เวลา ๑๙ นาฬิกาเศษ หลวงอรรถคดีวิชัยพึ่งกลับถึงบ้านด้วยความที่เดินพลางใช้ความคิดพลาง จนลืมตัว วิชัยมิได้เห็นว่ามีรถยนต์จอดอยู่ที่ริมสนาม แต่ผู้ที่มากับรถนั้น นั่งรวมกันเป็นหมู่อยู่ตรงริมบันไดเรือนมองเห็นเขาแต่ไกล พอเขาเดินเข้ามาใกล้ก็ร้องทักและแสดงความเคารพ วิชัยรับไหว้เขาเหล่านั้นยังมิทันเอ่ยปากทักตอบ มารดาของเขาก็กล่าวคำต้อนรับขึ้นก่อนว่า

“อ้อ ! กลับมาคนหนึ่งละ แขกมาคอยอยู่ตั้งชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ชาย ๒ คนช่างน่าชื่นใจเหลือเกิน พ่อคนใหญ่ก็ยังงั้น พ่อคนเล็กก็ยังงั้น ตื่นเช้าไปทำงานแล้วก็หายเลย รุ่งเช้าอีกวันหนึ่งจะพบกันใหม่ พ่อใหญ่มาถึงไม่เท่าไรก็จะตั้งต้นแล้ว กลับจากทำงานจนเกือบ ๑ ทุ่ม”

วิชัยนั่งลงบนบันไดขั้นหนึ่ง นิ่งฟังมารดาพูดจนจบ แล้วค่อย ๆ ปลดดุมเสื้อออกทีละดุมจนครบ ๕ แล้วจึงพูดขึ้นเรียบ ๆ ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างเศร้า

“ผมกลับจากบ้านช้อยเดี๋ยวนี้เอง อาการสมานทรุดมากจนน่ากลัวอันตราย”

“ก็ไหนแกบอกกับฉันว่าไปเยี่ยมเมื่อวานนี้ เขาก็ยังดี ๆ อยู่ไม่ใช่หรือ?” คุณนายชื่นถามด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ

อาการกำเริบเมื่อคืนนี้ตอนดึก ท้องเดินเรื่อยตั้งแต่ตี ๓ จนป่านนี้”

“ก็เสร็จกันเท่านั้นเอง” ชดลงความเห็น

“ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่รอดไปได้อีกไม่กี่เดือน ไม่วันนี้ก็วันหน้า อันที่จริงเร็ว ๆ ดีกว่าไม่ต้องทรมานมากนัก” นี่เป็นความเห็นของชิด

“พี่เห็นว่าจะต้องหาหมอไปช่วย หมอที่รักษาอยู่เวลานี้อีกสักคนหรือ ๒ คน” วิชัยว่า

“มากหมอมากความ ไหน ๆ ก็ตายเหมือนกัน” ชดกล่าว

“นั้นน่ะซี มากหมอก็มากเงิน เก็บไว้เลี้ยงลูกดีกว่า” ชิดสนอง

“เรื่องลูกต้องเก็บไว้พูดทีหลัง เวลานี้พ่อกำลังจะตาย เราต้องช่วยกันคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้รอดได้” หันหน้าไปทางพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ ฯ วิชัยพูดสืบไปว่า “รู้จักหมอที่ชำนาญทางลำไส้บ้างไหมครับ ผมเองไม่มีความรู้เสียเลย”

บุรุษทั้ง ๒ นิ่งคิด ชดก็ตอบขึ้นก่อนว่า

“ก็หลวงเทพเสนารักษ์ยังไงล่ะคะ เห็นพี่ช่วงชมเชยว่าเก่งนัก”

“นั้นแหละดี” ชิดเห็นด้วยกับพี่สาวตามเคย

“แล้วเป็นหมอที่คุ้นเคยกับพวกเราด้วย ขอแรงเขามาช่วยดู ไม่ต้องเสียเงินมาก”

“ถ้าเราจะนึกถึงชีวิตคน เราต้องเลิกนึกถึงเรื่องเงินชั่วคราว” พระวิวิธวรรณาการขัด

“พิโธ่ ก็เรารู้แล้วนี่คะว่าถึงหมอวิเศษอย่างไรก็รักษาชีวิตไว้ไม่รอด เราก็ต้องคิดถึงเงินไว้บ้างซี” ชิดตอบสามี

“คุณพระรู้จักหมอดี ๆ บ้างอีกไหมครับ?” วิชัยตัดบท สำแดงความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว

