กรมนาฬิกาและทุ่มโมง

ปัญหา ได้อ่านในหนังสือเก่าพบคำว่า “กรมนาฬิกา” ไม่ทราบว่ากรมนี้อยู่ที่ไหน มีหน้าที่ทำอะไร ?

ตอบ กรมนาฬิกาเป็นกรมขึ้นในวัง และหอนาฬิกานั้นชอบกลนักหนา มีเหมือนกันทั้งไทยและพม่า ประเพณีเดิมทีเดียวเห็นจะมีมาเก่าแก่มาก อาจได้แบบแผนมาจากอินเดียก็เป็นได้ ทำเป็นหอสูง ชั้นยอดของหอแขวนฆ้องใบหนึ่งกลองใบหนึ่ง ในห้องชั้นต่ำลงมาตั้งอ่างน้ำเอากะลาซึ่งวักน้ำเหมาะขนาดที่ลอยอยู่เพียง ๖๐ นาฑีแล้วจม ลอยไว้ในอ่างนั้น มีคนนั่งยามประจำอยู่ เวลาพระอาทิตย์ขึ้นลอย กะลาซึ่งเรียกตามภาษามคธว่า “นาฬิกา” จึงเข้าใจว่าได้ตำรามาจากอินเดีย พอนาฬิกาจมคนก็ขึ้นไปตีฆ้อง ในเวลากลางวันนาฬิกาแรกตีครั้งหนึ่ง นาฬิกาที่สองที่สามก็ตีมากครั้งขึ้นตามลำดับ ที่ในห้องนั้นมีราวสำหรับปักไม้ติ้วเป็นทีสังเกตของคนตี ได้นาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วไว้อันหนึ่ง ถึงอีกนาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วเติมอีกอันหนึ่งเรียงกันต่อไป สำหรับผู้ตีจะได้นับรัวกี่นาฬิกา ถึงเวลาค่ำพระอาทิตย์ตกติ้วปักครบ ๑๒ อัน แล้วเอาออกเสียคราวหนึ่งด้วย กลางคืนตีกลองแทนฆ้อง ด้วยเหตุนี้แหละจึงเรียกเป็นคำสามัญว่า “โมง” ในเวลากลางวัน ว่า “ทุ่ม” ในเวลากลางคืนตามเสียงฆ้องและเสียงกลอง ที่ตีกลองในเวลากลางคืนนั้นเห็นจะเป็นด้วยเสียงกลองดังไปไกลกว่าเสียงฆ้อง

ในเรื่องโรงนาฬิกานี้ยังมีต่อไปอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าตีโมงหรือทุ่มอื่น ๆ ตีเพียงอัตราทุ่มและโมง ถ้าตีเวลา ๖ นาฬิกา ๑๒ นาฬิกา ต้องตีย่ำฆ้องเสียก่อนลาหนึ่งแล้ว จึงตีบอกอัตรานาฬิกา กลางคืนตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องตีย่ำกลองเสียก่อนลาหนึ่ง เรียกว่าย่ำค่ำ ๒๑ นาฬิกา ย่ำลาหนึ่งเรียกว่ายามหนึ่ง เที่ยงคืนย่ำสองลา เรียกสองยาม ๓ นาฬิกาย่ำสามลาเรียกสามยาม แล้วตีอัตราต่อ ตอนรุ่งก็ย่ำรุ่ง ตอนเที่ยงก็ย่ำเที่ยง กลางวันก็ย่ำฆ้อง กลางคืนย่ำกลอง

เหตุไรจึงตีย่ำ ไปรู้มาจากเมื่อไปเมืองอินเดีย ไปได้ยินย่ำที่เมืองพาราณสี ถามเขาจึงได้ความว่า ที่ตีย่ำนั้นเป็นสัญญาบอกให้เปลี่ยนคนรักษายาม คือประเพณีการรักษายามกลางวัน ๖ ชั่วโมง เปลี่ยนครั้งหนึ่ง กลางคืน ๓ ชั่วโมง เปลี่ยนครั้งหนึ่ง ไทยเราเอาหน้าที่บอกสัญญาเปลี่ยนยามมาเป็นพนักงานของโรงนาฬิกาจึงตีย่ำ แต่เมื่อเกิดนาฬิกากลอย่างฝรั่งขึ้นแล้วในเมืองไทยเราก็เลิกลอยกะลา ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งแทนและเลิกตีกลองในเวลากลางคืน ใช้ระฆังใหญ่ใบหนึ่งตีแทนทั้งสองสิ่งนั้น แต่ว่าชื่อที่เรียกว่าโมงและทุ่มยังใช้อยู่เป็นสำคัญ ทำให้รู้ว่าตีฆ้องกลางวันและตีกลองกลางคืน.

