คำนำ

หนังสือเรื่องนี้ เปนโคลง ซึ่งกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณชั้นก่อน ได้ขอแรงผู้ที่เปนจินตกวี แต่งขึ้นเปนโคลงสุภาสิต แล้วลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ เปนคราว ๆ ไป คราวหนึ่งก็ลงเรื่องหนึ่ง ทำนองเดียวกับโคลงพิพิธพากย์ ซึ่งว่าด้วย รัก ชัง แขง อ่อน เปนต้น อันได้ลงพิมพ์แล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่โคลงพิพิธพากย์ เรื่องหนึ่งว่าด้วยการสิ่งเดียว คราวนี้เรื่องหนึ่งว่าด้วยการสองสิ่ง อันเปนปฏิปักข์ตรงกันข้าม กล่าวรวมกัน จึงให้นามว่าโคลงอุภัยพากย์ เปนเรื่องที่กรรมการเห็นว่า สมควรจะรวบรวมลงพิมพ์เปนหมวดเดียวกัน พอประจวบเวลาที่เจ้าภาพพระยาโชดึกราชเศรษฐี (ฮวด โชติกะพุกกณะ) มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือจำหน่าย ในการศพพระยาโชดึกราชเศรษฐี มาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณเลือกหาหนังสือให้พิมพ์ กรรมการจึงเลือกหนังสือเรื่องที่กล่าวนี้ให้ เพื่อลงพิมพ์จำหน่ายในการศพเปนสิ่งที่ทำให้เกิดการกุศล เพราะเหตุว่าข้อความในโคลงเรื่องนี้เปนสุภาสิตนับเนื่องเข้าในทางธรรม เมื่อจำหน่ายหนังสือให้แพร่หลาย ก็เสมอกับมีธรรมเทศนาเปนธรรมทาน ย่อมจะเปนเหตุให้เกิดวิบุลยผล อันเปนส่วนคุณความดีแก่ท่านผู้ทำ แลผู้ที่เปนเหตุให้รลึกอุทิศถึง

แลพระยาโชดึกราชเศรษฐี (ฮวด โชติกะพุกกณะ) ผู้นี้ มีชาติอุปบัติ เมื่อวันพุธ ที่ ๒๒ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๐๒  จันทรคติกาลเปนแรม ๗ ค่ำเดือน ๗ ปีมแม พระยาโชดึกราชเศรษฐี (พุก) เปนบิดา ท่านเขียนเปนมารดา เมื่อยังเยาว์ก็ได้รับความศึกษาตามสมัยกาลในครั้งนั้น ครั้นถึงปีเถาะ พระพุทธศักราช ๒๔๒๒ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้นำขึ้นถวายตัว รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีนั้นเอง ได้รับพระราชทานสัญญาบัฎบันดาศักดิ์ เปนหลวงบริบูรณโกศากร มีตำแหน่งราชการในกรมท่าซ้าย ได้รับพระราชทานเครื่องยศ โต๊ะถม กาถม รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๘๐ บาท ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนบันดาศักดิ เปนพระบริบูรณโกศากร ได้รับพระราชทานเครื่องยศ โต๊ะทองคำ กาทองคำ แลได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๖๐ บาท มาในพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้รับราชการตำเหน่งอธิบดี กรมสรรพภาษี ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๔๐๐ บาทอยู่ปีหนึ่ง ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๔๖ โปรดพะราชทานเลื่อนบันดาศักติ เปนพระยาบริบูรณโกศากร ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๓๒๐ บาท และได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา

