๓๐

นางศรีวิชัยบริรักษ์ใช้เวลาหลายสิบวัน สำหรับที่จะลบรอยทิฐิในใจและยกโทษให้ลูกทั้ง ๒ จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เป็นอยู่และจะเป็นในภายภาคหน้าล้วนแล้วแต่สนับสนุนทางข้างฝ่ายนายร้อยตรีชัด กับพระอรรถคดีวิชัย ดุจหนึ่งทนายความตัวยงยืนขึ้นแถลงการณ์แก้ข้อหาของโจทก์ที่กล่าวโทษจำเลย

ก่อนที่นายร้อยตรีชัดจะได้หมั้นกับนางสาวจันทรเสียด้วยซ้ำ ทางฝ่ายคุณหญิงรานรอน ฯ ได้ประกาศหมั้นระหว่างนางสาวสอาง กับนายจำลองคู่หนึ่ง และนางสาวพยอมกับนายแสวงคู่หนึ่ง ทางฝ่ายชายได้มีการเลี้ยงฉลองหมั้น ทั้งพระอรรถคดี ฯ ชัด ช้อยและจันทร ต่างได้รับบัตรเชิญเรียงตัวจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าอนงค์จะต้องเป็นเจ้าการในงานนี้ เขาทั้ง ๔ ต่างไม่ปฏิเสธ แต่ครั้นเมื่อวันงานมาถึงแล้ว พระอรรถคดีมิได้ไปร่วมด้วย ช้อยเป็นผู้นำคำแก้ตัวไปแจ้งแก่อนงค์ ว่า พี่ชายของหล่อนมีอาการไม่สบายด้วยโรคคลื่นไส้และปวดศีรษะอย่างแรงกล้า ซึ่งในเวลาหลัง ๆ นี้มักกำเริบขึ้นแก่เขาบ่อยครั้ง

ต่อมาอีกไม่ช้า พระอรรถคดี ฯ ก็ได้ไปยังบ้านพระยาอุดมวรการ ในหน้าที่เถ้าแก่ กล่าวขอนางสาวจันทรให้นายร้อยตรีชัด ตามวันและเวลา ที่นางธุรกิจกำหนดให้ แต่เมื่อถึงคราวหมั้น นายร้อยตรีชัดได้สวมแหวนเพชรเม็ดเดียวลงในนิ้วจันทรด้วยมือของเขาเอง

มีข่าวที่ช้อยได้จากปากอุไรเองว่าพระยาอุดมวรการพอใจในการที่ลูกสาวเลือกได้นายร้อยตรีชัดเป็นคู่ และตั้งต้นพูดถึงการแบ่งทรัพย์ก้อนใหญ่มีค่าสมควรแก่ฐานะคนมั่งคั่งเช่นท่านเป็นผู้ให้ ให้แก่บุตรทั้ง ๒ ในเร็ววัน ข่าวนี้เป็นข่าวสำคัญนักสำหรับใจของแม่ที่ห่วงในความสมบูรณ์ของลูกสุดที่รักยิ่งกว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงเป็นข่าวที่มีพลานุภาพลบรอยร้าวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในใจคุณนายให้เลือนหายไปทีเดียว

ในที่สุด พ่อใหญ่ ก็เป็นผู้มีเหตุผลอีกเช่นเดียวกับเมื่อสองคราวก่อน !

แต่พ่อใหญ่มีเหตุผลที่ใช้ได้แต่จำเพาะเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เมื่อถึงคราวที่จะใช้เพื่อตนเอง เหตุผลที่หลักแหลมที่สุด ที่เป็นเหตุผลยอดเหตุผลทั้งหลายหายังประโยชน์ให้เกิดแก่ตัวได้ไม่ วันหมั้นผ่านพ้นไปแล้ว วันวิวาห์ก็ใกล้เข้ามา โรคร้อนใจในวิชัยยิ่งกำเริบหนัก เช้า เย็น กลางวัน กลางคืน ดวงหน้าอันงามแฉล้มของน้องสะใภ้ในอนาคตคอยเฝ้าหลอนวิชัย หน้านั้นยิ้ม หน้านั้นชะม้ายชะม้อยเอียงอาย กระตุ้นเตือนหัวใจให้เต้นแรง แล้วกลับบีบคั้นหัวใจให้ร้าวระบมดังถูกคีมหนีบเน้นด้วยคีมเหล็กอันมหึมา ทุกครั้งที่สรีรรูปของจันทรปรากฏเป็นมโนภาพ วิชัยพยายามผลักไสและบอกตัวเองว่าเขาไม่เสียดายหญิงคนนี้ หญิงที่เขาสละแล้วเพื่อความสุขและความพอใจของตัวหล่อน และทั้งของน้องด้วย แต่ความไม่เสียดายนี้ก็เป็นแต่เพียงความไม่เสียดายที่วิชัยบอกกับตัวเอง เพื่อทรงระดับแห่งหัวใจไว้ในความบริสุทธิ์ แต่ก็ดวงใจนั่นแหละ ทั้งที่ได้รับความฟักฟูมเป็นหนักหนา บางคราวก็ซวนเซไปได้เพราะความพลั้งเผลอแห่งคนผู้เป็นเจ้าของแล้วก็เป็นพิษทำอันตรายแก่เจ้าของเองประดุจสนิมแห่งเหล็กเกิดแต่เหล็กแล้วก็ทำลายเนื้อเหล็กให้กร่อนไปฉะนั้น

