๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงยุขันเฉิดโฉมเสนหา |
แต่พรากพรัดกำจัดพี่ยา | ต่างแยกมรคาพนาลี |
องค์เดียวเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ | แสนเทวษร่ำไห้หมองศรี |
เอกามาในพนาลี | มิได้มีความสุขสักเวลา ฯ |
ฯ โอด ๔ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าอนิจจานะอกเอ๋ย | ไฉนเลยจะแจ้งเหตุพระเชษฐา |
จะกลับคืนไปยังพารา | หรือว่าจะด้นไปหนใด |
จะหลงลัดป่าชัฏแนวเนิน | จะด้นเดินอยู่ในป่าใหญ่ |
หรือจะสิ้นชีวันบรรลัย | ด้วยสิงห์สัตว์ร้ายในดงดอน |
ร่ำพลางทางเสด็จจรลี | ข้ามคีรีห้วยธารสิงขร |
ได้ยินเสียงปักษาทิชากร | ให้อาวรณ์วิเวกที่ในดง ฯ |
ฯ โทน ๖ คำ ฯ
๏ เห็นหมู่มฤคาเล็มระบัด | ท่องเที่ยวเลี้ยวลัดไพรระหง |
แสวงหากวางทองยองยง | ฝูงกระจงชมคู่อยู่มากมี |
อีกหมู่ชะมดหมูเม่น | กระต่ายเต้นตามแนวพนาศรี |
คชสารเรียกมันคีรีมี | จามรีลำโองกิเลนลา |
ราชสีห์เสือสิงห์กระทิงไพร | ไกรสรโคเพลาะมหิงสา |
สารพัดมีในหิมวา | ฝูงวานรเผ่นอเนกนันต์ |
ต่างกินเป็นหมู่คู่เคียง | ระมาดเมียงมองหมายผายผัน |
พิศเพลินจำเริญใจในไพรวัน | ค่อยคลายโศกศัลย์โศกี |
ล่วงเข้าแว่นแคว้นแดนเขต | พระรักขิตทรงเดชฤๅษี |
เห็นเสาธงปักหลักกุฎี | ภูมีหยุดยั้งชั่งคิด |
อักษรที่หลักจารึกไว้ | ว่าจะพบท้าวไท้พระรักขิต |
เธอเป็นบรมสมมิศร | ทรงกิจฤทธิ์เดชประสิทธิ์นัก |
จะไปมัสการกราบไหว้ | ถามมรคาลัยให้ประจักษ์ |
แล้วจะเรียนศิลป์ไชยในสำนัก | คิดแล้วทรงศักดิ์ก็เข้าไป |
ครั้นถึงขอบคันธกุฎี | เห็นพระฤๅษีก็ผ่องใส |
จึ่งค่อยก้มคลานเข้าไป | ครั้นใกล้ก็กราบกับบาทา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องค์พระรักขิตฌานกล้า |
เห็นกุมารหนุ่มน้อยโสภา | นรลักษณ์พักตราน่าพึงใจ |
วินิจพิศดูแล้วไถ่ถาม | ประสกงามเจ้ามาแต่ไหน |
มีธุระกังวลสิ่งใด | นามกรชื่อไรจงบอกมา |
ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน | สุริย์วงศ์พงศ์ใครในแหล่งหล้า |
องค์เดียวเที่ยวซัดสัญจรมา | ไม่กลัวมรณาฤๅว่าไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันรัศมีศรีใส |
กราบลงกับบาทท้าวไท | พระอัยกาจงได้ปรานี |
หลานนี้ทรงนามชื่อยุขัน | สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์เรืองศรี |
องค์ท้าวอุรังยิดธิบดี | เกิดเกล้าเกศีของนัดดา |
ท้าวจะใคร่ได้นกหัสรังสี | หลานนี้ทูลรับอาสา |
กับองค์ยุดาหวันพี่ยา | ให้มาด้วยกันที่ในไพร |
พี่น้องสองคนเป็นเพื่อนยาก | ผลกรรมวิบากมาซัดให้ |
พบหลักศิลาจารึกไว้ | สองคนมิให้บทจร |
บัดนี้พระพี่แยกไป | ตามอักษรมีไว้ที่สิงขร |
ต่างองค์โศกาอาวรณ์ | หลานจรข้ามเขาลำเนามา |
ได้พบพระองค์ทรงเดช | จะถามเหตุที่จงปรารถนา |
ด้วยเมืองอุเรเซนพระพารา | ไม่แจ้งว่าจะไปทางทิศใด |
พระองค์จงได้ปรานี | ช่วยชี้บอกมรคาให้ |
ยังอีกมากน้อยเท่าใด | ยากเย็นเป็นไฉนพระอัยกา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระรักขิตทรงญาณฌานกล้า |