“มีนายแพทย์ชลออีกคนหนึ่ง เขาเป็นคนมีชื่อในทางรักษาโรคภายในเหมือนกัน ถ้าคุณหลวงต้องการตัวเขาเมื่อไรก็บอกให้ผมทราบเถิด ผมจะจัดการให้”

“ขอบคุณครับ พรุ่งนี้ผมจะต้องไปพบกับหลวงเทพ ฯ ปรึกษาเขาดู ตกลงอย่างไรจะเรียนให้คุณพระทราบ”

ชดกับชิดสบตากันแล้วพร้อมกันค้อนพี่ชายวงใหญ่ แต่วิชัยหาเห็นไม่ เขากำลังสาละวนหาบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อนอกของเขาเอง และหาได้แต่ไม้ขีดไฟซึ่งเมื่อหยิบออกวางรวมกันไว้แล้วก็นับได้ถึง ๕ กลัก

“เอาซองบุหรี่ไปทิ้งที่ไหนแล้วซี !” ชิดเอ่ยขึ้นอย่างแสนหมั่นไส้ ครั้นพี่ชายพยักหน้าสารภาพหล่อนก็อดที่จะหัวเราะด้วยความขันมิได้ พระวิวิธฯ ส่งซองบุหรี่ของตนให้วิชัย ในขณะภรรยาของคุณพระพูดต่อไป “เมื่อวานซืนนี้เหมือนกัน ไปหาหลานว่ามีของไปฝาก เปล่า ทิ้งเสียในรถแท้กซี่ฉิบ วันนี้พอบอกว่าจะมาที่นี่ พ่อหลานกับแม่ยายก็เอะอะกันใหญ่ จะตามมาด้วยให้ได้ ถ้าเห็นจะอยากมาทวงของเล่นหรือยังไงแหละ”

“สุนทรกับเชยชื่นของพี่ก็ต้องตามเหมือนกัน” ชดบอก “๒ คนนั่นไม่ได้นึกถึงของเล่นหรอก อยากจะมาหาลุงจริง ๆ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงช่างรักลุงนัก อันที่จริงก็ไม่ค่อยได้พบปะกัน ได้ยินแต่ชื่อ ทำไมถึงติดอกติดใจนักไม่ทราบ”

“เห่อน่ะ” ผู้เป็นยายของเด็กแสดงความเห็น “เวลานี้ใคร ๆ ก็กำลังลุง ๆ แกก็พลอยลุงไปกับเขายังงั้นเอง”

“ผมนึกจะพาเขามาด้วย แต่เราตกลงว่าจะรับประทานข้าวที่นี่ กลัวว่าจะกลับดึกไป เดี๋ยวง่วงนอนขึ้นมาเขาก็จะเอะอะเอา”

“เอ๊ะ !” เจ้าของบ้านผู้มีอาวุโสร้องขึ้น “นี่ตกลงว่าจะกินข้าวที่นี่หรือ เออแน่ะ เพิ่งจะบอกเดี๋ยวนี้เองแหละ จะกินกันทั้ง ๔ คนหรือยังไง”

“ค่ะ” ชิดรับ “เว้นเสียแต่คุณแม่จะไม่มีให้รับประทาน”

“เจ้าสำบัดสำนวน” คุณนายชื่นว่าพลางยิ้ม “ไม่มีก็หาเติมเดี๋ยวก็แล้ว อ้อ ฉันจะทำของชอบให้พ่อหลวง น้ำพริกแมงดายังไงล่ะ ตั้งใจจะเอาไปให้ที่บ้านเทียวนะ”

คุณนายขมีขมันเข้าไปในห้องรับประทานอาหาร ข้างฝ่ายชิดพูดกับพี่ใหญ่ว่า

“พี่ใหญ่จัดการเรื่องผ้านุ่งของดิฉันแล้วหรือยัง?” สีหน้าวิชัยสารภาพความลืมออกมาทันที ผู้พูดจึงหัวเราะแล้วว่า “นั่นไหมล่ะ เมื่อตะกี้ฉันท้าพนันไม่มีใครสู้นี่”