----------------------------

ลายพระหัตถ์ เรื่องนาฬิกา

สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

กับ

พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัต)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓

ธานี

เธอถามถึงนาฬิกาอาว์ก็จน ด้วยตั้งแต่เกิดมาก็เห็นเขาใช้นาฬิกากลกันเสียแล้ว เป็นแต่รู้โดยหนังสือซึ่งได้อ่านพบและได้ฟังเขาพูดกัน เป็นว่าเอาภาชนะเล็กเจาะก้นลอยน้ำในภาชนะใหญ่ เมื่อน้ำไหลเข้าทีละน้อยจนภาชนะเล็กจมก็นับเอาเป็นเวลาหนึ่ง แต่จะเป็นเท่าไรนั้นไม่ทราบ ทั้งนี้เป็นด้วยเห็นการตีไก่ เขายังใช้จอกเจาะก้นลอยในขัน เมื่อจอกนั้นจมเขาเรียกว่า “อันจม” เขาก็จับไก่แยกออกจากการตีไปให้น้ำ สุดแต่จะสัญญากันว่าตีกี่ “อัน” อย่างเดียวกันกับการต่อยมวยทางฝรั่ง อีกประการหนึ่งสังเกตชื่อนาฬิกา นั่นแปลว่ามะพร้าว จึ่งคิดว่าแต่ก่อนนี้เขาคงใช้กะลาก้นกลวงลอยน้ำเป็นเครื่องวัดเวลา ดูเหมาะดีที่จะฉวยเอากะลาซึ่งมีอยู่ดาษดื่นที่ไหนมาใช้ก็ได้ เขาจะเอาชันอุดรูก้นกะลาเจาะไขให้น้ำเข้าตามชอบใจเอาใหม่หรือจะอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่นี่เป็นเดาทั้งนั้น

อันเครื่องวัดเวลานั้นมีอยู่มากนัก จะให้ตัวอย่างก็เช่น

๑. “บ่ายควาย” “ควายเข้าคอก” นั่นเป็นสังเกตดูดวงอาทิตย์เป็นวัดเวลาอย่างหยาบ

๒. “ชั้นฉาย” นั่งสังเกตเอาเงา เป็นของละเอียดขึ้น ใช้ในการบวชนาค

๓. การสอบไล่หนังสือพระ ได้ยินว่าแต่ก่อนใช้จุดธูปเป็นเครื่องวัดเวลา ถ้าธูปไหม้หมดดอกยังแปลไม่ลุก็จัดว่าเป็นตก

ขอให้สังเกตกลอนในมูลบทบรรพกิจ ท่านแบ่งเวลาไว้ไม่ตรงกับนาฬิกากล

ก) วันหนึ่งแบ่งเป็น ๒ ภาค เปนกลางวันครึ่งหนึ่ง กลางคืนครึ่งหนึ่ง

ข) วันกับคืนนั้นแบ่งเป็น ๘ ยาม คือ กลางวัน ๔ ยาม กลางคืน ๔ ยาม

ค) ยามหนึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั่วโมง กลางวันเรียกว่าโมง กลางคืนเรียกว่าทุ่ม ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์ทรงสันนิษฐานว่า กลางวัน เขาคงตีด้วยฆ้อง กลางคืนเขาคงตีด้วยกลอง ตามที่ทรงสันนิษฐานเช่นนี้เห็นชอบด้วยยิ่งนัก

ฆ) โมงหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ บาท ตกเป็นบาทหนึ่ง ๖ มินิดแห่งนาฑี

