การวินิจฉัยเมืองโบราณ

เหตุ เนื่องจากพระภิกษุรูปหนึ่งมาจากไชยา ทูลถามถึงวิธีการที่จะวินิจฉัยเมืองโบราณว่าควรจะประกอบหลักฐานอย่างไร ทรงอธิบายตามเหตุผลที่ได้บันทึกไว้นี้

การวินิจฉัยเมืองโบราณนั้นมีหลักที่จะยึดถืออยู่บ้าง และหลักนี่มักแน่นอนเสมอ ข้อสำคัญนั้นต้องยึดภูมิประเทศเป็นหลัก เมืองเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ป่าไม่ใช่เมืองหรือหมู่บ้านเพียง ๓ - ๔ สิบหลังคาเรือนไม่ใช่เมือง

ที่อันจะสร้างเมืองได้มีหลักสองอย่าง ถ้าขาดสองอย่างนี้เป็นเมืองไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ใช่เมืองใหญ่เมืองเจริญ ประการที่ ๑ ก็คือที่ทำกิน ประการที่ ๒ คือลำน้ำสำหรับอาศัยไปมาแวะอาบกิน ใช้เพาะปลูกหาปลาไปที่ไหนพบเมืองพึงพิจารณาด้วยหลักสองประการนี้ไว้ เท่าที่ได้เห็นมามีเมืองที่ไม่มีหลักเช่นว่าอยู่สองเมืองในเมืองไทยนี้คือเมืองเติ่น เหนือแก่งเชียงใหม่กับที่บ้านระแหงคือเมืองตากเดี๋ยวนี้ ที่ไร่นาไม่มีเจดีย์ มีวัดใหญ่ ๆ พระพุทธรูปก็มีมาก ทำให้เกิดสงสัย เพราะที่มนุษย์อยู่มีไม่เท่าไร ที่ทำนาก็ไม่มี ทำไมมาสร้างขึ้น พิเคราะห์ดูอยู่นานจึงจับได้ คือ ระหว่างเมืองตากกับเมืองเชียงใหม่นั้นมีเทือกเขาใหญ่ ดูเหมือนจะเรียกว่าเขาแก่งเชียงใหม่ จะยกทัพจากเหนือมาใต้ก็ต้องข้ามเขานี้ หรือจะยกใต้สู่เหนือก็ต้องข้ามเขาเทือกนี้ จะขึ้นก็ข้ามจะลงก็ข้าม วัดใหญ่ทั้งสองหมู่นี้เป็นอนุสรณ์ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ยกทัพลงมารบได้ชัยชนะก็สร้างวัดไว้ที่ชายแดนเมืองเติ่นเมื่อกลับไป ทำนองจะฉลองชัยชนะนั้น ฝ่ายไทยก็เช่นเดียวกัน เมื่อชนะศึกก็ลงมาสร้างไว้ที่เมืองระแหงเมื่อจะกลับ สร้างกันตามทางเดินที่จะขึ้นจะลงนั้น วัดเหล่านี้มีกะทั่งขุนหลวงตากสร้าง ที่ไปได้ความเพราะไปค้นหาวัดที่ขุนหลวงตากมาเสี่ยงระฆังแก้ว ว่าวัดนั้นเป็นวัดหลวง ท่านสมภารว่าวัดทางแถบนี้มีมาก ที่เขาดอนแก้วข้างใต้ลงมามีวัดพระนเรศวร วัดพระนารายณ์ ตลอดจนวัดพระชัยราชาก็มี

พูดถึงเมืองไชยา เมืองไชยาเป็นเมืองใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมืองไหน ๆ ในแหลมมลายู เพราะมีแม่น้ำหลางไหลมาออกที่นั่น สืบตามลำแม่น้ำที่ขึ้นไปได้ถึงศรีรัตน์ มีทางข้ามไปตะกั่วป่าได้สบาย ทางสายนี้เป็นทางพวกอินเดียลงมา เมื่อพิจารณาเมืองไชยาเทียบเมืองนครแล้ว จะเห็นได้ว่าเมืองนครมีหาดทรายยาวอันเดียวเป็นหาดทรายแก้ว ทางตะวันออกเป็นชายเฟือยจนจดทะเล ทางตะวันตกก็เป็นลุ่มแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำน้อย ที่ทำกินก็เพียงแต่พอมี ฉะนั้น จะเป็นเมืองใหญ่ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงกล้ารับรองได้ด้วยวิชาโบราณคดีว่า เมืองนครนั้นไม่มีอะไรนอกจากพระมหาธาตุซึ่งเป็นของภายหลัง ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ปะปนกับตำนานแขกมากเต็มที พวกแขกเอาพงศาวดารลังกามาแต่งให้ก็มี เชื่อได้ยาก พระมหาธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีกำหนดแน่นอนค้นได้ ส่วนที่ไชยานั้นมีมาก มีที่ทำกิน มีลำน้ำใหญ่ พระมหาธาตุก็มี วัดแก้วก็มี วัดเวียงก็มี ได้เคยค้นต่อมาจนชุมพร ท่าแซะ ฯลฯ ไม่พบเมืองเก่า เมืองเก่าคงมีเมืองไชยาเพียงเมืองเดียว เมืองโบราณเดิมในแหลมมลายู เห็นจะอยู่ที่เมืองไชยาไม่มีที่สงสัย ส่วนเมืองนครนั้นตั้งขึ้นเป็นเมืองทันสมัยที่ไชยาเจริญเป็นของแน่ ที่พระมหา ธาตุเมืองนครนั้นมีมหาธาตุภายในอีกองค์หนึ่ง เข้าใจว่าคงจะเป็นมณฑปองค์เดิมอย่างพระธาตุไชยา แต่เล็กกว่า หากลังกาที่มาตั้งเมืองนครทำขึ้นไว้ พอจะจับศักราชได้ พวกที่มาตั้งไชยาเป็นพวกมหายาน พวกที่มาจากอินเดียมาตั้งอาณาจักรศรีวิชัยขึ้นนั้นเรียกว่าพวกไสเลนทร์ พวกนี้แผ่เข้ามาในแหลมมลายู ถือลัทธิศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะฉนั้นจึงไปพบรูปพระโพธิสัตว์ที่ไชยา เหนือชุมพรขึ้นมาไม่พบอะไรที่เก่า ที่ไชยามีมากกะทั่งตามป่าตามเขาก็ยังมี พระพุทธศาสนาที่เราถืออยู่เดี๋ยวนี้มาอยู่ที่ไชยาก่อน แต่เป็นแบบมหายาน

