วันนี้เป็นวันอาทิตย์ และเป็นอาทิตย์ที่แปลกสำหรับคนในบ้านสุขนิวาส เพราะเจ้าของบ้านนี้รวมทั้งสิ้น ๕ คน เป็นชาย ๔ มีนายสมพงศ์เป็นอาวุโส นายแสวง นายจำลอง นายประสิทธิ์ เป็นคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รองลงมา เป็นหญิง ๑ คือนางสาวอนงค์ จะได้บริโภคอาหารกลางวันร่วมกัน นับเป็นเหตุการณ์ที่ประหลาดใหญ่หลวง และก่อให้เกิดการอลหม่านกันทั้งบ้าน ที่ในครัวเต็มไปด้วยคนใช้หนุ่ม ๆ ล้วนแต่กลุ้มรุมแม่ครัวจะรับกับข้าวของชอบไปให้นายของตน “ไหนล่ะ แกงเผ็ดของคุณสมพงศ์?” “ไหนล่ะ แกงจืดของคุณแสวง?” “ไหนล่ะ ยำใหญ่ของคุณจำลอง?” “ไหนล่ะ น้ำพริกมะอึกของคุณสมพงศ์?” “ไหนล่ะ น้ำปลามะนาวของคุณแสวง?” “ไหนล่ะ น้ำพริกกุ้งแห้งของคุณจำลอง?” ส่วนอาหารประจำตั้งแลอยู่ไม่มีใครเอื้อ แม่ครัวผลักลูกที่กำลังดื่มนมกระเด็นไปทางหนึ่ง ฉวยมีดมาปอกกระเทียม ลูกสาวคนโตตักกะปิใส่ครกโขลก สายสะไบของแม่ติดเข้าไปด้วย นางแม่ลากมา ลูกน้อยดึงไปดูด นางแม่เหลือแต่ตัวเปล่า สามีโดดเข้าช่วยพัดไฟ ลูกเขยช่วยหั่นผักชี ส่วนผู้คอยยกช่วยส่งเสียงเร่ง แม่ครัวด่าลูก ด่าครก ด่าเขียง ด่ามีด ด่าหมู ด่าถ่าน เสียงต่าง ๆ ผสมกันอึกทึกดังหนึ่งห้องครัวจะถล่มทลาย

ส่วนในห้องกินข้าว นายสมพงศ์กับนายแสวง ๒ นายนี้แต่งตัวอย่างจะออกนอกบ้าน คนหนึ่งนั่งอยู่ตรงหัวโต๊ะมองดูจานเปล่า คนหนึ่งเดินเอามือไขว้หลังวนไปวนมารอบโต๊ะ นายจำลองแต่งตัวอย่างอยู่บ้านยืนพิงหน้าต่างอ่านหนังสือพิมพ์ ประสิทธิ์นั่งกอดเข่าตาปรืออยู่บนธรณีประตู

“กับข้าวกลางวัน วันนี้เห็นจะได้กิน ๔ โมงเย็น” เสียงนายแสวงบ่น

“เขาไม่รู้นี่นาว่าจะกินข้าวพร้อมกันดังนี้” สมพงศ์แก้

“พร้อมหรือไม่พร้อม มันธุระอะไรของแม่ครัว หน้าที่ของตัวมีแต่ทำกับข้าวให้เสร็จตามเวลา นี่ไม่เห็นมีอะไรสักอย่าง”

จำลองปิดหนังสือพิมพ์ที่กำลังอ่าน เดินไปยังหน้าต่างใกล้ตัวที่สุด ตะโกนออกไปว่า

“เฮ้ย ! กับข้าวมีแล้วบ้างหรือยัง ยกมาบ้างซิ หิวจะตายโหงอยู่แล้ว”

“ฮี่ ! ผมก็หิวจัง” ประสิทธิ์พึมพำ

“อันที่จริงมันก็เพิ่งบ่ายโมงเท่านั้น” สมพงศ์พูด

“บ่ายโมงกะผีอะไร จวนจะ ๒ โมงอยู่แล้ว” แสวงว่า

“ฮี่ อีก อีก ๔๐ นาทีจะ ๒ โมง”

“เฮ่ย ไอ้นาฬิกาของแกมันบุโร ส่งไปโรงโปเกเสียทีเถอะ”

จำลองอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไปได้อีกเล็กน้อย แล้วเงยหน้าขึ้นพูดว่า

“อนงค์ทำไมถึงยังไม่ลงมา”

สมพงศ์ลุกจากที่ไปยืนเท้าบันได แล้วเรียกเสียงดัง

“อนงค์ อนงค์กินข้าว”

“อนงค์ อนงค์ !” แสวงตะโกนดังกว่าพี่ชายหลายเท่า “มากินจานกับผ้าปูโต๊ะ”

พอดีคนใช้ ๓ คนยกข้าว และกับข้าว ๕ สิ่งมาวางไว้บนโต๊ะ จำลองกับประสิทธิ์จึงเข้านั่งที่ แสวงลงมือตักข้าว สมพงศ์ยืดตัวมองดูอาหารทั้งหมดแล้วเบือนหน้าอย่างพื้นเสีย

“ไม่มีแกงเผ็ด” เขาพูดแล้วหันไปจ้องดูหน้าคนใช้ “นี่ ฉันบอกแล้วนะ ว่าวันไหนฉันกินข้าวบ้าน วันนั้นต้องมีแกงเผ็ด พวกแกหูแตก หรือแม่ครัวไม่มีหัว”

คนใช้เหลียวล่อกแล่กมองดูกัน ในที่สุดคนหนึ่งตอบว่า

“แกงเผ็ดมีครับ แม่ครัวกำลังตัก”

“ก็ทำไมถึงเพิ่งตัก” ผู้เป็นนายถามเสียงเขียว “ไอ้แกงเผ็ดน่ะ ไม่ต้องกินร้อน แกงไว้ค้างคืนก็ได้ ทำไมถึงกับช้ากว่ากับข้าวอื่น ไปยกมาเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องตักยกมาทั้งหม้อ”

คนใช้คนหนึ่งวิ่งถลันออกไป ก็พออีกคนหนึ่งยกชามแกงเผ็ดสวนเข้ามา

“ทีหลังบอกแม่ครัวว่า ให้แกงเผ็ดติดหม้อไว้เสมอเรียกเมื่อไรให้ได้” สมพงศ์สั่ง

เงียบเสียงคุณที่ ๑ คุณที่ ๒ ก็เอ่ยขึ้น

“ถุย ! แกงจืด จืดจริงเหมือนน้ำลายเจ๊ก”

“เติมน้ำปลาเสียซี” สมพงศ์บอก

“เติมเวลานี้จะได้ปร่าเป็นน้ำล้างหัวล้าน”

ยังไม่สุดเสียงคนที่ ๒ คนที่ ๓ เอ่ยขึ้นว่า”

“ไอ้น้ำพริกนี่ทำไมถึงใสนัก” หันไปทางคนใช้ “ช่วยบอกแม่ครัวเขาทีเถอะ ตำน้ำพริกให้ข้นหน่อยไม่มีอะไรจะใส่ก็ขี้ตีนก็ได้ ขอแต่อย่าให้มันจิ้มไม่ติดยังงี้หน่อยเลย”

“น้ำพริกข้นอยู่นี่แน่ะ เหม็นสาบกุ้งแห้งจะตายไป ใส่ลงไปทำไมไม่รู้” พูดพลางสมพงศ์ผลักถ้วยน้ำพริกไปให้พ้นหน้า

“เอามานี่” แสวงบอกคนใช้ “เอาไอ้น้ำล้างตีนนี่ไปที”

“บา ! ไอ้น้ำปลาจิ้มไข่ทอดนี่ปากระเทียมลงไปด้วย”

“ไม่ใส่กระเทียมก็ไม่อร่อย” สมพงศ์พูดเรื่อย ๆ

“ฮี่ ไม่อร่อย ไม่อร่อย ต้องใส่กระเทียม”

แสวงเงยหน้าขึ้นจ้องดูประสิทธิ์แล้วถาม

“แกลองนึกพูดอะไรขึ้นเอง โดยไม่เอาอย่างเขาบ้างได้ไหม?”