กิเลสอย่างหยาบ มีละโมบ ๑ โกรธแล้วประทุษร้าย ๑ รักจนมืดหน้า ๑ ผู้มีธรรมกำกับใจเช่นพระอรรถคดี ฯ ย่อมสลัดเสียได้โดยเด็ดขาด เพราะเล็งเห็นแล้วทั้งโดยตัวอย่างและโดยรู้สึก ว่ากิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ใด ก็ชักพามนุษย์นั้นให้ทำกรรมอันลามก แต่ความรักที่ละเอียดอ่อนละมุ่นลม่อมค่อยเป็นค่อยไป แต่ทว่าซาบซึ้งดูดดื่ม ความรักที่หวังทะนุถนอมเชิดชูผู้ที่ตนรัก ความรักชนิดนี้วิชัยมิได้สำนึกว่าอาจจะนำมาซึ่งความทรมานร้ายแรงดังที่เขากำลังผจญอยู่ จึงบัดนี้ตัวเขาเปรียบเหมือนทหารที่ถลำเข้าไปในแนวรบโดยปราศจากอาวุธสำหรับป้องกันตัว และสิ้นปัญญาในอันที่จะออกอุบายเอาตัวรอดจากน้ำมือศัตรู ความทุกข์ในใจก็เปรียบได้ดังไฟสุมขอน คุระอุเตรียมจะพลุ่งโพล่งขึ้นทุกเวลา

คืนหนึ่งเมื่อวิชัยทุรนทรายใจจนเหลือที่จะบังคับตัวให้นั่งอยู่กับที่ได้ เขาจึงขับรถร่วมใจออกจากที่อยู่ ขับไป ๆ ด้วยฤทธิ์คลั่งจนมิรู้ว่าผ่านถนนใดบ้าง ในที่สุดเขาพบตัวเองอยู่หน้ากระทรวงยุติธรรม คืนนี้เป็นคืนข้างขึ้นอ่อน ๆ ไม่มีแสงไฟฟ้าตามถนน ความมืดปกคลุมไปทั่วท้องสนาม หลวงวิชัยเลี้ยวรถเข้าในบริเวณที่กล่าวนี้ แล้วก็ดับเครื่องให้รถจอดนิ่งอยู่

นี นั่งซึมอยู่หลายสิบวินาทีโดยไม่นำพาต่อกระแสลมอันเยือกเย็นเละฝูงฝูงยุงที่กลุ้มรุมสูบเลือดเขาอย่างไม่ปรานี ในใจครุ่นคิดถึงคน ๆ เดียว คิดแล้วก็ปวดยอกแสยงใจ สันดานเดิมแดดิ้นกระสับกระส่าย สันดานใหม่ประเล้าประโลม ธัมมะทุกข้อที่เคยผ่านตาวิชัยยกขึ้นใช้มาเพียงครู่ก็เลือนหายเพราะแรงรักกำเริบกล้า ยกข้อใหม่ขึ้นอีก ท่องซ้ำเพียรจะฝังลงในใจ ความอาลัยก็ออกฤทธิ์ชักความตั้งใจให้เขวเสีย แต่เป็นอยู่ดังนั้นหลายครั้งหลายครา

