ภาคผนวก ก เรื่อง การเปิดรถไฟเพ็ชรบุรี

ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมรถไฟจัดสร้างทางรถไฟหลวง ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไปเมืองเพ็ชรบุรีนั้น บัดนี้การสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จตลอดถึงเมืองเพ็ชรบุรี แลได้ทดลองเดินรถไฟได้โดยเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการเปิดรถไฟสายนี้ เพื่อให้มหาชนโดยสารไปมาได้โดยสดวกต่อไป เจ้าพนักงานได้จัดการตกแต่งสเตชันที่น่าวัดอมรินทรารามด้วยธงรูปจักร์ปีกแลต้นไม้ ภายในสเตชั่นตั้งม้าหมู่ประดิษฐานพระไชยวัฒน์ประจำรัชกาลปัตยุบันนี้ แลพระไชยหลังช้าง มีเครื่องทรงนมัสการ, พระแท่นทรงกราบ, อาศนสงฆ์, เปนต้น ต่อออกมาตั้งพระราชบัลลังก์ แลที่สะพานท่าน้ำสเตชั่นรถไฟปากคลองบางกอกน้อยก็ได้จัดตั้งปรำ ประดับธงรูปจักร์ปีกเหมือนกันเปนการครึกครื้นยิ่งนัก

วันที่ ๑๙ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ เปนวันกำหนดเปิดทางรถไฟ เวลาเช้าโมงเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องอย่างจอมพลทหารบก ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาจักรกรีบรมราชวงษ์ เสด็จออกทรงรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยกระบวนทหารราชองครักษ์ มหาดเล็ก แห่นำตามเสด็จ ๆ พระราชดำเนินออกจากพระบรมมหาราชวังเลี้ยวถนนน่าพระลานแล้วไปเลี้ยวป้อมอินทรังสรรค์ไปตามถนนริมกำแพงพระนคร หยุครถพระที่นั่งที่ชาลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งกลไฟ ชื่อ ชลยุทธ์ที่ท่าราชวรดิฐ มีเรือกลไฟเปนเรือแห่นำตามเสด็จ เรือพระที่นั่งกลไฟใช้จักร์แล่นขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เทียบท่าสเตชั่นที่ปากคลองบางกอกน้อยแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับรถพระที่นั่ง ซึ่งเจ้าพนักงานกรมรถไฟได้จัดไว้รับเสด็จนั้น แล้วรถไฟใช้จักร์ลากรถพระที่นั่งไปหยุดที่สเตชั่นน่าวัดอมรินทราราม เสด็จลงจากรถพระที่นั่งเข้าไปประทับในสเตชั่น พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการ แลราชทูต กงซุล ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แลพ่อค้าชาวต่างประเทศอื่นๆเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประทับ ณ พระราชบัลลังก์ พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการได้กราบบังคมทูลรายงานในการที่โปรดเกล้า ฯ ให้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ จบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบทรงแสดงพระราชหฤไทยทรงชื่นชมยินดีในการที่ได้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จ จบแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยากรณ์แลสัญญาบัตร์ แก่ข้าราชการในกรมรถไฟ แล้วเสด็จไปประทับที่รางรถไฟทรงน่าสเตชั่น ทรงตรึงหมุดที่รางรถไฟซึ่งสมมุติว่าเปนอันแล้วสำเร็จบริบูรณ์นั้น ในเวลานี้พระสงฆ์ดำรงสมณะศักดิ์ ๕ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเปนประธาน สวดชยันโต เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์. ฆ้องไชย. พิณพาทย์. เมื่อทรงตรึงหมุดเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานกรมรถไฟได้เลื่อนรถไฟแลรถพ่วงที่สำหรับเตินตามธรรมดา ซึ่งจะโปรดเกล้า ฯ ให้เดินเปนฤกษ์นั้นมาหยุดที่น่าพระที่นั่ง แล้วเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาได้เชิญพระไชยหลังช้างขึ้นประดิษฐานในรถพ่วง พระอมรโมฬีเจ้าคณะมณฑลราชบุรีได้ขึ้นรถไฟสำหรับโปรยทรายไปจนตลอดถึงที่สุดทางเมืองเพ็ชรบุรี พอการพร้อมเพรียงแล้วแฮร์เกิตส์เจ้ากรมรถไฟได้กราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานกรมรถไฟใช้จักร์เดินรถไฟเปนฤกษ์ไปตลอดถึงเมืองเพ็ชรบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสปฏิสัณฐารด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลราชทูตกงซุล พ่อค้าชาวต่างประเทศตามสมควรแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จประทับโต๊ะเสวย ณะ ที่สเตชั่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสวยพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ส่วนข้าราชการ ราชทูต กงซุล พ่อค้าชาวต่างประเทศก็รับพระราชทานเลี้ยงด้วย ในเวลาที่เสวยนี้ได้มีพระราชดำรัสแสดงพระราชหฤไทยยินดี ทรงอำนวยพรพระราชทานกรมรถไฟ เสร็จการเสวยแล้ว ได้มีพระราชดำรัสกับผู้ที่เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในที่นั้นต่อไปตามสมควรแล้วเสด็จทรงรถพระที่นั่ง รถไฟใช้จักร์ลากรถพระที่นั่งกลับมาประทับท่าเสด็จลงเรือพระที่นั่งกลไฟ แล้วเรือพระที่นั่งกลไฟใช้จักร์ล่องกลับมาเทียบท่าราชวรดิฐ เสด็จพระราชดำเนินทรงรถม้าพระที่นั่งกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวังเวลาเช้า ๓ โมงเศษ