“ก็เผอิญความเห็นมันตรงกันนี่นา” พี่ชายใหญ่ตอบแทน

แสวงแสดงสีหน้าไม่ใยดีแล้วก็นิ่งเสีย

“อนงค์ไม่ลงมาจนแล้วจนรอด” จำลองปรารภ

“ขึ้นไปตามคุณอนงค์ทีนะ” แสวงสั่งคนใช้ “บอกว่าอั๊วคอยอยู่ ไอ้เรื่องกินข้าวไม่พร้อมกันนี่เบื่อจริง”

คนใช้หายไปประมาณเกือบ ๕ นาที อนงค์จึงเยื้องกรายเข้ามาในห้อง

“แหม ! ทำอะไรอยู่นะน้องถึงลืมกินข้าว” สมพงศ์ถาม

“อ่านหนังสือค่ะ” หญิงสาวตอบพลางนั่งลงบนเก้าอี้ตรงข้ามกับพี่ชายใหญ่

“เรื่องอะไรสนุกนักเทียวหรือ” จำลองถามต่อ

“เรื่องอำนาจความรักค่ะ”

“แม่โว้ย !” แสวงอุทาน “เห็นจะจับใจพิลึกนะ ท่าจะถึงตอนสำคัญ นางเอกหนีพระเอกหรืออะไรอย่างนั้น”

อนงค์ยิ้มอย่างอ่อนโยนทุกคราวที่ตอบคำถามของพี่ เมื่อจะตอบประโยคสุดท้ายนี้ หล่อนหยาดความหวานเพิ่มเข้าในดวงตาที่มองดูหน้าเขาทีละคน แล้วจึงว่า

“ถึงตอนที่พี่น้องผู้ชาย ๓ คน รับประทานอาหารอยู่ด้วยกันทุกคน ใน ๓ คนนั้น มีเรื่องบ่นทั้งคนใช้ทั้งแม่ครัว ในเรื่องว่าเป็นเช่นนี้ทุกคราวไป อนงค์จึงไม่วางหนังสือ

พี่ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หัวเราะปร่า ๆ ขึ้นพร้อมกัน สมพงศ์เปลี่ยนสีหน้าได้ก่อนน้องทั้ง ๒ เขาพูดว่า

“ฮูเร ! น้องของพี่ปฏิภาณดีมาก”

แสวงหยุดหัวเราะแล้ว สีหน้าใกล้จะบึ้ง จำลองพูดสั้น ๆ ด้วยสีหน้าเอางานเอาการ

“เสียใจ”

“ถ้าน้องลงมาเสียตั้งแต่พี่แรกนั่งลง บางทีจะไม่ได้ยินพี่บ่นก็ได้ สมพงศ์กล่าว “ถึงบ่นก็คงไม่รุนแรง”

“โธ่ ! น้ำพริกใส ๆ น่ะพี่เกลียดเหลือเกิน” จำลองพูดอ่อน ๆ

“แล้ววันนี้น้ำพริกข้นแม่ครัวเขาก็ตำมา แต่พ่อคนยกผ่าไปตั้งที่หน้าคุณสมพงศ์....”

“ถ้วยใสของพี่เขาตั้งให้พ่อจำลอง มันทำอะไรไม่ใช้หัวเสียเลย จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร”

น้องหญิงหัวเราะ แล้วหันมาทางพี่ชายคนที่ ๔

“พี่ประสิทธิ์ล่ะคะ มีเรื่องบ่นบ้างหรือเปล่า”

“ประสิทธิ์มันก็ดีแต่เป็นนกแก้ว ใครเขาจะพูดอะไรก็คอยพูดตามเข้าไปเท่านั้น” แสวงบอก

อนงค์เอื้อมมือไปบีบมือประสิทธิ์ไว้

เรื่องความบกพร่องของแม่ครัวและคนใช้ เป็นอันสงบสำหรับมื้อนี้ ชายหนุ่มทั้ง ๓ ต่างมีเรื่องสำหรับพูดคุยให้น้องสาวฟัง เมื่อสมพงศ์กับแสวงเงียบเสียงลง จำลองจึงเอ่ยขึ้นว่า

“พี่มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะเล่าให้น้องฟัง”

