เดือน ๘๘ จุลศักราช ๑๒๖๖

วัน ๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้า ๒ โมง ๔๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินแต่พระราชวังบางปอิน ลงประทับเรือพระที่นั่งแจวชื่อ สมจิตรหวัง ที่ตะพานน้ำน่าพระที่นั่งวโรภาศ พ่วงเรือกลไฟมาตามลำน้ำเจ้าพระยา

เวลาบ่าย ๑ โมง เรือพระที่นั่งหยุดน่าวัดปรไมยยิกาวาศ เสด็จขึ้นนมัสการในโบสถ์ แล้วออกจากวัดปรไมยยิกาวาศ มาเข้าคลองอ้อม แขวงเมืองนนทบุรี เสด็จประพาศสวนสะท้อนของนายบุตร ออกจากคลองอ้อมประพาศสวนสะท้อนแล้ว เรือพระที่นั่งจอดประทับที่น่าวัดเขมาภิรตาราม เวลาย่ำค่ำเสศ เสด็จขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงนมัสการพระพุทธรูปแล้ว พระราชทานเงินสำหรับปฏิสังขรณ์พระอาราม ๒๐ ชั่ง แล้วเสด็จตำหนักเขียว ซึ่งเปนกุฏิพระครู พระที่นั่งมูลมณเฑียร แล้วเสด็จลงมาประทับแรมในเรือพระที่นั่ง ณะ ที่นี้

วัน ๖ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้า ๑ โมงเสศ เรือพระที่นั่งออกจากวัดเขมา เสด็จประพาศตลาดท้องน้ำบางเขนแลสามเสน แล้วล่องมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ แลคลองภาษีเจริญ ไปจอดประทับแรมที่น่าวัดบำรุงศรัทธาราษฎร์เจริญ ตำบลบ้านหนองแขม ฤๅตามที่เรียกกันโดยสามัญว่า วัดหนองแขม

วัน ๗ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาย่ำรุ่งเสศ เรือพระที่นั่งออกจากวัดหนองแขมไปตามลำคลองภาษีเจริญ เลี้ยวเข้าคลองกระทุ่มแบนออกแม่น้ำนครไชยศรีล่องลงไปเข้าคลองดำเนินสดวก ประทับแรมที่น่าวัดโชติทายการาม ระหว่างหลัก ๗ กับหลัก ๘

วัน ๑ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้า ๒ โมง เรือพระที่นั่งออกจากที่ประทับแรมน่าวัดโชติ ออกปากคลองบางนกแขวกขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองราชบุรี เวลาเที่ยงเรือพระที่นั่งจอดที่ท่าน้ำน่าที่พักบ้านพระยาอมรินทร์แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปขึ้นรถไฟไปเมืองเพ็ชรบุรี กลับจากเพ็ชรบุรีเวลา ๒ ทุ่มเสศ เสด็จมาประทับแรมที่ที่ประทับเมืองราชบุรี

วัน ๒ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าเสด็จประพาศตลาดเมืองราชบุรี เวลาบ่ายเสด็จทอดพระเนตรการบวชนาคบุตรพระแสนท้องฟ้า ที่วัดสัตนารถปริวัตร แล้วเสด็จกลับที่ประทับแรม แล้วเสด็จประพาศทางเรือล่องไปตามลำแม่น้ำไปประพาศในลำแม่น้ำอ้อม ประพาศวัดเพลง เปนต้น

วัน ๓ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาบ่าย เสด็จประพาศทางเรือในทุ่งฝั่งตวันออก เข้าคลองบางแค มาออกคลองโคกหม้อ

วัน ๔ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาบ่าย เสด็จไปประทับที่บ้านปลัดเทศาภิบาล แลเสด็จทอดพระเนตรในที่บริเวณนั้น แล้วเสด็จขึ้นรถไฟไปลงที่ตำบลโพธาราม ประพาศตลาดแล้วกลับมาทางเรือ