ง) นาฑีหนึ่งแบ่งเป็น ๔ เพชรนาฑี ตกนาฑีหนึ่งเป็น มินิด ๑ กับ ๑๐ สกันแห่งนาฬิกากล

จ) เพชรนาฑีหนึ่งแบ่งเป็น ๖ ปราณ เห็นจะหมายเอาหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่ง ตกเป็นสกัน ๑ แห่งนาฬิกากล

ฉ) ปราณหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ อักษร จะหมายถึงเขียนหนังสือหรืออะไรไม่ทราบ ถ้าหมายถึงเขียนหนังสือแล้ว ชั่วหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่งเขียนหนังสือได้ ๑๐ คำ เห็นเร็วเต็มที แม้เอาแต่พยัญชนะก็เห็นไม่ไหวอยู่นั่นเอง

ไม่ว่าเครื่องวัดอะไรไม่มีเที่ยงทั้งนั้น แม้นาฬิกากลก็ไม่เที่ยง แต่ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้

เธอบอกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงทรงส่งบันทึกประทานมา ๒ เรื่อง แต่อาว์ไม่ได้ถามว่าเป็นเรื่องอะไร เป็นพระวิจารณ์เรื่องพิธีตรุสกับเรื่องเห่ช้าลูกหลวงหรือมิใช่ ถ้าเป็นเรื่องนั้นก็ไม่ต้องส่งอาว์ เพราะอาว์ได้รับประทานมาเหมือนกัน ตั้งใจเมื่ออ่านแล้วจะส่งมาให้เธอ

นริศ

----------------------------

วันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูลทรงทราบฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ทรงอธิบายคำว่า “นาฬิกา” ตลอดจนเครื่องวัดโบราณมาโดยละเอียด ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบความหลายอย่างที่ยังไม่เคยทราบ บังเกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ต่อไปอีก ขอประทานกราบมาแทบฝ่าพระบาท

เหตที่จะกราบทูลถามเรื่อง “นาฬิกา” เมื่อวันนั้น ยังกราบทูลไม่ตลอด เพราะไม่สู้สดวกด้วยทรงกังวลด้วยการปฏิบัติพระเป็นต้น จึงขอประทานกราบทูลทางจดหมายนี้

ในโนตที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่อง “กระลาโหม” ในวารสารของสยามสมาคม ข้าพระพุทธเจ้าได้ทักว่า ศาสตราจารย์เซเดส์ แปลศิลาจารึกเขมรโบราณแห่งหนึ่ง มีบัญชีสิ่งของ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงพระราชอุทิศถวายพระเป็นเจ้า ในบัญชีนั้นมีรายการอันหนึ่งว่า “กระลาพระกาล” ซึ่งเซเดส์หาได้อธิบายไว้ไม่ว่า เป็นสิ่งของชนิดไร ทำให้อยากเดาว่า ตามรูปศัพท์น่าจะแปลว่า บริเวณของเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง เครื่องวัดเวลา ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไทยเราแต่เดิมทีก็ปรากฏว่าใช้เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นเครื่องวัดเวลา จึ่งเห็นว่า เป็นเหตุให้ชวนสันนิษฐานต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ด้วยนัยนี้เองกระมังเปลือกแข็งของลูกมะพร้าว จึงมาได้ชื่อว่า “กระลา” ทั้งนี้ก็ได้แต่เพียงปรารภเพราะไม่มีหลักฐานอันใดที่แน่นอนยิ่งไปกว่านี้ที่พอจะยืนยันได้

ต่อมานายแล็งกาต์ได้มาบอกข้าพระพุทธเจ้าให้สังเกตดูในกฎหมายลักษณะพิศูจน์ และพระราชกำหนดใหม่ ซึ่งมีกล่าวถึง “นาระกา” เป็นเครื่องวัดในการดำน้ำพิศูจน์สำหรับคู่ความในพระราชกำหนดใหม่ (บทที่ ๒๙ หน้า ๔๐๑ เล่ม ๓ ในฉะบับตราสามดวง ซึ่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และ การเมืองพิมพ์ขึ้น) มีความว่า เกิดการพิศูจน์ดำน้ำโดยใช้ “นาระกา” ถือเกณฑ์กันที่ “นาระกา” ล่มหรือยัง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ “ทรงแคลง” การที่เอา “นาระกา” มาใช้ โปรดให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงสอบพระอัยการ พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูลว่า “ดำน้ำตั้งนาระกามิได้พบในพระอัยการ พบแต่คำว่าดำน้ำกันให้ยุกระบัดกลั้นใจสามกลั้น” แต่ปรากฏว่า ที่เมืองราชบุรีใช้นาระกากันจึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า *กฎหมายให้ตั้งนาระกานั้นหามิได้” ให้ห้ามมิให้ใช้นาระกา และตัวอย่างราชบุรีก็ไม่โปรดให้อนุโลมตาม

