๑
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวอุเรเซนเรืองศรี |
ครองครองสวรรยาธานี | เปรมปรีดิ์เป็นสุขสำราญ |
กับองค์ประไหมสุหรี | เอกอัครเทวียอดสงสาร |
อันฝูงสนมบริวาร | ประมาณหมื่นหกพันกัลยา |
ล้วนทรงโฉมประโลมลานสวาดิ | งามวิลาสลํ้าเทพเลขา |
เกียรติยศปรากฏในสุธา | ทรงอานุภาพเกรียงไกร |
มีปรางค์ปราสาทสุวรรณรัตน์ | แจ่มจำรัสทัดเทียมพระสุริย์ใส |
ม้ารถคชพลสกลไกร | เสนาในพรั่งพร้อมอเนกนันต์ |
อาณาประชาราษฎร | ก็ถาวรเป็นสุขกระเษมสันต์ |
พระทรงทศพิธราชธรรม | ดับเข็ญเย็นขัณฑเสมา |
โฉมยงองค์ประไหมสุหรี | มีบุตรีแน่งน้อยเสนหา |
ทรงโฉมประโลมละลานตา | นางในใต้ฟ้าไม่เทียมทัน |
ทรงนามประวะลิ่มวรลักษณ์ | ประไพพักตร์เพียงอัปสรสวรรค์ |
มีราชกุมารดังดวงจันทร์ | ทรงนามอุราหงันโสภา |
พระแสนพิศวาสเป็นพ้นนัก | ด้วยสองพระลูกรักเสนหา |
เย็นเช้าขึ้นเฝ้าทุกเวลา | องค์พระบิดาชนมาน ฯ |
ฯ ยานี ๑๖ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าววิเรนทรปรีชาชาญ |
อยู่ยังเขาแก้วเจ็ดปราการ | ชมฌานตามเพศวิทยา |
ลางกรรมทำเพียรเจริญกิจ | ปลูกฤทธิ์ให้ชำนาญฌานกล้า |
ทรงอานุภาพมหึมา | ทั่วโลกโลกาไม่เทียมทัน |
นักสิทธิ์คนธรรพอสุรินทร์ | นาคินทร์เทพไทในไพรสัณฑ์ |
มาถวายนอบนบอภิวันท์ | ปันเวรเกณฑ์กันบูชา |
พระองค์เสวยสุขสำราญรื่น | อายุแปดหมื่นชันษา |
ไม่มีเภทภัยพาธา | อยู่ยอดจินดาคีรี |
เพลาออกจากรักษากิจ | สถิตหน้าศาลาประเทืองศรี |
พวกวิทยาธรจรลี | เข้ามาดุษฎีพระทรงญาณ |
ปราศรัยไถ่ถามถึงความเพียร | เล่าเรียนแต่ต้นจนอวสาน |
ต่างต่างทูลแจ้งแสดงการ | ตามที่เข้าฌานภาวนา |
บ้างถวายบุปผามาลัย | ตามจิตเลื่อมใสปรารถนา |
เปลี่ยนผลัดปรนนิบัติอัตรา | ล้วนหมู่โยธาเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ร่าย ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพวกวิชาธรใจหาญ |
ที่ออกเวรก็ไปหิมพานต์ | เป็นสุขสำราญวิญญาณ์ |
ครั้นถึงรุกขชาตินารีผล | เกลื่อนกล่นทุกต้นพฤกษา |
เก็บได้อุ้มแอบแนบอุรา | เสนหาตามเจตนาใน |
เหาะหนีลี้เพื่อนวิชาธร | ผันผ่อนไปตามอัชฌาศัย |
สะพักนารีพลางทางรีบไป | ในกลางอากาศด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิเรนทรผู้เรืองฤทธิ์กล้า |
เหาะระเห็จมาในเมฆา | จะไปชมรุกขานารี |
เห็นพวกวิทยาทั้งปวง | ชมดวงผกาเกษมศรี |
ตัวกูแม้นช้าเสียที | ที่ไหนจะได้มาลัย |
รีบเหาะเจาะมาหวังจะชม | ก็ไม่สมดั่งจิตพิสมัย |
พิโรธโกรธเกรียมเหิมใจ | ก็เหาะไล่สังหารราญรอน |
ช่วงชิงผกานารีชาติ | สามารถห้าวหาญชาญสมร |
ที่ฤทธิ์น้อยไม่รอต่อกร | ก็ม้วยมรณ์ที่กลางเมฆา |
ดวงแก้วกายสิทธิ์ฤทธิรงค์ | พลัดตกลงจากหัตถา |
อยู่ตรงหน้าบรรณศาลา | พระภูมีวิทยาเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ตระ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าววิเรนทรใจหาญ |
