คำนำ

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสมเชื้อ เชาวน์ประดิษฐ์ เป็นกรณีพิเศษ กำหนดวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ณ เมรุวัดเวฬุราชิณ นายสมพงษ์ เชาวน์ประดิษฐ์ ได้มาแจ้งแก่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่ามีความประสงค์จะขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนต่อจากที่ได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว คือ ปีจุลศักราช ๑๒๖๕-๑๒๖๖ พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๔๗ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งมีต้นฉบับเก็บรักษาไว้ ณ สำนักราชเลขาธิการ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นผู้อนุญาตการจัดพิมพ์ครั้งนี้ (ซึ่งได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๓/๖๙๐๑ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๗)

เรื่อง จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันนี้ สังเกตตามสำนวนที่จดไว้ในหนังสือนี้ เข้าใจว่าข้อความตอนต้นๆ ในเล่มแรกเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ด้วยพระองค์เอง เพราะถ้อยคำสำนวนที่ทรงไว้ล้วนเป็นคำสามัญไม่มีราชาศัพท์เลยจนถึงหน้า ๑๙ ในภาคที่ ๕ ต่อแต่นั้นมาเข้าใจว่ารับสั่งให้ผู้อื่นจด จึงมีใช้ราชาศัพท์ เช่น “เสด็จพระราชดำเนิน” “ทรงพระราชนิพนธ์” เหล่านี้เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น ผู้จดก็พยายามจะเลียนให้เป็นพระราชนิพนธ์ เช่น ใช้คำสามัญและใช้คำแทนพระองค์ว่า “ฉัน” และออกพระนามเจ้านายบางพระองค์ อย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ แต่ก็ใช้ไปไม่ตลอด มักอดใช้ราชาศัพท์ไม่ได้ ยิ่งในตอนต่อๆมาแล้วมีใช้ราชาศัพท์เป็นพื้น จึงเห็นได้ว่าในตอนหลังๆ มา ตรัสสั่งให้ผู้อื่นจด และผู้รับสั่งก็คงผลัดเปลี่ยนกันมาหลายคน ที่พอจะทราบได้จากความสังเกตเมื่ออ่านจาก “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน” นี้ก็มี ที่ยังไม่สามารถจะทราบได้ก็มี ที่ทราบได้บางตอนเข้าใจว่าเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เช่น มีว่า “วัน ๑ ๔ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ เวลาบ่ายวันนี้ไม่ได้เสด็จออก โปรดให้พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์) เข้าไปเขียนไดอารีที่ห้องไลบรารี พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร” และมีข้อความทำนองนี้อีกหลายแห่ง และบางตอนก็โปรดให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์จคดเช่นมีว่า “วัน ๗ ๘ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ . . . โปรดให้พระองค์ศรีเสาวภางค์เข้าไปเฝ้า ทรงหนังสือราชการและไดอารี” ดังนี้เป็นต้น และบางตอนก็มีว่า “วันนี้ไม่ทรงสบาย ไม่ได้เสด็จออก โปรดให้เราเข้าไปเขียนไดอารีข้างใน” ซึ่งยังไม่ทราบได้ว่า “เรา” ในที่นี้ คือท่านผู้ใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าในตอนหลังๆ นี้ไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหนังสือที่หอพระสมุดหลวงมาเป็นสมบัติของหอสมุดสำหรับพระนคร ในจำนวนหนังสือที่พระราชทานนั้น มีเรื่องพระราชกิจรายวัน ต้นฉบับอักษรพิมพ์ดีดจำนวน ๑๐ เล่ม รวมอยู่ด้วย กำหนดเล่มละ ๑ ปี ตั้งแต่ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ พ.ศ. ๒๔๒๐ ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ พ.ศ. ๒๔๓๐ ขาดปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ ไป ๑ ปี ปรากฏในบานแผนกว่า กรมหลวงปราจิณกิตติบดี ตรัสสั่งให้คัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ต้นฉบับเรื่องดังกล่าวนี้ ต่อมากรมศิลปากรได้จัดให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ โดยแบ่งพิมพ์เป็นภาค ๆ ได้ ๒๔ ภาค