อนึ่งวันนี้ เปนวันทำขวัญหม่อมเจ้าโชติรส แลเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ที่โปรดให้อุปสมบทเปนนาคหลวง การทำขวัญนี้ได้ทำที่พระที่นั่งอมรินทร์ เวลาค่ำ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จออกในการนี้

วัน ๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เช้า เสด็จประพาศตลาด แล้วมาประทับเรือพระที่นั่งออกจากที่ประทับแรมเมืองราชบุรี ล่องลงไปตามลำน้ำเมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม แล้วเรือพระที่นั่งไปจอดประทับแรมที่น่าเมืองสมุทสงคราม เมื่อเดินกระบวนเสด็จลงเรือเล็กแยกไปประพาศแม่น้ำอ้อม มีวัดประดู่เปนต้น

วันนี้เปนวันอุปสมบทหม่อมเจ้าโชติรส แลเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ที่วัดพระศรีรัตนสาศดาราม เวลาบ่าย ๓ โมงเสศ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์เสด็จ เมื่อเสร็จการอุปสมบทแล้ว เสด็จกลับ ส่วนหม่อมเจ้าพระโชติรส แลพระเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์นั้นได้ไปจำพรรษาอยู่ ณะ วัดบวรนิเวศ

วัน ๖ ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จประพาศทางเรือในบริเวณเมืองสมุทสงคราม เสด็จเข้าในคลองอัมพวา มีวัดดาวดึงษ์ เปนต้น

วัน ๗ ๑๑ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้า เสด็จขึ้นทอดพระเนตรที่ว่าการต่างๆ ในเมืองสมุทสงคราม บ่าย เสด็จประพาศวัดอัมพวันเจติยาราม๑๐ แลสวนตำบลอัมพวา

วัน ๑ ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จจากเมืองสมุทสงคราม ทรงเรือโป๊ะออกปากอ่าวเมืองสมุทสงคราม ไปเข้าอ่าวบ้านแหลม ประทับเมืองเพ็ชรบุรี ส่วนเรือกระบวนใหญ่ออกจากเมืองสมุทสงคราม ไปเข้าปากอ่าวบางกระบูน ไปตามลำน้ำบางกระบูน แล้วเลี้ยวเข้าคลองบางครก ออกลำแม่น้ำเมืองเพ็ชรบุรี ถึงเมืองเพ็ชรบุรีเวลา ๒ ทุ่ม ประทับแรมที่เมืองเพ็ชรบุรี๑๑

อนึ่งวันนี้เปนดิถีคล้ายกับวันประสูตร กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เวลาบ่ายเจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิออกตั้งในพระที่นั่งดุสิต จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างทุกปีมา

วัน ๒ ๑๓ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จประพาศทางเรือในลำน้ำเมืองเพ็ชรบุรี เสด็จวัดป่าแป้น เปนต้น

อนึ่งวันนี้เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เสด็จออกทรงพระสุหร่ายสรงแลทรงเจิมเทียนพรรษา ที่สำหรับพระราชทานไปยังเจดียสถานที่สำคัญแลพระอารามหลวงต่างๆที่พระที่นั่งจักรกรีองค์ตวันตก

วัน ๓ ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จไปรเวตไปประทับแรมบางทะลุ มีเจ้านายแลข้าราชการโดยเสด็จบางคน ส่วนกระบวนใหญ่อยู่ ไม่ได้ตามเสด็จ

วัน ๔ ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จกลับจากบางทะลุโดยเรือใบเข้าทางบ้านแหลม ประทับวัดอุตมิงคาวาศด้วย

อนึ่งวันนี้เวลาบ่าย ๓ โมงเสศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาแลถวายพุ่มที่วัดพระศรีรัตนสาศดาราม แลได้ประทานเทียนชนวนให้พระบรมวงษานุวงษ์ไปทรงจุดเทียนพรรษาตามพระอารามหลวงต่างๆ แล้วเสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาแลถวายพุ่มที่วัดพระเชตุพน

