ตัวอักษรไทย

เหตุ ที่จะเกิดปัญหาเรื่องตัวอักษรไทยนี้ เนื่องมาจากพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลงกรณ์ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ สมเด็จกรมพระยา ตรัสถามพระดำริห์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า ทรงเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวอักษร (แบบฟื้นฟูวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเรียกว่า “อักขรวิบัติ”) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทูลตอบว่า ไม่ทรงเห็น เพราะพระเนตรผะเอิญมาเสียในเวลาที่เขาเปลี่ยนแปลงตัวอักษร สมเด็จกรมพระยาจึงตรัสเล่าถึงตัวอักษรไทยขึ้น

ปัญหา ทรงตั้งปัญหาขึ้นเองว่า ในเมืองไทยเรานี้มีอักษรอะไรมาก่อน

ตอบ ตามหลักฐานที่มีตัวอักษรติดอยู่กับพื้นแผ่นดินเป็นพะยาน คือตัว “คฤนถ์” ของชาวอินเดียฝ่ายใต้ จารึกทางพระปฐมเจดีย์ใช้อักษรคฤนถ์ทั้งสิ้นการที่อักษรคฤนถ์เข้ามาเมืองไทยนั้น คงเป็นเพราะติดพวกอินเดียที่เข้ามาค้าขายในแผ่นดินไทยตั้งแต่พวกละว้าเป็นเจ้าของ

ถาม อักษรคฤนถ์นี้เอามาใช้ทำประโยชน์อะไรบ้าง

ตอบ คงเอามาใช้เป็นประโยชน์สองอย่างด้วยกัน คือ

๑. ประโยชน์ในทางศาสนา จะเป็นศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาพุทธก็ตาม เวทย์มนต์และพระธรรมคงเขียนด้วยอักษรคฤนถ์ทั้งสิ้น

๒. จดหมายที่เขียนติดต่อไปมาคงเขียนด้วยอักษรคฤษถ์ ที่เอาเข้ามาด้วยนั้น

วินิจฉัยที่ ๑ อักษรคฤนถ์ที่ชาวอินเดียเอาเข้ามาครั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับไทย เพราะใช้เขียนภาษาไทยไม่ได้ เป็นต้นว่าตัว ฝ ฟ ก็ไม่มี พยัญชนะเสียงสระในภาษาไทยบางอย่าง เช่น สระอึ สระอือ สระเอือ สระเออ เป็นต้น ไม่มีอักษรในคฤนถ์ และเครื่องหมายสูงตามเสียงคือ วรรณยุกต์นั้น ก็ไม่มีในอักษรคฤนถ์ เพราะฉนั้นอักษรคฤนถ์ใช้เขียนภาษาไทยไม่ได้

วินิจฉัยที่ ๒ ตัวอักษรที่เกิดในเมืองนี้ก่อนอักษรอื่น คือ อักษรขอม เห็นได้โดยลักษณะอักษรว่า พวกขอมเอาอักษรคฤนถ์ไปแปลง แต่อักษรขอมก็เขียนได้แต่ภาษามคธ สันสกฤต และเขมร เขียนภาษาไทยไม่ได้ด้วยเหตุอย่างเดียวกันกับอักษรคฤนถ์

วินิจฉัยที่ ๓ เพราะฉนั้นเมื่อพระเจ้ารามคำแหงสามารถตั้งประเทศขึ้นเป็นอิสสระเต็มที่ได้ คือประเทศที่ชนชาติไทยเป็นใหญ่กว่าชนชาติอื่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคิดตัวอักษรไทยขึ้นสำหรับเขียนภาษาไทย เพราะเหตุว่าไม่มีอักษรอื่นจะเขียนภาษาไทย เพราะฉนั้นเมื่อมีอักษรไทยขึ้นแล้วในราว พ.ศ. ๑๘๒๖ จึงใช้กันแพร่หลายในหมู่ไทยด้วยกัน จารึกภาษาไทยชิ้นเก่าใช้อักษรพระเจ้ารามคำแหง ตลอดลานนาไปกระทั่งเชียงตุง

วินิจฉัยที่ ๔ สังเกตจารึกเก่าตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสืออะไรที่จารึกหรือจดหมายอะไรในเมืองนี้ ถ้าเป็นภาษามคธ สันสกฤต หรือเขมร ใช้อักษรขอมอย่างเดียว ที่จะใช้อักษรไทยจารึก หรือเขียนภาษาอื่นหามีไม่ ถ้าเป็นหนังสือศัพท์สองภาษาสลับกัน เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น ที่ยกคำภาษามคธตั้งเป็นอรรถ เขียนภาษาไทยเป็นแปล เช่นนั้น อรรถเขียนด้วยอักษรขอม แปลเขียนด้วยอักษรไทย เข้าใจว่าเพราะเหตุนั้นเองจึงเรียกว่า “ร้อยแก้ว” เพราะเอาแก้วต่างสีมาร้อยสลับกัน

วินิจฉัยที่ ๕ ที่เขียนภาษามคธ สันสกฤต ด้วยอักษรไทยก็ดี เขียนภาษาไทยด้วยตัวอักษรขอมก็ดีเป็นของเกิดใหม่ ดูเหมือนจะเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ นี้เอง เพราะจะพิมพ์หนังสือภาษามคธเช่นหนังสือสวดมนต์เป็นต้น ไม่มีอักษรขอม จะพิมพ์ต้องเอาอักษรไทยใช้ แต่ที่เอาอักษรขอมมาแปลงเขียนอย่างหนังสือไทยนั้น กำลังสืบอยู่ ยังไม่ได้พบตัวอย่างเก่าว่ามีขึ้นเมื่อใด ได้เรียนถามสมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์ ท่านก็ตอบว่าเป็นของใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อใด

 

  1. ๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโวมหาเถร) วัดสุทัศน์เทพวราราม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