“นิทาน !” แสวงขัดพลางทำกิริยาว่า “เอือม” เต็มทน

“เล่าไปเถอะค่ะ” อนงค์กล่าวเสียงเรียบ ๆ

“มีชายคนหนึ่งสมมุติว่าชื่อนาย ก. วันหนึ่งไปรับประทานอาหารกับเพื่อนที่โฮเต็ลใหญ่แห่งหนึ่ง ได้เห็นหญิงคนหนึ่งสมมติว่าชื่อนางสาว ข. นั่งรับประทานอาหารอยู่กับชายอีกคนหนึ่งแต่งตัวเป็นนายทหาร สมมุติว่าชื่อนายร้อยตรี ค. นาย ก. กับนางสาว ข. นั่งอยู่คนละโต๊ะห่างกันประมาณ ๓ ศอก แต่ เผอิญหันหน้าตรงกัน นางสาว ข. เป็นคนสวยแต่งสมสมัย นาย ก. เป็นคนเก๋ต่างฝ่ายต่างอดมองดูกันไม่ได้ จนในที่สุดนาย ก. ก็จำสรรพสิ่งที่มีอยู่ในตัวนางสาว ข. ได้ ได้หมดตั้งแต่เสื้อผ้า สีถุงเท้า สีรองเท้า ทรงผม รูปหน้า รูปปาก รูปจมูก รูปคิ้ว รูปคาง รูปตา และที่จำได้มากที่สุดก็คือ ดวงตาใสแจ๋วแหว๋ว งดงามจนหาอะไรเปรียบไม่ได้ นางสาว ข. กลับถึงบ้าน แล้วจะนึกถึงนาย ก. บ้างหรือไม่ ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่านาย ก. ลืมตาฝันถึงดวงตาคู่นั้นเกือบ ๆ ตลอดคืน” .

นวลหน้าอนงค์เป็นน้ำนวลยิ่งขึ้นด้วยสายโลหิต ชำเลืองตาอันมีแววแห่งความพิศวงและพอใจฉายอยู่ ดูหน้าพี่ที่ ๑ กับพี่ที่ ๒ แล้วจึงถามผู้เล่าว่า

“แล้วยังไงอีกล่ะคะ?”

นิทานเรื่องนี้พี่ให้ชื่อตามเรื่องบันเทิงคดีชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกว่าเรื่องปัญหาขัดข้อง ปัญหาของพี่ในเรื่องนี้มีอยู่ว่านาย ก. ฝันถึงนางสาว ข. ทั้งหลับและทั้งตื่น นาย ก. ควรจะทำประการใด?”

อนงค์หัวเราะแล้วพูดว่า

“น้องไม่มีปัญญาจะแก้หรอกค่ะ เกิดมายังไม่เคยแก้ปัญหาอะไรออกซักที แม้แต่ปัญหาที่เด็ก ๆ ทายกันเล่นก็ไม่เคยแก้ได้”

จำลองไม่ตอบว่ากระไร พับผ้าเช็ดมือใส่ปลอกลุกขึ้นจากเก้าอี้ มองตาน้องสาวอย่างมีความหมาย แล้วก็ออกจากห้องและลงบันไดไปทางหลังตึก

อนงค์มองดูพี่ชายทั้ง ๓ ที่ยังนั่งอยู่แล้วถาม

“อิ่มกันหมดทุกคนแล้วไม่ใช่หรือคะ อนงค์จะได้ลุกขึ้นบ้าง กำลังติดหนังสืออยู่ด้วย” พูดแล้วหล่อนหัวเราะเหมือนจะท้าว่า “ไม่เชื่อก็ไม่ทุกข์” แล้วลุกขึ้นไปทางเดียวกับที่จำลองได้ไปแล้ว

เห็นเขายืนอยู่ใต้ต้นมะม่วง อนงค์ทำทีเหมือนประหลาดใจ ค่อย ๆ เดินเข้าไปใกล้เขาแล้วถามว่า

“มาทำอะไรอยู่ที่นี่คะ?”

จำลองจับแขนน้องเกี่ยวกับแขนตัว พาเดินไปได้ ๒ ก้าว แล้วจึงตอบว่า

“มาคิดแก้ปัญหาขัดข้อง”

อนงค์นิ่งอยู่นาน ภายในใจ ความกระดากกำลังต่อสู้กับความใคร่รู้ ในที่สุดความใคร่รู้เป็นฝ่ายชนะจึงถามว่า

“ชื่อจริงของนาย ก. ชื่ออะไร?”