“ก็ใครเขาจะสู้ เขารู้กันทั้งนั้นว่าพี่ใหญ่จะต้องลืม” เป็นคำตอบของชด

“โธ่ ธุระพี่ท่วมหัว จะเอาเวลาที่ไหนนึก” วิชัยแก้ “เดี๋ยวพี่จะเขียนโทรเลขไว้ให้เสียเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้เช้าหล่อนไปส่งเองก็แล้วกัน” พูดแล้ววิชัยค้นได้กระดาษแผ่นหนึ่งในกระเป๋าเสื้อ ก็เขียนข้อความที่ต้องการลงแล้วยื่นให้ตรงหน้าน้องสาวทั้ง ๒

ชิดรับมาถือไว้ “สตางค์ค่าส่งล่ะคะ?” พูดแล้วหล่อนแบมือออก

“พิโธ่” พระวิวิธอุทาน “ผ้านุ่งของหล่อนเองแท้ ๆ”

“ก็พี่ใหญ่อยากลืมทิ้งไว้ทำไมล่ะ” ชิดเถียงอย่างว่องไว ส่วนวิชัยนั้นถือธนบัตร ๒ ฉบับคอยท่าอยู่แล้วหัวเราะแล้วพูดว่า

“นับดูทีหรือกี่คำ”

ชดกับชิดช่วยกันนับคำในร่างโทรเลข ตกลงกันไม่ได้ว่ากี่คำหลวงวิโรจน์ฯ เข้าช่วยอีกคนหนึ่งและชี้ขาดว่า ๑๕ คำ ชิดก็ฉวยธนบัตรจากมือพี่ พับใส่กระเป๋า พระวิวิธ ฯ มองตามมือภรรยา พลางนึกช่วยคิดจำนวนสตางค์ที่ต้องทอน แต่ชิดหานึกถึงสิ่งเล็กน้อยเช่นนั้นให้เสียเวลาไม่ หล่อนปิดกระเป๋าแล้วก็นั่งเท้าแขนอย่างวางอารมณ์

ชดพูดขึ้น

“เออ พี่ใหญ่จัดการเรื่องผ้านุ่งแล้วทีนี้ดิฉันจะบอกให้รู้ละว่าธุระที่พี่ใหญ่ใช้ดิฉันก็สำเร็จแล้วเหมือนกัน”

“อะไรอีกล่ะ?” วิชัยถามด้วยเสียงค่อนข้างดัง

น้องสาวของเขาหัวเราะกิ๊ก “เลยตกใจ !” หล่อนว่า “ตกใจหรือลืมแล้ว แม้แต่ธุระของตัวเอง? เรื่องรถยังไงล่ะคะ คุณหลวงหาให้ได้แล้ว รถเขาดี๊ดี ใช้ได้ปีกว่าเท่านั้น เขาจะขาย ๗๐๐ บาท”

“ฮื่อ ไม่ใช่น่ะ” หลวงวิโรจน์ ฯ ค้าน “๖๐๐ บาท ต่างหาก”

“ฮื้อ ใช่เมื่อไหร่” ชดขึ้นเสียงมองเขม็งดูสามี “๗๐๐ ต่างหาก”

“เอ้า !” วิชัยกล่าวพลางยิ้ม “๗๐๐ หรือ ๖๐๐ แน่ รถอะไรก็ยังไม่ได้รู้เลย”

สามีกับภรรยาพูดขึ้นพร้อมกัน

“รถเฟียตเล็กครับ”

“เขาบอก ๘๐๐ ค่ะ เราต่อลงมาจนเขายอมให้ ๗๐๐”

วิชัยพยักหน้า แล้วถามถึงคุณค่าของรถต่อไป หลวงวิโรจน์ ฯ รับหน้าที่ชี้แจงตามความเห็น และความรู้ของตนและตกลงกันในที่สุดว่า วิชัยจะได้เป็นเจ้าของรถคันนั้นภายใน ๒-๓ วันนี้

ต่อจากนั้นวิชัยถูกน้องทั้ง ๒ เร่งให้ไปชำระกายเสียให้สบายก่อน ซึ่งเขารีบปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ

เมื่อเขากลับมาข้างล่างอีกนั้น เป็นเวลา ๑๙.๓๕ นาฬิกา มีเสียงต้อนรับว่า “เออ ! เสร็จแล้ว” แต่ยังไม่มีใครชวนใครให้รีบไปบริโภค ครั้นนาฬิกาตี ๕ ครั้งมีเสียงบ่นว่าหิวดังขึ้น ก็ยังไม่ได้รับคำเชื้อเชิญ อีก ๑๕ นาทีต่อมาเสียงหิวทั้งดังมากและทั้งประสานกันหลายเสียง คุณนายชื่นพูดขึ้นว่า

