คำนำ

บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ (๑๙๙๑) จำกัด ได้ขออนุญาตต่อหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ขอจัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “หนึ่งในร้อย” ของดอกไม้สดเพื่อจำหน่ายเผยแพร่ ซึ่งกรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้ตามความประสงค์

หนังสือนวนิยายและเรื่องสั้นของ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (สกุลเดิมกุญชร) ผู้ใช้นามปากกาว่า “ดอกไม้สด” นี้ นางสุนทรี ชมธวัช ทายาทรับมรดกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นางสุนทรี ชมธวัช ซึ่งได้รับการแนะนำเชิญชวนจาก นายสมภพ จันทรประภา ได้มีใจเอื้อเฟื้อแก่ทางราชการ มอบลิขสิทธิ์วรรณกรรมของดอกไม้สดให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้นำไปหาประโยชน์สำหรับบำรุงกิจการต่าง ๆ ของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาหาความรู้ของประชาชนมากยิ่งขึ้น

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” นั้น มีความงดงามทั้งในเนื้อเรื่อง กลวิธีการประพันธ์ และภาษา นอกจากนี้ยังให้ความรู้และสารบันเทิงไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สะท้อนให้เห็นชีวิตในแง่มุมของสังคมไทยในช่วงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การดำเนินเรื่องราบเรียบแต่คมชัด ตัวละครทุกตัวโลดแล่นไปตามบทอย่างมีชีวิตและกลมกลืนกับสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่ผู้ประพันธ์ให้แก่ผู้อ่านก็คือ “คุณธรรม” จะเห็นได้ง่ายว่าผู้ประพันธ์สามารถสอดแทรกคติธรรม และข้อคิดอันกินใจให้แก่ผู้อ่านด้วยการเสนอแนะวินิจฉัยและชี้ชวนให้คล้อยตามในการกระทำความดี อันเป็นสิ่งที่สังคมทุกยุคทุกสมัยต้องการ

“ดอกไม้สด” หรือ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ ได้เริ่มงานประพันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเขียนลงวารสารไทยเขษม และเรื่องแรกที่แต่งคือ เรื่องศัตรูของเจ้าหล่อน นวนิยายของดอกไม้สด มีอยู่ด้วยกัน ๓๒ เรื่อง เป็นนวนิยายขนาดยาว ๑๒ เรื่อง และเป็นเรื่องสั้น ๒๐ เรื่อง บทละครหนึ่งเรื่องกับเรื่องยาวที่แต่งไม่จบ คือ วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย

วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” นี้ แม้จะได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งหลายหน และแม้กาลเวลาจะล่วงเลยห่างจากระยะที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ขึ้นนานพอควรแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมในหมู่ท่านผู้อ่านอย่างแพร่หลายตลอดมา ทั้งมีผู้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนอีกด้วย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” เป็นอมตะ ไม่มีวันล้าสมัยและยังอยู่ในความต้องการของมหาชนไม่เสื่อมคลาย

กรมศิลปากรมีความยินดีที่ นางสุนทรี ชมธวัช ได้มีกุศลจิตศรัทธาต่อวิทยาการและการดำเนินงานของหอสมุดแห่งชาติ นับเป็นกุศลกรรมที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุโมทนาและขอบคุณ และขอให้ความดีนี้ช่วยส่งสนองให้ นางสุนทรี ชมธวัช ผู้บริจาคได้ประสบแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ อนึ่ง ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ รำลึกถึงหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ หรือ “ดอกไม้สด” ผู้ประพันธ์ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ซึ่งคงจะชื่นชมโสมนัสในการกระทำของนางสุนทรี ชมธวัช ในครั้งนี้ ขอให้หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ จงประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผลในสุคติสัมปรายภพนั้น ๆ จงทุกประการ

(นายนิคม มูสิกะคามะ)

อธิบดีกรมศิลปากร

หอสมุดแห่งชาติ

๒ เมษายน ๒๕๔๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