เปนเสร็จการเท่านี้

รายงานการจัดสร้างทางรถไฟเพ็ชรบุรี

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม

โดยกระแสร์พระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้กระทรวงโยธาธิการจัดการถ่ายถอนพระบรมราชานุญาต อันได้พระราชทานไปแล้วแก่ผู้คิดจะสร้างทางรถไฟเพ็ชรบุรีนี้กลับคืน แลได้คิดจัดการสร้างเสียใหม่ให้เปนการของแผ่นดิน ด้วยเหตุว่าผู้ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปแล้ว ไม่ได้จัดการให้สมควรที่จะหวังพระราชหฤไทยได้ว่าจะทำการให้เปนประโยชน์สมพระราชประสงค์นั้น

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งเวลานั้นได้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ว่ากล่าวถ่ายถอนพระบรมราชานุญาตคืนได้แล้ว จึงได้เสด็จตรวจท้องทำเลที่ควรจะทำทางรถไฟแต่กรุงเทพ ฯ ไปถึงเพ็ชรบุรี กะเส้นทางลงตั้งต้นแต่ปากคลองบางกอกน้อยตรงไปในทิศตวันตกใกล้แนวคลองมหาสวัสดิ์ ข้ามแม่น้ำท่าจีนตรงตำบลบ้านเขมร ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำแม่กลองตรงตำบลบ้านโป่ง จึงโอนเส้นทางเลี้ยวไปข้างทิศใต้เลียบไปใกล้ฝั่งน้ำ ข้ามแม่น้ำแม่กลองที่เมืองราชบุรี แล้วตรงไปตามทางบนคอนจนถึงเมืองเพ็ชรบุรีเปนที่สุด เมื่อได้ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบตามนี้แล้ว จึงได้ลงมือจับการตรวจทำแผนที่ซึ่งจะได้ทำการสร้างนั้นต่อไป

เมื่อการตรวจทำแผนที่ทางเสร็จแล้ว จึงได้ลงมือจับการสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เปนต้นมาจนถึงวันที่ ๓๑ เดือนมีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ การสร้างแล้วพอใช้การได้ไม่สำเร็จพร้อม เพราะรถที่สั่งไปทำที่ประเทศยุโรปมาถึงช้า เหตุว่ามีความยากลำบากในเรื่องเรือบรรทุก การจึงได้ล่าช้ามาจนถึงบัดนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ดีก็ยังได้จัดเครื่องล้อเลื่อนซึ่งมีอยู่แก้ไขใช้เดินไปพลางตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนเมษายนมาแล้ว