รถตอนเดียวคันหนึ่งแล่นจากถนนราชดำเนินขึ้นสะพานผ่านพิภพ ๆ อ้อมทุ่งพระเมรุทางซ้ายไปขวา ครั้นถึงทางรถกลางสนาม รถนั้นก็เลี้ยว ไฟฉายสว่างจ้าพุ่งมายังรถวิชัย รถเล็กแล่นช้าลง แต่หาหยุดหรือวกไปทางอื่นไม่ เห็นแสงไฟยังกล้าอยู่เช่นเดิม พระอรรถคดี ฯ นึกถึงหนุ่มสาวทรามคะนอง ชะรอยจะเห็นการที่ได้ฉายไฟส่องหน้ามนุษย์เล่นนั้นเป็นของสนุก นิ่งดู รถเล็กยิ่งคลานเข้ามาใกล้จนหน้ารถจวนจะปะทะกับรถเฟียตจึงได้หยุด และดับไฟฉาย

ได้ยินเสียงคนในรถเล็กพูดเบา ๆ เสียงประตูรถเปิดแล้วเห็นร่างบุรุษในเครื่องแต่งตัวสีขาวลงยืนบนถนนเสียงกระซิบกระชาบ อีกมนุษย์นั้นค่อย ๆ เดินท่วงทีเหมือนจะเตร่แก้เมื่อย แต่เข้ามาใกล้รถวิชัยขึ้นทุกที ในที่สุดก็หยุดอยู่ที่ข้างรถ หัวเราะและ

“ฮี่ ฮี่ ฮี่”

“คุณประสิทธิ์รึ ?” วิชัยถามน้ำเสียงส่อความไม่พอใจ เมื่อรู้ตัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจำตัวได้

“ครับ ครับ ฮี่ ๆ ผมเอง คุณพระนั่ง ฮี่ ฮี่ คนเดียว ?”

“คนเดียว คุณทำไมถึงจำผมได้ ออกมืดยังงี้”

“จำได้ ฮี่ ฮี่ จำรถ ป--- ไปนั่งรถผมเถอะ ฮี่ๆๆ”

“อ๊ะ !” วิชัยร้อง “คุณมาตามลำพังกับคนอีกคนหนึ่งในที่เปลี่ยวเช่นนี้ เรื่องอะไรผมจะไปขัดคอ”

ประสิทธิ์หัวเราะ “ฮี่” หลายครั้งแล้วจึงพูดได้ความว่า

“ผมมากับอนงค์ต่างหาก”

“อ้อ ?” วิชัยว่าแล้วก็นิ่งอยู่

“ป---ไปหาน้องผมหน่อยซี ฮี่ ฮี่แก ค--คิดถึงคุณมากเห็นรถแกก็ ฮี่ ฮี่--ดีใจ แกให้ผมมาเรียก”

พระอรรถคดี ฯ ตกอยู่ในอาการเรรวน ในฐานะที่ตนเป็นสุภาพบุรุษมาพบกับสุภาพสตรีที่ได้เคยวิสาสะจนพอจะเรียกได้ว่าคุ้นเคย พี่ชายของหล่อนบอกว่าหล่อนให้มาเรียก จะเท็จจริงอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ถ้าเขานิ่งเสียไม่เดินไปทักทายก็จะเป็นการน่าเกลียดอยู่ คิดดังนั้นแล้วจึงลงจากรถของตัวเดินไปยังรถตอนเดียว

อนงค์ทำความเคารพและต้อนรับด้วยคำพูดมีกังวานแจ่มใส

“หายดีแล้วหรือคะ ?” หล่อนถาม “วันนั้นไม่ได้ไป ดิฉันเสียใจเหลือเกิน”

มีอะไรอย่างหนึ่ง ในน้ำเสียงของหล่อน ที่ทำให้วิชัยต้องเชื่อว่าหล่อนพูดจริง เขาจึงตอบว่า

“ขอบใจมาก ฉันก็เสียใจเหมือนกันที่รับเชิญของคุณไว้แล้วแต่ไม่ได้ไป เจ้ากรรมเผอิญเกิดไม่สบายขึ้นวันนั้น”

“เดี๋ยวนี้หายดีแล้วหรือคะ”

“เห็นจะหาย”

“สาธุ ! ได้ทราบว่าไม่สบาย ดิฉันพลอยกังวลด้วย เวลาไม่สบายมีอาการเป็นอย่างไรคะ !”

“ไม่มีอะไร ปวดศีรษะ แล้วก็คลื่นไส้ ถึงเวลาจะหายก็หายเอง”

“ไม่น่าไว้ใจ” อนงค์พูดเบาคล้ายปรารภกับตัวเอง พยายามใช้สายตาฝ่าความมืดเพื่อมองดูหน้าเขา “อาการเป็นโรคเส้นประสาทโดยตรง อย่าอดนอนให้มากนักซีคะ พยายามรับประทานให้ได้มากหน่อยและอย่า---อย่าใช้ความคิดให้มากนัก”

“หมอฮี่ฮี่ แม่หมอ !”

