้างฝรั่งส่งช่างมาตั้งเครื่องตั้งไม่ทันแล้ว ช่างเล่นน้ำจมน้ำตายในแม่น้ำเจ้าพระยา เครื่องทิ้งค้างอยู่จนมีผู้รับอาสาจัดตั้งขึ้นและเมื่อทำได้สำเร็จก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้ากรมทำเงิน ครั้งนั้นเจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติจ่ายเงินไปให้เจ้ากรมทำเงินเป็นเงินแท่งด้วยน้ำหนักเงินเป็นประมาณ เจ้ากรมรับเงินไปหนักเท่าใดต้องทำเงินส่งเท่านั้น และยอมให้ค่าระเหยเมื่อหล่อหลอมเรียกว่าค่าสูญเพลิง ซึ่งถือกันว่าจำเป็นอีกด้วย เจ้ากรมทำเงินจะส่งเงินที่ทำเป็นบาทแล้วเบากว่าน้ำหนักเงินแท่งเกินกว่าอัตราที่กำหนดไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องออกทุนของตนเองใช้ คล้ายกับเป็นการแลกได้แลกเสีย ถ้าเจ้ากรมทำเงินพยายามจัดการละเอียดละออให้เนื้อเงินสูญไฟน้อยลงกว่าอัตราก็เป็นกำไร กำไรก็ได้แก่เจ้ากรมทำเงินนั้นเป็นประเพณีอย่างนั้นมาแต่บรมโบราณ เมื่อตั้งโรงกระษาปณ์ก็ทำการระหว่างพระคลังกับโรงกระษาปณ์ตามวิธีทำเงินบาทแต่เดิม อาศัยวิธีหลอมอย่างฝรั่ง เนื้อเงินสูญเพลิงน้อยลงกว่าตามวิธีหลอมอย่างไทยมาก พนักงานทำโรงงานกระษาปณ์ ซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้ากรมทำเงินจึงร่ำรวยกันต่อมาไม่มีใครสู้ ความข้อนี้ไม่มีใครรู้ความจริงมากนักว่าร่ำรวยขึ้นมาอย่างไร ต่อมาเจ้าพระยานรรัตน์๑ได้รับตำแหน่งโรงกระษาปณ์ไปดิสโคเวอร์๒เข้าว่า รายได้จากเงินสูญเพลิงนั้นมีมาก และเนื่องด้วยไม่ปรารถนาจะได้เงินนั้นมาเป็นของตน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า เมื่อกินกันอยู่แล้วก็กินกันต่อไปเถิด ทำให้ผู้ที่มั่งมีอยู่แล้วนั้นกลับมั่งมีขึ้นอีก ความดีที่ได้ดิสโคเวอร์เรื่องนี้ก็มีอยู่ แต่ท่านมาเล็งเห็นว่าการได้ครั้งนี้ไม่ใช่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง รวยก็รวยขึ้น เงินก็มีพอกินพออยู่ ประจวบกับมีการสร้างวัดเทพศิรินทราวาสถวายสมเด็จพระเทพศิรินทร์ฯ เจ้าพระยานรรัตน์ระลึกถึงพระคุณ จึงสนองพระเดชพระคุณ ด้วยการเอาเงินไปจ้างถมดินวัดเทพศิรินทร์เป็นจำนวนเงินนับด้วยหมื่นด้วยแสน ลงทุนทำอยู่คนเดียว
การสร้างโรงกระษาปณ์นี้ปรากฏเมื่อไปพะม่า ว่าพระเจ้ามินดงทรงชอบวิธีการของไทย จึงสั่งเครื่องจักรไปยังเมืองพะม่าตั้งโรงกระษาปณ์ขึ้นที่เมืองมัณฑเลทำเงินรูปีของพะม่าขึ้นบ้าง แต่ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะราษฎรพะม่าชอบใช้เงินรูปีของอังกฤษมาเสียช้านานทั่วทั้งประเทศแล้ว ไม่เหมือนราษฎรไทยที่ไม่ชอบใช้เงินต่างประเทศ จึงได้ใช้เงินบาทสืบมาจนทุกวันนี้