๑๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงยุขันเฉิดโฉมเสนหา |
ครั้นกะปิหลันเสนา | ทุ่มทิ้งลงมหานที |
เลื่อนลอยอยู่ในคงคา | รู้สึกกายาพระโฉมศรี |
พระองค์ทรงโศกโศกี | ดั่งชีวีจะม้วยในคงคา ฯ |
ฯ ลีลากระทุ่ม ๔ คำ ฯ
๏ โอ้พระชนกชนนี | ที่ไหนจะได้เห็นหน้า |
ลูกจะม้วยมุดสุดชีวา | ในกลางมหาวารี |
อนิจจาพระพี่ยุดาหวัน | จะโศกศัลย์ถึงน้องหมองศรี |
ทำไฉนจะแจ้งแห่งคดี | ว่าน้องนี้สูญสิ้นชนมา |
ใครเลยจะนำข่าวสาร | ไปแจ้งยอดเยาวมาลย์เสนหา |
ว่าพี่ทนทุกขเวทนา | เจ้าจะตั้งหน้าคอยไม่ขาดวัน |
คลื่นโยนโจนซ้ำกระหน่ำมา | พระราชาพ้นที่จะอดกลั้น |
ดั่งหนึ่งจะสิ้นชีวัน | ทรงธรรม์ยอกรขึ้นอัญชุลี |
เดชะข้าตั้งอธิษฐาน | คุณพระอาจารย์ฤๅษี |
ทั้งคุณบิตุเรศชนนี | อย่าให้ลูกนี้มีภัย |
ขอจงพระตาระกาหลา | อันสถิตชั้นฟ้าเป็นใหญ่ |
ช่วยกำจัดสัตว์ร้ายเสียให้ไกล | อย่าให้วอดวายในคงคา ฯ |
ฯ ยานี ๑๒ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์ปะตาระกาหลา |
สถิตในกระยาหงันชั้นฟ้า | ให้เร่าร้อนกายาเป็นพ้นไป |
จึ่งส่องทิพเนตรลงมาพลัน | เห็นองค์ยุขันศรีใส |
ลอยล่องอยู่ในสมุทรไทย | มีใจเมตตาปรานี |
จำกูจะไปช่วยโฉมฉาย | อย่าให้วอดวายเป็นผี |
คิดแล้วก็เสด็จจรลี | ลงมายังที่คงคาลัย ฯ |
ฯ ตระ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งบันดาลให้สงบคลื่น | ราบรื่นอย่างหน้าเภรีใหญ่ |
แล้วกำจัดมัจฉาเสียให้ไกล | มิให้พ่องพานกายา ฯ |
ฯ ร่าย ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโทรมนัสา |
แต่ล่องลอยอยู่ในคงคา | ได้สามทิวาราตรี |
เมื่อจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ | เทพไท้มาโปรดเกศี |
ลมคลื่นรื่นราบลงทันที | ภูมีลอยเลื่อนเคลื่อนมา |
ให้คิดขัดแค้นแน่นใจ | มุ่งหมายพระทัยว่าพรานป่า |
มาตรแม้นมิม้วยมรณา | ไม่ช้าก็จะได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนายประมงคนขยัน |
อยู่ในแว่นแคว้นเขตขัณฑ์ | ชวนกันทอดแหแปรอวน |
ครั้นเช้าสั่งบ่าวให้แต่งใบ | เรือแพเตรียมไว้ไห้ถี่ถ้วน |
จะแล่นไปลมใหญ่จะแปรปรวน | หักหวนให้ได้ดั่งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ข้าคนต้นเรือนผู้ใหญ่ |
เร่งรัดจัดหาฉับไว | ได้แล้วก็ลงเรือพลัน |
เสาใบพายถ่อพร้อมมือ | ขนรี่ลงมาขมีขมัน |
ต่างจับจังกูดกระเชียงพลัน | พร้อมกันแล้วออกเรือไป |
ลมนักชักใบขึ้นกบรอก | คลื่นระลอกพัดส่งตะโพงใหญ่ |
ถึงท้องทะเลทันใด | ทิ้งอวนล้อมไว้มิได้ช้า |
จึ่งแลไปเห็นพระโฉมยง | นายประมงตกใจเป็นหนักหนา |
ร้องถามบ่าวว่าอะไรในคงคา | มิใช่มัจฉานะชาวเรา |
หรือจะเป็นผีภูตพรายน้ำ | แกล้งทำหลอกหลอนกันเล่นเล่า |
