อธิบายเรื่อง

บทละครนอกเรื่อง ยุขัน นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งเมื่อใดและใครเป็นผู้แต่ง สันนิษฐานว่ามีที่มาจากนิทานเปอร์เซียเรื่อง “อิหร่านราชธรรม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สิบสองเหลี่ยม” เกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือเรื่องอิหร่านราชธรรมนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในตอนต้นของหนังสือว่า มีหลักฐานเป็นฉบับตัวทอง ของหลวงสมัยรัชกาลที่ ๑ อาลักษณ์เขียนไว้เมื่อเดือน ๗ ปีขาล จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก แม้ในฉบับตัวทองจะไม่กล่าวถึงที่มาของการแปลเรื่องนี้ไว้ในบานแพนก แต่ถือกันว่าเป็นหนังสือซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และด้วยเหตุที่มีเนื้อหาเป็นสุภาษิตว่าด้วยราชธรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างฉบับหลวงเก็บไว้ใกล้พระองค์เพื่อจะทรงสอบสวนได้โดยง่าย นอกจากนี้ราชบัณฑิตยสภาสมัยนั้น วินิจฉัยสำนวนการแปลจากต้นฉบับเดิมแล้วลงความเห็นว่า นิทานเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านและแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ราชบัณฑิตยสภาได้หนังสืออิหร่านราชธรรมมาอีกเล่มหนึ่ง เนื้อความตอนต้นกล่าวว่า “...ข้าพระพุทธเจ้าขุนกัลยาบดีแต่งนิทานทำเนียบถวาย ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๔ ปีวอกนักษัตร จัตวาศก...” ส่วนความตอนท้ายปรากฏโคลงกระทู้ ๗ บท กล่าวถึงพระยาไกร[๑] โกษาตำแหน่งจตุสดมภ์กรมพระคลังฝ่ายพระราชวังบวรชื่อซอ หรือ ซ่อ เป็นผู้แต่งแถลงการณ์ที่สร้างหนังสือฉบับนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า จากเนื้อความตอนต้นของหนังสือที่ได้มาใหม่นี้ ทำให้ได้ความว่ามีข้าราชการแขกผู้หนึ่ง[๒] แปลนิทานอิหร่านราชธรรมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่เนื้อหามีความคลาดเคลื่อนกับฉบับรัชกาลที่ ๑ อยู่มาก จึงมอบให้ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ตรวจสอบชื่อที่ปรากฏอยู่ในเรื่องกับหนังสือต่างประเทศเพื่อความถูกต้อง และทรงวินิจฉัยโดยสรุปว่า “...เรื่องนิทานอิหร่านราชธรรม นี้ เห็นพอจะสันนิษฐานต้นเดิมลงเป็นยุกติได้ว่า เป็นนิทานเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน (คือเปอร์เซีย) ตรงดังสันนิษฐานไว้เดิม และได้ฉบับภาษาเปอร์เซียเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาจึงมาแปลเป็นภาษาไทย...”

เมื่อพิจารณาจากสมุดไทยเรื่องยุขัน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ พบว่าข้อความบนทะเบียนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณกล่าวถึงชื่อ “สิบสองเหลี่ยม” อีกทั้งในทะเบียนประวัติปัจจุบัน ระบุเนื้อหาโดยย่อกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองสิบสองเหลี่ยมไว้เช่นเดียวกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บทละครนอกเรื่องยุขันน่าจะได้รับเค้าโครงเรื่องมาจาก นิทานเปอร์เซียเรื่อง “สิบสองเหลี่ยม” ดังตัวอย่างเนื้อความบนทะเบียนประวัติต่อไปนี้

“หมู่ กลอนบทละคอน

ชื่อ ยุขัน เล่ม ๑ (สิบสองเหลี่ยม)

เลขที่ ๕ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๔ มัดที่ ๕๕/๑

ประวัติ กรมหลวงพรหมฯ ถวายหอพระสมุด ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐”

“เลขที่ ๕ ชื่อเรื่อง ยุขัน เล่ม ๑ ชนิด สมุดไทยดำ ขนาด ๑๑ ๑/๒ x ๓๕ ๑/๒ x ๔ ซม. อักษรไทยเส้นดินสอ ๑๒ บรรทัด ๗๕ หน้า ๑ เล่ม กรมหลวงพรหมฯ ถวายหอพระสมุดฯ ๖ เมย. ๒๔๖๐ ตู้ที่ ๑๑๔ ช. ๓/๔

ใจความ ตั้งแต่ท้าวเวณุมานครองเมืองสิบสองเหลี่ยม จนถึงยุดาหวันกับยุขัน ลาบิดามารดาไปแสวงหานกชื่อหัสรังสี”

“หมู่ กลอนบทละคอน

ชื่อ ยุขัน เล่มที่ ๑ (สิบสองเหลี่ยม)

เลขที่ ๒ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๔ มัดที่ ๕๕/๑

ประวัติ เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ) ถวายหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๗๓”

“เลขที่ ๒ ชื่อเรื่อง ยุขัน เล่ม ๑ ชนิด สมุดไทยดำ ขนาด ๑๑ x ๓๔ ๑/๒ x ๒ ๑/๒ ซม. อักษรไทยเส้นรง ๘ บรรทัด ๕๒ หน้า ๑ เล่ม เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ) ถวายหอพระสมุดฯ พ.ศ. ๒๔๗๓ ตู้ที่ ๑๑๔ หมายเหตุ ช. ๓/๔ (ตั้งแต่เลขที่ ๒ - ๙ อยู่ในมัดที่ ๕๕/๑ ช. ๓/๔ ตู้ ๑๑๔)

ใจความ ตั้งแต่ท้าวเวณุมานครองเมืองสิบสองเหลี่ยม จนถึงสุสิหลำรบศึกชนะแล้วเข้าเมืองชมสาวสวรรค์กำนัลนาง”



[๑] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ตำแหน่งพระยาไกรนามว่าซอ หรือ ซ่อ ไม่ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระยาไกรในสมัยพระเจ้าเอกทัศ

[๒] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เป็นตำแหน่งพระยากัลยาบดี ซึ่งเป็นขุนนางแขกฝ่ายกรมพระราชวังบวร และยังมีปรากฏมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