รถไฟสายนี้ได้ทำรางขนาดกว้างเมเตอร์ ๑ มีระยะยาว ๑๕๑ กิโลเมเตอร์ การพูนดินต้องทำมากกว่า ๒ ล้านคิวเมเตอร์เกินกว่าที่ได้ประมาณไว้เดิม ด้วยเหตุเกิดแต่ที่ดินอ่อน เปนต้นว่าที่เชิงสะพานใหญ่ ๆ ถมดินไม่ยืนอยู่ได้ซุดลงต้องถมเพิ่มเติมได้ความลำบากในการอันนี้มาก

สะพานในทางรถไฟสายนี้ มีสะพานใหญ่ ๓ ทำด้วยเหล็ก คือ ที่ ๑ สะพานข้ามคลองตลิ่งชัน มีช่องเดียวกว้าง ๕๐ เมเตอร์ ที่ ๒ สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มี ๓ ช่องๆ กลางกว้าง ๙๐ เมเตอร์ ช่องริมกว้างช่องละ ๒๑ เมเตอร์ เปนสะพานอันมีช่องกว้างกว่าสะพานอื่นหมดที่ได้ทำแล้วในประเทศนี้ ได้พระราชทานนามว่า “สะพานเสาวภา ที่ ๓ สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมี ๓ ช่อง กว้างช่องละ ๕๐ เมเกอร์ รวมเปนยาว ๑๕๐ เมเตอร์ เปนสะพานยาวกว่าสะพานอื่นหมดที่ได้ทำแล้วในประเทศนี้ ได้พระราชทานนามว่า “สะพานจุฬาลงกรณ์” ความยากลำบากในการทำสะพานทั้ง ๓ นี้มีเปนอันมาก รากสะพานเหล่านี้ต้องทำต่ำกว่าระดับรางรถแห่งหนึ่งถึง ๒๐ เมเตอร์ แห่งหนึ่ง ๑๙ เมเตอร์ อีกแห่งหนึ่ง ๑๖ เมเตอร์ ยังสะพานเล็กมีอีก ๑๒๑ สะพานทำด้วยไม้ล้วนบ้าง ทำด้วยไม้ปนก่ออิฐบ้าง

เงินใช้จ่ายในการสร้างทางรถไฟสายนี้จะเปนราคาแพงอยู่สักหน่อย ด้วยถูกเวลาโชคร้าย เครื่องเหล็กทั้งหลายที่ได้สั่งจากประเทศยุโรปก็เปนเวลากำลังราคาเหล็กแพง แลทั้งเปนเวลาที่เงินลงราคามากด้วย ข้าพระพุทธเจ้ามีปราดถนาที่จะกราบบังคมทูลถึงราคารถไฟสายนี้ แค่ยังไม่สามารถที่จะกราบบังคมทูลในขณะนี้ได้ ด้วยว่างานซึ่งยังจะต้องทำเพิ่มเติมยังมีอยู่บ้างเล็กน้ยย แต่อย่างไรก็ดีราคาทั้งหมดคงจะไม่เกินไปกว่า ๗๘๘๐๐๐๐ บาท ถ้าคิดเฉลี่ยราคาลงในระยะยาวแห่งทางตกเปนกิโลเมเตอร์ละ ๕๒๐๐๐ บาท ถ้าเทียบกับราคาทางรถไฟฉนิดเดียวกันในประเทศอื่น ก็ยังไม่มีประเทศใดที่ทำได้ราคาถูกกว่านี้

บัดนี้การคุมรถได้ทำสำเร็จจะเปิดทางรถไฟใช้ในวันนี้ ข้าพระพุทธเข้าไม่มีความสงไศรยอย่างใดเลย ผลประโยชน์แห่งทางรถไฟสายนี้ จะมีเปนอันมาก ด้วยทางได้ทำผ่านไปในแผนที่อันได้มีราชฎรประกอบการทำมาหารับพระราชทาน ด้วยการเพาะปลูกอยู่แล้วเกือบจะตลอดทาง แลถูกที่ประชุมชนอันใหญ่อยู่ถึง ๖ ตำบล คือ กรุงเทพฯ, พระปฐมเจดีย์, บ้านโป่ง, โพธาราม, ราชบุรี กับทั้งเพ็ชรบุรีเปนที่สุด แลยังมีช่องที่จะขยายการสร้างต่อไปในหัวเมืองปักใต่ฝ่ายตวันตก อันมีเมืองที่บริบูรณ์อยู่แล้วอีกมากนั้นก็ได้ในภายน่าด้วย เพาะฉนั้นทางรถไฟสายนี้ต้องนับว่าเปนต้นราคแห่งทางรถไฟทั้งหลายในพระราชอาณาจักร์ซีกตวันตก เปนทางสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งจะมีความเจริญเกิดขึ้นในภายน่าหาประมาณมิได้

