โคลงศัพท์หอมเหม็น

๑๏ ของที่มีกลิ่นกลั้ว เกิดปรา กฎเฮย
มากสิ่งสุดพรรณนา นับชั้น
ยังกลิ่นก็ต่างจา รไนไม่ หมดแฮ
คุมควบรวบให้สิ้น สรุปเข้าคงสอง
๒๏ กลิ่นใดชนชอบใช้ ชมชวน ชื่นแฮ
เปนพวกกลิ่นหอมประมวญ หมดได้
กลิ่นที่เบื่อฆานควร รังเกียจ
ปันแพนกแยกยกให้ อยู่ข้างของเหม็น
๓๏ สรรพสิ่งอุปโภคพร้อม พัสตรา ภรณ์เฮย
หมั่นอบเครื่องสุคนธา ร่ำฟุ้ง
จักประดับกายพา ยวนยั่ว ใจแฮ
ทิ้งหมักเหม็นสาบคลุ้ง เสพย์คล้ำรำคาญ
๔๏ หนึ่งของบริโภคสิ้น สรรพอา หารเอย
หอมช่วยชูโอชา รศเร้า
ผิกลั้วกลิ่นเหม็นพา นึกสอิด สเอียนแล
ชวนคลื่นกลืนไม่เข้า ขัดค้างฅอแขง
๕๏ ที่ใดหมมหมักล้วน ของโส โครกนา
อายอับออกเหม็นโฉ อบอู้
ใครอยู่ย่อมเกิดโร คาพาธ ได้พ่อ
ผิตระหลบกลิ่นหอมกู้ กอบให้ใจเกษม
๖๏ ยามไข้ใจละเหี่ยท้อ สวิงสวาย ใจเฮย
โอสถหอมกินละลาย ลูบไล้
อาจชูชื่นใจสบาย เบาพัก หนึ่งนา
ได้กลิ่นเหม็นเหมือนให้ โรคซ้ำเสริมทวี
๗๏ เพราะฉนี้จำต้องนับ คุณนิยม
โดยโลกย์ทั้งหลายชม ชอบใช้
กลิ่นหอมย่อมคุณสม ประกอบกว่า เหม็นนา
เหม็นมักชักโทษให้ กว่าข้างของหอม
๘๏ จึงเปนความเปรียบด้วย ความดี ชั่วฤๅ
ผู้ประพฤติกายวจี ส่อเชื้อ
เสียชื่อมักพาที เหม็นเทียบ แทนแล
มีชื่อเสียงดีเกื้อ ศักดิใช้หอมแทน
๙๏ ผู้มีหิริรู้ รวังผิด
สงวนศักดิ์รักษาจริต เรียบร้อย
เข้าไหนห่อนใครคิด รังเกียจ นิดเลย
เฉกสุคนธ์คงน้อย ภักตร์ยู้พึงชัง
๑๐๏ ผิโกงเกะกะทั้ง แถมเพลง เท็จแล
จิตรโลภเจือนักเลง ล่อเหล้า
ผู้คบย่อมคิดเกรง พยศขยาด แขยงนา
กลกลิ่นเหม็นใครเข้า เฉียดข้างคงเบือน
๑๑๏ ถ้ากลับจับคิดข้าง คดีธรรม
คุณโทษทั้งสองจำ พวกนี้
ต่างมีดุจกันกำ หนดแน่ ไฉนนา
เปนใหญ่ที่ใจชี้ ช่องเกื้อเกิดผล
๑๒๏ เพราะหอมย่อมยั่วเย้า ยวนใจ ยิ่งนา
เปนพวกกามคุณใคร สบเข้า
ผิพลอยเพลิดเพลินใหล หลงย่าม ใจพ่อ
ชวนราคกำเริบเร้า จิตรเอื้อมปราถนา
๑๓๏ ถ้ากระทบกลบกลุ้มกลิ่น ของเหม็น
หลงลุทุมนัศเข็ญ ขุ่นขิ้น
พาจิตรหงุดหงิดเป็น เครื่องยั่ว
โทษะบังเกิดสิ้น สนุกซ้ำการเสีย
๑๔๏ หากสบหอมห่อนพลั้ง เพลินพิศ วงนา
ยั้งกมลมุ่งคิด สกัดกั้น
เห็นโดยลักษณานิจจ์ ไป่แน่ นานพ่อ
ดูแต่กลิ่นผกาครั้น เหี่ยวแห้งหายหอม
๑๕๏ ถ้าสบกลิ่นชั่วข้อง ฆานเชิญ ก็ดี
สกดจิตรคิดเทียบเห็น เหตุมล้าง
ร่างกายก็ล้วนเปน ของปฏิ กูลแฮ
ไป่น่าหน่ายแต่ข้าง กลิ่นโพ้นพาเหียร
๑๖๏ คิดเห็นเช่นนี้ไม่ ยินดี สุคนธ์นา
เหม็นไม่ยินร้ายทวี ศุขได้
มาตรฉเภาะสบเหมาะมี ความสลด ใจแฮ
เปนส่วนคุณคงให้ สบทั้งสองทาง
๑๗๏ ลักษณคันธชาตินี้ นายจำนง
ราชกิจสร้อยนามจง จิตรตั้ง
รับรวมเรียบเรียงลง พิมพ์คาบ นี้นา
เบ็ดเสร็จสิบเจ็ดทั้ง บทท้ายแทนเซน

พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล) เมื่อยังเปนนายจำนงราชกิจ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