“อุดม พัฒนศักดิ์ ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข”

“รู้จักกับพี่ดีหรือคะ?”

“เคยอยู่บ้านเดียวกันที่ในนิวยอร์ค ๔ เดือนกว่า”

“นายอุดมกับคุณเติบ พี่จำลองชอบใครมากกว่ากัน?”

“พี่ชอบเท่า ๆ กัน เพราะเช่นนั้นพี่จึงแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้”

“ก็เขาเองล่ะคะ จะคิดแก้อย่างไร?”

“เขาเองก็มึน พี่บอกเขาแล้วว่าเขามีคู่แข่งมากและพี่ไม่รับรองว่าเขาจะชนะ”

อนงค์หัวเราะ กระแสเสียงเต็มไปด้วยความภูมิใจ

“ถ้าเขาไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาขัดข้องสำหรับตัวเองแล้ว ก็ให้เขาเป็นนาย ก. สำหรับนางสาว ข. อยู่อย่างเดิมเถิด” หล่อนว่า

จำลองยิ้มยิ้มน้อย ๆ บีบมือน้องสาวพลางพูดช้า ๆ

“นี่แหละผู้หญิงแท้ ชอบให้ผู้ชายสู้รบตบมือกันเพราะตัว ผู้หญิงยิ่งสวยมาก ยิ่งมีอำนาจมากในการที่จะเป็นเหตุให้ผู้ชายบาดหมางกัน”

นาย ก. ของพี่จำลองเป็นคนขลาดหรือคะ?”

“ไม่มีเลยแม้แต่น้อย แต่เขามาทีหลังคนอื่นจึงออกจะตื่นอยู่สักหน่อย”

“เช่นนั้นก็ให้เขาลงจากเวทีซีคะ เลิกนึกถึงตำแหน่งผู้ชนะ กลับบ้านสวดมนต์ภาวนาทำใจให้สงบ”

“พี่จะเล่าให้เขาฟังตามที่น้องว่านี้” จำลองกล่าวพลางยิ้ม

ส่วนทางในห้องกินข้าว แต่พออนงค์คล้อยหลังไป สมพงศ์ก็อมยิ้ม แล้วพูดว่า

“เจ้าร้อยตรี ค. นั่นคือตาชัด”

“ฮี่ฮี่ ตาชัด ตาชัดแน่”

“เด็กอมมือมันก็รู้” แสวงพูดห้วน ๆ

“ยิ่งวันยิ่งมีคนมารักมากขึ้น” สมพงศ์ปรารภสืบไป

“ยิ่งมีที่เลือกมากยิ่งน่ากลัวอันตราย ทำไมอนงค์ถึงยังไม่ปลงใจรักใครสักคนหนึ่ง อย่างตาชัดก็ไม่เลว”

“แต่ผมจะเห็นว่าอนงค์โง่มาก ถ้าแกแต่งงานกับตาชัด ในเมื่อมีคนอื่นที่ดีกว่าตาชัดหลายคน เช่น สงัด เป็นต้น”

“อนงค์จะไม่ได้รับความเห็นชอบของพี่ ถ้าแกจะแต่งงานกับนายสงัด”

“ทำไม?” แสวงถามเสียงกระด้าง “สงัดดีกว่าเจ้าชัดตั้ง ๑๐๐ เท่า วิชาชีพก็มี เงินก็มี รูปก็สวย ท่าทางก็ไม่เลว ส่วนเจ้าร้อยตรีชัดมีคุณสมบัติอะไร?”

“เรื่องเงินไม่เห็นต้องพูดถึง อนงค์มีพอถมไปแล้ว ว่าถึงคุณสมบัติและวิชา ถ้าแกคิดว่าตาชัดไม่มีติดตัวก็เท่ากับแกดูถูกกองทัพบกแห่งชาติของแกเอง”

“ดูถูกดีกว่าดูผิด คุณเองก็ดูถูกผมอย่างมากในการที่เห็นว่าสงัดไม่คู่ควรกับอนงค์”

“มันเป็นหน้าที่ของฉันผู้ซึ่งเป็นพี่ ที่จะต้องสอดส่องระวังทุกข์สุขที่จะเกิดแก่น้องหญิงคนเดียวของฉันให้มาก”

“มันก็เป็นหน้าที่ของผมด้วยเหมือนกัน ที่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้น้องหญิงคนเดียวของผมไปแต่งงานกับเจ้านายทหารรูปสวย แต่กระเป๋าแห้ง อนงค์เป็นน้องสาวของผมเท่าที่แกเป็นน้องของคุณ”

“อาจจะเป็นได้”

“ไม่อาจละ มันเป็นทีเดียวแหละ”

“เพราะเช่นนั้น แกถึงจัดการต้มน้องจะให้แต่งงานกับนายสงัดยังงั้นหรือ?”

