- ๑. ยิ้มเถิด
- ๒. ดุริยางค์
- ๓. แท็กซี่ฟ้า
- ๔. แพ้รู้
- ๕. ประธานาธิบดีลินคอล์น
- ๖. คำเตือนของทารก
- ๗. ลำนำเถา
- ๘. ฟองชีวิต
- ๙. บนและล่าง
- ๑๐. ศิลปแห่งการดำรงชีพ
- ๑๑. เราถูกไฟเจริญลน
- ๑๒. ความจำ
- ๑๓. ตาเนื้อกับตาทิพย์
- ๑๔. โลกมาตา
- ๑๕. บริสุทธิ์
- ๑๖. มหาประเทศ
- ๑๗. สถาปัตยกรรม
- ๑๘. ฉลามกินคน
- ๑๙. คว้านท้อง
- ๒๐. กรรม
- ๒๑. อิสสภาพสมบูรณ์
- ๒๒. คำขวัญ แนวหน้าทหาร กับ พ่อค้า
- ๒๓. น้ำองุ่นใหม่กรอกขวดเก่า
- ๒๔. วันไทยรอด
- ๒๕. ไทยเทวาธิราช
- ๒๖. เจ้าโลก
- ๒๗. เราบูชาพระหรืองั่ง
- ๒๘. มนุษย์หนอ
- ๒๙. ชาติ ศาสนา
- ๓๐. เรือขาดหางเสือ
- ๓๑. กุหลาบกับหนาม
- ๓๒. เขี้ยวงา
- ๓๓. ระดมพล
- ๓๔. ฉลองชัยชนะ - ไทยวิวัฒน์
- ๓๕. ต้อนรับทหารหาญกลับบ้านเมือง
แพ้รู้
เช้าวันหนึ่งครูใหม่ไปโรงเรียน | ผ่านวงเวียนท้ายวัดถัดบ้านใหญ่ |
พบหนูแดงดูถนนค้นอะไร | พลางร้องไห้เช็ดน้ำตาหน้าเปียกปอน |
นึกสงสารจึงสมานไมตรีถาม | ว่า “หนูตามหาอะไรร้องไห้อ้อน” |
หนูแดงแหงนดูหน้าท่าวิงวอน | เช็ดน้ำตาแล้วถอนหทัยแค้น |
“หนูเดินมาดีดีถึงที่แอ่ง | สตางค์แดงตกหายหาไม่เห็น” |
ครูลูบเศียรเพียรให้ทำใจเย็น | ควักสตางค์ให้เป็นเครื่องทดแทน |
เด็กรับให้ขอบใจแต่ไม่วาย | เที่ยวค้นหาสตางค์หายซึ่งหวงแหน |
ครูเข้าใจเห็นใจให้คะแนน | ว่า “หนูแสนถ้วนถี่ดีจริงจริง” |
กล่าวพลางเดิรทางไปทำงาน | จนถึงบ่ายกลับบ้านสบายยิ่ง |
เห็นหนูแดงแฝงบันไดไม่ไหวติง | พอเห็นวิ่งเข้ามาหาท่าดีใจ |
ยิ้มพลางแบมือถือสตางค์ | อันละข้างซ้ายขวาหน้าผ่องใส |
ยืนมือขวาบอกว่า “นี่ยังไง | ฉันหาได้ข้างท้องร่องกระป๋องทับ” |
“อีอันนี้ของก๋งฉันส่งคืน” | มือขวายื่นส่งให้ไม่ชักกลับ |
ส่วนมือซ้ายกำใส่กระเป๋าปั๊บ | ท่านครูจับใจจริงยิ่งเอ็นดู |
“เอาไปเถิดก๋งให้ไม่เอาละ” | ซ้ำล้วงกระเป๋าควักอีกสักครู่ |
สตางห้าสตางค์สิบหยิบพรั่งพรู | ยกอันห้ามาชูให้หนึ่งอัน |
บอกว่า “นี่ดูซิส่วนก๋งแถม | จงยิ้มแย้มรับชีขมีขมัน |
เจ้าซื่อตรงก๋งใคร่ให้รางวัล | รวมด้วยเก็บไว้ให้จงดี” |
หนูแดงรับลากลับพร้อมกับไหว้ | ท่านครูยิ้มอิ่มใจกะไรนี่ |
คำนึงความตามไซคอลอจี | เห็นว่ามีแยบคายชวนให้คิด |
สตางค์แดงแต่ละอันนั้นผู้ใหญ่ | เห็นค่าไม่มีแปลกหรือแผกผิด |
แต่หนูแดงแบ่งดังต่างชนิด | และตั้งจิตต์ผูกพันอันของตัว |
จนถึงไม่ไยดีอันที่ให้ | หาของตัวจนได้น่าใคร่หัว |
คืนอันใหม่ให้เจ้าของไม่หมองมัว | จึงจำยั่วให้รู้จักรักเก็บเงิน |
ลำดับกาลผ่านมาถึงสายัณห์ | ที่วงเวียนแห่งนั้นไม่นานเนิ่น |
ครูได้เห็นหนูแดงโดยบังเอิญ | กำลังเดิรหาสตางค์พลางโสกา |
บุรุษเดิรผ่านไปให้สตางค์ | เหมือนอย่างตัวเคยให้ไม่กังขา |
พอผู้ให้พ้นไปอีกไม่ช้า | ก็วิ่งไปบอกว่าหาได้แล้ว |
และหยิบยื่นคืนสตางค์ที่เขาให้ | กลับได้ใหม่อันละห้ามาคล่องแคล่ว |
หนังเรื่องเดียวฉายซ้ำประจำแนว | ใจครูแป้วป่วนจิตต์วิทยา |
พบหน้าเด็กอยากเขกหัวสักหน่อย | จึงสวนรอยไปจนประจันหน้า |
เด็กดอดเห็นก๋งแล้วตลอดเวลา | แต่ทำหน้าที่อยู่จึงสู้เมิน |
พอพบกันไม่ทันให้ก๋งถาม | แบมืออวดสตางค์งามมิขามเขิน |
มีแดงสามขาวสองมองเพลิดเพลิน | ไม่ขาดเกินรวบสิบสามพองามพก |
“ก๋งสั่งไว้ว่าให้เก็บจงดี | หนูก็เก็บทุกทีไม่ทำตก” |
ครูเขกหัวบอกว่า “แน่ะ ทารก | การโกหกโทษมันนั้นอย่างนี้” |
๑๓ พฤษภ. ๘๒