ทอดสมอเรือเถิดนะชาวเรา | เลื่อนเข้าไปดูอีกสักหน่อย |
ลางคนคิดพรั่นเป็นนักหนา | ค้ำเรือเข้ามาแล้วราถอย |
แลเห็นเลื่อมเลื่อมกระเพื่อมลอย | เสือกเข้าไปหน่อยก็เห็นคน |
โฉมเฉิดเลิศลบในชมพู | เป็นไฉนมาลอยอยู่กลางหน |
นายประมงเข้าอุ้มพระจุมพล | ขึ้นจากสายชลฉับพลัน |
เห็นโฉมประเสริฐเลิศมนุษย์ | ดั่งเทพบุตรในเมืองสวรรค์ |
ดีร้ายพระองค์ทรงธรรม์ | พงศ์พันธุ์กระษัตริย์เลิศไกร |
คิดแล้วก้มเกล้ากราบลง | นายประมงจึ่งทูลแถลงไข |
พระสถิตนคเรศประเทศใด | เป็นไฉนมาลอยในนที |
หรือเสียเภตรานาวาล่ม | ต้องลมจึ่งลอยมาถึงนี่ |
ประมาณได้สักกี่ราตรี | ข้านี้ปรานีเป็นพ้นนัก ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันสุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
พระองค์ค่อยหายเหนื่อยพัก | จอมจักรจึ่งแจ้งแสดงการ |
ข้าจะเล่าให้ฟังแต่หลังมา | เราอยู่พาราราชฐาน |
ยังเมืองอุรังยิดโอฬาร | ทรงเดชาชาญเกียรติยศ |
จัตุรงค์นิกรโยธี | หัตถีอาชาปรากฏ |
เรานี้คือราชโอรส | ทรงยศใช้ข้าพี่น้องมา |
ให้ไปเอานกหัสรังสี | ตำราว่าดีเป็นหนักหนา |
มาถึงกึ่งกลางมรคา | พระเชษฐาต้องแยกกันไป |
สัญจรนอนป่าพนาลี | ถึงบูรีอุเรเซนกรุงใหญ่ |
ได้นกหัสรังดั่งใจ | ทั้งบุตรีท้าวไททรงธรรม์ |
ข้าหนีนางมาบัดนี้ | อินทรีพาข้ามสมุทรกั้น |
ครั้นถึงอาศรมพระนักธรรม์ | ชุบมิ่งม้านั้นให้ทรงมา |
หลงทางมากลางมรคาลัย | หยุดใต้ร่มไทรสาขา |
ยังมีพรานไพรพนาวา | ชื่อมหายุหงัดชาญชัย |
พาข้าเข้าไปในอุทยาน | ให้อยู่สำราญอาศัย |
พอม่อยนิทราหลับไป | ไม่รู้ว่าเหตุภัยจะพึงมี |
เจ้าเมืองปะรังศรีริษยา | ชิงเอาสกุณากับศรศรี |
ตัวข้าทิ้งลงในวารี | ได้สามราตรีทิวา |
จึ่งมาพบท่านเข้าวันนี้ | ชีวีไม่ม้วยสังขาร์ |
บุญคุณล้ำล้นคณนา | นานไปเมื่อหน้าจะทดแทน |
ครั้งนี้มิม้วยบรรลัย | ความข้าเจ็บใจเหลือแสน |
มะยุหงัดมันทำให้ได้แค้น | มั่นแม่นจะได้เห็นซึ่งฤทธา ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประมงสงสารเป็นหนักหนา |
จึ่งทูลสนองพระวาจา | พระอย่าอาวรณ์ร้อนใจ |
อันซึ่งเกิดเหตุเภทพาล | เพราะเวรากาลจึ่งทำได้ |
ขอเชิญเสด็จภูวไนย | เข้าไปบ้านข้าให้สำราญ |
ว่าแล้วถอนสมอชักใบ | แล่นกลับคืนไปถิ่นฐาน |
โห่ร้องกึกก้องในชลธาร | มินานก็ถึงเคหาพลัน ฯ |
ฯ ยวนแจว ๖ คำ ฯ
๏ นายประมงไปเรียกเมียขวัญ | จัดแจงเหย้าเรือนที่หอนั้น |
วันนี้ไปได้ของสำคัญมา | ลาภใหญ่แม่นมั่นมาถึงเรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ภรรยาได้ฟังผัวเล่า |
จึ่งกระซิบถามมาแต่เบาเบา | จริงฤๅเจ้าได้ของสิ่งไรมา |
นายประมงตอบไปอะไรมี | อย่าเซ้าซี้เร่งจัดเคหา |
