มนุษย์พวกจาม

เรื่องมนุษย์พวกจาม ถ้าหาความรู้ทางฝรั่งเศส อาจจะได้ความรู้ที่ดี ที่จริง เพราะฝรั่งเศสเขาค้นมากกว่าไทย ที่จะเล่าให้ฟังนี้ จะเล่าแต่หัวข้อไม่ถ้วนถี่ บางทีจะผิดไปบ้างก็เป็นได้

๑. พวกจามเป็นมนุษย์อยู่ในจำพวกชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค ที่แยกย้ายกันไปตั้งชาติ ตั้งประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นมาจนถึงฟิลิปปินส์ ชะวา มะลายู เพราะฉนั้นมนุษย์จำพวกนี้บ้านเมืองจึงอยู่ชายทะเลทั้งนั้น เป็นพวกที่ชำนาญการใช้เรือทะเลไม่ว่าอยู่ที่ไหน ๆ นานมาจึงกลายเป็นคนต่างชาติกันไป

๒. พวกจามมาตั้งบ้านเมืองอยู่ชายทะเลตั้งแต่ต่อแดนจีนลงมาจนแหลมเขมร อาณาเขตต์เดิมแค่ไหนไม่รู้ แต่พวกชาวอินเดียที่เคยมาสอนศาสนาและวัฒนธรรมทางนี้ ขนานนามประเทศอย่างประเทศหนึ่งที่มีในอินเดียว่า “จัมปา” คำว่าจามนั้นย่อมาจากคำว่า “จัมปา” ประเทศกัมพูชาก็เป็นนามที่ชาวอินเดียมาตั้งเหมือนกัน

๓. พวกจามรับอารยธรรมและศาสนาของชาวอินเดีย ประพฤติเหมือนเขมร ถือศาสนาพราหมณ์เป็นพื้น ยังมีทรากเทวสถานของโบราณอยู่มาก ครั้นพวกอาหรับออกมาสอนศาสนาอิสลาม พวกจามเหมือนกับพวกมะลายูและชะวา ด้วยบ้านเมืองอยู่ริมทะเล ได้ค้าขายสมาคมกับพวกอาหรับ จึงตามกันไปเข้ารีดถือศาสนาอิสลาม

๔. เรื่องราวพงศาวดารของพวกจามนั้นเคยเจริญถึงได้เป็นคู่รบกับพวกเขมร มีรูปภาพจารึกอยู่ที่ปราสาทบายนเมืองนครธม ทีหลังถูกขอมแผ่อำนาจรุกลงมาข้างเหนือ พวกจามจึงเสื่อมกำลัง บ้านเมืองแบ่งเป็นอาณาเขตต์ญวนบ้าง เขมรบ้าง ส่วนพวกจามเองโดยมากมาอาศัยอยู่ในเมืองเขมร ประวัติก็มารวมอยู่กับเขมร บางคราววิวาทกับเขมรหนีมาฟังไทยบ้าง บางทีอพยพมาอยู่เมืองไทยด้วยกันกับเขมรบ้าง จึงมีพวกจามเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

๕. ก็ธรรมเนียมไทยในครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวต่างประเทศต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย รัฐบาลมักจัดเป็นกรมอาสา เช่นอาสาญี่ปุ่น อาสาจาม ฝรั่งแม่นปืน เป็นต้น คือว่าเวลามีศึกสงคราม ต้องช่วยรบพุ่งตอบแทนที่ได้ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นสุข ก็พึงสันนิษฐานว่าพวกจามถนัดในการใช้เรือทะเลมาแต่เดิม จะได้มีหน้าที่เป็นพนักงานเดินเรือกำปั่นหลวงมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ กำปั่นหลวงเดิมเป็นแต่เรือค้าขายมีมาแต่รัชกาลที่ ๓ ให้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือกำปั่น คือเรือทะเลทั้งนั้น มาจนถึงสมัยต่อเรือไฟและเรือรบในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ก็ยังใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือ ทหารเรือไทยเพิ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ การเดินเรือยังใช้ฝรั่งกับพวกอาสาจามเป็นนาย จนถึงสมัยกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ จึงได้หัดนายทหารเรือไทยใช้เดินเรือได้เองมาจนบัดนี้

๖. มีข้อประหลาดในโบราณคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ชนชาติเหล่านี้คือ พะม่า มอญ ไทย เขมร นิสัยเป็นชาวดอนไม่ชอบทะเลด้วยกันทุกชาติมาตั้งแต่ดึกตำบรรพ์ ใช้เรือก็ถนัดใช้แต่ในแม่น้ำเหมือนกันทุกชาติ จะเป็นเพราะถิ่นเดิมมาแต่เมืองดอนด้วยกันหรืออย่างไรยังคิดไม่เห็น

๗. นึกเค้าเงื่อนเรื่องจามขึ้นได้อีก ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีว่า เมื่อพระรามราชาราชโอรสสมเด็จพระราเมศวรครองกรุงศรีอยุธยาเกิดวิวาท บเจ้าพระยาเสนาบดี ๆ ไปเชิญเจ้านครอินทร์ คือ พระนครินราชา ราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พะงั่ว) เข้ามาตีได้พระนครศรีอยุธยา แล้วให้สมเด็จพระรามราชาไปครองเมือง “ปทาคูจาม” เมืองปทาคูจามนี้ไม่มีที่อื่น แต่ที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก ข้างใต้พระนครศรีอยุธยาลงมา เหนือคลองตะเคียน ยังมีคลองเก่าปรากฏอยู่จนทุกวันนี้เรียกว่า “คลองคูจาม” ที่ว่าให้สมเด็จพระรามราชาไปครองนั้น ที่จริงอาจเป็นให้เอาไปคุมขัง หรือที่สุดไปปลงพระชนม์ที่ตำบลคูจามนอกพระนคร ตำบลคูจามนั้นชื่อส่อว่า เป็นที่พวกจามที่มาค้าขายมาใช้เป็นชื่อตำบลหนึ่งอยู่ชายทะเล หรือเป็นที่ต่อเรือของพวกจามที่นั่น เพราะมีชื่อตำบลหนึ่งอยู่ชายทะเลเรียก “ปละท่า” เป็นที่เรือไปมาค้าขายเห็นได้ว่าเป็นคำเดียวกับปทาคูจาม โดยความที่กล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่า พวกจามได้เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทยใกล้ ๆ กับรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ยิ่งกว่านั้นอีก ยังมีเค้าซึ่งเป็นแต่ความสงสัยว่า พวกจามจะได้ไปมาค้าขายในอ่าวสยามแต่ดึกดำบรรพ์ และมาให้ชื่อเรียกตำบลต่าง ๆ ไว้ ที่ยังเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้ก็หลายแห่ง ไม่มีใครแปลออกและไม่รู้ว่าภาษาอะไร ยกตัวอยางดังเช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะสีชัง สัตหีบเหล่านี้ เป็นต้น

๘. ยังมีเค้าสำคัญต่อไปอีกว่า พวกจามได้ร่วมสมพงษ์กับพวกขอมที่ครองเมืองละโว้ คือเรียกว่า “นางจามเทวี” ปรากฏอยู่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