- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
ศาลาสหทัยสมาคม
เหตุ ที่ถามเพื่อรู้ถึงประวัติของสิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวัง
ปัญหา ศาลาสหทัยในพระบรมมหาราชวังนั้น สร้างขึ้นเมื่อไร เพื่อประโยชน์อันใด
ตอบ ศาลาสหทัยสมาคมนั้น เป็นคลับทหารของฮอลันดาอยู่ที่เมืองบะเตเวีย ยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ เรียกว่า คลับคองคอเดีย เขารับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อเสด็จประพาสชะวาครั้งแรก โปรดมาก เมื่อเสด็จกลับมาเป็นเวลากำลังจะตั้งกรมทหารมหาดเล็ก จึงสร้างคลับคองคอเดียขึ้น ถ่ายแบบตามอย่างของเดิมที่เมืองบะเตเวีย และเรียกว่า หอคองคอเดีย อย่างที่เรียกที่เมืองบะเตเวีย ขึ้นอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๖ ใช้เป็นที่รับแขกเมือง มีงานเต้นรำสโมสรสันติบาต ต่อมาใช้เป็นราชพิพิธภัณฑสถาน
บันทึกเรื่อง ศาลาสหทัยสมาคม
ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๕
ธานี
ดูรูปเขียนที่วัดราชประดิษฐ์ เห็นเป็นเรื่องบวชนาคหลวง ตรงศาลาสหทัยที่เธอถามดูตามที่ตาจะอำนวยได้ เห็นทีว่าโรงจากปะอยู่ข้างนอกหลังคากระเบื้องจีนอยู่ข้างใน ได้รำลึกชาติถึงเมื่อเล็ก ๆ นึกได้ว่าพระบรมรูปสี่พระองค์ซึ่งกาไหล่ทอง อันตั้งอยู่ที่หอพระเทพบิดรเดี๋ยวนี้กาไหล่ที่นั่น ที่นั่นเป็นโรงหล่อประจำในพระบรมมหาราชวัง แต่จะใช้เพียงโรงจาก หรือไปถึงเพียงโรงมุงกระเบื้องจีนด้วยก็จำไม่ได้ แต่คงไม่มีการหล่อเสมอ จะมีหล่อก็แต่สิ่งที่โปรด เวลาไม่มีหล่อคงทิ้งว่าง คงเป็นเพราะเหตุนั้นจึงสร้างเป็นตึกฝรั่งเป็นแน่ว่าในรัชกาลที่ ๕ แต่เดิมเป็นเฉลียงรอบเสาเล็ก ๆ เขาว่าพระยาเพ็ชรพิชัยทำ พระยาเพ็ชรพิชัยคนนั้นจะชื่ออะไรไม่ทราบ คือคนที่ได้เป็นราชทูตไทยไปอยู่เมืองนอก และมีบอกเป็นคำฉันท์ในกล่อมช้างเผือกตัวใดตัวหนึ่ง จำได้ว่า
“หอคงคอเดียดู | ตระหง่านเงื้อมยยงฉาย |
เสาหานระยะราย | รเรียบรอบเฉลียงยล |
เป็นที่ประชุมใหญ่ | ปฤกษาราชกิจยล |
รับต่างประเทศชน | ชุมนุมเลี้ยงภุชาหาร” |
ทีหลังทำแก้เป็นหอพระสมุดวชิรญาณ แต่แก้ทำอะไรเพิ่มเติมเพียงห้องข้างในเท่านั้น มีตู้สองชั้น มีเล่าเต๊งอย่างฝรั่งประกอบขึ้นเป็นต้น ต่อมาภายหลังยกหอพระสมุดวชิรญาณออกมาจากในพระบรมมหาราชวัง เข้าใจว่ารื้อตู้เวลานั้น แล้วจ้างนายกรัซซี ช่างก่อสร้างชาวอิตาเลียนผู้มีชื่อเสียงให้ก่อสร้างแก้ใหม่ แต่แก้ก็แก้ไม่ทั่ว ทำแต่เสาเฉลียงให้ใหญ่ขึ้นเป็นสี่มุข นอกนั้นก่อเป็นผนัง ส่วนห้องข้างในนั้นคงอยู่ที่ว่าในรัชกาลที่ ๕ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ จำได้ว่า นายมันเฟรดีเป็นผู้ทำ แต่ไม่ได้แก้อะไรที่ตัวตึกเป็นแต่แต่งพื้นใหม่ ในการนั้นพระราชทานชื่อเป็นศาลาสหทัยสมาคม แต่ก็ไม่เห็นใช้อะไรนอกจากขึ้นปีใหม่ และเฉลิมพระชนม์พรรษา จัดเป็นที่ประชุมเซ็นชื่อ แต่ดูเหมือนจะตกมาเป็นรัชกาลที่ ๗ แล้ว เดี๋ยวนี้จัดตั้งของเป็นราชพิพิธภัณฑ์ นึกได้เท่านี้
นริศ
วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
อาว์ไม่ได้คิดเลยว่าชื่อศาลาสหทัยนั้นจะทรงผูกตามคำ “คองคอร์ด” ที่ชื่อเก่าเรียก “หอคงคอเดีย” นั้นอาว์ก็กราบทูลขึ้นไปเอง แต่ไม่ทราบว่าทรงผูกตามชื่อเก่า เธอบอกให้ทราบทั้งทางที่ทรงผูกด้วยนั้นดีอย่างยิ่ง สิ่งที่ไม่รู้ก็ได้รู้ขึ้นเป็นการต่อความรู้
ในรัชชกาลที่ ๖ ทำอะไรในที่นั้นบ้างก็นึกไม่ออก นึกได้แต่พิธีแรกนาว่า ทำที่นั่นแน่ เลี้ยงการแซยิดเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ก็จำได้แต่ว่ามีเลี้ยง แต่จะเป็นที่ไหนจำไม่ได้ ในการเต้นรำก็สำคัญใจว่าเป็นรัชกาลที่ ๗ การประชุมฝิ่น ประชุมองคมนตรี ทั้งการเลี้ยงแขกเมืองพิเศษมีละครให้ดูนั้น เป็นรัชกาลที่ ๗ แน่ ชะรอยจะทรงพระราชดำริว่าว่างอยู่ก็ใช้เสียบ้าง
นริศ