ให้มีพระทัยเมตตา | นัดดาว่าจะไปอุเรเซน |
ที่ไหนหลานรักจะไปได้ | มรคานั้นไปแสนเข็ญ |
ยักษ์มารด่านทางไม่วางเว้น | ยากเย็นสุดที่จะพรรณนา |
ต่อไปไม่รู้ที่จะร่ำ | แม่น้ำกั้นทางขวางหน้า |
กว้างยาวลึกล้นคณนา | ยากนักยิ่งกว่าเมื่อแรกไป |
ตาเห็นเป็นน่าเอ็นดูนัก | ได้มาพึ่งพักอาศัย |
เชษฐาก็มาพรัดกำจัดไป | จะชุบให้เป็นองค์อนุชา |
แต่พอเป็นเพื่อนเดินหน | พี่น้องสองคนได้เห็นหน้า |
ปรึกษาปรองดองกันสองรา | กว่านัดดาจะถึงเวียงไชย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันทูลสนองด้วยผ่องใส |
พระอัยกาตรัสมาทั้งนี้ไซร้ | เหมือนได้เห็นหน้าพระพี่ยา |
ทรงพระคุณลํ้าล้นพ้นประมาณ | ให้เป็นเพื่อนหลานไปในป่า |
ยากเย็นจะได้เห็นกันสองรา | พระอัยกาจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระรักขิตฟังกิจจาถ้วนถี่ |
จึ่งหยิบแผ่นกระดานมาทันที | พระมุนีเขียนรูปกุมารพลัน |
ครบเครื่องประดับสำหรับองค์ | ทรวดทรงเพราเพริศเฉิดฉัน |
สมควรเป็นพี่น้องกัน | กับองค์ยุขันเรืองไชย |
ครั้นเขียนสำเร็จเสร็จแล้ว | คลาดแคล้วออกหน้าศาลาใหญ่ |
จึ่งทำด้วยฤทธิ์พิธีไชย | หยิบเอารูปใส่ในอัคคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ พระอาจารย์โอมอ่านมนตรา | พระคาถาตามเพทฤๅษี |
ล้วนครบคำรบได้เจ็ดที | เปลวอัคคีขึ้นกลุ้มอากาศไป ฯ |
ฯ ตระบองกัน ๒ คำ ฯ
๏ แล้วเสกคงคามหาระงับ | พรมดับเพลิงแดงแสงไสย |
ก็สงบลงพลันทันใด | เห็นกุมารเกิดในอัคคี ฯ |
ฯ สาธุการ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วพระรักขิตสิทธิศักดิ์ | จูงกรหลานรักโฉมศรี |
มายังพระคันธกุฎี | พระมุนีชื่นชมปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันเฉิดโฉมเสนหา |
ครั้นเห็นองค์พระอนุชา | มีความเสนหาดั่งดวงใจ |
กอดจูบลูบทั่วทั้งกายา | นรลักษณ์พักตราจะหาไหน |
จะได้เป็นเพื่อนพี่ที่ในไพร | มิให้อนุชาอนาทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รูปนิมิตมีจิตสโมสร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ประณมกรแล้วทูลสนองไป |
น้องรักกำเนิดเกิดมา | บิตุเรศมารดาหามีไม่ |
พระทรงญาณประทานชีวาลัย | จึ่งได้เป็นรูปกายมา |
ขอเป็นบาทบงสุ์พระทรงเดช | เป็นที่ก่อเกศเกศา |
ตัวน้องขอรองพระบาทา | ไปกว่าจะม้วยบรรลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระรักขิตมีจิตผ่องใส |
ได้ฟังสองหลานสำราญใจ | ปราศรัยสนทนาว่ากัน |
พระมีจิตยินดีปรีดา | ในสองกุมาราหลานขวัญ |
จะให้พระนามตามเขียนนั้น | พระทรงธรรม์ดำริตริคิด |
แล้วพระอาจารย์ฌานกล้า | จึงให้นามนัดดาชื่อลิขิต |
ให้ขจรฟุ้งเฟื่องเรืองฤทธิ์ | ประจามิตรอย่าต้านทานทัน |
ครั้นแล้วจึงองค์พระรักขิต | ชุบศรประสิทธิ์ให้ยุขัน |
อีกทั้งพระขรรค์แก้วแพรวพรรณ | นั้นให้ลิขิตฤทธิไกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันยินดีจะมีไหน |
ทั้งเจ้าลิขิตชาญชัย | ประณมไหว้กราบพระอัยกา |
รับเอาศิลป์ศรพระขรรค์ไชย | มีใจแสนโสมนัสา |