สั่งเมียแล้วรีบกลับลงมา | ทูลพระผ่านฟ้าทันใด |
ขอเชิญเสด็จขึ้นเคหา | ให้สำราญกายาผ่องใส |
ภรรยาข้าจัดแจงไว้ | เชิญพระภูวไนยไคลคลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันสุริย์วงศ์พงศา |
จึ่งเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ขึ้นยังเคหาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นายประมงยินดีปรีดา | นางผู้ภรรยาก็แจ่มใส |
จึ่งตกแต่งอาหารตระการใจ | ออกไปถวายพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันเฉิดโฉมประโลมจิต |
พระทรงตรองตริดำริคิด | เจ็บจิตเป็นพ้นคณนา |
จึ่งมีบัญชาไปทันใด | เหมือนหนึ่งพี่ได้เอ็นดูข้า |
จงลอบเข้าไปในพารา | ฟังกิจจาดูให้แจ้งใจ |
ว่านายมะยุหงัดพรานป่า | ลักเอาปักษาไปฤๅไฉน |
ข้านี้จะใคร่ประจักษ์ใจ | ฤๅจะยังอยู่ในอุทยาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประมงก้มเกล้าทูลสาร |
ข้าจะขออาสาพระภูบาล | เข้าไปราชฐานเวียงไชย |
ฟังกิตติศัพท์ที่ร้ายดี | เอาข่าวปักษีมาให้ได้ |
ว่าแล้วลาองค์พระทรงไชย | คลาไคลเข้าในพระบูรี |
จึ่งเที่ยวตรับฟังเหตุการณ์ | ที่ในอุทยานสวนศรี |
ชาวรักษาสวนมาลี | จะพูดจาพาทีประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตาเฒ่าเฝ้าสวนเป็นใหญ่ |
จึ่งว่าแก่ภรรยาไป | เมื่อวันภูวไนยเสด็จมา |
อยู่จนรุ่งราษราตรี | ได้ปักษีตัวหนึ่งงามหนักหนา |
บัดนี้เอาไปในพารา | ให้พระธิดายาใจ |
เจ้าของนั้นทิ้งลงในนที | ป่านนี้เห็นจะม้วยตักษัย |
ยายเอ๋ยฟังสารเป็นพ้นไป | มิได้รู้สึกสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประมงได้ฟังถ้วนถี่ |
จึ่งกลับออกมาทันที | เร่งรีบจรลีฉับพลัน ฯ |
ฯ เชิด ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนเคหา | วันทาแล้วทูลขมีขมัน |
อันนกหัสรังสีนั้น | พระผู้ผ่านไอศวรรย์นั้นลักไป |
บัดนี้ประทานพระบุตรี | เทวีฟูมฟักรักใคร่ |
แล้วให้เอาองค์พระทรงไชย | ทิ้งเสียที่ในนที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันผู้เฉิดโฉมศรี |
ได้ยินนายประมงพาที | ภูมีกริ้วโกรธพิโรธใจ |
ดูดูเจ้ากรุงปะรังศรี | ควรหรือมาทำเช่นนี้ได้ |
เป็นกระษัตริย์เลิศลบภพไตร | มิได้มีความสัจจา |
กับพระบิตุรงค์ทรงไชย | ก็รักใคร่ผูกพันกันหนักหนา |
ไม่คิดเกรงกรรมเวรา | หลงโลภเจตนาเป็นพ้นไป |
ดีแล้วจะเป็นไรมี | จะต่อตีจนถึงกรุงใหญ่ |
ห้ำหั่นให้ม้วยบรรลัย | จึ่งจะสาสมใจที่ฉันทา |
จำจะกลับคืนไปกรุงไกร | จึ่งจะได้พวกพลอาสา |
ท่านจงช่วยนำมรคา | พาราอุรังยิดอยู่ทิศใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประมงทูลแจ้งแถลงไข |
ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปเวียงไชย | ทางไกลกว่าไกลกันดารนัก |