เห็นดวงมณีรัตน์ชัชวาล | ก็แจ้งใจด้วยฌานปรีชา |
หยิบมาทอดทัศนานัยน์ | มีพระทัยใสโสมนัสา |
แล้วทรงถวิลจินตนา | อันว่าจินดาดวงนี้ |
ประกอบด้วยศักดาวราฤทธิ์ | เป็นกายสิทธิ์เฉลิมศรี |
เจ้าของชีพม้วยชีวี | ไม่ควรที่จะยกให้ใคร |
อันสานุศิษย์ทั้งปวง | ก็มีดวงมณีศรีใส |
จะเอาไว้ก็ผิดธรรมเนียมไป | เราไซร้ก็มีสำหรับตน |
จำจะทำทานไว้ในโลกา | เห็นว่าจะได้กุศล |
มนุษยในพื้นภูวดล | คนใดมีซึ่งบุญญา |
จึ่งให้ได้ดวงมณีรัตน์ | จะได้เป็นจักรพรรดินาถา |
แล้วจารึกไว้ยอดบรรพตา | แจ้งคุณจินดาทุกประการ |
แก้วนี้ประเสริฐเลิศลบ | จบอมรแมนแดนสถาน |
เหาะเหินเดินได้ในจักรวาล | เป็นประธานทั้งสามธาตรี |
จารึกแล้ววางรัตนา | ลงเหนือศิลารัศมี |
จึ่งมีประกาศิตวาที | จงเป็นปักษีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ตระ ๑๖ คำ ฯ
๏ แล้วเสกพระเวทคาถา | ล้วนยอดวิทยาทุกสิ่งสรรพ์ |
เป่าลงครบเจ็ดคาบพลัน | ศิลานั้นกลายเป็นสกุณี |
ขนลายพรายพรรณได้พันสิ่ง | ยิ่งกว่านกในพนาศรี |
งามครบสบสมทั้งอินทรีย์ | ดูไหนเป็นที่จำเริญตา |
ปีกหางอย่างพลอยเนาวรัตน์ | ที่เจียนจัดระบายเลขา |
ระยับยองดั่งทองทาบทา | ทั้งรู้ภาษาพาที |
แล้วจึ่งให้นามสมญา | ชื่อว่านกหัสรังสี |
ด้วยแววขนประดับสลับดี | มีถ้วนทุกอย่างต่างลาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ แล้วมีมธุรสวาจา | นี่แน่ะปักษาจงผันผาย |
เบื้องบุรพ์ทิศาอย่าคลาดคลาย | ฟากฝ่ายคงคาชลาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หัสรังสียกปีกบังคมไหว้ |
รับราชบัญชาท้าวไท | ด้วยใจกระเษมเปรมปรีดิ์ |
แล้วน้อมเศียรเกล้าบังคมลา | องค์ท้าววิทยาเรืองศรี |
บินโบยมาโดยเมฆี | เร็วรี่ด้วยฤทธีเกรียงไกร |
ร่อนรามาในนภากาศ | สามารถไม่มีใครเปรียบได้ |
ลอยละลิ่วปลิวฟ้ามาไรไร | ไปเบื้องบุรพ์ทิศฉับพลัน ฯ |
ฯ ตระ ๖ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงมะระงิดนายกำปั่น |
ซึ่งอยู่เมืองวิลันดานั้น | ครั้นถึงมรสุมจะไปค้า |
จึงจัดแจงสิ่งของบรรทุกเพียบ | ก็แล่นเทียบว่องไวด้วยใจกล้า |
จะไปยังอุเรเซนพระพารา | เคยไปมาค้าขายอยู่ทุกปี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งกลางสมุทรไทย | แลไปเห็นราชปักษี |
บินโบยมาโดยเมฆี | รัศมีจับแสงสุริยา |
ต่างคนพิศวงหลงใหล | บ้างคิดสงสัยเป็นหนักหนา |
ยิ่งแลยิ่งใกล้เข้ามา | พากันชื่นชมยินดี |
ปีกหางงามสรรพจับตา | ทั่วทั้งกายาสลับสี |
ผิดกันกับนกในพงพี | ไม่มีในพื้นแผ่นดินดอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงหัสรังราชปักษร |
โบยบินมากลางอัมพร | ข้ามฟากสาครล่องมา |
ครั้นเห็นสำเภาแล่นล่อง | สมปองที่จงปรารถนา |
จะอาศัยไปกับเภตรา | ตามแต่จะพาไปเมืองใด |
คิดแล้วราร่อนอ่อนลง | จับตรงท้ายบาหลีใหญ่ |