“เดี๋ยว รอพ่อชัดประเดี๋ยวเถิด”

ผู้หิวหาเรื่องพูดคุยต่อไปเพื่อให้ลืมหิว แต่ก็คุยเป็นปกติไม่ได้นานนัก หน้าอันขาวของหลวงวิโรจน์ ฯ เริ่มจะเขียว และพระวิวิธ ฯ มีอาการนั่งไม่เป็นสุข ภรรยาของบุรุษทั้ง ๒ นี้เริ่มไม่สบายใจ ในที่สุดก็อดปากอยู่ไม่ได้

“ตาชัดละนิวแซนยังงี้เสมอแหละ” ชิดว่า

“เขารับประทานอาหารข้าวบ้านไม่ขาดทีเดียวหรือคะ” ชดถามเป็นกลาง ครั้นไม่มีใครตอบ หล่อนก็หันไปทางพี่ชาย

“หรือคะ พี่ใหญ่ พ่อชัดรับประทานข้าวบ้านไม่ขาดเลยหรือ?”

วิชัยหัวเราะพลางสั่นศีรษะ คุณนายชื่นนิ่วหน้าแล้วตอบแทน

“พ่อใหญ่จะรู้อะไร ตัวเองก็ไม่ได้กินข้าวบ้านทุกวัน”

พระวิวิธ ฯ วางหน้าขรึม หลวงวิโรจน์ ฯ ชำเลืองมองดูแม่ยายตนจึงเปลี่ยนเป็นยิ้มแหย วิชัยตัดสินขึ้นอย่างใจเย็น

“อย่าคอยเขาเลยครับคุณแม่เกินเวลาแล้ว พวกเราหิวกันทุกคนถ้าเขามา เราอิ่มเสียแล้วก็ไล่เขาไปหารับประทานที่อื่นก็แล้วกัน เขาคงไม่รังเกียจนัก”

“ตามใจซี” คุณนายชื่นตอบ “พี่น้องเขารู้ใจกัน?”

ภาวะแห่งห้องกินข้าว เมื่อก้าวแรกวิชัยมาถึงนั้นเป็นเช่นไร บัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเวลา ๓ วัน เป็นเวลาที่สั้นและน้อยเกินไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่วิชัยต้องจัดทำ อย่างไรก็ตาม ถึงกระสอบนุ่นจะวางอยู่ข้างฝาและขวดน้ำปลาอยู่บนตู้ไซด์โบร์ด ส่วนโต๊ะอาหารนั้นมีผ้าปูขาวสะอาดแทนผ้าคลุม อาหารร้อนและเย็นส่งกลิ่นจัดวางอยู่บนนั้น ทั้งนี้เพราะนางณรงค์ริปูปลาตไม่ลืมว่าเขยที่ ๒ ของตนนั้น นั่งบริโภคบนพื้นกระดานไม่สู้ถนัด

ในเวลาแรกบริโภค ทุกคนไม่มีอาการอยากพูด ด้วยเหตุที่ว่าต่างคนต่างมุ่งหน้าบรรเทาความหิวให้แก่ตัวเองอยู่ด้วยกัน ต่อภายหลังเมื่อรู้สึกสบายขึ้นบ้างแล้วการสนทนาจึงมีขึ้น

เริ่มต้นด้วยหญิงผู้เป็นเจ้าของบ้านถามพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ว่าได้รับเชิญไปในการเลี้ยงซึ่งหลวงศักดิ์รณชิตเป็นเจ้าภาพหรือเปล่า ครั้นได้รับคำตอบปฏิเสธ คุณนายก็แสดงความประหลาดใจ วิชัยจึงชี้แจง

“เขาเชิญแต่นายทหาร ที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับผมและได้สนิทสนมกันเรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ รวมหมดด้วยกัน ๕ คน ทั้งตาหลวงศักดิ์”

“ถ้ายังงั้น เมื่อคืนนี้พ่อชัดก็คงไปทีเดียวกับพ่อใหญ่นั่นเอง”

“มิได้ครับ ตาชัดแกรุ่นเด็กกว่าพวกผมมาก ไม่คุ้นเคยกับพวกรุ่นผมเลย แกคงไปเที่ยวกับเพื่อนของแกซิครับ”

คุณนายชื่นแสดงความไม่เข้าใจ แล้วว่า

“รุ่นเด็กกว่าก็กินข้าวด้วยกันไม่ได้ !”