อนึ่งการสร้างรถไฟสายนี้ กรมรถไฟทำการไปได้สดวกดี ก็ด้วยอาไศรยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แลเสนาบดีกระทรวงนครบาล พร้อมทั้งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีแลนครไชยศรี ได้ช่วยอุดหนุนตลอดกันไปในการปกปักรักษา ทั้งการจัดหาสิ่งของแลจัดที่ดิน ซึ่งต้องการใช้ในการสร้างทางรถไฟนี้ มิได้มีความขัดขวางอย่างหนึ่งอย่างใด.

การสร้างทางรถไฟนี้แล้วในไม่ช้าเวลานักเช่นนี้ก็ด้วยอาไศรยพระบารมีปกเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้ากับทั้งข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายในกระทรวงโยธาธิการ มีความยินดีเปนล้นเกล้า ฯ ที่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้ทรงพระอุสาหเสด็จพระราชดำเนินมาถึงที่นี้ ในเวลาอันเปนฤดูฝนตกชุก ก็ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตร์การงานอันได้มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายกระทำนั้น เมื่อเปนอันสำเร็จบริบูรณ์สมพระราชประสงค์แล้ว ก็จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดทางเดินรถให้มหาชนไปมาได้สดวกตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป ข้าพระพุทธเจ้าได้ละหมุดตรึงทางอันสุดท้ายไว้ทูลเกล้า ฯ ถวายทรงตรึงด้วยพระราชหัตถ์ เพื่อเปนมงคลแก่ทางรถไฟสายนี้ให้เปนอันแล้วสำเร็จด้วยพระราชหัตถ์ แลข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เตรียมพร้อมที่จะรับพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้เดินรถต่อไป

ด้วยเกล้า ฯ ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

พระราชดำรัสเปิดทางรถไฟเพ็ชรบุรี

เจ้าฟ้ากรมขุน,

เรามีความยินดีเปนอันมาก ที่ได้ทราบความตามรายงานของเธอ ว่าทางรถไฟแต่กรุงเทพฯ ไปเมืองเพ็ชรบุรีสายนี้ได้สร้างขึ้นสำเร็จบริบูรณ์ เพื่อจะเปิดให้คนทั้งปวงใช้ได้ทั่วไปแล้ว

เราได้สังเกตเห็นด้วยความพอใจเปนอันมากในการที่กรมรถไฟได้สร้างทำรางรถไฟสายนี้ว่าเจ้าพนักงานได้เอาใจใส่ระวังมากเพียงไรในการที่คิดใช้จ่ายเงินแต่ที่พอควรแก่การซึ่งเปนข้อสำคัญนักของประเทศนี้ จนเหนได้ว่าเงินค่าก่อสร้างทางรถไฟสายนี้สมควรที่จะจดหมายเหตุไว้ได้ ว่าเปนอย่างต่ำที่สุดอันหนึ่งของการทำรถไฟชนิดเดียวกันที่ได้สร้างขึ้นในประเทศอื่นๆแล้ว เราขอแสดงความชื่นชมยินดีด้วยกับกรมรถไฟในผลสำคัญอันสำเร็จไปได้อย่างนี้ด้วย

เรามีความรู้สึกแน่ในใจ ว่าความที่เอาใจใส่รวังในการใช้จ่ายเงินเช่นนี้ กรมรถไฟจะคงได้มีอยู่ต่อไปในการบังคับบัญชารักษาการสำหรับทางรถไฟสายนี้ เพื่อที่จะได้รับผลอันอีอย่างเดียวกันต่อไปในภายน่า