สมดั่งพระทัยจินดา | แล้วทูลพระอัยกาไป |
พระคุณล้ำล้นคณนา | จะอยู่รองบาทาก็ไมได้ |
จำเป็นนัดดาจะคลาไคล | ห่วงใยอยู่ด้วยสกุณี |
แม้นไปสำเร็จปรารถนา | จะกลับมารองบทศรี |
พระองค์จงอยู่สวัสดี | อย่ามีทุกข์โศกโรคภัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระอาจารย์ฟังสารแถลงไข |
เอ็นดูจะจากพรากไป | เสนหาอาลัยแสนทวี |
ลูบหน้าลูบหลังแล้วสั่งสอน | ให้อาวรณ์ร้อนใจพระฤๅษี |
จำเป็นจำใจจรลี | พระมุนีแสนรักหักใจ |
จึ่งว่าพี่น้องสองหลาน | อัยกาฟังสารนํ้าตาไหล |
ไพรสาณฑ์กันดารเดินไป | จะได้ยากลำบากกายา |
ยังทางข้างหน้ายังไกลนัก | แดนมารด่านยักษ์หนักหนา |
ลิขิตป้องปิดพี่ยา | เชษฐาจงระวังน้องชาย |
อย่าประมาทพลาดพลั้งทั้งสององค์ | ลุ่มหลงด้วยคนทั้งหลาย |
อย่าลามลวนสงวนเชื้อชาย | อย่าทอดกายแปดปนด้วยคนพาล |
สอนเจ้าเท่านี้จงจำไว้ | สวัสดีมีชัยทั้งสองหลาน |
ให้ชัยชนะแก่หมู่มาร | จงไปถึงสถานอุเรเซน |
ให้ได้นกหัสรังสี | ปราศจากไพรีอย่าเคืองเข็ญ |
จำเริญสุขไปทุกเช้าเย็น | จงเป็นศรีสวัสดิ์แก่นัดดา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันสุริย์วงศ์พงศา |
กับเจ้าลิขิตอนุชา | ก้มเกล้าวันทาพระอาจารย์ |
ยอกรรับพรพระอัยกา | สองราปรีดิ์เปรมกระเษมสานต์ |
พระคุณลํ้าล้นพ้นประมาณ | หลานรักจักถวายบังคมลา |
ยุขันทรงศรขจรฤทธิ์ | ลิขิตทรงพระขรรค์แกล้วกล้า |
พระอาจารย์พาหลานทั้งสองรา | มายืนยังหน้าศาลาลัย |
ชี้ทิศให้ไปอุเรเซน | แลเห็นเขานั้นสำคัญใหญ่ |
เดินยากลำบากบุกไพร | พ้นเขาไปหน่อยหนึ่งจึ่งค่อยคลาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารเพราเพริศเฉิดฉาย |
จำทิศไม่ผิดบรรยาย | แล้วถวายอภิวันท์อัญชุลี |
ทักษิณสามรอบนอบนบ | คำรบจบบาทบทศรี |
ทั้งสองพระองค์ทรงโศกี | แล้วลาจรลีไปตามทิศ |
เดินทางมาหว่างหิมเวศ | เลี้ยวลับขอบเขตพระรักขิต |
บดบังทั้งแสงพระอาทิตย์ | ทรงฤทธิ์ก็เสด็จไคลคลา |
เข้าป่าระหงดงชัฏ | เลี้ยวลัดระนามหนามหนา |
สองเจ้าเคล้ากันดำเนินมา | พฤกษาบังแสงทินกร |
ร่มรื่นชื่นชวยรวยประทิ่น | บุปผาทรงกลิ่นเกสร |
ยมโดยโหยหอมขจายจร | มะลิซ้อนซ่อนกลิ่นกระถินดง |
มะกล่ำจำปาการะเกด | ฝ้ายเทศรกฟ้ากาหลง |
เก็บดอกนางแย้มแซมทัดทรง | ให้องค์พระศรีอนุชา |
คัดเค้าสาวหยุดพุทธชาด | ตกกลาดล้วนพรรณบุปผา |
ตูมบานตระการลานตา | เดินมาถึงเขาลำเนาธาร |
ที่สูงก็สูงดูชะโงก | ที่เป็นโตรกตรวยห้วยละหาน |
ที่ลึกก็แลลายลาน | ท้องธารเซาะเชี่ยวเป็นเกลียวชล |
ทั้งสองพระองค์ก็ลงเล่น | นํ้าพุฟุ้งกระเซ็นเป็นฝอยฝน |
แสนสบายคลายร้อนผ่อนปรน | สององค์สรงชลเปรมปราย |
แล้วเก็บกรวดในท้องธาร | เหมือนเนาวรัตน์ชัชวาลแสงฉาย |
วาวแววล้วนแก้วศิลาลาย | พลอยพรายมรกตรจนา |
บ้างเป็นนิลรัตน์ปัทมราช | ดูสะอาดชมเล่นหรรษา |
เย็นรอนอ่อนแสงพระสุริยา | ลีลาตามเขาลำเนาไพร |
แรมรอนนอนป่ามาช้านาน | สินธุ์ธารโกรกเกรินเนินไศล |
ล่วงเข้าแดนมารชาญชัย | แต่ยังไม่ถึงบูรี ฯ |
ฯ ช้า ๒๔ คำ ฯ