อันเมืองฉะนะตันกรุงไกร | ก็ไปขึ้นแก่องค์พระทรงศักดิ์ |
จงเสด็จคลาไคลไปสำนัก | ก็จักได้พหลโยธา |
ตัวข้าจะนำมรคาไป | ให้สำเร็จพระทัยปรารถนา |
พระองค์จงเร่งตรึกตรา | แม้นการเนิ่นช้าจะเสียที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันทรงสวัสดิ์รัศมี |
ชื่นชมโสมนัสยินดี | พระภูมีจึ่งตอบไปทันใด |
เราขอบใจท่านเป็นหนักหนา | เมตตาช่วยแจ้งเหตุให้ |
ตัวข้าจะขอลาไป | ยังกรุงไกรฉะนะตันบูรี |
จัดกรีพหลพลหาญ | มาผลาญเสียให้ม้วยเป็นผี |
ที่มันอาจองทะนงดี | สักสิบห้าราตรีได้เห็นกัน |
ตัวท่านจะอยู่ภายหลัง | จงระวังบอกเหตุในเขตขัณฑ์ |
ซับซาบฟังข่าวจงทุกวัน | กว่าจะยกพลขันธ์เข้ามา |
ว่าแล้วเสด็จคลาไคล | ภูวไนยลงจากเคหา |
นายประมงก็นำมรคา | ลีลาเข้าในไพรพนม ฯ |
ฯ ลมพัดชายเขา ๑๐ คำ ฯ
๏ เข้าในไพรรังวังเวก | พฤกษาอเนกรื่นร่ม |
เดินพลางทางเหลียวแลชม | กลิ่นหอมกล่อมกลมเย็นสบาย |
รุกขากิ่งค้อมประกัน | อินจันพะวาหว้าหวาย |
หมีหมูสกุณามากมาย | จับจิกผลกระจายร่วงพรู |
ปักษีส่งเสียงซอแซ | เข้าเคล้าคลอแคลเคียงคู่ |
ลางต้นทรงผลช่อชู | แมลงผึ้งแมลงภู่หึ่งไป |
บ้างโรยบ้างร่วงลงริมทาง | เดินพลางหอมหวนครวญใคร่ |
ลมพัดละอองมาลัย | ปักษีแซ่ไปอึงคะนึง |
ยิ่งเห็นสกุณีมิ่งไม้ | พระทัยรัญจวนครวญถึง |
เดินพลางพระทรงคะนึง | จนถึงปากเหวตามทางไป |
มีเขาสองมรคา | กระหนาบหลังหน้าศิลาใหญ่ |
มีทางจำเพาะเดินไป | ตามในเนินผาศิลาลง |
ครั้นถึงสระศรีอันมีบัว | เต็มทั่วทั้งท้องสระสรง |
ทางนี้แล้วหนอนายประมง | สำคัญมั่นคงปลงใจ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ พระจึ่งลงสรงชำระกาย | ให้คลายที่ร้อนหม่นไหม้ |
สรงเสร็จพระเสด็จคลาไคล | วังเวงวิเวกในพนาลี |
พระองค์ลัดเนินเดินไป | เศร้าสร้อยพระทัยหมองศรี |
จะใกล้ถึงเขตพระบูรี | ฉะนะตันกรุงศรีเวียงไชย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พอสุริยาสายัณห์เวลา | มาถึงปลายแดนกรุงใหญ่ |
นายประมงจึงทูลภูวไนย | ข้าจะกลับคืนไปบูรี |
พระองค์จงไปอยู่สำราญ | เร่งคิดกิจการในกรุงศรี |
ทูลแล้วอำลาพระภูมี | รีบเร่งจรลีกลับมา ฯ |
ฯ เชิด ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันลือฤทธิ์ทุกทิศา |
ครั้นนายประมงลีลา | พระราชาเสด็จคลาไคล |
เดินตรงเข้าไปที่ในด่าน | แล้วมีโองการปราศรัย |
ถามว่าพารานี้ชื่อไร | บอกให้แจ้งใจบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายด่านครั้นเห็นพระโฉมศรี |
จึ่งตอบไปพลันทันที | ท่านนี้มาแต่บูรีใด |
ตัวเราผู้อยู่รักษาด่าน | องค์ท้าวผู้ผ่านกรุงไกร |