วิชัยไม่ติดใจจะต่อปากคำด้วยมารดา เขาหันไปพูดกับน้องหญิง

“แม่อนงค์ของตาชัดน่ะคือใคร?”

“คือผู้หญิงที่ตาชัดพาควงมาด้วย เมื่อเขากลับจากไปรับพี่ใหญ่น่ะซีคะ”

“ถูกละ พี่อยากรู้ว่าแกเป็นคนมีฐานะอย่างไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร อยู่ที่ไหน?”

“บ้านเขาอยู่ที่ถนนสระปทุม เป็นลูกพระยานิติธรรมสุนทร แม่ตายหลายปีแล้ว พ่อเพิ่งตายได้สัก ๒ ปี เวลานี้อยู่กับพี่ชาย หนุ่ม ๆ ทั้ง ๔ คนได้ยินว่าพ่อแม่ให้มรดกไว้คนละมาก ๆ”

“ดูเหมือนมีอาผู้หญิงอยู่ด้วย ๒ คน” ชดเสริม “อายุมากแล้ว ไม่มีสามีทั้งคู่”

“เข้าใจว่า พวกเขาจะชอบพอกับนายชัดของเรามาก” วิชัยพูดพลางยิ้มและชำเลืองดูมารดา “สังเกตตามน้ำเสียงนายสมพงศ์พี่ชายใหญ่ของอนงค์”

“โอ๊ย ยิ่งกว่ามากเสียอีก” คุณนายชื่นกล่าว “จะเอาตัวพ่อชัดให้อยู่ทีเดียว ก็พ่อใหญ่ไม่เห็นหรือเช้าถึง เย็นถึง ผู้หญิงอะไรยังงั้น เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น”

“ผู้หญิงที่กำพร้าแม่แต่เล็ก ๆ” พระวิวิธวรรณการกล่าวช้า ๆ “แล้วก็อยู่แต่กับพ่อกับพี่ ถูกตามใจจนเคยตัวเท่านั้นเอง !”

“มีหวังที่จะหัดให้เชื่องได้ !” วิชัยพูด

น้องหญิงทั้ง ๒ ของเขาหัวเราะขึ้นพร้อมกันเป็นเชิงเย้ย มารดาของเขากระแทกช้อนลงในชามแกงโดยแรง

“โอ๊ย ฉันไม่เอาหรอกย่ะ ใครจะเป็นคนมานั่งหัด พ่อชัดเองก็ราวกะลิงทะโมน ! แต่ว่าเขารับรองกับฉันเมื่อวานนี้เอง ว่าเขาไม่คิดอย่างโน้นอย่างนี้ เขาชอบกันเป็นเพื่อนเท่านั้น”

“ยังงั้นหรือครับ?” วิชัยถามพลางยิ้มด้วยตา ส่วนภายในใจกำลังนึกเปรียบเทียบระหว่างความ “ต้องหัดให้เชื่อง” สำหรับอนงค์กับคำกล่าวขวัญถึงคุณหญิงรานรอน ฯ ซึ่งได้ยินจากหลวงศักดิ์รณชิตเมื่อคืนก่อน

“หรือพ่อใหญ่จะอาสาเป็นคนหัด” คุณนายชื่นประชดแกมเย้า “ก็ขันอาสาเข้าไปซี”

วิชัยหัวเราะอย่างขบขัน

“ผมไม่รู้จักอนงค์คนนี้เลย” เขาว่า “ความเห็นของผมจึงเป็นความเห็นอย่างที่คิดว่า เผื่อจะเป็นไปได้บ้างกระมัง ผมไม่ยืนยันหรือคัดค้านกระไรทั้งสิ้น”

“พี่ใหญ่รู้จักกับพี่ชายของแม่อนงค์หรือคะ?” ชิดถาม

“รู้จัก ๒ คน ได้พบกันโดยบังเอิญเมื่อคืนนี้ คนหนึ่งชื่อสมพงศ์ อีกคนชื่อประสิทธิ์”

“คนที่บ้า ๆ บอ ๆ หน่อยใช่ไหม” หลวงวิโรจน์ ฯ ถาม “นั่นแหละ ผู้ชายคนสุดท้อง ผมพบเขาไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ กับสมพงศ์เสมอ ดูท่าทางเหมือนหมาติดเจ้าของ ดูยังไงไม่รู้”

วิชัยยิ้มอย่างเห็นด้วย แต่ไม่ส่งเสริมด้วยวาจาประจวบกับเวลานั้นคนใช้ยกของหวานมาวางลงบนโต๊ะ วิชัยนึกขึ้นได้ถึงลูกพลับที่เขาซื้อมาฝากมารดา มองไปในถาดผลไม้ ไม่เห็นมีลูกพลับเหลืออยู่ เขาจึงถามขึ้นว่า

“คุณแม่รับประทานลูกพลับหมดแล้วหรือครับ?”