“ก็แน่ละ ผมเห็นว่าใครดีสมควรกับแก ผมก็จัดการจะให้แกได้เขา ทำไมถึงหาว่าต้ม และธุระอะไรของใครที่จะคอยขัดขวาง”

“ธุระอย่างยิ่ง เพราะอนงค์เป็นน้องผู้หญิงคนเดียวของฉัน?”

“แต่ไม่ใช่ของฉันคนเดียว ! เอาเถอะ สมมุติว่าใช่ อยากจะรู้ว่าสงัดมันระยำอย่างไร หรือว่าเพราะมันเป็นเพื่อนของนายแสวง ถึงมันไม่ระยำก็เหมือนระยำ”

สมพงศ์ยิ้มแล้วจึงพูดว่า

“แกหาว่าฉันไม่ชอบตาสงัดเพราะอคติ เอาเถอะฉันไม่ถือแกในข้อนี้ ฉันจะบอกแกว่าฉันไม่เห็นตัวตาสงัดระยำสักนิดเดียว แกจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ฉันไม่ยอมให้อนงค์แต่งงานกับสงัด เพราะสงัดมีพี่น้องผู้หญิงหลายคนนัก”

แสวงหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วว่า

“ความคิดอย่างหัวกฎหมาย !”

“เปล่า ไม่ใช่ เป็นความคิดของนักจิตวิทยา”

สมพงศ์ตอบ ยิ้มอยู่ตลอดเวลาที่พูดและฟัง “พี่ของสงัดทั้ง ๒ คนเป็นสาวทึมทึก บางทีแกจะไม่ค่อยสังเกตว่า แม่สาวพวกนี้คอยอิจฉาริษยาจับผิดแม่พวกสาวเด็ก ๆ ที่สวย ๆ และที่มีโอกาสได้แต่งงานเพียงไร เข้าใจหรือยังล่ะทีนี้?”

“บอกแล้วว่าสำนวนนักกฎหมาย คนโง่ ๆ อย่างผมฟังไม่เข้าใจหรอก”

“ไม่เข้าใจก็จะอธิบายต่อให้อีก อนงค์เป็นคนสวยนัก แล้วก็อยู่แต่กับพวกเราที่เป็นผู้ชาย ไม่มีใครเคยดุเคยว่า ถ้าแกถูกผู้หญิง ๒ คนคอยรุมกันติโน่นค่อนนี่บ่อย ๆ แกจะทนไหวหรือ ไม่ช้าแกก็จะต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า”

“ก็แล้วนายชัดของคุณน่ะ ไม่มีพี่ผู้หญิงเป็นหางดอกหรือ?”

“มี ๔ คน แต่เขามีคู่แล้วทุกคน ต่างแยกกันไปอยู่กับลูกกับผัวของเขา ไม่มีเวลามานั่งเฝ้าคอยจับผิดน้องสะใภ้ อีกอย่างหนึ่งเขามีผัวแล้วเหมือนผู้หญิงทั้งหลาย ใจเขาก็ไม่ต้องคอยอิจฉาริษยาผู้อื่น พี่ผู้ชายของชัดเล่าก็เป็นคนอยู่หัวเมือง ไม่มีเวลามากีดขวาง ถ้าจะพูดถึงแม่ตาชัด ลูกของแกมีเป็นหลายคน ถ้าตาชัดมีเมียมาอยู่บ้านเมีย แกก็คงไปอยู่กับผู้หญิง หรือลูกชายคนใหญ่ เรื่องราวอะไรจะมาเกาะแกะลูกสุดท้องกิน ส่วนสงัดเป็นลูกผู้ชายคนเดียวของพ่อแม่ เมื่อแม่ไม่มีผัวแล้วก็คงจะเกาะลูก ส่วนพี่สาว ๒ คนก็เกาะข้างแม่ แยกกันไม่ออก แล้วทำยังไงอนงค์ถึงจะได้ความสุขเล่า”

