๘
๏ บัดนั้น | ยายมาลีเห็นรุ่งสุริย์ใส |
ถือกระบะไปเก็บดอกไม้ | หาไปทุกต้นมาลา ฯ |
ฯ ช้า ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ยุขันใฝ่ฝันหา |
ว่าโฉมประวะลิ่มเจ้าลอบมา | ร่วมสนิทนิทราบรรทมใน |
พระกรกอดองค์อนุชา | จะรู้สึกกายาก็หาไม่ |
สำคัญว่ายอดดวงใจ | กอดจูบลูบไล้ด้วยยินดี |
เกี่ยวกระหวัดรัดรึงตรึงตรา | กายาแนบน้องกระเษมศรี |
พระละเมอเพ้อพูดพาที | เทวีเจ้าอย่าหนีพี่ชาย |
ปลุกน้องว่านางยั่งยืน | ครั้นอนุชาตื่นก็ใจหาย |
สะเทิ้นเขินขวยด้วยน้องชาย | เร่งคิดละอายในพระทัย |
ค้นคว้าหาทั่วพระตำหนัก | ไม่เห็นองค์นงลักษณ์ละห้อยไห้ |
โอ้เจ้าพุ่มพวงดวงใจ | ควรหนีพี่ได้ไม่เมตตา |
เมื่อกี้พี่แนบประคองนวล | กลิ่นหอมซับซาบนาสา |
โฉมเฉลาเยาวยอดกัลยา | แก้วตาไปแฝงอยู่แห่งใด |
แล้วกลับมาถามอนุชา | เห็นแก้วแววตาพี่ไปไหน |
นอนอยู่กับที่แล้วหายไป | เห็นบ้างฤๅไม่พระอนุชา ฯ |
ฯ โอด ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลิขิตเห็นผิดนักหนา |
จึ่งบังคมทูลพระพี่ยา | ผิดทีนางจะมาพระอย่าคิด |
พี่น้องเรานอนอยู่ด้วยกัน | พระนิมิตฝันรัญจวนจิต |
นางจะออกมาไยพระทรงฤทธิ์ | จงคิดระงับดับใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ว่ามาทั้งนี้พี่สงสัย |
พี่ยังคลางแคลงแหนงใจ | เอะใครเล่าไฉนอนุชา |
ชวนน้องมองหาว่าเทวี | พระภูมียินดีเป็นนักหนา |
เห็นรางรางยังไม่รุ่งพระสุริยา | สองราเมียงมองที่ช่องรก |
ยายเห็นตะคุ่มก็แล่นไป | จนกระบะดอกไม้พลัดตก |
ความกลัวตัวสั่นงันงก | มาลานั้นตกหกล้มไป ฯ |
ฯ ช้า ๖ คำ ฯ
๏ พระกุมารก็ตามร้องเรียก | ยายวิ่งตะเกียกว่าเสือไล่ |
ทันเข้าสองเจ้าก็ยุดไว้ | บอกไปกับยายว่าอย่ากลัว |
ยายว่าอนิจจาข้าตกใจ | มาหลอกหลอนยายไยพ่อทูนหัว |
ขวัญหนีไม่มีอยู่กับตัว | ยายกลัวว่าเสือมันไล่มา ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สององค์ทรงธรรม์ก็หรรษา |
สำรวลสรวลสันต์กันไปมา | แล้วมีวาจาปราศรัยยาย |
ตัวข้ามิได้หลอนหลอก | ข้าจะช่วยเก็บดอกไม้ถวาย |
ขอสมาเสียเถิดนะท่านยาย | ว่าพลางผันผายพายายมา ฯ |
ฯ ชมรัง ฯ
๏ เที่ยวหามาลีที่ตกลง | ทั้งสององค์ช่วยเก็บบุปผา |
บ้างตูมบ้างบานตระการตา | มาลาหอมฟุ้งจรุงใจ |
ภุมรินบินร่อนว่อนวู่ | เชยรสเรณูอยู่ไสว |
แย้มกลีบส่งกลิ่นมาแต่ไกล | เจ้าของอยู่ไหนจึ่งไม่มา |
แม้นแก้วแววตาพี่มาด้วย | จะได้ช่วยกันเก็บบุหงา |
จะสุขกระเษมศรีปรีดา | ด้วยมาลาหลายหลากมากมี |
พี่มาเก็บอยู่เดียวเปลี่ยวใจ | เมื่อไรจะพบนางโฉมศรี |
เก็บพลางทางคะนึงถึงเทวี | ภูมีครวญใคร่ไปมา |
ครั้นได้มาลีหลายพันธุ์ | ชวนกันกลับมายังเคหา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | แก่ยายมาลาไปทันใด |
วันนี้ยายอย่าร้อยมาลัยเลย | หลานเคยร้อยอยู่จะร้อยให้ |
ครั้นแล้วยายจึ่งเอาเข้าไป | ถวายองค์อรไทพระธิดา |
วันนี้เห็นจะมีลาภครัน | รางวัลเงินทองเสื้อผ้า |
ว่าแล้วพระแก้วร้อยมาลา | เป็นปริศนาแสนเสเล่ห์กล ฯ |
ฯ ช้า ๑๔ คำ ฯ