“ไม่ได้กินสักลูกเดียว” คุณนายชื่นตอบ

“อ้าว ! เก็บไว้พรุ่งนี้คงงอมหมดผมเลือกมาสำหรับรับประทานวันนี้บ้างเก็บไว้ได้บ้าง คุณแม่เลือกดูหรือเปล่าครับ”

“จะได้เลือกอะไร พ่อชัดกินเสียหมดแล้ว”

“เอ๊ะ ตาชัดเอาเวลาที่ไหนมาแย่งลูกพลับคุณแม่”

“เขากินเสียตอนเช้า ๒ ลูก แล้วกลางวันอีก ๒ ลูก เลยหมด”

“เมื่อกลางวัน ตาชัดกลับมารับประทานข้าวหรือครับ?”

“จ๊ะ กินข้าวแล้วนอนหลับเสียตื่นหนึ่งถึงได้กลับไปกระทรวง”

หลวงอรรถคดี ฯ ยิ้ม เบือนหน้ามาทางพระวิวิธ ฯ แล้วถามว่า

“ต้นเงาะปีนังที่ผมส่งมาให้เป็นอย่างไรบ้าง?”

“แตกใบงามดี แต่เห็นจะอีกนานกว่าจะได้ดูลูก”

“ตามธรรมดาเงาะในบ้านเมืองเรา เขาปลูกกันกี่ปีจึงจะได้กินลูก” วิชัยถาม

“ถ้าต้นตอนราว ๓-๔-๕ แล้วแต่ที่ ผมกลัวว่าเงาะปีนังเอามาปลูกในกรุงเทพ ฯ ก็จะไม่ได้ผลดีเหมือนอยู่ถิ่นเดิมของเขา”

“เห็นจะไม่ได้” หลวงวิโรจน์ ฯ กล่าว “ได้ยินว่ามีคนทดลองเอามาปลูกกันมากแล้วไม่สำเร็จ อย่างที่หลังสวน เขาว่าได้พันธุ์มาจากปีนังมาก แต่ก็ไม่วิเศษอะไรกลับเลวเสียยิ่งกว่าเงาะกรุงเทพ ฯ บางสวนอีก”

“ผลไม้หลังสวนผมไม่เห็นมีอะไรดี” วิชัยว่า “แต่ก่อนลางสาดหลังสวนก็ขึ้นชื่อมาก เดี๋ยวนี้ก็เหลวนะครับคุณแม่ จะเป็นที่รีบเก็บเสียตั้งแต่ยังไม่แก่จัด หรือมีน้ำเลี้ยงไม่พอ?”

ในระหว่างที่พูด วิชัยเอื้อมมือหยิบส้มจีนที่เหลือยู่ในถาดเพียงผลเดียว พอจะปอกเปลือก ได้ยินเสียงคุณนายพูดเบา ๆ กับนางวิวิธ ฯ ผู้ซึ่งนั่งติดอยู่กับท่าน ท่านบุ้ยใบ้มาทางตน เขาจึงเงยหน้าขึ้นแล้วถามเบา ๆ เช่นเดียวกันว่า “อะไร?”

“เปล่า” คุณนายชื่นตอบพลางยิ้มจืด ๆ ครั้นบุตรชายมองดูอย่างจะขอความจริงจึงพูดต่อ “แม่บอกกับน้องเขาว่าเผอิญส้มเหลืออยู่เพียงลูกเดียว”

ดวงตาอันมีแววซื่อยังร้องขอความจริงต่อไป ผู้เป็นมารดาจึงต้องปฏิบัติตาม

“พรุ่งนี้เช้าไม่มีให้พ่อชัดกินแล้ว”

วิชัยวางส้มลงในถาดตามเดิม แล้วลุกจากเก้าอี้ หญิงทั้ง ๓ หันมามองดูพร้อมกัน แต่พอคนใช้โผล่ประตูห้องเข้ามา วิชัยก็กลับมานั่งลงดังเดิมพลางสั่งว่า