มีเรื่องราวประกอบทางด้านเขมรว่า พวกมาตั้งที่ไชยาขึ้นมาแผ่ศาสนามหายาน ว่าพวกนี้มาครองเมืองลพบุรี และวงศ์นี้เองได้เลยไปถึงเขมร ไปถาม ม. ปามังติเอร์นักปราชญ์ฝรั่งเศสว่า มหายานไปเขมรทางทะเล ที่ไชยาจารึกทั้งหมดคงอยู่ที่นั่น แต่ที่มีผู้ไปพบจารึกที่เมืองนครนั้นคงเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง นครเจริญขึ้น อำนาจทั้งหมดไปตกแก่พวกลังกา อาจเก็บข้าวของจากทางไชยาไป เพราะฉนั้นจารึกจะพบที่ไหนไม่สำคัญ มีหลักสังเกตว่า ถ้าศิลาจารึกเป็นซุ้มประตูปรับเข้ากับของที่เหลือได้ พึงรู้ว่าอยู่ที่นั่นแน่ ถ้าเป็นอย่างอื่นไม่เที่ยง จะอยู่ที่ไหนก็ได้

พระพุทธรูปห้อยพระบาทวัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า พระยาไชยวิชิตว่ามาจากลังกามองดูก็เห็นได้ทันทีที่หินข้างเรือนแก้วหัวเป็นนาค พระพุทธรูปเช่นนี้เหมือนของชะวาคงเอาไปจากนครปฐม

แผนที่จากอินเดียมาตะกั่วป่าเป็นทางตรงกว่าทางอื่น ทั้งมีเขาพระทองใหญ่อยู่บังคลื่นบังลมดี มีแม่น้ำขึ้นมากระทั่งยอดเขาบันทัดเดินไปมาสะดวกจากต้นแม่น้ำหลาง เป็นทางดีกว่าทางไหน ๆ จึงไม่น่าประหลาดที่ไชยาจะเป็นเมืองเจริญกว่านคร เมืองนครนั้นมาจากอินเดียต้องมาขึ้นที่ตรัง แล้วยังต้องเดินทางไปอีกไกลจึงจะถึง

ในสมัยที่ไชยาเจริญนั้น เข้าใจว่าอ่าวบ้านดอนคงลึก เรือทะเลที่มาค้าขายจากเมืองจีนอาจเข้าไปจอดรับสินค้าได้ใกล้ฝั่ง เมืองไชยาจึงเป็นเมืองท่ารับส่งสินค้า ค้าขายในระหว่างเมืองจีนกับอินเดียแห่งหนึ่งจึงเจริญมาก และความเจริญของเมืองไชยาอาจเสื่อมลงเพราะเหตุว่าอ่าวบ้านดอนตื้นเขินขึ้นก็เป็นได้

อันการขนสินค้าส่งข้ามแหลมมลายูเช่นว่านี้ ยังมีมาจนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา สินค้ามาจากยุโรปหรืออินเดีย เอามาขึ้นที่เมืองมริด ขนลงเรือลำเลียงขึ้นทางแม่น้ำตะนาวศรีจนสุดทางน้ำแล้ว ขนทางบกทางด่านสิงขรข้ามมาที่เกาะหลักแล่นขึ้นมาที่กรุงศรีอยุธยา ถ้าเป็นเวลามีคลื่นลม ขนทางบกมาลงเรือที่เมืองเพชรบุรี มีตัวอย่างความขัดข้องของการแล่นอ้อมแหลมมลายูเมื่อรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าแผ่นดินลังกาให้ทูตมาขอพระสงฆ์ไทยออกไปอุปสมบทชาวลังกา ทูตมาด้วยเรือใบของฮอลันดาถึงปลายแหลมมลายูพลาดมรสุมไปหน่อยหนึ่ง ต้องรออยู่ปีหนึ่ง จึงให้ทูตมาได้อีก

ทางที่ชาวอินเดียเข้ามาตั้งบ้านเมืองแล้วสอนวัฒนธรรมในเมืองไทยนี้ ยังมีทางข้างเหนืออีกทางหนึ่ง จากอินเดียมาขึ้นที่ปากน้ำสาละวินอันเป็นที่ตั้งเมืองเมาะลำเลิงหรือมะระแหม่งทุกวันนี้ เดินข้ามภูเขาบันทัดเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงน้ำที่ลำน้ำไทรโยคลงมาทางเมืองกาญจนบุรี เข้าลำน้ำแยกที่พงตึกมายังเมืองหลวงอยู่ที่พระปฐมเจดีย์อันเป็นเมืองเก่ากว่าและสำคัญกว่าเมืองไหน ๆ หมดที่ชาวอินเดียมาตั้งในประเทศนี้

 

 

  1. ๑. เข้าใจว่าคงจะเป็น พระภิกษุเงื้อม อินทปัญโญ ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาสภิกขุ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