๏ มาลาหลายหลากร้อยนาคเกี้ยว | เลื้อยเลี้ยวเคล้าคู่อยู่สับสน |
เอามะกล่ำทำตากัมพล | นิลบลเป็นลิ้นเลียกัน |
มะลิวัลย์นั้นเขี้ยวแก้ว | พรรณรายพรายแพรวเฉิดฉัน |
หงอนไก่เป็นหงอนสอดซ้อนกัน | กาบอังชันนั้นครอบเป็นขอบตา |
เอาทองสิบชั่งกับนางแย้ม | แก้วแกมการะเกดบุปผา |
ร้อยเป็นสร้อยสนรจนา | มะลิซ้อนมะลิลาชะบาแกม |
จำปานั้นร้อยเป็นสร้อยเก็จ | ทำเป็นกลเม็ดหลักแหลม |
จงกลสร้อยสนยี่สุ่นแซม | ซ่อนชู้ดูแฉล้มแกมกัน |
ร้อยไปให้คิดเป็นปริศนา | หวังจะแจ้งกิจจาสาวสวรรค์ |
แล้วส่งมาลัยให้ฉับพลัน | ยายทูลผ่อนผันว่าร้อยเอง ฯ |
ฯ ร่าย ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายเฒ่าเห็นมาลัยเหมาะเหม็ง |
เออพ่อยายจะทูลว่าร้อยเอง | เจ้าอย่ากลัวเกรงว่าจะถึงตัว |
ว่าพลางอาบน้ำนุ่งผ้า | ทาแป้งใส่น้ำมันแล้วเสยหัว |
ฉวยได้กระทายสำหรับตัว | สั่งผัวดูเรือนแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ชม ช้า ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปราสาทพระธิดา | ก้มเกล้าวันทากราบไหว้ |
จึ่งถวายพุ่มพวงมาลัย | ที่ในท่ามกลางนางกำนัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมประวะลิ่มเลิศเฉิดฉัน |
เห็นยายมาลาเข้ามาพลัน | แจ่มจันทร์เบิกบานสำราญใจ |
จึ่งรับเอาพวงมาลัยทรง | นางพินิจพิศวงสงสัย |
งามยิ่งทุกสิ่งเป็นพ้นไป | มิใช่ฝีมือยายมาลา |
แต่ตริตรึกนึกในจะใคร่ถาม | กลัวความจะแพร่งพรายภายหน้า |
คิดแล้วจึ่งมีวาจา | มาลาเหลือปลีกสักเท่าใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สันหยาผู้เป็นพี่เลี้ยงใหญ่ |
ยิ้มอยู่รู้กลนางทรามวัย | นางจะซักไซ้ถามความยาย |
ดีร้ายพระกุมารวานนี้ | แกล้งร้อยมาลีมาถวาย |
นางคิดกลัวความจะแพร่งพราย | ทั้งอายสาวสรรกำนัลใน |
คิดแล้วจึ่งว่าไปทันที | พี่เลี้ยงกำนัลอย่าอยู่ใกล้ |
นางจะสอนทรงร้อยมาลัย | ยังไม่เคยจะอายเร่งไปพลัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงแลนางสาวสรร |
ชวนกันลุกพรูออกมาพลัน | จากปรางค์สุวรรณพรรณราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบุตรีงามเลิศเฉิดฉาย |
กับพี่เลี้ยงสรวลเสเพทุบาย | แย้มยิ้มพริ้มพรายสบายใจ |
พี่เจ้าของน้องผู้ร่วมจิต | ความคิดปัญญาจะหาไหน |
ธำมรงค์ทรงถอดประทานไป | น้องทำขวัญให้ด้วยปัญญา |
แล้วนางจึ่งถามไปทันที | มาลีใครร้อยจงเร่งว่า |
ร้อยเองหรือยายมาลา | หรือว่าผัวร้อยจงบอกไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ได้เอยได้ฟัง | ยายเฒ่าช่างทูลแก้ไข |
อันว่าพุ่มพวงดวงมาลัย | ข้าไซร้ร้อยถวายพระบุตรี ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางประวะลิ่มโฉมศรี |
จึ่งมีสุนทรวาที | แก่ยายมาลีมิทันช้า |
จริงหรือยายร้อยยังนี้เป็น | แล้วลวงเราเล่นกระมังหนา |
แม้นไม่เหมือนปากเจรจา | จะสัญญาอย่างไรให้ว่าไป |
ถ้ายายร้อยใหม่ให้เหมือนอย่าง | เงินทองนั้นจะรางวัลให้ |
มาตรแม้นไม่ได้มาลัย | เหมือนพวงนี้ไซร้จะเป็นกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมาลีตระหนกอกสั่น |
ขยี้หูตาตะบี้ตะบัน | ทูลกระหม่อมเอ๋ยคันเป็นสุดใจ |
แดดกล้าหูตาทำไม่รอด | ไม่เห็นเลยที่จะสอดเข็มด้าย |
ตะวันคล้อยสักหน่อยจะคลาไคล | จะกรองใหม่มาถวายเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ยายเอยยายเฒ่า | ปดเปล่าประดิษฐ์คิดอ่าน |
ใครสอนให้ว่ายายสาธารณ์ | จะกลับไปบ้านไม่ให้ไป |
เร่งทำให้ได้บัดเดี๋ยวนี้ | มิได้จะเกิดกุลีใหญ่ |
จึ่งให้เอาตัวคุมไว้ | แล้วสั่งให้พี่เลี้ยงมาถามดู ฯ |
ฯ ๔ ฯ
๏ บัดนั้น | สันหยาโฉมศรีไม่มีคู่ |
รับสั่งนวลนางโฉมตรู | แกล้งทำขู่เข็ญถามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยายเอยยายเฒ่า | อย่าเอามุสามาแก้ไข |
จงว่าแต่ตามจริงไป | คือใครช่างร้อยมาลา |
ยายอย่าปิดบังคนรู้ไว้ | ลูกหลานฤๅไรให้เร่งว่า |
ที่ประดิษฐ์คิดร้อยมาลา | ใครมาแต่ไหนให้ว่าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมาลีตกใจจะมีไหน |
มิรู้ที่จะแก้ประการใด | กลัวจะต้องภัยโบยตี |
จนจิตบิดเบือนไม่ได้ | บอกตามจริงไปถ้วนถี่ |
มีผู้มาอยู่กับข้านี้ | ทั้งพี่ทั้งน้องมาแต่ไกล |
ขอเข้าช่วยร้อยมาลา | ตัวข้าเบาความก็ส่งให้ |
ขอประทานโทษาข้าไซร้ | จงได้เมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางสันหยาแจ้งใจถ้วนถี่ |
จึ่งกราบทูลองค์นางเทวี | ยายเฒ่ากาลีแกให้การ |
ว่ามีผู้มาอาศัยสองคน | ดั้นด้นมาแต่ไพรสาณฑ์ |
ช่วยร้อยมาลาอันตระการ | ถวายองค์เยาวมาลย์มาวันนี้ ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มนิ่มเนื้อนวลศรี |
ได้ฟังพี่เลี้ยงทูลคดี | เทวีแย้มยิ้มพริ้มพราย |
จึ่งเสด็จเข้าในห้องแก้ว | แล้วเรียกพี่เลี้ยงเข้ามาใกล้ |
รู้แท้ว่าองค์พระทรงไชย | จะคิดไฉนนะพี่อา |
ร้อยนาครวบรัดกระหวัดไว้ | แกล้งให้มาเป็นปริศนา |
จะภิรมย์สมศรีปรีดา | จะเป็นคู่เหมือนยังนาคานี้ |
เห็นจะดูท่วงทีปัญญาเรา | ครั้นจะมิตอบเล่าก็ใช่ที่ |
พี่เจ้าจะคิดฉันใดดี | ให้ต้องตามที่เธอทำมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งโฉมนวลนางสันหยา |
คิดได้ด้วยไวปัญญา | มิช้าตอบไปทันใด |
เราทำกริ้วโกรธยายมาลา | จึ่งจะแก้ปริศนาของเธอได้ |
เอาแป้งขาวทาตัวยายมาลัย | แล้วขับแกออกไปอย่าได้ช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มนิ่มนวลเสนหา |
จึ่งเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกมาจากห้องบรรทมใน |
ครั้นถึงจึ่งว่ายายมาลี | มุสาพาทีก็เป็นได้ |
นางทำเป็นกริ้วโกรธเป็นพ้นไป | ยายช่างใส่ไคล้พาที |
สับปลับกลับกลอกไม่ยืนคำ | กูจะทำให้อายแก่สาวศรี |
สั่งให้เอาแป้งที่ขาวดี | ชโลมยายมาลีให้ทั่วตัว |
หน้านวลแต่ล้วนแป้งแก้ว | เห็นแต่ตาแววแววเป็นน่าหัว |
ไปประดิษฐ์ร้อยใหม่มาแก้ตัว | ผัวหนุ่มจะคอยอย่าอยู่ช้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมาลัยโกรธใจเป็นหนักหนา |
น้อยจิตคิดมิใคร่จะไคลคลา | บังคมลาองค์นางนงคราญ |
ลุกเดินก้มหน้าดุ่มดุ่มไป | กรรมเวรอะไรมาล้างผลาญ |
ช่างร้อยทำได้ให้รำคาญ | แกโกรธงุ่นง่านเดินไป |