ชื่อเมืองฉะนะตันเวียงไชย | เหตุไฉนมาถามกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันเฉิดโฉมเสนหา |
ได้ฟังนายด่านถามมา | จึ่งมีวาจาไปทันที |
ตัวเรามาแต่อุรังยิด | มีกิจจะเข้าไปกรุงศรี |
เอ็งจงไปแจ้งซึ่งคดี | ให้ภูมีมารับจงฉับไว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชาวด่านตกใจจะมีไหน |
จึ่งกราบบังคมคัลทันใด | ขึ้นอาชาไนยไคลคลา |
ตีม้าควบขับหนักไป | บัดใจก็ถึงเคหา |
บ้านท่านมหาเสนา | จึ่งแจ้งกิจจาทั้งปวงไป |
บัดนี้ยังมีพระกุมาร | มาถึงปลายด่านกรุงใหญ่ |
ว่าจะเข้ามาในเวียงไชย | ให้ออกไปรับพระภูมี |
รูปโฉมโสภาปรากฏ | เห็นจะเป็นโอรสเจ้ากรุงศรี |
มาแต่อุรังยิดบูรี | ขอมหาเสนีจงแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งอัครมหาเสนาผู้ใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | ว่าหน่อไทอุรังยิดเสด็จมา |
จึ่งรีบลีลาเข้าไป | ยังท้องพระโรงไชยฝ่ายหน้า |
ครั้นถึงจึ่งทูลกิจจา | ให้ทราบบาทาทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวตะรังอูได้ฟังสาร |
ให้หวาดหวั่นพระทัยภูบาล | น่าจะมีเหตุการณ์สิ่งใด |
จึ่งใช้ให้องค์โอรสา | มาแจ้งกิจจาฤๅไฉน |
จำกูจะรีบออกไป | รับเสด็จภูวไนยเข้ามา |
คิดแล้วจึ่งสั่งเสนี | ให้จัดแจงรี้พลอาสา |
อีกทั้งม้ารถคชา | ให้ทันแต่ในเพลานี้ |
กูจะออกไปรับพระทรงธรรม์ | ยังด่านเขตขัณฑ์บูรีศรี |
จึ่งจะแจ้งกิจจาว่าร้ายดี | เร่งรัดบัดนี้อย่าช้า ฯ |
ฯ เจรจา ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
ออกไปสั่งพลันทันใด | ตามในบัญชาพระภูมี |
จัดแล้วมหาเสนา | รีบกลับมาทูลเหนือเกศี |
รับสั่งให้ผูกพาชี | บัดนี้พร้อมแล้วพระราชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวตะรังอูก็หรรษา |
แต่งองค์ทรงเครื่องอลังการ์ | ขึ้นทรงอาชาจรลี |
เสนาแห่ห้อมล้อมไป | บัดใจก็ถึงพระโฉมศรี |
แลเห็นพระองค์ก็ยินดี | ชักพาชีหยุดยืนไว้ |
ยอบองค์อยู่บนหลังอาชา | จะวันทาก็หาบังควรไม่ |
ท้าวตะรังจึ่งสั่งเสนาไป | ให้เอาม้าพระที่นั่งถวายพลัน |
เสนาจับจูงพาชี | มิ่งม้ามณีแข็งขัน |
เคียงเข้าถวายองค์ทรงธรรม์ | อภิวันท์เชิญทรงอัสดร |
สองเสด็จขึ้นทรงพาชี | ถ้อยทีถ้อยมีสโมสร |
สนทนาแล้วพากันบทจร | เข้าในพระนครก็ดีใจ |
พระองค์ทรงมิ่งม้าเสมอกัน | พลขันธ์พรักพร้อมอยู่ไสว |
ครั้นถึงจึ่งเชิญพระภูวไนย | ขึ้นแท่นอำไพชัชวาล |
ปราศรัยไถ่ถามตามกิจ | ถึงพระองค์ทรงฤทธิ์ในราชฐาน |
อยู่เย็นเป็นสุขสำราญ | จำเริญราชฐานบรรเทาทุกข์ |
พระญาติพระองค์ในแว่นแคว้น | ราษฎรได้แค้นค่อยมีสุข |
หรืออรินทร์ภัยพาลรานรุก | บุกบั่นไม่เกรงพระเดชไท |
พระจึ่งนิราศนคเรศ | ด้วยเหตุร้ายดีเป็นไฉน |
