- คำนำ
- ๑. พระบรมธาตุ
- ๒. การสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย
- ๓. ตัวอักษรไทย
- ๔. การวินิจฉัยเมืองโบราณ
- ๕. การเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- ๖. โลหปราสาทวัดราชนัดดา
- ๗. หลักการเรียนพงศาวดาร
- ๘. สร้างกรุงศรีอยุธยา
- ๙. คำว่า “มหาราช
- ๑๐. ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ ?
- ๑๑. “เงินตราสยาม”
- ๑๒. เฟี้สคิงและสกันด์คิง
- ๑๓. ศาลาสหทัยสมาคม
- ๑๔. มนุษย์พวกจาม
- ๑๕. พระพุทธศาสนามหายานและหีนยาน
- ๑๖. สร้างวัดพระเชตุพน
- ๑๗. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
- ๑๘. ยิงปืนบอกเวลา
- ๑๙. สวมเสื้อเข้าเฝ้า
- ๒๐. การสร้างพระโต
- ๒๑. กรมนาฬิกาและทุ่มโมง
- ๒๒. ฝิ่นเมืองเชียงตุง
- ๒๓. หลักเมือง
- ๒๔. พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ฯลฯ
- ๒๕. สถานที่ประหารชีวิตในกรุงเทพฯ
- ๒๖. พระพิมพ์ดินดิบดินเผา
- ๒๗. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- ๒๘. วัดสุวรรณดาราราม
- ๒๙. ทำนาท้องสนามหลวง
- ๓๐. พระนิรันตราย และ พระนิโรคันตราย
- ๓๑. การบรรจุพระอัฐิและพระบรมอัฐิ
- ๓๒. คำว่าโอรส ราชบุตร หน่อพระพุทธเจ้า
- ๓๓. การสร้างนครวัดจำลอง
- ๓๔. เชียงราก
- ๓๕. เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่าง ๆ
- ๓๖. หยกรูเซีย
- ๓๗. ตึกพระเจ้าเหา
- ๓๘. วัดสุทัศน์
- ๓๙. เครื่องต้น
- ๔๐. เครื่องแต่งกายไทย
- ๔๑. มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า
- ๔๒. วัดเจดีย์เจ็ดยอด
- ๔๓. พระมหาปราสาท
- ๔๔. พระอาจารย์อินโข่ง
- ๔๕. บานประตูมุกด์ เก๋งพระนารายณ์ และศาลพระภูมิ ในพระบรมมหาราชวัง
- ๔๖. แปลร้อย และร้อยแก้ว
- ๔๗. พระนาคปรก
- ๔๘. เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า เจ้าช้าง
- ๔๙. ชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายในสมัยโบราณ
โลหปราสาทวัดราชนัดดา
เหตุ ที่จะเกิดปัญหาเรื่องนี้เนื่องจากได้อ่านพบในหนังสือตำนานเรื่องวัดถุสถานต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา มีเรื่องโลหปราสาทอยู่ด้วย แต่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ละเอียดดีพอจึงได้ทูลถาม
ถาม มูลเดิมของโลหปราสาทมีมาอย่างไร ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นมีความประสงค์อย่างไร
ตอบ มูลเดิมของโลหปราสาทนั้น ประเพณีมีมาแต่ครั้งพุทธกาลเวลาเข้าพรรษาด้วยเหตุที่ราษฎรทำไร่ไถนา เมื่อถึงฤดูฝนให้พระสงฆ์หยุดอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อสั่งสอนศาสนาชั่วเวลา ๓ เดือน ระหว่างที่พักอยู่ ๓ เดือนนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นแก่พวกถือพระพุทธศาสนาที่จะทำบุญหลายอย่าง เปรียบอย่างในกรุงเทพฯ นี้ ถ้าถึงฤดูแล้งแต่ก่อนนาน ๆ จะได้พบพระสงฆ์สักองค์ เพราะไปเที่ยวสอนศาสนา ถ้าพระสงฆ์มารวมกันอยู่ตามวัดชาวบ้านก็ได้ทำบุญถวายธูปเทียนเพื่อใช้ในพรรษาตักบาตรและฟังธรรม ที่เข้าพรรษามีเทศน์กันทุกวันนี้นั้นก็เพราะพระมาอยู่วัดชาวบ้านมีโอกาสจะได้ฟังธรรม และยังมีโอกาสอีกอย่างหนึ่งด้วย เหตุว่าเวลาที่พระอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ๓ เดือนนั้น พระมักทำเวลาล่วงไปด้วยการเรียนวิปัสนาธุระ พวกพุทธศาสนิกชนหาที่สงัดสบายให้พระสำหรับนั่งกรรมฐานเป็นองค์ ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน มีตัวอย่างพึงเห็นตามหัวเมืองปลูกเป็นเพิงสูงให้พระอาศัยก็มี ในกรุงเทพฯ เป็นตึกที่เรียกว่า คณะกุฏิ์ ทั้งวัดสระเกศและวัดโพธิเป็นที่สำหรับพระนั่งเรียนวิปัสนากรรมฐาน แต่มีพวกที่มีกำลังมาก เพราะเหตุที่พระชอบอยู่ที่สงัดไปจัดถ้ำสลักหินทำห้องให้พระอยู่ก็มี ในสมัยเมื่อพระศาสนาไปถึงลังกาทวีป มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งจำชื่อไม่ได้ (พระเจ้าอภัยทุษฐคามินี) ดูในหนังสือมหาวงศ์ก็แล้วกัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้สร้างโลหปราสาทขึ้นในเมืองอนุราธบุรี ถวายเป็นที่พระนั่งกรรมฐานเป็นหลายชั้นเรียกว่าโลหปราสาท ที่เรียกว่าปราสาทก็หมายถึงหลายชั้น สองชั้นอย่างตึกที่เราอยู่นี้ตามศัพท์ก็เรียกว่าปราสาท โลหปราสาทที่กล่าวถึงในอินเดียเดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่แต่เสาหิน ส่วนตัวปราสาทนั้นเป็นอย่างไรไม่เคยเห็น กล่าวกันแต่ว่าเป็นชั้น ๆ
ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดใหม่ขึ้นในพระนครสองวัด คือวัดเทพธิดาราม ราชทานพระราชธิดา พระองค์เจ้าหญิงลำภู ซึ่งต่อมาเป็นกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ อีกวัดหนึ่ง คือวัดราชนัดดาราม ทรงสร้างพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเรียนสมัยเก่า ทรงสร้างวัดแปลก ๆ เช่นวัดยานนาวาเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้คนรู้จักสำเภาจีนซึ่งกำลังจะศูนย์ไปเสีย ที่วัดราชนัดดานี้ทรงพระราชดำริว่าพระเจดีย์นั้นสร้างกันมากแล้ว อยากจะสร้างที่เขาไม่เคยสร้างกัน จึงโปรดฯ ให้สร้างโลหปราสาทขึ้น และทรงคาดว่าที่ลังกาคงทำเป็นรูปอย่างนี้ จึงทำเป็นห้อง ๆ การสร้างโลหปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีเจตนาไปอีกอย่างหนึ่งคือ จะให้ไว้รูปภิกษุณี ให้หล่อรูปภิกษุณีขึ้น หล่อแล้วก็ยังคงอยู่ในวิหารวัดนั้น หากันได้เอาขึ้นตั้งบนโลหปราสาทไม่.