“ควรจะเป็นหมอได้ดี” วิชัยกล่าว “เพราะให้คำแนะนำตรงกับที่ฉันได้ฟังจากหมอทุกอย่าง”

“ซึ่งคุณพระไม่ทำตามสักอย่างเดียว” หญิงสาวขัดพร้อมกับหัวเราะ “เชิญคุณพระขึ้นนั่งบนนี้ก่อนซีคะ” หล่อนพูดต่อและชี้ที่ว่างข้างตัว

“ขอบใจฉันนั่งมานานแล้ว อยากจะยืนเสียบ้าง คุณประสิทธิ์เชิญมานั่งที่ของคุณซี ผมยืนอยู่อย่างนี้สบายแล้ว”

“แต่ว่าบางทีคุณพระจะต้องยืนนานเกินสบาย ดิฉันอยากพบคุณพระมาหลายวันแล้ว วันนี้มีโชคดีถ้าวันนี้คุณพระไม่มีธุระจำเป็น จะขอถ่วงตัวไว้นานหน่อย”

พระอรรถคดี ฯ อึ้ง ในที่สุดจึงตอบว่า

“ไม่ขัดข้อง”

หล่อนหัวเราะอย่างชื่นชม แล้วชวนซ้ำ

“ถ้าอย่างนั้นก็เชิญนั่ง ดิฉันไม่ยอมให้คุณพระทรมานตัวเช่นนั้น”

อีกครั้งหนึ่งวิชัยลังเล ครั้นแล้วจึงเอี้ยวตัวไปทางท้ายรถ คลำพบที่สำหรับมือดึงพนักที่นั่งขึ้น เขาก็จัดการให้ตัวเองขึ้นนั่งบนที่นั้น

อนงค์เบนตัวหันหน้ามาทางท้ายรถ ประสิทธิ์ “ฮี่” หลายครั้งแล้วก็ขึ้นรถบ้าง ปิดประตูยกมือกอดอกวางศีรษะในท่านอนอย่างสุขสบาย วิชัยถามตัวเองถึงเหตุที่อนงค์ประสงค์จะพบตน พลางหยิบซองบุหรี่จากกระเป๋าเสื้อส่งให้ ๒ พี่น้อง ก่อนเขาปฏิเสธแล้วจึงจุดสำหรับตัวเอง

อนงค์พูดขึ้น

“คุณพระเป็นลูกหนี้ดิฉันตามคำสัญญาข้อหนึ่ง แต่ดิฉันจะไม่ทวงในเวลานี้ เพราะทราบอยู่แก่ใจว่าต่อจากวันนั้นมาแล้ว คุณพระมีกังวลมาก”

วิชัยไม่ค้านคำตอบของอนงค์ ตอบเรียบ ๆ ว่า

“ฉันเตรียมพร้อมที่จะใช้หนี้คุณได้ครึ่งหนึ่งเดี๋ยวนี้”

หล่อนหัวเราะเบา ๆ

“แต่ติฉันเกรงว่าจะเป็นการกวนใจคุณพระในยามที่คุณพระกำลัง—ไม่สบายเช่นนี้”

“การตอบคำถาม ๒ - ๓ ประโยคของคุณเห็นจะไม่ทำให้โรคกำเริบหรอก”

“ว่าไม่ได้นะคะ เพราะโรคของคุณพระมีเส้นประสาทเป็นเหตุอยู่ ถ้าคำถามของดิฉันไม่ถูกอารมณ์คุณพระ อาจจะทำให้ปวดศีร์ษะได้”

“ไม่น่าจะเป็นไปได้ เรื่องที่ทำให้คนปวดศีรษะน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้โกรธหรือมิฉะนั้นก็ทำให้เสียใจ ฉันคิดว่าเรื่องที่คุณจะถามไม่ใช่เรื่องเช่นนั้น อีกอย่างหนึ่งฉันเชื่อตัวเองว่าไม่โกรธใครง่าย ๆ”

“ดิฉันก็เชื่อค่ะ เพราะดิฉันจำความที่เราพูดกันเมื่อคืนวันเกิดดิฉันได้ทุกคำ ยังติดใจคาถาที่คุณพระสอน เดี๋ยวนี้อยากจะเรียนความรู้ชนิดนั้นเพิ่มเติมอีก”