เทียนพรรษาที่วัดเบ็ญจมบพิตรนั้น โปรดให้กรมขุนพิทย์ไปทรงจุด

แลในวันเข้าพรรษาทั้ง ๓ วันนี้ ได้โปรดให้มีพระสงฆ์เข้าไปรับอาหารบิณบาตเวรในพระบรมมหาราชวังวันละ ๑๕๐ รูป

วัน ๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓๑๒

เสด็จประพาศพระนครคีรี๑๓ ขึ้นทางวัดพระนอน แล้วเสด็จขึ้นไปประทับบนพระที่นั่งในพระนครคีรี เสวยเข้าแช่ในที่นั้น แล้วเสด็จถวายพุ่มพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชธรรมสภา๑๔ พระสงฆ์ที่มารับพุ่มรวม ๓๐ รูป มีพระพิศาลสมณกิจ๑๕ เปนประธานแล้วสดัปกรณ์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วเสด็จกลับมาที่ประทับแรม

วันนี้เปนวันกำหนดการพระราชกุศลกาลานุกาลเข้าพรรษา เวลาบ่ายเจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิแลพระอัฐิออกตั้งจัดการบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระที่นั่งอมรินทร์ กรมขุนพิทย์เสด็จในการนี้ แลได้มีการสดัปกรณ์กาลานุกาลที่พระราชวังบวรแลที่หอพระนาคด้วย

อนึ่งวันนี้เวลาบ่าย ๔ โมงเสศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรสำหรับฤดูร้อนออกเปลี่ยนเปนทรงเครื่องสำหรับฤดูฝน แล้วพราหมณ์ได้เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชด้วย

วัน ๖ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เสด็จประพาสวัดเกาะ๑๖ วัดจันทร์๑๗ วัดใหญ่๑๘ วัดโพธาราม วัดพระทรงในเมืองเพ็ชรบุรี เวลาบ่ายเสด็จออกจากเมืองเพ็ชรบุรีมาประทับแรมตำบลบ้านแหลมประพาศวัดนอก

วัน ๗ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้ากระบวนเสด็จออกจากบ้านแหลมข้ามมาเข้าอ่าวเมืองสมุทสงคราม แล้วเข้าคลองแม่กลองออกคลองบางโทรัด แล้วออกแม่น้ำเมืองสมุทรสาคร ล่องลงไปประทับแรมที่เมืองสมุทสาคร ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบจากบ้านแหลม เข้าอ่าวท่าจีนประพาศวัดโกรกรากด้วย

วัน ๑ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าออกจากเมืองสมุทสาครขึ้นมาตามลำน้ำเมืองสมุทสาคร เมืองนครไชยศรี ประทับแรมที่งิ้วราย เมืองนครไชยศรี พระเจ้าอยู่หัวเสด็จแยกจากกระบวนประพาศวัดบางปลา วัดเชิงเลน๑๙

วัน ๒ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้า ๒ โมงเสศเสด็จขึ้นรถไฟที่งิ้วรายไปพระปฐมเจดีย์ เสด็จกลับทางเรือมาแวะพระประโทน แลบ้านพระยาเวียงใน มาถึงที่ประทับแรมเวลา ๔ ทุ่มเสศ

วัน ๓ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๒ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓๒๐

เวลาเช้า ๒ โมง เสด็จจากที่ประทับงิ้วรายขึ้นไปตามลำน้ำเมืองนครไชยศรี เมืองสุพรรณบุรี เลี้ยวเข้าคลองสองพี่น้อง เรือพระที่นั่งไปจอดประทับแรมน่าที่ว่าการอำเภอสองพี่น้อง

