คำนำ
บทละครนอกเรื่อง ยุขัน นี้ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนบทละคร ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับชื่อผู้แต่งและระยะเวลาที่แต่ง สันนิษฐานว่าเค้าโครงเรื่องน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากนิทานสุภาษิตเปอร์เซีย เรื่อง สิบสองเหลี่ยม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิทานอิหร่านราชธรรม เนื่องจากปรากฏข้อความบนทะเบียนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณ ระบุถึงชื่อสมุดไทยเรื่องนี้ว่า “ยุขัน (สิบสองเหลี่ยม)” อีกทั้งเนื้อความตอนต้นเรื่องก็กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองสิบสองเหลี่ยม
บทละครนอกเรื่อง ยุขัน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ จ.ศ. ๑๒๔๐ เป็นการพิมพ์รวมเล่มสมุดไทยตั้งแต่เล่ม ๑-๒๓ จากนั้นมามิได้มีการพิมพ์เผยแพร่อีก กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่าบทละครนอกเรื่อง ยุขัน มีคุณค่าต่อการศึกษาวรรณกรรมไทยในแง่ของผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมต่างชาติ จึงมอบหมายให้ นางสาวธิดาเพ็ญ เข็มสว่าง นักภาษาโบราณ ๖ ว. กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระจัดทำต้นฉบับเพื่อพิมพ์เผยแพร่
อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เรียบเรียงใช้หนังสือเรื่อง ยุขัน ฉบับพิมพ์ จ.ศ. ๑๒๔๐ เป็นฉบับหลักในการคัดลอกเบื้องต้นและตรวจสอบชำระกับเอกสารต้นฉบับสมุดไทยเรื่อง ยุขัน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๔๔ เล่ม โดยได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้สอดคล้องกับภาษาเขียนปัจจุบัน ทั้งจัดทำบทอธิบาย ได้แก่ ต้นเรื่องยุขัน และเนื้อเรื่องย่อเพิ่มเติมไว้เพื่อความเข้าใจและสะดวกแก่การค้นคว้าของผู้อ่าน
กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือบทละครนอกเรื่อง ยุขัน จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจในการศึกษาวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน
อธิบดีกรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