“นาระกา” ในที่นี้คงจะต้องเป็นเปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นแน่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กระลา นั่นเอง จึงได้มีการ “ล่ม” กัน

นายแลงกาต์กับข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมกันพลิกดูลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง ซึ่งมีพระราชปรารภแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง พบความว่า “ตั้งนาฬิกา” ในมาตรา ๗ ซึ่งไม่ตรงกันกับที่พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูล ได้พิเคราะห์หาร่องรอยที่จะสันนิษฐานว่า เหตุไรพระมหาราชครูมหิธรจึงกราบบังคมทูลดั่งนี้จะหลงก็ไม่สม เพราะพระราชบัญญัติก็สั้นมีความเพียงเจ็ดมาตราเท่านั้น จะว่ามาตราที่กล่าวถึง “นาลิกา” นี้ เติมเข้าไปภายหลังก็มิต้องเติมภายหลังพระราชกำหนดใหม่ ซึ่งมีปีเดือนวันคืนแห่งพระบรมราชโองการแน่นอนว่า จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะ ฯลฯ หรือและเช่นนั้น เหตุไรจึงเติมลงไปในพระราชบัญญัติโบราณในเมื่อมีพระราชกำหนดใหม่ระบุความค้านอยู่ชัดๆ ดั่งนี้ หรือจะเติมลงระหว่างตอนกลางหรือปลายของกรุงศรีอยุธยา และพระมหาราชครูมิได้ใช้ฉะบับมีมาตรา ๗ นี้เติมไว้ข้างท้าย เพราะกฎหมายนั้นยังมิได้ชำระเสร็จ เมื่อทรงสั่งในรัชกาลที่ ๑ เรื่องไม่ให้ใช้ นาระกา สำหรับพิสูจน์ดำน้ำนี้ ไปมาก็ไม่มีใครจะตัดสินทางใดลงไปได้ เลยต้องนั่งหัวเราะกันอยู่

อนึ่ง ในมาตรา ๗ ที่กราบทูลอ้างถึงข้างบนนี้ กล่าวความแปลกอยู่ตอนหนึ่งว่า “....จะดำน้ำกันให้อาลักษณ์เอาคำสัจจาธิศถานอ่านประกาษเทพยุดาแล้วให้ โจทก์ จำเลย } สะหัวแล้ว ชนไก่ เมื่อจะลงดำน้ำกันนั้นให้ปักหลัก....” ข้าพระพุทธเจ้ากับนายแล็งกาต์ได้ลองช่วยกันคิดดูว่า คำว่า “ชนไก่” ในที่นี้แปลว่าอะไรก็ไม่สำเร็จ ในมาตรา ๑ มีความว่า ให้ตระลาการคุมลูกความทั้งสองไปซื้อไก่อย่างละสองตัว มาตรา ๒ มีกล่าวถึงไก่อีกว่าให้เตรียมการพิศูจน์โดยหาสิ่งของต่าง ๆ ไว้ ในจำพวกสิ่งของให้หาไว้นั้นมี “ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำยามข้างละตัว ไก่บังสะกุนไหว้เทพารักษ์ข้างละสองตัว” ดังนี้ สังเกตความในที่นี้เหมือนจะมีไก่สองประเภท คือ ไก่เป็นที่ให้คุมลูกความไปซื้อประเภทหนึ่ง ไก่สังเวยเทวดาประเภทหนึ่ง และคล้าย ๆ กับจะแยก “ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำยาม” ออกไปได้อีกประเภทหนึ่ง ถ้าเช่นนี้ก็ถึงสามประเภทด้วยกัน

ข้าพระพุทธเจ้าได้บอกแก่นายแล็งกาต์ว่า จะลองกราบทูลความดูในเรื่องไก่นี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ธานีนิวัต