ทั้งอายทั้งแค้นแสนสาหัส | เดินลัดหาตรงทางไม่ |
เร่งรีบลีลาคลาไคล | เด็กไล่ตามโห่ออกมา ฯ |
ฯ เชิด ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลิขิตเฉิดโฉมเสนหา |
ครั้นแลไปเห็นยายมาลา | ชโลมแป้งขาวทาทั่วไป |
จึ่งมาต้อนรับถามเหตุการณ์ | ได้ประทานเงินทองฤๅหาไม่ |
ยายเฒ่าโกรธาร้องว่าไป | พี่ชายช่างร้อยมาลัยดี |
ถึงเรือนกระแทกกระทายลง | ส่งเสียงร้องหาพระโฉมศรี |
งามแล้วช่างกรองมาลี | ทีนี้ได้รางวัลถนัดใจ |
รู้ช่างประจานทำเล่น | ตรัสว่าเช่นนี้ยังระร้อยได้ |
รับสั่งให้รอยต่างต่างไป | จะทำไฉนดีให้เร่งคิด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันแย้มสรวลสำรวลจิต |
พระองค์ตรองตริดำริคิด | ซึ่งปริศนาของทรามวัย |
ทำขาวกระจ่างมาอย่างนี้ | เห็นจะรับไมตรีของพี่ได้ |
แกล้งคิดประดิษฐ์ความใน | มิให้ฟุ้งซ่านเป็นการลับ |
แป้งขาวนั้นเปรียบจันทร์แจ่ม | ให้งดข้างแรมต่อเดือนดับ |
มิให้ยายตารู้ความลับ | เห็นนางรับรักแล้วพระดีใจ |
จึ่งว่าแก่ยายมาลีพลัน | ข้าจะคิดผ่อนผันร้อยใหม่ |
นางหลอกเล่นดอกอย่าถือใจ | เจ็บปวดอะไรกับแป้งทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมาลีได้ฟังก็หรรษา |
ยินดีด้วยรสวาจา | ที่ความโกรธาก็หายไป |
แล้วชำระสะสางล้างตัว | ชวนผัวหาพร้าจอบใหญ่ |
เที่ยวขุดเที่ยวบั่นฟันไม้ | สองกุมารตามไปด้วยพลัน ฯ |
ฯ ช้า ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มเลิศเฉิดฉัน |
ขับยายไปจากปรางค์สุวรรณ | ผายผันเข้าที่บรรทมใน |
แต่อักอ่วนป่วนใจไปมา | กัลยารำจวนครวญใคร่ |
แสนคะนึงถึงองค์พระทรงไชย | ให้อาวรณ์ร้อนใจไปมา |
ยอกรขึ้นเหนือพระเขนย | เกศเกยหมอนทองแล้วครวญหา |
ลืมเฝ้าบิตุรงค์แลมารดา | ลืมสรงคงคาอ่าองค์ |
ลืมชมนกหัสรังสี | อันแขวนไว้ข้างที่ก็ลืมหลง |
ลืมอ่านพระเวทที่เคยทรง | โฉมยงเจ้าลืมสติไป ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นกหัสรังสีศรีใส |
เห็นนางเร่าร้อนอาวรณ์ใจ | ไม่ไปเล่นยังที่นั่งเย็น |
หลากนักวันนี้เจ้าแม่เอ๋ย | ไม่เยี่ยมมาเลยที่เคยเล่น |
นิ่งสนิทนิทรามาจนเย็น | เห็นแล้วปักษาก็ทูลไป |
วันนี้เป็นไฉนเจ้าแม่ | ไม่ไขแกลแต่ถอนฤทัยใหญ่ |
ไม่สังวัธยายมนต์กลใด | ฤๅโรคภัยสิ่งใดมาบีฑา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มสะดุ้งใจด้วยปักษา |
เผยนกออกแอบแนบอุรา | แล้วว่าแม่นี้รำคาญใจ |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มทรวงดวงจิต | แม่คิดกินแหนงสงสัย |
วันนี้ยายเฒ่ามาลัย | แกร้อยดอกไม้ประหลาดมา |
ผิดฝีมือยายดีร้ายใคร | แกล้งให้เป็นปริศนา |
แม่โกรธลงโทษยายมาลา | ปักษาเจ้าอย่าไปเล่าใคร |
แม่จะใคร่ได้เหตุยายมาลี | อาสาชนนีไปจงได้ |
ไปดูให้รู้ประจักษ์ใจ | จะมีใครมาอยู่ด้วยตายาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หัสรังทูลไปดั่งใจหมาย |
ลูกจะไปให้รู้ดูแยบคาย | ประณมปีกขึ้นถวายบังคมลา |
บินริบพริบตามาถึงสวน | เห็นสองเฒ่าชวนกันถากหญ้า |
สกุณีจับไม้ให้ลับตา | แลมาก็เห็นพระภูมี |