“ช่วยหยิบกระป๋องบุหรี่ให้ที”

หันมาทางพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ ฯ บุตรชายคนใหญ่ของนางศรีวิชัย ฯ พูดด้วยเสียงธรรมดาที่สุดว่า

“ทุกคราวที่ผมไปหลังสวน ผมนึกอยากจะจองที่ดินที่นั่น แล้วทำสวนผลไม้อย่างชาวพื้นเมือง แต่ใช้ความพยายามให้มากกว่า และเอาวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเล็กน้อย คิดว่าจะได้ผลไม้อย่างดีเป็นสินค้าสำคัญทีเดียว อย่างที่เขาทำกันทุกวันนี้ ทำตามสบายเสียเหลือเกิน ปล่อยให้ธรรมชาติปรุงแต่งฝ่ายเดียว ดูราวกับทำเล่น”

การสนทนาก็ดำเนินเป็นปกติต่อไป

ราวชั่วโมงหนึ่งต่อมา ในระหว่างที่นั่งรถกลับบ้าน พระวิวิธวรรณการหัวเราะขึ้นอย่างลอย ๆ แล้วพูดว่า

“คุณแม่ของเธอน่ะออกจะหนักมืออยู่หน่อยนะ”

“ทำไมคะ” ผู้เป็นภรรยาถาม

“รักลูกไม่เท่ากัน”

“คุณพระเห็นว่าท่านรักใครมาก?” เป็นคำถามอย่างเห็นขัน “ดิฉันรู้สึกว่าท่านรักดิฉันทั้ง ๕ คนเท่า ๆ กันทีเดียว แต่ว่าพวกเขยละก็ หลวงวิโรจน์ ฯ เป็นขึ้นหน้า เพราะเขาเอาใจใส่ประจบประแจงท่านเสมอ คุณพระนะแต่ก่อนนี้ท่านก็รักมาก ดูเหมือนจะมากว่าใครหมด แต่ทีหลังมาคุณพระทำเฉย ๆ กับท่าน เดี๋ยวนี้จึงสู้คนอื่นเขาไม่ได้”

พระวิวิธ ฯ นิ่งฟังภรรยาโดยอาการสงบ ทั้งที่ตนเองมิได้ยินดียินร้ายแม้แต่น้อย ในความรักของแม่ยายที่มีต่อตนหรือเขยอื่น เมื่อหล่อนพูดจบแล้วคุณพระจึงว่า

“ลำเอียงจนเห็นชัด”

“อ๋อ” พูดพลางหัวเราะ “เรื่องแมงดาน่ะหรือคะ พิโธ่ เท่านั้นเอง ก็ท่านไม่รู้นี่ว่าคุณพระก็ชอบเหมือนกัน แต่ดิฉันไม่เชื่อว่าถ้าท่านส่งไปให้พี่ชด ท่านก็คงส่งไปที่บ้านเราด้วย”

พระวิวิธ ฯ นิ่งฟังได้เช่นเดียวกับคราวก่อน และรออยู่จนเห็นภรรยาไม่พูดต่อแน่แล้ว จึงว่า

“ฉันหมายความถึงเรื่องส้มจีน”

“ส้มจีนที่ไหน”

“ส้มที่หลวงอรรถ ฯ จะกินแล้วเลยไม่ได้กิน เพราะแม่จะเก็บไว้ให้น้อง”

“อ้อ” เป็นคำรบ ๒ “โธ่ ก็ตาชัดแกกินอะไรไม่ค่อยเป็นนี่คะ แกชอบแต่พวกส้มเท่านั้น ส่วนพี่ใหญ่กินได้สารพัด”

“ถึงยังงั้นก็เถอะน่ะ ไอ้คนที่อยู่จะกินกลับขัดคอเพราะจะเก็บไว้ให้คนที่ไม่อยู่”

“ก็ท่านว่ากระไรเมื่อไหร่คะ ท่านชี้ให้ดิฉันดู ดิฉันยังไม่เข้าใจว่าอะไรด้วยซ้ำ พี่ใหญ่อยากถามท่านก็บอกน่ะซี แล้วท่านก็ไม่ได้ห้ามไม่ใช่หรือ?”