----------------------------

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๓

ธานี

หนังสือลงวันที่ ๒๑ ได้รับแล้ว ที่ไม่ได้พูดถี่ถ้วนเมื่อเวลาเลี้ยงพระ เขียนหนังสือมาให้ทีหลังนั้นดีแล้ว เพราะอาว์หูไม่ดีเสียแล้ว ฟังพูดอาจเข้าใจผิดไปได้ ถ้าเป็นหนังสือแล้วไม่เข้าใจผิดไปได้เลย ตามหนังสือซึ่งเธอเขียนไปให้นั้น อาว์ได้ความรู้กว้างออกไปเหมือนกัน แล้วทำให้มีความคิดกว้างออกไปตามกันด้วย

คำที่เรียกว่า “กระลา” เดาว่าทีจะเป็น “กาละ” เพราะใช้มันลอยน้ำกำหนดเป็นเวลา ส่วนคำว่า “ปราณ” ซึ่งบอกมาก่อน คิดโดยเดาว่าจะเป็นระยะเวลาหายใจนั้นทีจะผิดเสียแล้ว กลับตรงกันข้ามเป็นกลั้นใจ ตรงกับคำที่ใช้กันอยู่ว่า “อึดใจ” มาตราแต่ละอย่างเดิมก็ใช้ในธุระอย่างหนึ่งไม่ติดต่อกัน หากมีผู้รู้รวบรวมเอาทุกอย่างมาต่อกันเข้าทีหลัง และการต่อนั้นถ้าหลงเอาต่อกันเข้าผิดก็พาให้เราหลงผิดไปด้วย

ตามหนังสือของเธอนั้นหนักไปในทางกฎหมาย อันกฎหมายนั้นก็เป็นหนังสือแต่งซึ่งเก็บเอาข้อบังคับต่าง ๆ มารวมต่อกันเข้าเหมือนกัน ย่อมแต่งกันหลายเจ้าของด้วย จึงเรียกไปต่างกันว่าเป็นกฎหมายฉะบับนั้นฉะบับนี้ลางข้อต้องกันก็มี ไม่ต้องกันก็มี สุดแต่ผู้รวบรวมจะพบเข้า ข้อเหล่านั้นข้อใดไม่ใช้ก็ไม่ได้บอกยกเลิกไว้ ก็ต้องขัดกันอยู่เองเป็นธรรมดา ข้อที่เก็บมารวมกันเข้านั้น ไม่ใช่จำเพาะแต่ข้อบังคับในบ้านเรา แม้เป็นข้อบังคับทางต่างประเทศก็เก็บเอามา จะเห็นได้ในตอนต้นกฎหมายมี “พระธรรมศาสตร์” นั้นเป็นข้อบังคับที่คัดมาจากอินเดีย และข้อความซึ่งคัดมาจากต่างประเทศนั้นอะไรที่เข้ากับเราได้ก็เอาไว้ ที่เข้าไม่ได้ก็แก้เปลี่ยนไป แม้ข้อความใดซึ่งเวลาโน้นเข้ากับเราได้ก็เอาไว้ แต่ทีหลังประเพณีเราเปลี่ยนไปก็แก้แซกเข้า เก่าก็ไม่บอกยก ลางฉบับที่ไม่ได้ใช้ก็ไม่ได้แก้ ถ้าจะดูหนังสือก็มีแต่ยุ่ง จะติผู้เขียนก็ไม่ถนัด เพราะผู้เขียนจะรู้กฎหมายไปทุกฉะบับย่อมไม่ได้อยู่เอง

ในการที่เราจะแปลคำในกฎหมายก็ย่อมขัดข้องอยู่เหมือนกัน ด้วยข้อบังคับเก่าตามประเพณีและถ้อยคำซึ่งใช้เข้าใจกันอยู่ในเวลาโน้น ลงมาถึงเวลานี้ก็เปลี่ยนไปหมด เราเป็นคนทุกวันนี้จะแปลคำครั้งกระโน้นย่อมไม่ได้อยู่เอง ได้แต่เดา ก็ย่อมผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา

ตามที่เธอตั้งใจจะปรึกษาอาว์ ก็มีความเห็นที่จะบอกได้แต่เพียงเท่านี้

นริศ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