ปักษีมีจิตพิศวง | งามประเสริฐเลิศทรงทั้งสองศรี |
นี่แหละกระมังช่างมาลี | ร้อยเป็นนาคีทั้งคู่ไป |
ปักษีดำริตริตรอง | พระพี่น้องนี้มาแต่ไหน |
ชาติเชื้อสุริย์วงศ์พงศ์ใด | จึ่งทรงโฉมวิไลเลิศลบ |
ตัวกูอยู่ป่าก็เที่ยวสิ้น | ทุกบุรินทร์น้อยใหญ่ก็ไปจบ |
ลูกท้าวด้าวใดในไตรภพ | ไม่งามลบถึงสองพี่น้องนี้ |
ทรงโฉมประโลมโลกา | ลํ้าเทพเทวาในราศี |
ถ้าแม้นได้กับเจ้าแม่ของเรานี้ | ศักดิ์ศรีสองสมภิรมย์กัน |
อย่าเลยจะถามพระนามดู | คิดแล้ววางวู่โผผัน |
ทำเป็นบินเล่นในไพรวัน | จับไม้ลงพลันแล้วร่ายไป ฯ |
ฯ เพลง ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันเฉิดโฉมพิสมัย |
เห็นนกเลิศล้ำอำไพ | ภูวไนยยอบองค์ลงเพ่งพิศ |
นกนี้เห็นอยู่ในกรงแก้ว | ปล่อยมานี้แล้วเจ้าลิขิต |
บุญเราจะสมอารมณ์คิด | สร้อยกำไลใส่ติดตัวมา |
ทำกระไรจะได้นะเจ้าพี่ | ปักษีนี้งามเป็นหนักหนา |
อย่าไปให้ใกล้สกุณา | จะบินหนีเข้าป่าพนาลัย |
ไปหาด้ายหาไหมมาดีกว่า | เราจะคล้องปักษาให้จงได้ |
ลิขิตฟังพี่ก็ดีใจ | วิ่งไปบนเรือนยายตา |
ค้นคว้าหาไหมในเรือนยาย | ไหมเผือนวุ่นวายเป็นหนักหนา |
ทึ้งได้แล้วพาวิ่งมา | ส่งให้พระเชษฐาทันใด |
ชื่นชมโสมนัสยินดี | ปักษีนี้จับเอาให้ได้ |
แล้วทำบ่วงพันปลายไม้ | เข้าใกล้แล้วคล้องสกุณา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหัสรังสีปักษา |
กระหยับปีกหลบบ่วงหลายครา | สกุณามิให้ต้องตัว |
แล้วทำเป็นเดินอยู่หลบหลบ | ปรบปีกหลีกหลบแล้วยิ้มหัว |
จึ่งร้องว่าไปเราไม่กลัว | ตัวท่านอยู่ไหนมาคล้องเรา |
มาอาศัยสวนแล้วมิหนำ | ซํ้าคล้องเจ้าของอีกเล่า |
สวนนี้เป็นของเจ้าแม่เรา | จับเอาตัวไปประเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันแย้มสรวลปักษี |
ฟังนกเจรจาก็ยินดี | ภูมีร้องตอบสกุณา |
เราไม่ตระหนักทักแท้ | ว่าสวนเจ้าแม่ของปักษา |
ผลไม้ได้เก็บเป็นหลายครา | เราทั้งสองราพากันกิน |
เร่งจับตัวเราไปบัดนี้ | ถวายองค์ชนนีปักษิน |
ดีใจดั่งได้วิมานอินทร์ | เชิญลงมาดินก็เป็นไร |
ข้าจะขอถามเจ้าอย่าโกรธา | ปักษามีคุณพ่อฤๅหาไม่ |
เจ้าอยู่กรงแก้วอำไพ | มาไยถึงสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นกหัสรังได้ฟังสาร |
หลากนักด้วยสองพระกุมาร | รู้จักถิ่นฐานที่ตรงใน |
ได้ถามแล้วจำจะบอกความ | แล้วจะย้อนไถ่ถามเธอให้ได้ |
คิดแล้วจึ่งร้องตอบไป | ลาเจ้าแม่ได้ก็ออกมา |
เราจะเที่ยวเล่นให้สบายใจ | ไปไหนก็ได้ทุกทิศา |
อันตัวเจ้าพ่อสกุณา | ยังหามีไม่พระพันปี |
ข้าจะขอถามพระภูธร | นามกรชื่อไรทั้งสองศรี |
ดัดดั้นอรัญวามานี้ | พระภูมีประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันพิศวงสงสัย |
นกนี้น่าจะมีคนใช้ | จำนงจงใจให้มาดู |
แม้นเราจะมิบอกไปบ้าง | เหตุไม่รู้ถึงนางจะลับอยู่ |
ครั้นจะเล่าความให้นกรู้ | สกุณีจับอยู่นั้นไกลนัก |
จึ่งเรียกปักษาเจ้ามานี่ | เราจะแจ้งคดีให้ประจักษ์ |
สกุณาตอบว่าเห็นใกล้นัก | ทรงศักดิ์คิดจะจับเอาข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ พระแย้มสรวลสำรวลแล้วร้องว่า | ลงมาเถิดข้าหาจับไว้ไม่ |