ไม่คิดครั่นคร้ามขามใจ | เต้นไต่ไซ้ขนอยู่ไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มะระงิดมีจิตหรรษา |
เห็นปักษินบินจับเภตรา | เรียกหาบ่าวไพร่ทันใจ |
ทำบ่วงผูกไม้ด้อมมอง | หวังจะคล้องปักษาให้จงได้ |
สกุณีไม่ตระหนกตกใจ | ทำอาการเต้นไต่เชิงชิด |
ค่อยขยับก็จับตัวได้ | เพ่งพิศประไพวิไลจิตร |
ชื่นชมด้วยสมความคิด | วิปริตเจรจาว่าหัสรัง |
คำเดียวก็หายเสียงไป | พาณิชนึกในใจหวัง |
ปักษีอยู่ในไพรวัง | รู้ดั่งคนสอนให้พาที |
นกนี้ประเสริฐเลิศนัก | จะถวายจอมจักรเจ้ากรุงศรี |
องค์ท้าวอุเรเซนธิบดี | ภูมีจะกระเษมเปรมปรา |
จะได้พึ่งบุญญาพระทรงเดช | เป็นปิ่นปกเกศเกศา |
คิดแล้วให้บ่ายเภตรา | แล่นมาถึงท่าพระบูรี |
ทอดสมอรอไว้ฉับพลัน | จัดสรรสิ่งของถ้วนถี่ |
ทั้งกรงหัสรังสกุณี | ที่จะถวายเจ้าพารา |
ครั้นจัดสำเร็จเสร็จพลัน | สั่งกันพร้อมมูลถ้วนหน้า |
มะระงิดขึ้นจากเภตรา | มายังศาลาลูกขุนใน |
ครั้นถึงจึงแจ้งกิจจา | แก่มหาเสนาผู้ใหญ่ |
ท่านจงอนุกูลอย่าสูญใจ | ข้าจะใคร่บังคมพระบาทา |
จะถวายวิหคตัวนี้ | งามนักไม่มีที่จะหา |
เลี้ยงไว้เป็นศรีพารา | จงพาข้าเข้าบังคมคัล ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหาเสนาคนขยัน |
จึ่งนำมะระงิดจรจรัล | เข้าท้องพระโรงคัลรจนา |
ก้มเกล้าบังคมบรมบาท | หมอบเฝ้าเดียรดาษพร้อมหน้า |
หัสรังทั้งของนั้นยกมา | ตั้งถวายผ่านฟ้าทันใด |
แล้วจึงทูลเบิกพาณิช | เอากิจทั้งนั้นแถลงไข |
ให้ทราบบาทบงสุ์พระทรงไชย | ซึ่งมะระงิดได้บังคมทูล ฯ |
ฯ ช้า ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงภพไอศูรย์ |
ได้ฟังกิจจาก็เพิ่มพูน | ไพบูลย์โสมนัสปรีดา |
จึ่งพินิจพิศดูนกน้อย | ดั่งเอาพลอยเข้าประดับปักษา |
ปีกหางงามอย่างสุวรรณทา | เลิศล้ำสกุณาในแดนดิน |
พาณิชไปได้ไหนมา | งามยิ่งรจนาเฉิดฉิน |
เหมือนมรกตวิเชียรแกมนิล | เรายินดีนักเป็นพ้นใจ ฯ |
ฯ ร่าย ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พาณิชกราบทูลเฉลยไข |
ว่านกประเสริฐเลิศไกร | ข้าได้ในกลางชลธี |
มาจับยังท้ายเภตรา | พลอดคำเดียวว่าหัสรังสี |
ครั้นจะเข้าคล้องสกุณี | ก็เดินรี่เข้ามาหาคน |
ข้าเห็นประเสริฐเพริศพราย | พรรณรายอร่ามงามขน |
จึ่งถวายพระปิ่นภูวดล | เลี้ยงเป็นมงคลพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวอุเรเซนนาถา |
ได้ฟังพาณิชทูลมา | ทราบในวิญญาณ์พระภูมี |
พลอดคำเดียวหวังว่าจะแจ้งอรรถ | ชื่อว่านกหัสรังสี |
อันในภาคพื้นธรณี | จะหาเปรียบปักษีไม่เทียมทัน |
แล้วมีพระราชบัญชา | สั่งหมู่เสนากิดาหยัน |
เร่งไปเบิกทองมาฉับพลัน | ให้ได้ถ้วนพันตำลึงมี |
มะระงิดภักดีมีความชอบ | เราจะตอบให้สมควรที่ |
อีกทั้งเสื้อผ้าอย่างดี | เอามาบัดนี้อย่าช้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีรับสั่งใส่เกศา |
ออกจากพระโรงรจนา | ไปเบิกทองมาทันใด |
อีกทั้งเสื้อผ้าแพรพรรณ | ครบทุกสิ่งสรรพ์ไม่ช้าได้ |