วัน ๔ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๓ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าเสด็จประพาศตลาดตำบลสองพี่น้อง เวลาบ่ายเสด็จออกจากคลองสองพี่น้อง แวะเสวยวัดบางสาม เรือพระที่นั่งขึ้นไปประทับแรมน่าวัดบางบัวทอง กระบวนล่วงน่ามาก่อน

 

วัน ๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๔ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าเสด็จออกจากวัดบางบัวทองไปประทับแรมเมืองสุพรรณบุรี เสด็จแวะคลองบางภาษีถึงสุพรรณ์ แล้วบ่ายประพาศเหนือน้ำ ประพาศวัดแค

วัน ๖ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๕ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าเสด็จขึ้นทอดพระเนตรที่ว่าการแลสถานที่ต่างๆ แล้วเสด็จทอดพระเนตรวัดพระธาตุเทวสถานแลวัดต่างๆ แล้วเสด็จขึ้นไปทรงนมัสการพระป่าเลไลยแล้วเสด็จกลับ เวลาบ่ายเรือพระที่นั่งออกจากเมืองสุพรรณบุรีมาประทับแรมบางปลาม้า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จต่อไปถึงวัดบางยี่หน แล้วเสด็จกลับมายังที่ประทับแรม

วัน ๗ ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๖ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาเช้าโมงเสศออกจากบางปลาม้ามาเข้าคลองบางปลาม้า คลองจรเข้ใหญ่ แลคลองบางขี้ ออกแม่น้ำผักไห่ เรือพระที่นั่งจอดประทับแรมน่าบ้านหลวงวารีโยธารักษ์ ตำบลผักไห่ บ่ายทรงเรือเมล์ไปเหนือน้ำเข้าแขวงอ่างทอง เสวยที่ตรงข้ามกับวัดท่าช้าง

วัน ๑ ๑๑ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๗ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓๒๑

เวลาเช้าเสด็จจากผักไห่ล่องลงมาขึ้นหัวเวียง ออกบางโผงเผง กระบวนใหญ่ล่องน้ำมาบางไทรขึ้นไปบางปอิน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกบางโผงเผงแล้วแยกเข้าทางบ้านกุมมาบางปอิน เสด็จขึ้นรถไฟที่สเตชั่นบางปอินกลับกรุงเทพ ประทับในพระบรมมหาราชวัง

วัน ๒ ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๘ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาบ่ายเสด็จสวน กลับจากสวนเสด็จประทับที่ประชุม

วัน ๓ ๑๓ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๙ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาค่ำเสด็จออกมุขตวันออกพระที่นั่งจักรกรี

วัน ๔ ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

บ่ายเสด็จออกน่าห้องราชองครักษ์ แล้วเสด็จถวายพุ่มวัดบวรนิเวศ

วัน ๕ ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง ๑๒๖๖

วันที่ ๑๑ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๗ศก ๑๒๓

เวลาบ่ายเสด็จออกน่าห้องราชองครักษ์ แล้วเสด็จถวายพุ่มวัดเบญจมบพิตร์ เสด็จกลับประทับที่ประชุม

  1. 1. เล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ ๒ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  2. 2. วัดปรมัยยิกาวาส อยู่ตำบลปากเกร็ด อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศืเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเทิดทูนพระเกียรติยศเสมอสมเด็จพระราชชนนี เป็นผู้สถาปนาและบูรณปฏิสังขรณ์ให้รุ่งเรืองมั่นคงในรัชกาลที่ ๕

  3. 3. วัดเขมาภิรตารามอยู่ที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และได้รับการบูรณะต่อมา รัชกาลที่ ๔-๕

  4. 4. คือตำหนักแดง เดิมเป็นตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาศรีสุดารักษ์ พระมารดาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สร้างอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง แล้วย้ายไปปลูกในพระราชวังเดิมครั้งหนึ่ง ไปปลูก ณ วัดโมลีโลกครั้งหนึ่ง และสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายมาไว้ที่วัดเขมาภิรตาราม