หัสรังได้ฟังก็ไว้ใจ | โผลงมาใกล้พระราชา |
พระอุ้มสกุณามาแนบชิด | พิศทั่วสารพางค์ปักษา |
กอดจูบลูบชมสกุณา | แจ้งกิจจาทั้งปวงไปทันที |
เนื้อความจะเล่าให้เจ้าฟัง | ยังค่ำไม่สิ้นเจ้าปักษี |
ทูลแก่เจ้าแม่จงดี | อย่าให้เทวีโกรธา |
ว่าเราชาวดงพงพี | ตั้งใจภักดีมาอาสา |
มากนักซึ่งจักพรรณนา | จะเลขาให้เป็นอักษรไป |
ว่าพลางทางเด็ดเอายอดตอง | ลิขิตจำลองแล้วส่งให้ |
กับพระธำมรงค์อำไพ | เจ้าเอาไปถวายนางเทวี ฯ |
ฯ ร่าย ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นกหัสรังปักษี |
รับสารธิบดินทร์ด้วยยินดี | รีบรี่มาจับที่บัญชรไชย |
จะถวายก็เห็นพี่เลี้ยง | นั่งเคียงกันอยู่ไม่ให้ได้ |
ไซ้ขนซนซ่อนอักษรไว้ | แล้วประคองปีกไหว้กัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางพี่เลี้ยงสันหยา |
ถามปักษีไปมิได้ช้า | นั่นอะไรได้มาประหลาดนัก |
ปักษีบินหนีไม่ส่งให้ | พี่เลี้ยงจะใคร่แจ้งประจักษ์ |
พระองค์จึ่งเรียกลูกรัก | หรือมิให้ตระหนักก็แล้วไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มยิ้มพลางทางปราศรัย |
ถามเจ้าหัสรังสีว่าสิ่งใด | ไหนเอามาแม่จะขอดู |
หัสรังส่งให้ทันที | คลี่ออกเห็นมีอักษรอยู่ |
กำไว้มิให้พี่เลี้ยงดู | โฉมตรูเยื้อนยิ้มอยู่ในพักตร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สันหยาปัญญาแหลมหลัก |
เห็นนางโฉมยงนงลักษณ์ | พริ้มพักตร์ก็แจ้งในกิริยา |
จึ่งว่ากับหัสรังสี | เพียงนี้ฤๅควรพลางข้า |
จะอยู่ไยให้ขัดอัธยา | ทำเป็นวันทาจะคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มเยาวยอดพิสมัย |
กุมกรพี่เลี้ยงไว้ทันใด | ว่าไปแก่หัสรังพลัน |
ใบตองของใครที่ให้มา | เจ้าอย่าป้องปิดบิดผัน |
ฤๅไปพบใครในสวนนั้น | เล่าเถิดกันเองจะเป็นไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หัสรังได้ฟังแถลงไข |
จึ่งประคองปีกทูลอรไท | ลูกไปเที่ยวทั่วอุทยาน |
พบพระกุมารสององค์ | ดั้นดงมาอยู่ในสถาน |
คล้องข้าทั้งสองกุมาร | ว่าขานตอบโต้กันหลายคำ |
ว่าจะมาอาสาในเจ้าแม่ | กระแสความจะเล่าก็พอค่ำ |
เรื่องราวยาวยืดพ้นที่จะจำ | เธอทำอักษรให้ข้ามา |
คำแสดงแจ้งอยู่ที่ในสาร | ให้พระองค์ทรงอ่านที่เลขา |
ลูกไม่เข้าใจในสารา | ทรงแล้วอย่าว่าให้อึงไป ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางประวะลิ่มศรีใส |
จึ่งคลี่สาราออกทันใจ | ทรามวัยเพ่งพิจารณา ฯ |
ฯ ช้า ๒ คำ ฯ
๏ ในศุภอักษรสารสวัสดิ์ | หน่อบรมจักรพรรดินาถา |
ครอบครองอุรังยิดนครา | พระบิดาจะให้ครองโภไคย |
แต่ยังไร้องค์พระมเหสี | ที่จะร่วมภิรมย์พิสมัย |
ได้ยินข่าวท้าวน้องขจรไป | ว่าทรงโฉมวิไลลักขณา |
พี่แสนเร่าร้อนอาวรณ์ถวิล | แดดิ้นโดยด้วยความเสนหา |
สุดที่พี่จะทนทรมา | จึ่งทูลลาสมเด็จพระบิตุรงค์ |
ข้ามสมุทรเขาขันธ์อรัญเวส | ทนทุเรศมาในไพรระหง |
สุดแสนลำบากยากองค์ | ปิ่มจะปลงชนม์ชีพชีวา |
พี่ตั้งสัตย์ปฏิญาณเอาความหลัง | สวาดิหวังวรนุชเสนหา |