“ฉันเกือบไม่เชื่อว่า คุณเอาใจใส่กับความรู้เหล่านั้น” วิชัยพูดตรงตามใจคิด

“อนงค์มักเป็นคนวาสนาน้อยเช่นนั้นเสมอ” หญิงสาวตอบแล้วหัวเราะด้วยกระแสเสียงที่ผู้ฟังไม่เข้าใจความหมาย “ถูกคนเข้าใจผิดตาปีตาชาติ”

“ขอโทษเถิด การที่เข้าใจผิดไม่ใช่เพราะดูถูกหรืออะไรคล้ายๆ อย่างนั้น ฉัน --คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเอาใจใส่เท่าไรนัก”

“อะไร้ไม่น่าเอาใจใส่ ! ตรงกันข้ามเทียวค่ะ ดิฉันตั้งใจจะจดจำคำเหล่านั้นไว้ แล้วประพฤติตามให้เสมอ สอนอะไรให้ดิฉันอีกสิคะจะได้ทำให้ดิฉันเป็นคนดีขึ้น”

เขาหัวเราะ หึๆ แล้วว่า

“คุณเป็นคนช่างถ่อมตัวอย่างที่สุด และเป็นนักยอที่เฉียบแหลม เพิ่งได้เห็นเดี๋ยวนี้เองว่า การที่ใครๆ เขายกย่องว่าคุณฉลาดนั้นยังไม่พอกับความจริง แต่โปรดเวทนาแก่คนโง่สักหน่อย ฉันเป็นคนที่ใครๆ เขาตำหนิอยู่เสมอว่าเชื่อคนง่าย”

“แต่คุณพระกำลังแสดงตัวตรงกันข้ามกับที่เขาตำหนิทีเดียว”

“บางทีจะจริง เพราะคำตำหนิทำให้ผู้ถูกตำหนิมีความระวังตัวขึ้น”

“เคราะห์ร้ายของดิฉันเอง เผอิญคุณพระมาระวังตัวจำเพาะเมื่อฟังดิฉันพูดเสียด้วย นี่จะไม่เรียกว่าอนงค์อาภัพหรือคะ เสียแรงตั้งใจคอยเรียนประสงค์จะหาความรู้ เพราะดิฉันเองก็มีข้อที่ต้องตำหนิตัวเองอยู่ไม่น้อย กลับถูกหาว่าฉลาดเกินไปเสียอีกแล้ว”

พระอรรถคดี ฯ เพิ่งมีความรำคาญต่อความมืดเป็นครั้งแรกเพราะเป็นเหตุให้เขามองไม่เห็นสีหน้าคู่สนทนา ถึงกระนั้นเขาก็เพ่งสายตาจับอยู่ที่หน้าหล่อนเป็นครู่ก่อนที่จะพูดขึ้นว่า

“ฉันควรจะเชื่อหรือว่าคุณต้องการคำสอนจากฉัน !”

“โปรดเชื่อเสียก่อนว่า คำใดที่อนงค์พูดกับคุณพระ คำนั้นเป็นคำที่ออกจากน้ำใสใจจริงของอนงค์ทุกคำ”

“เช่นนั้นฉันเห็นจะต้องปล่อยใจให้เป็นไปตามนิสัยเดิมอีกพักหนึ่ง”

“ความไม่ช่างระแวง เป็นนิสัยของคนที่มีดวงจิตบริสุทธิ์แท้ นี่เป็นความเชื่อของดิฉันที่เชื่อตามสุภาษิตฝรั่งบทหนึ่งว่า จงอย่าไว้ใจคนที่ไม่ไว้ใจใคร”

“นี่ก็เป็นคำที่เรียกว่าคำยอได้อีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อฉันได้รับแล้วว่าจะเชื่อคุณ ฉันจะถือว่าเป็นความเห็นชิ้นหนึ่งที่มีสาระควรจำเอาไว้ ทีนี้เชิญบอกมาเถิดจะให้ฉันแนะนำอะไร ความจริงคุณก็ไม่มีความเสื่อมเสียอยู่ในตัวถึงกับจะต้องอบรมกันใหม่ไม่ใช่หรือ ?”