พระยาโชดึกราชเศรษฐีผู้นี้ ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ สมควรแก่หน้าที่เปนการเรียบร้อย แลทำการที่เปนประโยชน์ต่าง ๆ มาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดมากด้วยเปนที่ชอบพระราชอัธยาไศรย ในการปฏิบัติราชการ แลทรงคุ้นเคยส่วนพระองค์ เพราะได้ฉลองพระเดชพระคุณในการตั้งโต๊ะเครื่องลายคราม เปนผู้สะสมของเก่า แลมีความรู้ในสิ่งของที่ดีเลวต่าง ๆ จนพระราชทานนามสมมุติโดยความที่ทรงคุ้นเคย ว่าอาจารย์กิมตึ๋ง แลเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๓๓ ครั้งยังเปนพระบริบูรณโกศากรอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิรไปที่บ้าน โดยทรงพระมหากรุณาได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แลนำเสด็จทอดพระเนตรตามสถานที่อยู่ในบ้าน แลนำเสด็จทอดพระเนตรโรงสีกลไฟ ที่ตั้งอยู่ริมบ้าน แล้วได้จัดเครื่องจักรหมุนสีเข้าเปลือกออกเปนเข้าสารถวายทอดพระเนตร แลทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องลายครามสำหรับตั้งโต๊ะเปนอันมาก ตามที่ต้องพระราชประสงค์ การที่ได้รับเสด็จพระราชดำเนิรที่บ้านดังนี้ ย่อมเปนเกียรติยศอันควรรลึกสืบไปสิ้นกาลนาน

เมื่อจะกล่าวด้วยอัธยาไศรยของพระยาโชดึกราชเศรษฐี ย่อมเปนคนมีน้ำใจกว้างขวางโอบอ้อมอารี เปนต้นว่าผู้ที่เล่นเครื่องลายครามชอบของสิ่งใดก็แจกจ่ายให้ปันมิได้หวงแหน ได้มาตั้งโต๊ะฉลองพระเดชพระคุณในการหลวงเปนอันมาก จึงเปนที่ชอบพอรักใคร่คุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ แลชนทั้งปวงเปนอันมาก

ครั้นมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัฏบันดาศักดิ เปนพระยาโชดึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าซ้าย พระราชทานยศเปนมหาอำมาตย์ตรี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า แลเครื่องยศพานทอง คนโททอง กระโถนทอง โปรดเกล้า ฯ พระราชทาน เบี้ยหวัดปีละ ๓๒๐ บาท รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อมา

ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระยาโชดึกราชเศรษฐี ป่วยเปนบุราณโรค ป่วยอยู่ห้าเดือนเศษ แล้วอาการมาหนักลงกลายเปนอำมพาต เดือนหนึ่งก็ถึงอนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ ที่ ๓๑ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จันทรคติกาลเปนขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๑๒ ปีขาน

มีบุตรที่อยู่เดี๋ยวนี้ เกิดแต่เพิ่มเอกภรรยา คือ พระบริบูรณโกศากร ( ผ่อง โชติกะพุกกณะ) อายุได้ ๓๙ ปี เปนบุตรที่ ๑ บุตรีหญิงชื่อเยื่อน อายุได้ ๓๕ ปี เปนภรรยาพระยามหาเทพ (กระเษียร อมาตยกุล) บุตรีหญิงเกิดแต่ภรรยาน้อย ชื่อแป้น อายุ ๘ ปี

เพราะเหตุที่พระยาโชดึกราชเศรษฐี เปนผู้ที่ได้รับพระมหากรุณา ดังกล่าวมาแล้วนี้ เจ้าภาพจึ่งมีประสงค์ที่จะได้พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพิมพ์จำหน่าย แต่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ มีแต่เรื่องใหญ่ ๆ ไม่พอแก่เวลาที่จะลงพิมพ์ จึ่งได้เลือกโคลงสุภาสิตที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มาลง แต่เพื่อจะให้เปนการสมประสงค์ของเจ้าภาพ จึ่งค้นได้โคลงพระราชนิพนธ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ชื่อว่าโคลงโสฬสไตรยางค์ เปนโคลงสุภาสิตทำนองเดียวกับเรื่องที่ลงต่อไป ลงพิมพ์ไว้ในเบื้องต้น ต่อจากคำนำไป

ขอหนังสือที่ลงพิมพ์นี้ จงอยู่เปนของถาวร เปนเกียรติยศแก่ พระยาโชดึกราชเศรษฐี (ฮวด โชติกะพุกกณะ) สิ้นกาลนาน ตลอดบุตรหลานวงศสกุลนั้นเทอญ ๚ะ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๙ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

สมมตอมรพันธุ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