จึ่งบรรลุถึงกรุงนครา | เหมือนเทวาชูชีพให้คืนคง |
มาพบตายายที่อุทยาน | ได้ดูงานดูน้องต้องประสงค์ |
ถึงได้เสวยสวรรค์ชั้นอินทร์องค์ | มิเท่าเห็นโฉมยงที่พลับพลา |
ซึ่งพี่ร้อยมาลานาคาสม | หวังภิรมย์ชมนุชเสนหา |
ด้วยอาวรณ์ร้อนเร่าในวิญญาณ์ | จะฝากชีวาที่ในน้อง |
ขอร่วมทุกข์สุขแลบรรถร | ร่วมร้อนร่วมรักได้เป็นสอง |
ร่วมภิรมย์สมสู่เป็นคู่ครอง | นวลละอองจงเห็นในอุรา |
เรียมจากนิเวศเขตขัณฑ์ | ไม่มีแผ่นสุวรรณเลขา |
เอาใบตองจำลองอักขรา | แต่พอให้วนิดาแจ้งใจ |
วรนุชสุดสวาดิอย่าขุ่นหมอง | พี่จะเขียนต่างแผ่นทองจำลองให้ |
ธำมรงค์วงนี้ที่ให้ไป | จะขอเปลี่ยนสไบของกัลยา ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๒๐ คำ ฯ
๏ ครั้นทรงเสร็จสิ้นในอักษร | ให้อาวรณ์ในความเสนหา |
ถ้อยคำช่างรํ่าพรรณนา | ปรายเปรียบเทียบมาน่าเอ็นดู |
แล้วพิศดูธำมรงค์วงน้อย | สอดก้อยแล้วอายอดสู |
ป่วนจิตคิดถึงพระโฉมตรู | นิ่งนึกตรึกอยู่ในวิญญาณ์ |
แม้นจะไม่ตอบรสพจมาน | จะเนิ่นนานในความเสนหา |
จะตอบไปก็อายในวิญญาณ์ | ดั่งคนชั่วช้าเป็นพ้นไป |
แต่อักอ่วนป่วนใจในบรรถร | ให้เร่าร้อนด้วยความพิสมัย |
จึงเอาแผ่นสุวรรณอันอำไพ | ลิขิตถามในข้อคดี |
ครั้นเสร็จวรลักษณ์อักษรทรง | เปลื้องสไบจากองค์โฉมศรี |
หอมตรลบอบกลิ่นมาลี | แล้วห่อสารศรีเข้าทันใด |
จึ่งส่งให้กับหัสรังสี | จงรีบเอาสารนี้ออกไปให้ |
แล้วนางสั่งซ้ำเป็นคำใน | ว่าผ้านี้เราให้ประทานมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นกหัสรังสีหรรษา |
ประณมปีกรับสารา | แล้วบินลงมาฉับไว ฯ |
ฯ เชิด ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งสวนมาลี | ปักษีผู้มีอัชฌาศัย |
ลัดแลงแฝงไม้เข้าไป | ใกล้องค์ภูวไนยด้วยยินดี |
จึ่งถวายลายลักษณ์อักขรา | แล้วทูลกิจจาถ้วนถี่ |
สไบทรงรอยองค์นางเทวี | มีพระทัยโปรดปรานประทานมา |
ซึ่งพระองค์จงรักภักดี | พระแม่มีความหรรษา |
อันซึ่งถ้อยคำจำนรรจา | ว่ามาในสารมากมี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุขันผู้เฉิดโฉมศรี |
รับสารมาจากสกุณี | แล้วคลี่สไบที่ให้มา |
กลิ่นตรลบอบอวลยวนจิต | ให้คิดรัญจวนครวญหา |
ดั่งได้สมบัติในฟากฟ้า | เสนหาเร่าร้อนอาวรณ์ใจ |
ครั้นแล้วจึ่งคลี่สารา | อักษรกัลยาพิสมัย |
จะตอบต่อข้อความประการใด | ภูวไนยวินิจอักขรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ในลิขิตศุภลักษณ์อักษรศรี | ภูมีจำนงเสนหา |
สู้เสียสมบัติขัตติยา | ทรมาลำบากอินทรีย์ |
เพราะทรงเมตตาการุณย์ | พระคุณใส่ไว้เหนือเกศี |
แม้นสวาดินาฏน้องนารี | ก็จะมีศุภลักษณ์อักษรมา |
ให้ทูตานุทูตมาทูลสาร | มาว่าขานก็จะสมปรารถนา |
นี่เสแสร้งแกล้งกล่าววาจา | ไม่เห็นว่าจริงจังดั่งวาที |
แต่มาอาศัยอยู่สวนเราแล้วมิสา | ยังซ้ำพจนาจะสมศรี |
จะเกรงใจใครบ้างก็ไม่มี | แม้นท้าวทรงธรณีเธอรู้ไป |
จะพิโรธโกรธกริ้วโกรธา | เห็นว่าชีวาจะตักษัย |
อันจะรับไมตรีภูวไนย | จนใจไม่รู้ที่จะคิด |
จะโลมเล่นเช่นชู้เชยสวาดิ | สมมาดแล้วจะเลี่ยงเบี่ยงบิด |