“ความเสื่อมเสีย !” อนงค์ทวนคำอย่างตรึกตรอง “คำนี้กินความแค่ไหนก็ไม่ทราบดิฉันขอตอบแต่เพียงว่าดิฉันอยากเป็นคนดีเท่าที่คุณพระไม่รู้จักโกรธใครไม่รู้จักเกลียดใคร ใครขออะไรก็ให้ไม่เสียดายแม้แต่สิ่งที่รักที่สุด”

คำพูดของอนงค์ สะดุดใจพระอรรถคดี ฯ อย่างประหลาด ทำให้เขานิ่งอั้นไปเป็นครู่จึงพูดขึ้นว่า

“การไม่เกลียดใครนั้นฉันทำได้ง่าย ไม่โกรธทำได้ยากกว่าเล็กน้อย แต่การไม่เสียดายสิ่งที่รักที่สุดใครเป็นคนบอกคุณว่าฉันทำได้ ?”

“ของพรรค์นี้จะต้องให้ใครบอก ! ดิฉันอ่านออกเอง” โดยไม่ละเวลาให้อีกฝ่ายหนึ่งไล่เลียงต่อไป อนงค์รีบถามขึ้นอีก “การที่สละสิ่งที่รักที่สุดให้แก่คนอื่นนั้น ทำให้เราเป็นสุขหรือคะ ?”

“เป็นเช่นนั้นคุณ ถ้าคนให้มีใจสูงพอ”

“ก็สูงแค่ไหนล่ะคะที่เรียกว่าสูงพอ”

“สูงแค่รู้จักข่มใจ ไม่อาลัยสิ่งที่ตัวให้เขาแล้ว”

“ถ้าข่มใจไม่ได้ ?”

“ก็ไม่เป็นสุข แต่ว่าถึงอย่างไรก็ควรสละ เพราะการสละเพื่อความสุขแก่ผู้อื่นเป็นการกระทำที่โลกสรรเสริญว่าดียิ่ง”

“ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีกที่ควรจะนำมาใช้ ลองนึกถึงว่าคนเราที่เกิดมาในโลกนี้ มีสักกี่คนที่ได้ใช้หนี้โลกสมกับที่ให้กำเนิดตัวมา วิธีที่จะใช้หนี้ก็คือ ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์เต็มกำลัง เมื่อคุณมีโอกาสได้ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง โดยสละสิ่งที่คุณรักที่สุดให้เขาเรียกว่าคุณได้ใช้หนี้บางส่วนไปแล้ว ขอให้ยกกุศลกรรมของคุณขึ้นมาชมเชย น้อมใจให้รู้สึกในความสุขของเขา แล้วถือว่าความสุขนั้นเป็นเหมือนความสุขของคุณ”

อนงค์เริ่มขำในสรรพนามที่วิชัยเจาะจงใช้ ประดุจเขาตั้งใจจะสอนหล่อนโดยตรง แต่ความเอาใจใส่ในหลักเหตุผล ยังมีอำนาจเหนือความคิดสนุก หญิงสาวจึงพูดว่า

“ดิฉันคิดถึงเรื่องโลกและมนุษย์อยู่บ้าง แต่คิดไปไม่ไกลถึงเช่นนั้น บางคราวดิฉันรู้สึกว่าโลกเรียกร้องรบกวนเรามากเกินไปจนเราน่าจะให้ไม่ได้”

“ถ้าเกินกำลังเป็นธรรมดาที่เราไม่ให้ แต่บางทีเราคะเนกำลังของเราผิดไป ใจเสาะคิดว่าไม่ไหวอยู่เสมอ คนเช่นนั้นเป็นคนรกโลก ปราชญ์ไม่สรรเสริญ แน่ละการเสียสละบางอย่าง เช่นสละคนรัก เพียงคิดว่าจะสละก็ใจแทบขาด เมื่อสละแล้วจะหักความเสียดายให้หายก็ย่อมไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่เมื่อเรารู้อยู่ว่ามันทรมานเรามาก เราก็ต้องรีบเอาชนะมันให้เร็วที่สุด อุบายอย่างหนึ่งไม่พอใช้ ต้องหาอุบายเพิ่มเติม ใจคนเรานั้นหัดยากจริงอยู่ แต่ไม่ใช่จะเหลือขอเสียทีเดียว ขอแต่ให้คุณใช้ความพยายามสักพักหนึ่งก็จะเห็นผล”

“พ่อหมอ” อนงค์นึกพลางยิ้มในหน้า “รักษาตัวของตัวให้หายเสียก่อนเถิด” ครั้นแล้วหล่อนพูดดังด้วยน้ำเสียงความซื่อ และเป็นการเป็นการอย่างที่สุด “คุณพระเห็นจะใช้อุบายเหล่านี้รักษาโรคใจของคุณพระมาแล้ว และหายอย่างเร็วชะงัดถึงได้อธิบายได้แจ่มแจ้งนัก”