ต่อมาได้ปรากฏว่า สำเนาต้นฉบับจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฉบับสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ จนถึงสิ้นปีรัชกาล เก็บรักษาไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้หาต้นฉบับหนังสือที่มีอยู่ในสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการจึงได้คัดจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ต้องพระราชประสงค์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทาน หลังจากนั้นมาได้มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิมพ์ตอนต่อมาอีกหลายราย เช่น งานพระราชทานเพลิงศพ นางจงกลณี โสภาคย์ พิมพ์จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ และงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงลัย เทพาธิบดี (ลัย บุนนาค) พิมพ์จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ และงานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน จันทรสาขา พิมพ์จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๓๕

หนังสือนี้ ถ้าได้อ่านแต่เฉพาะตอนหนึ่ง อาจจะเห็นว่า ไม่สู้มีเรื่องสำคัญ เพราะข้อความไม่ติดต่อกัน แต่ถ้าอ่านไปหลายๆ วันจะเห็นว่าล้วนมีข้อความติดต่อเกี่ยวโยงกันตลอด ย่อมอำนวยประโยชน์ให้แก่นักอ่านหลายจำพวก โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากหนังสือเล่มนี้มี ๒ จำพวก คือ จำพวกที่ ๑ นักประวัติศาสตร์ จะเห็นคุณค่าของหนังสือนี้อย่างแท้จริง เมื่อเขียนประวัติศาสตร์ประเทศไทยในยุคนี้ เพราะจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันวันละเล็กละน้อยนี้เป็นต้นเหตุให้รู้เรื่องใหญ่ๆ เช่น การออกพระราชบัญญัติ กฎหมาย หรือราชการแผ่นดินอื่นๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นในปีใดถ้าไม่มีการออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เช่น ในปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ และปีมะเมีย จุลตักราช ๑๒๔๔ ก็ไม่อาจทราบได้ว่าใน ๒ ปี นั้น ได้มีราชการตามกระทรวงต่างๆอย่างไรบ้าง จะต้องค้นหาเรื่องที่ต้องการทราบด้วยความลำบากยิ่ง ทั้งนี้อาจไม่ได้เรื่องราวตลอดและเป็นหลักฐานเพียงพอ แต่อาจค้นหาได้ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันนี้

จำพวกที่ ๒ นักศึกษาทางการเมือง เมื่อได้อ่านหนังสือนี้แล้วจะเห็นรัฐประศาสโนบายทั้งในเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศและการภายในประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำประเทศไทยหลีกลัดเกาะแก่งและมรสุมแห่งการเมืองมาด้วยความลำบากยากเย็นเพียงไร สมควรเป็นทิฏฐานุคติของนักการเมืองในชั้นหลังได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ได้จัดทำเชิงอรรถและได้รวบรวมเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ให้ตีพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกท้ายเล่มด้วย และในโอกาสต่อไปกรมศิลปากรจะพยายามรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ให้เป็นฉบับพิมพ์ที่สมบูรณ์

กรมศิลปากรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมศิลปากรเป็นผู้อนุญาตให้จัดพิมพ์หนังสืออันมีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และการปกครองของไทย ทั้งยังเป็นเครื่องเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาวไทยด้วย

ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติ นางสมเชื้อ เชาวน์ประดิษฐ์ ผู้วายชนม์ ให้พิมพ์ไว้ในตอนท้ายของเล่มนี้

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในการกุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งเจ้าภาพได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ นางสมเชื้อ เชาวน์ประดิษฐ์ และได้พิมพ์จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแจกจ่ายเป็นกุศลวิทยาทาน ขออำนาจกุศลทั้งปวงนี้จงเป็นพลวปัจจัยดลบันดาลให้ นางสมเชื้อ เชาวน์ประดิษฐ์ บรรลุสุคติภพประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผล สมดังมโนปณิธานของเจ้าภาพทุกประการ เทอญ.

(คุณหญิงอารี กุลตัณฑ์)

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