จะได้อัปยศทศทิศ | ทรงฤทธิ์ตรึกไตรให้จงดี |
แม้นพระเสนหาอาลัย | จงกลับคืนไปยังกรุงศรี |
ทูลพระชนกชนนี | ให้มีศุภลักษณ์อักษรมา |
จึ่งจะเห็นว่าแสนสวาดิน้อง | จะสมปองสำเร็จปรารถนา |
ซึ่งพระองค์ให้ธำมรงค์มา | จะขอเปลี่ยนกับผ้าสไบทรง |
น้องสนองพระคุณที่กรุณา | จึ่งให้มาตามราชประสงค์ |
พระองค์เป็นเอกอัครสุริย์วงศ์ | จงดำริตริตรงให้จงดี ฯ |
๏ ครั้นอ่านสิ้นสารนงลักษณ์ | พระทรงศักดิ์ปรีดิ์เปรมกระเษมศรี |
ประดิษฐ์ติดต่อข้อคดี | พระภูมียิ่งแสนสวาดินัก |
แล้วจึ่งลิขิตอักขรา | ซ้ำสลักหลังมาให้ประจักษ์ |
ในสุนทรอ่อนหวานด้วยความรัก | แล้วทรงศักดิ์ให้ปักษาทันใด |
สั่งความนอกนั้นมาหลายข้อ | ติดต่อด้วยความพิสมัย |
ห้ามมิให้แจ้งแพร่งพรายไป | พลางชมสไบของเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนกหัสรังปักษี |
รับสารแล้วลามาทันที | บินรี่เร็ววับมาฉับไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงบัญชรนางกัลยา | ปักษาประณมปีกไหวั |
จึ่งถวายสารศรีแก่อรไท | ทูลไปแต่ต้นจนปลายมา |
ว่าพระคุณเจ้าแม่พ้นกำลัง | จารึกสลักหลังมาหนักหนา |
สั่งลูกให้ทูลพระมารดา | ว่าให้เชิญเสด็จไปอุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางประวะลิ่มกระเษมสานต์ |
กับพี่เลี้ยงพักตร์เพียงบัวบาน | ทรงอ่านสาราฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อักษรสุนทรบรรจงสนอง | ปูนปองประโลมโฉมสวรรค์ |
มาถึงยาหยีเจ้าแจ่มจันทร์ | พี่นั้นจำนงฤทัยมา |
ใช่ว่าจะหมิ่นแคลนแสนสุดรัก | ลอบลักทำตามวิสา |
ครั้นจะแต่งบรรณาการมา | จนอยู่ด้วยมหาสมุทรไทย |
พี่เสี่ยงวาสนาพยายาม | ได้อินทรีขี่ข้ามจึ่งมาได้ |
แต่พี่น้องสองคนก็จนใจ | จึ่งมิได้ทำตามประเพณี |
ซึ่งพสุธานั้นต่างแผ่น | แม้นว่ายอดสุดาเมตตาพี่ |
ช่วยถมพระมหาวารี | ธานีจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน |
เอ็นดูพี่เถิดดวงสมร | ให้คลายร้อนเศร้าโทรมนัสศัลย์ |
พี่ขอเชิญสุดาดวงจันทร์ | ขวัญเมืองแม่มาชมมาลี |
พี่จึ่งจะแจ้งไม่แคลงจิต | เหมือนน้องช่วยชูชีวิตพี่ |
จะซ่อนอยู่ในห้องยายมาลี | พี่ขอชมเทวีให้อิ่มใจ ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๑๒ คำ ฯ
๏ อ่านพลางกับนางพี่เลี้ยง | แอบเคียงกันสรวลครวญใคร่ |
ที่ไหนข้อขำอ่านซ้ำไป | ที่ไหนชอบใจเย้าเย้ยกัน |
พี่เอยจะคิดไฉนดี | จะให้น้องนี้ไปสวนขวัญ |
มิไปว่าไม่แจ้งสำคัญ | แล้วจะลวงล่อกันให้ได้อาย |
ครั้นว่าจะไปก็ไม่ดี | น้องนี้อดสูคนทั้งหลาย |
เป็นสตรีจะรี่ไปตามชาย | ความอายจะอยู่แก่น้องไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงจึ่งทูลแถลงไข |
เธอได้เชิญเสด็จคลาไคล | ออกไปเถิดแม่ให้เป็นที |
แต่อย่าขึ้นตำหนักเคหา | ภายหลังจะนินทาเราถ้วนถี่ |
เราไปทำเก็บมาลี | อยู่ที่ริมเรือนยายตา |
เธอจะซ่อนอยู่บนเรือนยาย | เราชายเล่นแต่นอกเคหา |
เที่ยวไปสองคนกับพี่ยา | ทั้งนั้นเราอย่าให้เข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