ราวกับพระอรรถคดี ฯ อ่านความคิดในใจอนงค์ได้เหมือนอ่านหนังสือ จึงตอบว่า

“คุณลืมเสียแล้ว หมอไม่เคยรักษาไข้ให้ตัวเองเลย อย่าว่าแต่ตัว แม้แต่ลูกเมีย ถึงคราวสำคัญหมอยังไม่รักษาเอง ต้องให้หมออื่นรักษาแทน” พูดแล้วเขาก็หัวเราะครึ่งขำและครึ่งสลดใจ

อนงค์หัวเราะด้วย

“ถ้าเช่นนั้นหากคุณพระเกิดเป็นโรคใจอย่างที่พูดกันนี่ คุณพระมิรักษาใจของคุณพระเองไม่ได้หรือคะ”

เขาหัวเราะเพื่อซ่อนความอึกอักในใจ แล้วจึงตอบว่า

“ท่าทางดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น คงจะต้องหายาตำรับที่คนอื่นเขาตั้งไว้มาใช้”

“ลองเรียนยาตำรับของคุณอาดิฉันบ้างไหมล่ะคะ เผื่อจะมีเวลาคุณพระต้องการใช้ ท่านบอกว่าการสู้ความกลุ้มโดยปล่อยตัวให้อยู่แต่กับตัวคนเดียว เป็นทางลัดแต่กันดารเหลือเกิน จะถึงปลายทางไม่ได้ง่ายๆ ท่านสอนให้เดินทางอ้อม ค่อยเดินค่อยไป คือสอนให้หาเครื่องเพลิน เที่ยวเตร่เล่นหัวกับคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง ทำใจให้โปร่งชั่วครู่ยามหนึ่งก็ยังดี ภายหลังความลืมจะเข้ามาช่วยทำให้ความกลุ้มหายไป”

“ทางนี้สำหรับคุณเห็นว่าเหมาะจริง และใช้ได้ประโยชน์กว่าที่ฉันบอก”

“แต่สำหรับคุณพระ รู้สึกว่าตื้นเกินไปยังงั้นหรือคะ หรือว่าลองแล้วไม่ได้ผล”

วิชัยกระอักกระอ่วนจนอนงค์เห็นได้ หล่อนจึงรีบตัดบทเสียทันที

“แหม ! ลมก็แรง ยังมียุงมาตอมเราได้”

“ฉันสงสัยว่าเราได้คุยกันนานทีเดียว” วิชัยกล่าว มีความเต็มใจที่จะได้ยุติเรื่องที่ใกล้ความรู้สึกของตนเกินไป “นี่ฉันได้ใช้หนี้ให้คุณแล้วครึ่งหนึ่งใช่ไหม ?”

หญิงสาวหัวเราะอย่างเบิกบานที่สุด แล้วจึงตอบว่า

“ใช้แค่ดอกเบี้ยเท่านั้นแหล่ะค่ะ แต่ดิฉันจะไม่ทวงต้นทุนอีกละ จนกว่าคุณพระจะกรุณานำไปใช้ให้ถึงบ้าน”

“ขอบใจ ! คุณเป็นเจ้าหนี้ที่มีเมตตามาก - เห็นจะสมควรแก่เวลาที่ฉันจะต้องลาคุณเสียที”

“ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งเทียวค่ะ” อนงค์ตอบพร้อมประณมมือไหว้ “ดิฉันได้ความรู้อีกหลายอย่างซึ่งจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า”

พระอรรถคดีฯ ลงจากรถแล้วปิดที่นั่งเสียดังเก่า “คุณประสิทธิ์เห็นจะหลับสบาย” เขาพูด “คุณไม่ปลุกแกขึ้นหรือ ?”

“ปลุกทำไม !” ประสิทธิ์เอ่ยขึ้นทันที พร้อมกับขยับตัวขึ้นนั่ง

“ผมไม่ได้ ฮี่ ฮี่”

“เพราะเช่นนั้นน่ะซีผมถึงนึกว่าคุณหลับ” วิชัยตอบ “ลาละคุณ”