“เอาเถอะใครดีใครได้กัน” แสวงพูดแล้วลุกขึ้นจากเก้าอี้โดยแรง “คอยดูว่าเมื่อไรอนงค์รักสงัด แกจะมานั่งนึกถึงเรื่องบ้า ๆ เหล่านี้หรือไม่” พูดแล้วก็ฉวยเสื้อชั้นนอกเดินออกจากห้องไป

เมื่ออนงค์ละจากจำลองมาแล้ว กำลังจะขึ้นบันไดไปห้องของหล่อน เหลือบเห็นประสิทธิ์นั่งเหม่ออยู่ที่โต๊ะคินข้าวคนเดียว หล่อนจึงแวะเข้าไปหาเขา

“คิดถึงอะไรคะท่าทางใจล้อยใจลอย” หล่อนถาม

“คิดถึงน้อง ฮี่ ฮี่ น้องอนงค์”

หญิงสาวยิ้ม เท้าข้อศอกลงบนโต๊ะทั้ง ๒ ข้าง

“คิดถึงอย่างไร”

ประสิทธิ์ทำมือหยุกหยิกอยู่นาน ภายหลังจึงกระซิบอย่างตื่นเต้น

“คุณสมพงศ์กับคุณแสวงทะเลาะกันใหญ่”

“อีกแล้วหรือ ทะเลาะเรื่องอะไร?”

“เรื่องตาชัดกับคุณสงัด”

อนงค์ถอนใจอย่างโล่งอก

“ตามเคย !” หล่อนว่าแล้วหัวเราะ

ประสิทธิ์ขยุกขยิกมือยิ่งกว่าเดิม อนงค์ทายได้ด้วยความชำนาญว่าเขาจะพูดความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งจึงรอฟังอยู่

“พี่ ฮี่ ฮี่ พี่ก็มีเรื่อง ฮี่ฮี่ จะฮี่....กับน้อง”

หล่อนจับมือเขากุมไว้ทั้ง ๒ ข้างแล้วว่า

“พูดอะไรก็พูดซีคะ พูดกับน้องก็ต้อง....ทำอย่างนี้ด้วย !”

“เรื่อง....เรื่อง....เรื่องของพี่มัน ฮี่ ฮี่ สำคัญ....เพื่อนไอ้เพื่อน...มันฮี่....ฮี่....มันบ้า”

น้องสาวคงกำมือพี่ชายไว้ดังเดิม และนิ่งฟังอย่างสงบเสงี่ยม

“มันเห็นน้องที่โรงหนังหลายหน” ประสิทธิ์พูดเร็วปรื๋อ ครั้นแล้วก็หมดกำลังที่จะบังคับตัวเพียงเท่านั้นเอง อนงค์รู้สึกว่ามือของเขาที่อยู่ในมือหล่อนนั้นพยายามจะขยุกขยิกอีก หล่อนจึงบีบมือให้แน่นเข้าแล้วยิ้มเพื่อเอาใจ “หลายหน หลายหน แล้ว และเดี๋ยวนี้มันฮี่ มันท่องจำอะไรจำอะไรไม่....ไม่ฮี่ ได้เลย” พูดจบแล้วประสิทธิ์ก็ถอนลมหายใจอย่างยืดยาว

อนงค์กัดริมฝีปากไว้แน่นเพื่อกลั้นหัวเราะ ปล่อยมือเขาจากมือหล่อน แล้วโอบกอดไหล่เขาไว้พลางพูดว่า

“พี่ประสิทธิ์อย่าเอาใจไปยุ่งกับเรื่องเหล่านี้เลยค่ะ บอกเพื่อนของพี่เสียว่าน้องจะไม่แต่งงานตลอดชีวิตก็แล้วกัน อย่าให้เขาใฝ่ฝันให้เสียเวลาเลย”

พูดแล้วด้วยความใคร่หัวเราะยังไม่สิ้นไป อนงค์จึงปล่อยมือจากพี่ชาย รีบวิ่งไปเสียจากห้อง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