- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
เหตุ ที่จะถามปัญหาเรื่องนี้เนื่องมาจากไปถวายบังคมพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดร มีความคิดขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ทรงมีพระลักษณะเหมือนกับพระบรมรูปนั้นหรือไม่
ปัญหา ประเพณีการสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นได้แบบอย่างมาแต่ไหน ทำกันมาแต่ครั้งไร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้นได้แบบอย่างมาจากไหน ทำกันอย่างไรจึงว่าเหมือนพระองค์จริง ฯ
ตอบ ประเพณีทำโมนูเมนท์๑ พระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้ว มีมาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้จากเขมรทำเป็นเทวรูป ถ้าถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักทำเป็นพระโพธิสัตว์ สันนิษฐานว่าไทยได้ประเพณีนี้มาแต่เขมร ไทยกรุงศรีอยุธยามีพระเทพบิดร และรูปสมเด็จพระนเรศวรอยู่ที่โรงแสง พระบรมรูปทั้งสองนี้คงไม่ใช่รูปตัวแต่เป็นเทวรูป ที่ว่าเช่นนี้เพราะปรู๊ฟ๒ได้ เมื่อเสียกรุงนั้นปรากฏว่าพระรูปพระเทพบิดร (ว่าสร้างแทนพระองค์พระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี) อยู่ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไฟไหม้เชิญเอาไปไว้ที่ซุ้มจรนำวัดพุทไธศวรรย์ ชาวบ้านชาวเมืองว่าดุร้ายนัก กรมหลวงเทพหริรักษ์ขึ้นไปทำพะเนียดนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงเอาลงมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เอาไว้ในหอพระเทพบิดรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเมื่อรื้อหอเลยเก็บไว้ในปราสาทพระเทพบิดรมุขหลัง เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่ในนั้น (ได้ความว่าได้ย้ายมาไว้ในวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่ทราบว่าเป็นองค์ไหนเพราะมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน) ส่วนที่วัดพุทไธศวรรย์เดิมได้ปั้นเป็นพระพุทธรูปไว้แทนจนทุกวันนี้ แม้ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลต่อ ๆ มา ก็มีการหล่อพระพุทธรูปไว้แทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ หล่อพระพุทธจักรพรรดิ์ รัชกาลที่ ๒ หล่อพระพุทธนฤมิตร เป็นทองคำทั้งพระองค์ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในหอพระสุราลัยพิมานทั้งสองพระองค์ แต่พระพุทธนฤมิตรนั้นโปรดฯ ให้จำลองไปไว้ที่วัดอรุณราชวรารามพระองค์หนึ่ง
ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปสูง ๖ ศอกสองพระองค์หุ้มด้วยทองคำเนื้อ ๘ องค์หนึ่งหนัก ๖๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ทรงเครื่องต้นอย่างบรมกษัตริย์ ลงยาราชาวดีประดับด้วยนวรัตนมีราคาเป็นอันมาก พระพุทธรูปสองพระองค์นี้ให้ตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์ข้างเหนือถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ องค์ข้างใต้ถวายว่า พระพุทธเลิศหล้าสุราลัย มาเปลี่ยนเป็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อรัชกาลที่ ๔ (เดิมเรียกรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ใช้บัตรหมายในราชการทั้งปวงอ้างนามแผ่นดินตามพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ไม่ให้ใช้ว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางเพราะทรงเห็นเป็นอวมงคล)
เหตุที่ทำเป็นพระบรมรูปหล่อเป็นคนมีดังนี้ ในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ กับเอมเปรสด์ส่งรูปหล่อครึ่งตัวเป็นบัสทองแดงมาถวาย พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดมากและจะต้องให้ของตอบแทน เมื่อทูตฝรั่งเศสกลับไปให้ช่างปั้นพระบรมรูปมาถวายเป็นรูปเต็มพระองค์แต่ก็ไม่ตกลงกัน เป็นปัญหาว่าจะตอบแทนอย่างไรกัน อีกคราวหนึ่งเอมเปอเรอส่งตราเลยองออนเนอร์มาถวาย ดวงตรามีหัวนะโปเลียนโบนาปารต พระจอมเกล้าให้ทำส่งออกไปบ้างเป็นรูปที่ทำได้เหมือนมาก เดี๋ยวนี้พระบรมรูปติดตรานั้นยังอยู่ที่วังฟองเตนโบล ในเรื่องรูปปั้นนั้นต่อมาว่าให้พระยาจินดารังสรรค์ ปั้นใหม่ด้วยปูนปลาสเตอร์ ปั้นเท่าพระองค์ทรงพระมาลาสก๊อท ทรงผ้าเยียระบับ เดิมอยู่ที่หอศาสตราคม รื้อหอแล้วเอามาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยพักหนึ่งแล้วส่งไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งเพ็ชภูมิไพโรจน์ จังหวัดเพชรบุรี (ที่เขาวัง) กับได้จำลองไว้อีกองค์หนึ่งในประสาททางด้านตะวันตกในวัดราชประดิษฐ ฯ แต่หาได้ส่งไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ ไม่ ที่ไม่ได้ส่งไปนั้นเพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนน้ำมัน ยังไม่ได้หล่อ ครั้นจะหล่อก็ต้องเข้าไฟ การเอารูปเข้าไฟนั้นถ้ายังมีพระชนม์อยู่ถือเป็นอัปมงคล เลยไม่ได้หล่อจนแล้ว มาในรัชกาลที่ ๕ เลยจับหล่อหมดทั้ง ๔ องค์ เกิดปัญหาขึ้นบ้างตอนปั้นพระพุทธยอดฟ้าฯ เพราะพระพุทธยอดฟ้าฯ หาคนรู้จักยาก นัยว่าเรียกเอาคนที่เคยเห็นมาให้การ แล้วก็ปั้นตามคำให้การนั้น คนที่เคยเห็นพระพุทธยอดฟ้าฯ ครั้งนั้นยังเหลืออยู่สี่คนคือ สมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณสิริ) พระองค์เจ้าปุก (รัชกาลที่ ๒) และเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) คนที่เคยเห็นพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นมีมาก พระบรมรูปหล่อมาหล่อเอาทั้งที่พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระชนม์อยู่ ก็พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ดูไม่เป็นการรังเกียจกัน รูปแรกที่หล่อคือเหรียญเงินบาทฯ แต่ก่อนหล่อกันแต่รูปพระเกี้ยว หากล้าหล่อพระบรมรูปไม่ เพิ่งมาหล่อในรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ถัดจากนั้นพระบรมรูปทรงม้าก็หล่อทั้งที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เองซ้ำไป