อนงค์ไหว้อีกครั้งพร้อมกับพี่ชาย แล้วรถ ๒ คันก็แล่นไปคนละทาง ในเวลาที่ขับรถกลับบ้าน วิชัยมีความเจ็บในดวงใจนั้นน้อยลง หรือที่ถูกเขาไม่รู้สึกถึงความเจ็บนั้น เพราะมัวพะวงอยู่ด้วยความคิดชนิดอื่นเป็นปัญหาที่เขาต้องการจะขบให้แตก ในเวลาราวชั่วโมงที่อนงค์สนทนาอยู่กับเขา หล่อนพูดและชวนให้เขาพูดอยู่แต่เรื่องเดียว คือเรื่องความเสียดายในสิ่งที่เสียไป เขาอยากจะรู้ให้แน่ว่าหล่อนพูดเรื่องของหล่อนหรือพูดเรื่องของเขา

วิชัยตกลงใจว่าจะถามเอาความจริงจากช้อย แต่เมื่อเขาถึงบ้านปรากฏว่าช้อยปิดประตูนอนเสียแล้ว เป็นอันต้องระงับความใคร่รู้ไว้พักหนึ่งก่อน ถอดเสื้อชั้นนอกออกจากตัว วิชัยนั่งสูบบุหรี่ทอดอารมณ์อยู่บนเก้าอี้ในห้องนอน

บัดนั้น ข้อความแห่งการสนทนาเมื่อชั่วโมงก่อน ก็เวียนกลับมาสู่ห้วงนึก ข้อความสำคัญที่ออกจากปากตนเองผุดขึ้นในสมองทีละตอนอย่างเด่นชัด มีรูปความและน้ำหนักปรากฏแก่ดวงจิตวิชัยประดุจเงาในกระจกปรากฏแก่ตามนุษย์ โลกตั้งอยู่ในกฎแห่งความไม่ยั่งยืน วิถีชีวิตมนุษย์ดำเนินไปตามอำนาจบุพพกรรม มนุษย์จึงมีกรรมเป็นเครื่องอาศัย กรรมใดมนุษย์ประกอบเพื่อประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ กรรมนั้นเป็นกรรมดีเลิศ ความจริงเหล่านี้วิชัยต้องเล็งเห็นอยู่เป็นนิจ เขาจึงสามารถยกขึ้นกล่าวแก่อนงค์ แต่เหตุไฉนตัวเขาเองจึงมีใจอันระทมอยู่ด้วยความอาลัย ประหลาดนัก ธรรมทั้งหลายมีอยู่เก่าเท่าอายุของโลก เป็นของไม่ล่วงสมัย เป็นของอันบุคคลพึงน้อมเข้ามาสู่ใจ เป็นของอันวิญญชนรู้แจ้งเฉพาะตัวแล้วและเฉลี่ยให้ผู้อื่นได้ แต่ธรรมเหล่านั้นมนุษย์มิได้เคยสดับตรับฟังก็มี ฟังแล้วไม่เข้าใจก็มี เข้าใจแล้วไม่รู้แจ้งเห็นจริงก็มี ทั้งนี้เพราะมนุษย์โฉดเขลาบ้าง ทะนงตนเกินไปบ้าง เป็นทาสแห่งความอุปทานบ้าง มีใจอันมืดมิดเสียแล้ว ความสุข ! มนุษย์พร่ำถึงอยู่ทุกวาระหายใจ แต่เมื่อเครื่องมืออันเป็นปัจจัยแห่งความสุขถึงมือมนุษย์กลับเมินหนี

กล่าวแต่จำเพาะตัววิชัย ธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์ขั้นโลกีย์เขาได้ศึกษาแล้วจบ น่าจะยกขึ้นใช้ได้ทุกเวลา แต่ครั้นถึงคราวต้องการดูเหมือนกับว่าเขาแกล้งลืมธรรมเหล่านั้นเสีย หรือนึกขึ้นได้ก็เลือน ๆ จาง ๆ ไม่เป็นแก่นสาร จึงให้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ต่อเมื่อความเมตตาจิตเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว เขาประสงค์จะกล่าวธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังเป็นทุกข์อาศัยที่ต้องใช้ความเพ่งเล็งประมวลข้อความให้เป็นชิ้นเป็นอัน มีหลักฐานความรู้ที่มีอยู่และเสื่อมเสียจึงกลับรวบรวมกันเป็นหมวดหมู่ สำแดงค่าปรากฏซึ่งเข้าใจในวิชัย ทำให้เขาได้สติแล้วกลับตะลึงในความเขลาของตนเองอยู่บัดนี้

ทั้งนี้น่าจะคำนึงถึงพระพุทธวัจนบทหนึ่งที่มีอยู่ว่า

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ซึ่งธรรมชำนะการให้ทั้งปวง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