  5. 5. ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม เป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกเสด็จประพาสต้นเป็นครั้งแรก ด้วยปรากฏว่าก่อนหน้านี้ทรงประชวรทรงกังวลและทรงพระราชกิจมาก หาเวลาพักผ่อนไม่ได้ หมอและเจ้านายผู้ใหญ่เห็นว่าต้องเสด็จประพาสเพื่อรักษาพระองค์ให้ทรงสบายดังเก่า มีพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงได้เสด็จประพาสตามลำน้ำด้วยกระบวนเรือ ซึ่งนอกจากจะได้ทรงพักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถแล้วยังได้ตรวจตราสถานบ้านเมือง ดูแลความทุกข์ของประชาชนได้อย่างใกล้ชิด การเสด็จประพาสโปรดให้เป็นอย่างสามัญไม่ประสงค์ให้หัวเมืองจัดการต้อนรับ เมื่อพอพระราชหฤทัยจะประทับแรมที่ใด ก็จะประทับที่นั้น เพราะบางทีก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จโดยสารรถไฟ มิให้ผู้ใดรู้จักพระองค์ และการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกโดยใช้นามแฝงว่า “นายทรงอานุภาพ” เล่าเรื่องไว้เป็นจดหมายรวม ๘ ฉบับ นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “เสด็จพระพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” โดยเริ่มเล่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เป็นการเสด็จประพาสต้นที่สนุกสนานและให้ความรู้อย่างดี

  6. 6. เล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ ๓ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  7. 7. วัดสัตตนารถปริวัตร เดิมชื่อวัดโพธิ์งาม อยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา ใต้ศาลากลางจังหวัดราชบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซ่อมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เพื่อผาติกรรมไล่จากวัดเดิมที่อยู่เชิงเขาสัตตนารถ โปรดพระราชทานชื่อวัดสัตตนารถปริวัตร หมายความว่า วัดที่ย้ายจากเขาสัตตนารถ โปรดให้นิมนต์พระธรรมยุติกนิกายจากวัดโสมนัสไปอยู่ วัดนี้จึงเป็นวัดคณะธรรมยุติกนิกายจนบัดนี้

  8. 8. เล่าไว้ในจดหมาย ฉบับที่ ๔ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  9. 9. เล่าไว้ในจดหมาย ฉบับที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  10. 10. วัดต้นตระกูลสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ปัจจุบันมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ดำเนินการ โครงการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ฯ ในบริเวณวัดนี้

  11. 11. พักที่บ้านเจ้าพระยาสุรพันธวิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เทศาภิบาลเมืองเพชรบุรี

  12. 12. เล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ ๖ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  13. 13. พระราชวังบนเขามหาสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง ๘ หลังคือ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา ตำหนักสัณฐาคารสถาน หอพิมานเพชรมเหศวร์ หอจตุเวทประดิษฐพจน์แลหอชัชวาลเวียงชัย

  14. 14. พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นพระที่นั่งหลังยาวที่ทรงธรรมและประกอบพระราชพิธีสงฆ์

  15. 15. พระพิศาลสมณกิจ ชื่อ ริด เดิมเป็นเปรียญอยู่วัดอรุณราชวราราม

  16. 16. เป็นวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าที่สุด

  17. 17. อยู่ใกล้วังบ้านปืน

  18. 18. วัดสุวรรณาราม เป็นวัดเก่ามาแต่โบราณ สิ่งก่อสร้างเป็นฝีมือช่างอันวิจิตรงดงาม พระอุโบสถมีภาพเทพชุมนุมนั่งเป็นชั้นๆ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นที่ประดิษฐานสมเด็จพระสังฆราชแตงโม

  19. 19. เชิงเลน ต้นฉบับมีรอยขีดฆ่าและแก้ว่า ตีนท่า

  20. 20. เล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ ๖ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

  21. 21. เล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ ๗ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