การที่มีทางไปมาถึงกันได้โดยเร็วอย่างนี้ย่อมเปนหนทางอันแน่ว่า ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ทุกประเทศแล้ว เราจึงควรคิดที่จะให้มีทางรถไฟแผ่ไพศาลออกไปทั่วพระราชอาณาเขตร์ ตามกำลังของบ้านเมืองเราที่จะกระทำได้ในเวลาอันสมควร แต่อย่างไรๆ ก็ดีเมื่อจำเปนต้องคิดอยู่ถึงการที่จะไม่ให้เปลืองเงินแผ่นดินแล้ว เราจะคิดสร้างทำรางรถไฟที่ไม่มีประโยชน์อันใดในทางค้าขายนั้นก็ไม่ได้อยู่ด้วย

เรามีความพอใจเปนอันมาก ในการงานที่เธอได้กระทำให้สำเร็จได้แล้วนี้ แลในขณะเมื่อเรามีความประสงค์อยู่ว่า ขอให้ทางรถไฟสายนี้จงมีความสำเร็จตลอดทุกอย่างนั้น เรามีความยินดีที่จะลงมือกระทำการเพื่อให้เปนอันเสร็จงานที่สุดของการก่อสร้างทางรถไฟนี้ แลมีความยินดีก็จะประกาศให้ทราบทั่วกันว่าตั้งแต่นี้สืบไปทางรถไฟสายนี้เปนอันเปิดให้คนทั้งปวงใช้ได้ทั่วกันแล้ว

พระราชทานเครื่องราชอิศริยากรณ์ แลเหรียญช้างเผือกเหรียญมงกุฎสยาม

วันที่ ๑๙ มิถุนายน รัตนโกสินทร ๑๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ ที่สเตชั่นรถไฟในการเปิดทางรถไฟเพ็ชรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ คือ

มงกุฎสยามชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์

แฮร์เกิตส์ เจ้ากรมรถไฟ

มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์

แฮร์โคลกชิพ อินเยอเนีย กรมรถไฟ

มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์

มิสเตอร์ทิล ผู้บังคับการออฟฟิศกลางกรมรถไฟ

มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์

หลวงนรพรรคพฤฒิกร (ทองอยู่)

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ รับไปพระราชทาน คือ

ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ภูษนาภรณ์

มิสเตอร์ โก๊ตส์ อินเยอเนียชั้นใหญ่ กรมรถไฟ

มิสเตอร์ คาโนวา อินเยอเนียชั้นใหญ่ กรมรถไฟ

มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์

หลวงรถาจารณ์ประจักษ์ (โมรา) กรมรถไฟ

เหรียญช้างเผือกเงิน

เอ เปศตอนยี หัวน่าการรถจักร์

อาร์ แฟนเซโล พนักงานใช้เครื่องจักร์

ดับปลิว รัยศ์ พนักงานพัสดุ

แอล เอช. กรีเนีย นายสเตชั่น

เอช. เย. สมิท นายสเตชั่น

บี. เอ. เปศตอนยี นายสเตชั่น

เย. ปอนเซน นายสเตชั่น

เหรียญมงกุฎสยามเงิน

เย. ปร๊อกเตอร์ หัวน่าในการรถพ่วง

เอช. เลิฟเวอร์ พนักงานใช้เครื่องจักร์

เอช. รอบินซัน พนักงานใช้เครื่องจักร์

เอช. เยมส์ พนักงานใช้เครื่องจักร์

นายเบียวเล็ก พนักงานกำกับรถ

เย. บี. วิกเดอรามาชิง นายสเตชั่น

นายอั๋น พนักงานกำกับรถ

นายตันกิมฮวด นายสเตชั่น

นายปลื้ม นายสเตชั่น

เอ. เอมส์ พนักงานพัศดุ

บี. บามันยี เสมียนใหญ่

เอ. กอเดโร นายสเตชั่น

พระราชทานสัญญาบัตร์ขุนนาง

วันที่ ๑๙ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ ที่ สเตชันรถไฟในการเบิดทางรถไฟเพ็ชรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร์ขุนนางแก่ข้าราชการ คือ

ให้นายเปียเตง เปนขุนรักษ์โชติยาน มีตำแหน่งราชการในกระทรวงโยธาธิการ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้นายสม เปนขุนจักรวิจารณ์บดี มีตำแหน่งราชการในกระทรวงโยธาธิการ ถือศักดินา ๔๐๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