พระองค์ประสงค์สิ่งไร | จึ่งจรถึงในฉะนะตัน ฯ |
ฯ เจรจา ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เพราเพริศเฉิดฉัน |
เสด็จนั่งเหนือแท่นเทียมกัน | สนองอันคดีโดยนัย |
อันองค์พระราชบิตุรงค์ | มิ่งมงกุฎแก้วกรุงใหญ่ |
ครองครองจัตุรงค์เปรมใจ | เหตุภัยมิได้มาราวี |
ด้วยทรงพระเดชปกเกศไป | ทั่วในแผ่นภพกรุงศรี |
บห่อนราษฎรจะราคี | พระทรงสวัสดีพร้อมมูล |
ยังมีเรื่องราวพระตำรา | คู่เมืองมีมาไม่เสื่อมสูญ |
จารึกแนะไว้เป็นเค้ามูล | กับแผ่นแก้วจำรูญรูจี |
สกุณีมีขนเบญจพรรณ | นกนั้นชื่อหัสรังสี |
ศีรษะเป็นช่วงดวงมณี | ทรงศักดาดีเป็นสีนิล |
ทั้งเดินน้ำได้ในเวหน | จะดำดินบินบนก็ได้สิ้น |
ตบะศีลประเสริฐในธรณิน | ไพรินไม่กระทำกล้ำกราย |
สามโลกบปานปิ่นกระษัตริย์ | เป็นจอมจักรพรรดิโดยหมาย |
จึ่งพระบิตุรงค์ฤๅสาย | บรรยายแก่หมู่โยธา |
เสนีในกรุงบูรีรัตน์ | ทหารหัดบอาจจะอาสา |
จึ่งตัวข้าพี่น้องทั้งสองรา | เข้ามากราบถวายบังคมทูล |
จึ่งรับอาสาบิดาไป | นิ่งไว้ก็กลัวจะเคืองขุ่น |
ครั้นพระสุริยามาจำรูญ | ขอคุณปกเกศแล้วลาไป |
ถึงหลักชื่อเหลี่ยมศิลาลึก | จารึกอักษรให้อ่านได้ |
มิให้ร่วมทางคลาไคล | แม้นไปจะเกิดจลาจล |
โศกศัลย์จนสลบอยู่กับที่ | สองเสื่อมโศกียิ่งโหยหน |
พี่กอดศอสั่งกิจกล | ต่างคนต่างแยกกันยาตรา |
พลยักษ์ข้ามสมุทรถึงเรเซน | เคี่ยวเข็ญได้สกุณปักษา |
ถึงเมืองปะรังศรีเจ้ามารยา | ชุมโยธาชิงเอานกไป |
มันทิ้งข้าลงในคงคา | ลอยมานายประมงเข้าเลี้ยงไว้ |
ความแค้นแสนสุดกำลังไป | จะสงครามให้ได้ดั่งใจคิด |
ข้าจึ่งมาถึงฉะนะตัน | หวังจะช่วยกันสำเร็จกิจ |
เอ็นดูข้าด้วยจงช่วยคิด | เจ็บจิตปิ้มม้วยชีวี |
ยุดาหวันพี่ร่วมอุทร | บทจรไปกระไรไม่รู้ที่ |
เล่าพลางพระทางทรงโศกี | แล้วพระภูมีดับโศกไว้ ฯ |
ฯ โอด เจรจา ๓๐ คำ ฯ
๏ ได้เอยได้ฟัง | ท้าวตะรังคั่งแค้นดั่งเพลิงไหม้ |
ดูดูท้าวปะรังช่างกระไร | เหตุว่าภูวไนยองค์เดียวมา |
ยํ่ายีหยาบช้าน้อยไปหรือ | แม่นมั่นจะครั่นมือนั้นอย่าว่า |
กระษัตริย์ใดใครจะยิ่งกว่าราชา | ไม่เกรงอาญาพระจักรี |
หักโหมข่มเหงดีแล้ว | อย่ารำพึงที่จะแคล้วเป็นผี |
เหตุนี้แม้นรู้ถึงภูมี | ปะรังศรีอย่าเพ่อทะนงใจ |
เสียแรงเป็นมิตรกันมา | ไม่คิดกันแล้วจึ่งทำได้ |
พระองค์เดือดดาลทะยานใจ | ฟาดเปรี้ยงเสียงใสเป็นโกลา |
ตรัสสั่งมหาเสนาใน | หมอบเฝ้าไสวอยู่พร้อมหน้า |
ให้เตรียมพหลโยธา | พร้อมเครื่องสาตราอาวุธ |
จะยกไปล้อมเมืองปะรังศรี | เลือกล้วนตัวดีให้สิ้นสุด |
แม้นใครย่อท้อต่อยุทธ์ | จะฆ่าให้ม้วยมุดชีวาลัย |
กฎหมายบอกกันตามสั่ง | ทั่วทั้งกระบวนทัพใหญ่ |
คชากรอัสดรอย่านอนใจ | เตรียมให้พร้อมเสร็จในเจ็ดวัน ฯ |
ฯ เจรจา ร่าย ๑๔ คำ ฯ