“ไอ้การที่ชี้บุ้ยชี้ใบ้กับหล่อนน่ะแหละ มันยิ่งเสียกว่าห้ามอีก ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ว่าขอไว้ให้น้องยังจะดีเสียกว่า”

“เอ้อ ! ไม่มีใครเขาคิดมากเหมือนคุณพระหรอกค่ะ พี่ใหญ่แกรักตาชัดจะตาย รักมากกว่าน้องคนอื่น ๆ ทั้งหมดแหละ อีกอย่างหนึ่งตาชัดก็อ่อนกว่าพี่ใหญ่เกือบจะว่าคราวลูก พี่ใหญ่จะอิจฉาตาชัดก็เหลือเกินไปละ”

ความจริงเรื่องที่พระวิวิธ ฯ พูดขึ้นนี้มิใช่ข้อปัญหาที่เกี่ยวกับการอิจฉาหรือไม่อิจฉา แต่เมื่อเห็นภรรยาไม่พยายามเข้าใจความหมายที่แท้จริง หรือสติปัญญาของหล่อนไม่ลึกพอที่จะเข้าใจก็ตาม พระวิวิธวรรณการเป็นผู้ไม่ชอบพูดมากโดยไม่จำเป็น จึงไม่ได้แย้งสืบไปอีก

ข้างฝ่ายนางวิโรจน์เกษตรกิจ พอรถแล่นออกพ้นบ้าน หล่อนก็หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่สามี และว่า

“คุณหลวงละอะไรก็ไม่รู้ อยู่ดี ๆ บอกกับพี่ใหญ่ว่าเจ้าของรถเขาจะเอา ๖๐๐ บาท ดิฉันนำขึ้นแล้วทีเดียวว่า ๗๐๐ ยังขัดคอต่อไปอีก”

“ก็เขาบอกกับฉันว่าจะเอา ๖๐๐ เท่านั้นนี่นา”

“เขาจะเอา ๖๐๐ ก็ดิฉันจะเอา ๕๐ นี่นา ค่านายหน้า”

“ก็ฉันรู้เมื่อไหร่เธอตกลงกับเขาไว้อย่างไร ไม่เห็นบอกกล่าวกันสักคำ”

“บอกอะไร ก็ดิฉันไม่ได้ตกลงอะไรกับเขาสักหน่อย”

“ไหนว่าจะเอาค่านายหน้า?”

“ค่านายหน้าเกี่ยวอะไรกับเจ้าของรถด้วย เราถึงจะต้องบอกเขาล่ะ เขาต้องการเงิน ๖๐๐ เราก็ให้เขาเท่านั้น เหลือนั่นก็เป็นของเรา”

หลวงวิโรจน์ ฯ อึ้งไปนาน ภรรยาเขาก็เสริมต่อ พลางหัวเราะอย่างปลาบปลื้ม

“อันที่จริงดิฉันบอก ๗๐๐ สำหรับเผื่อพี่ใหญ่ต่อ ๕๐ บาท เธอไม่ยักต่อ”

“ก็เพราะแกเชื่อใจเราน่าซี เราบอกแกว่า เห็นควรแกก็พลอยเห็นด้วย ไม่เอาละ พรุ่งนี้ไปบอกลดเสียร้อยหนึ่งเถอะ”

“อี้ ! ธุระอะไรนะ ลาภถึงมือแล้วยังจะขัดลาภตัวเอง มีอย่างหรือ”

“โธ่ มันน่าเกลียดนะเธอ เราไม่ใช่เด็ก”

“อะไรนะ คุณหลวงนี่ยุ่งจริง ช่างเขาเถอะน่า เขาพี่น้องก้นแท้ ๆ กะอีแค่เงิน ๑๐๐ บาท พี่ใหญ่เคยให้ดิฉันมากกว่านี้อีก”

ความยอมให้แก่ภรรยาเป็นอุปนิสัยสำคัญประการหนึ่งที่มีอยู่ในหลวงวิโรจน์ ฯ และยังมี “เขาพี่น้องกันแท้ ๆ” เป็นคำเถียงสนับสนุนอยู่ด้วย สามีผู้ใจดีจึงอยู่ในอาการยอมจำนน และปรารภอย่างออดว่า

“ยังมีค่าโอนทะเบียนรถอีก จะให้ฝ่ายโอนเป็นผู้จ่าย”

“ดิฉันจะจ่ายเองรำคาญใจนัก” แล้วหล่อนก็ระบายลมอย่างสบายใจ เพราะหล่อนเชื่อว่าตัวเองใจดีพอแล้ว !

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