- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
เฟี้สคิงและสกันด์คิง
ปัญหา เหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงยกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอด้วยพระองค์ ? การมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นั้นมีราชประเพณีมาแต่ครั้งใด ?
ตอบ เรื่องเฟสท์คิงและสกันด์คิง๑ของไทย หรือเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระปิ่นเกล้าฯ ๆ ที่นับว่ามีศักดิ์เสมอกัน ความข้อนี้สอบสวนได้จากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพระราชอนุชาเสมอด้วยพระองค์นั้น มิใช่เพียงแต่ว่า “มีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หายิ่งนัก” เท่านั้น เพราะเมื่อได้รับอัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชย์ได้ทรงพิจารณาดูทางโหราศาสตร์เห็นว่าพระปิ่นเกล้านี้มีพระชาตาวิเศษนักสมควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้นการที่ทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว ดูไม่เป็นการสมควร ทรงเห็นเป็นอัปมงคลจึงได้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วยอีกพระองค์หนึ่งเป็นการเสมอกันกับพระองค์ ผิดกันก็แต่คำนำหน้าที่ว่ารับพระบรมราชโองการกับพระบวรราชโองการเท่านั้น
เรื่องการยกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนี้ นัยว่าทรงอ้างถึงพระราชประเพณีอันมีมาแต่กรุงศรีอยุธยาและยึดเอาพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเป็นตัวอย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่า ทั้งสมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ดูเป็นการผิดแบบแผนทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯนี้ เป็นการคิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรหรือ หรือมีประเพณีอันใดมาแต่เดิม ?
เมื่อได้พิจารณาดูในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏความว่าได้ทรงตั้งพระบรมราชา ราชบุตรอภิเษกให้ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระองค์เสด็จประทับ ณ เมืองพิษณุโลก และเมื่อก่อนสวรรคต พระองค์ได้ทรงตั้งราชโอรสพระองค์น้อยเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อสวรรคตแล้วพระบรมราชาผู้เป็นพระเชษฐา ได้ครองกรุงศรีอยุธยา จึงให้ราชอนุชาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกต่อมา
เรื่องนี้ไปได้ความในหนังสือราชาธิราชตอนหนึ่งว่า สมัยเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ครองเมืองหงสาวดี เป็นไมตรีกับเชียงใหม่ ไทย พะม่า และลังกา ได้แต่งข้าหลวงให้ส่งปริศนาไปทายกัน ไทยสมัยนั้นสอบศักราชตรงกันกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ๆ ส่งปริศนาไปถวายพระธรรมเจดีย์ ๆ แก้ได้ ยกย่องถึงแต่งราชทูตเชิญราชบรรณาการไปเฉลิมพระยศเป็น “มหาธรรมราชา” ตอนนี้ในราชาธิราชมีคำต่อนิดหนึ่งว่า “เหมือนพระเจ้าตา” จึงเป็นอันปรับเรื่องนี้ได้
ที่ว่าปรับเรื่องได้นั้นเป็นดังนี้ พิจารณาเรื่องทางกรุงสุโขทัย เมื่อเป็นอิสสระอยู่นั้นเป็นวงศ์หนึ่งต่างหากจากกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้เป็นพระญาติพระวงศ์แก่กัน เมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งวงศ์ขึ้นก็มีการรบพุ่งกันบ้าง ไมตรีกันบ้าง มาเกี่ยวดองกันเมื่อปรากฏในสมัยพระอินทราชาว่า มหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกสวรรคต เมืองเหนือเป็นจลาจล พระยาบาลเมืองกับพระยารามผู้น้องแย่งราชสมบัติกัน ทรงยกทัพขึ้นไปไกล่เกลี่ยสำเร็จเรียบร้อย เพราะทั้งสองยอมตกลงรับคำตัดสิน จึงให้พระยาบาลเมืองผู้พี่เป็นมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก พระยารามผู้น้องครองเมืองศรีสัชนาลัย เป็นวงศ์พระร่วงทั้งคู่ และเพื่อควบคุมให้เป็นที่เรียบร้อย ได้ให้ราชโอรสทั้งสาม คือ เจ้าอ้าย เจ้าญี่ เจ้าสาม ไปครองเมืองต่าง ๆ กัน โดยฉะเพาะเจ้าสามพระยาได้ครองอยู่ที่เมืองชัยนาท อันเป็นแดนติดต่อแดนระหว่างไทยสุโขทัยกับไทยอยุธยานั้น ได้ทรงขอธิดาพระยาบาลเมืองให้เป็นพระชายา การอภิเษกครั้งนี้คงไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่นนอกจากจะสมานให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ต่อมาไม่ได้จัดการเรื่องราชสมบัติ จึงเป็นเหตุให้เกิดแย่งราชสมบัติกันขึ้น เจ้าอ้าย เจ้าญี่สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิ เชิงสะพานป่าถ่าน เจ้าสามพระยาได้เป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ธิดาพระยาบาลเมืองได้เป็นอัครมเหสี มีราชโอรสคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยาบาลเมืองมหาธรรมราชาจึงเป็นพระเจ้าตา
ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พอพระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) มีพระชนม์พรรษาได้สิบห้าปี ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่มาก พระราชบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก การที่พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจยิ่ง ปล่อยราชโอรสอันเป็นรัชทายาทมีอายุน้อยเท่านี้ขึ้นไปครองเมืองเหนือ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ เป็นที่น่าสงสัย เพราะอาจถูกฆ่าได้โดยง่าย ฉะนั้นในตอนนี้ต้องเดาด้วยเหตุผล และไม่มีผิดว่า การที่ส่งพระราเมศวรขึ้นไปทั้งที่ยังทรงพระเยาว์นี้คงเป็นเพราะ “พระเจ้าตา” หรือมหาธรรมราชาบาลเมืองสิ้นพระชนม์ และพวกพระยารามซึ่งเคยแย่งราชสมบัติก่อการร้ายขึ้น พวกพิษณุโลกเห็นจะมากกว่าพวกศรีสัชนาลัย และคงรวมเข้าเป็นกลาง ไปทูลขอเอาพระราเมศวรซึ่งมีเชื้อสาย “พระเจ้าตา” มาครองเมืองพิษณุโลก และเมื่อเอารัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยามาครองเสียเช่นนี้ ทางศรีสัชนาลัยก็ยอมเกรงกลัวพระบารมีไม่คิดต่อสู้ ข้างฝ่ายพระบรมราชาผู้เป็นพระราชบิดาก็คงทรงยินดีอยู่เองที่ทรงสามารถรวบรวมอาณาจักรไทยทางเหนือได้โดยไม่ต้องต้องลำบากแก่ไพร่พล ทั้งพระชนนีของพระราเมศวร และพระญาติข้างพระชนนีก็คงจะช่วยกันอุดหนุน ด้วยประการนี้ พระราเมศวรแม้จะมีพระชนม์มายุน้อยก็ไม่น่าวิตกประการใด และเมื่อพระราชบิดาสวรรคต ราชสมบัติก็ตกอยู่แก่พระราเมศวร ซึ่งต่อมาเฉลิมพระเกียรติเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระบรมไตรโลกนาถจึงได้ราชสมบัติทั้งพระนครศรีอยุธยาและนครสุโขทัยถูกต้องตามกฎหมาย เป็น Right heir ทีเดียว และก่อนที่จะรวมเขตเข้าด้วยกัน ก็ผะเอิญพระยายุษฐิระเชื้อสายพระยารามไม่พอใจ ไปคบกับท้าวลูกแห่งลานนา ต้องปราบปรามกันอยู่จน “ยวนพ่าย”
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเห็นว่ายังไม่สามารถจะรวมกันได้สนิทนัก จึงได้จัดให้รัชทายาทไปครองเมือง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแต่นั้นเป็นต้นมาได้จัดส่งรัชทายาทไปครองเสมอมา ตลอดจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คงไม่ใช่เชื้อพระร่วงจึงต้องยกราชธิดาให้ขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นเชื้อพระร่วงให้ไปครองเมืองพิษณุโลกและเมื่อได้มีเชื้อพระร่วง คือ สมเด็จนเรศวรและพระเอกาทศรถ ทั้งสองพระองค์ก็ได้ครองเมืองพิษณุโลกสมประสงค์ในภายหลัง จนเกิดศึกหงสาวดี เมื่อเกิดศึกนั้นพระนเรศวรจะทำศึกใหญ่ ต้องการรวมกำลังอยู่ทีเดียว จึงต้อนกำลังจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาอยู่ในกรุงสิ้น ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือทรุดโทรมลง
เมื่อพระนเรศวรเสวยราชย์ หากบ้านเมืองเรียบร้อย คงตั้งให้พระอนุชาไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ในครั้งนั้นเนื่องด้วยคนเมืองเหนือลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยาหมด เพราะฉะนั้นเมื่อถึงพระเอกาทศรถก็เลยตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งครองอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ควบคุมคนหัวเมืองเหนือทั้งปวงที่อยู่ในกรุง มีกฎหมายลักษณะกบฎศึกในแผ่นดินพระเอกาทศรถ บังคับพวกหัวเมืองฝ่ายเหนือกล่าวไว้ ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อพระเอกาทศรถเสวยราชย์ ชาวเมืองเหนือถูกกวาดมาอยู่กรุงศรีอยุธยาเสียแล้วกว่าสิบปี จึงไม่เป็นต่างพวกต่างพ้อง กลายเป็นพวกเดียวกันอยู่กรุงศรีอยุธยามาจนบัดนี้ ฉะนั้นพระเอกาทศรถจึงไม่จำเป็นต้องตั้งรัชทายาทไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ของเราก็ลงเอยที่ตรงนี้
-
๑. First King and Second King ↩