ต้นเรื่องยุขัน

ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ ท้าวเวณุมาน ครองราชย์ในเมืองสิบสองเหลี่ยม พระองค์มีมเหสี ชื่อ นางบุปผา แต่ไม่มีโอรสและธิดาที่จะสืบราชสมบัติ ต่อมาเมืองประเทศราชชื่อกาหรำเกิดแข็งเมือง ท้าวเวณุมานจึงมีบัญชาให้สุสิหลำ ทหารเอกยกทัพไปปราบปราม

สุสิหลำนั้นมีภรรยาชื่อ มาลา และมีลูกสาวผู้โฉมงามชื่อ วัลลุมาลี เมื่อสุสิหลำรับคำสั่งจากท้าวเวณุมานแล้วได้รํ่าลาภรรยาและกำชับลูกสาวให้ครองตนเป็นโสดตลอดเวลาเจ็ดปี กระทั่งกลับจากการศึกแล้วจะให้แต่งงานกับคู่ครองที่เหมาะสม ซึ่งนางวัลลุมาลีได้ให้สัญญากับบิดาด้วยความเต็มใจ

เมื่อถึงวันที่นางมาลาและลูกสาวไปส่งสุสิหลำนั้น อุเซนบุตรเศรษฐีโปหะและสหายชื่อ อุซ่าหรำ ได้มารอดูการเคลื่อนกระบวนทัพด้วย ความงามของนางวัลลุมาลีทำให้อุเซนหลงรักนางตั้งแต่แรกเห็น ฝ่ายนางวัลลุมาลีนั้นก็เกิดความพิสมัยในตัวอุเซนเช่นเดียวกัน และด้วยความเสน่หาทำให้อุเซนตัดสินใจลอบเข้าหานางวัลลุมาลีโดยใช้ขอห่วงคล้องปีนเข้าไปทางหน้าต่าง นางวัลลุมาลีเล่าให้อุเซนฟังถึงคำสัตย์ที่ให้ไว้กับบิดา ทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานั้นอย่างเคร่งครัด

อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเวณุมานปลอมตัวเป็นนายตระเวนออกไปตรวจดูความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง เมื่อผ่านมาถึงหน้าบ้านสุสิหลำเห็นสายห่วงห้อยลงมาจากห้องนางวัลลุมาลี จึงปีนขึ้นไปตามสายห่วงนั้น ได้เห็นทั้งสองคนคุยกันโดยมิได้ถูกเนื้อต้องตัว ท้าวเวณุมานต้องการทดลองในความสัตย์ของคนทั้งสอง จึงออกอุบายจับตัวอุเซนไปลงโทษ ส่วนอุเซนนั้นรู้ว่าความผิดของตนร้ายแรงถึงชีวิตจึงขอร้องให้อุซ่าหรำสหายรักอยู่เป็นตัวประกันแทน เพื่อว่าตนจะได้กลับไปบอกลานางวัลลุมาลีเป็นครั้งสุดท้าย ท้าวเวณุมานสะกดรอยตามอุเซนไปจนถึงบ้านนางวัลลุมาลี ได้ฟังถ้อยคำที่ทั้งสองร่ำลากัน ก็ชื่นชมในความสัตย์ตั้งใจจะชุบเลี้ยงไว้ทั้งสองคน

รุ่งเช้า อุเซนยอมให้ตำรวจควบคุมตัว อุซ่าหรำซึ่งเป็นตัวประกันจึงถูกปล่อยตัวไป ฝ่ายสุสิหลำกลับจากเมืองกาหรำรู้ข่าวว่าท้าวเวณุมานจะลงอาญาผู้กระทำความผิดจึงตามไปเข้าเฝ้าที่พลับพลา ขณะนั้นนางวัลลุมาลีซึ่งปลอมตัวเป็นชาย จงใจควบม้าตัดหน้าพระที่นั่ง ท้าวเวณุมานรู้ล่วงหน้าว่าคนที่ขี่ม้าคือนางวัลลุมาลี จึงแสร้งว่าโกรธแล้วสั่งสุสิหลำจับตัวมาลงโทษให้ได้

นางวัลลุมาลีสารภาพกับท้าวเวณุมานว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะต้องการตายพร้อมอุเซน ส่วนอุเซนก็ให้การตรงกัน ท้าวเวณุมานต้องการจะลองใจบิดาของคนทั้งสองจึงสั่งให้สุสิหลำเป็นผู้พิจารณาโทษ สุสิหลำนั้นแม้จะรักลูกสาวเพียงใดแต่เพื่อความถูกต้องแล้วจึงตัดสินประหารชีวิตนางวัลลุมาลี ฝ่ายเศรษฐีโปหะบิดาของอุเซนนั้นเห็นด้วยกับคำตัดสินประหารชีวิตอุเซนเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

ท้าวเวณุมานพอใจในความซื่อตรงของสุสิหลำและเศรษฐีโปหะอย่างมาก มีคำสั่งให้เว้นโทษประหารแล้วชุบเลี้ยงอุเซนและนางวัลลุมาลีเป็นโอรสและธิดาบุญธรรม แล้วรับสั่งให้โหรหลวงหาฤกษ์จัดพิธีสยุมพรแต่งตั้งอุเซนเป็นอุปราชฝ่ายหน้าพร้อมทั้งจัดงานมหรสพสมโภชเป็นเวลาสามวัน ฝ่ายอุเซนนั้นได้มอบข้าวของเครื่องใช้อย่างดีเพื่อตอบแทนบุญคุณอุซ่าหรำสหายรัก

ภายหลังเมื่อท้าวเวณุมานสิ้นพระชนม์แล้ว อุเซนได้ขึ้นครองราชสมบัติปรากฏพระนามว่าพระเจ้าอุเรเซน ส่วนอุซ่าหรำได้เป็นอุปราชฝ่ายหน้า ปกครองดูแลไพร่ฟ้าประชากรภายในเมืองอุเรเซน ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

เนื้อความตอนต่อจากนี้ไปอยู่ในบทละครนอกเรื่องยุขัน ฉบับที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เรื่องย่อมีว่า

ท้าววิเรนทรเสกดวงแก้ววิเศษเป็นนกชื่อหัสรังสีแล้วปล่อยให้บินไปทางทิศบูรพา พ่อค้าชื่อมะระงิดจับนกหัสรังสีได้ จึงนำไปถวายพระเจ้าอุเรเซน ปะตาระกาหลาซึ่งสถิตอยู่บนชั้นฟ้า เล็งตาทิพย์เห็นว่าธิดาพระเจ้าอุเรเซนกับโอรสพระเจ้าอุรังยิดเป็นคู่ตุนาหงันกัน ปะตาระกาหลาจึงเขียนสารบรรยายคุณของนกหัสรังสีวางไว้ข้างแท่นบรรทม พระเจ้าอุรังยิดปรารถนาจะครอบครองนกหัสรังสี จึงให้โอรสชื่อยุขันเดินทางไปเมืองอุเรเซนเพื่อตามหานกหัสรังสี เรื่องราวการผจญภัยระหว่างการเดินทางไปเมืองอุเรเซนของยุขันจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามอ่านได้ในบทละครนอกเรื่อง ยุขัน เล่มที่ท่านถืออยู่นี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