ครั้นเสร็จก็ขนเข้าไป | ประทานให้พาณิชฉับพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มะระงิดใจหาญชาญขยัน |
ก้มเกล้าถวายอภิวันท์ | ได้ประทานทองนั้นก็ดีใจ |
อีกทั้งผ้าผ่อนแพรพรรณ | เลือกสรรตามชอบอัชฌาศัย |
ถวายบังคมลาคลาไคล | พากันลงไปยังเภตรา ฯ |
ฯ เชิด ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมภพอุเรเซนนาถา |
จึ่งให้ยกกรงสกุณา | เข้ามายังปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสถิตเหนืออาสน์ | ตรัสแก่อัครราชมเหสี |
พี่ได้สุบรรณสกุณี | ไม่มีสิ่งเทียบเปรียบปาน |
มะระงิดพาณิชเอามา | เรียกว่าหัสรังเรืองฉาน |
ขนดั่งนพรัตน์ชัชวาล | งามปานเพียงเทพนิรมิต |
จะหาไหนไม่เหมือนปักษา | ชะรอยมาแต่ชั้นดุสิต |
เจ้าจงแลเล็งเพ่งพิศ | งามวิจิตรกว่านกในโลกา ฯ |
ฯ ร่าย ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีมีวาจา |
............................ | งามกระไรนักหนาเจ้าแม่เอ๋ย |
............................ | พิศดูไม่รู้อิ่มเลย |
............................[๑] | ยังไม่เคยพบเห็นเช่นนี้ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวอุเรเซนเรืองศรี |
จึ่งมีพระราชวาที | ยังกำนัลนารีฉับพลัน |
ไปหาธิดาดวงสวาดิ | มายังปรางค์มาศฉายฉัน |
เราจะให้เชยชมสุบรรณ | กำนัลเร่งไปอย่าได้ช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้รับสั่งใส่เกศา |
บังคมแล้วคลานออกมา | ลงจากมหาปราสาทไชย ฯ |
ฯ ชม ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงตำหนักพระบุตรี | นบนิ้วชุลีบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระปิ่นภพไตร | ให้เชิญเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ร่าย ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มนิ่มเนื้อนวลศรี |
ได้ฟังกำนัลพาที | เทวีเสด็จคลาไคล ฯ |
ฯ เพลง ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอัญชุลี | พระบิตุเรศชนนีเป็นใหญ่ |
แลเห็นปักษีก็ดีใจ | ทรามวัยพิศวาสเป็นพ้นนัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวอุเรเซนทรงศักดิ์ |
จึ่งตรัสแก่บุตรีมีลักษณ์ | พ่อจักให้เจ้าไปเลี้ยงไว้ |
นามชื่อนกหัสรังสี | ในพื้นธรณีไม่หาได้ |
ดีกว่าปักษาในแดนไตร | เจ้าเลี้ยงไว้อย่าให้อนาทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางประวะลิ่มดวงสมร |
รับสั่งสมเด็จพระบิดร | บังอรชื่นชมยินดี |
มีความพิศวาสเป็นนักหนา | ในปักษาหัสรังเรืองศรี |
เชยชมสกุณาแล้วพาที | พ่อพลอดด้วยชนนีบ้างเป็นไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หัสรังได้ฟังแถลงไข |
มีความพิศวาสนางทรามวัย | พลอดตอบคำไปทันที |
ลูกนี้ไม่มีที่พึ่งพา | ขอฝากชีวารังสี |
พระบิตุรงค์แลองค์ชนนี | ได้ฟังปักษีก็ปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประวะลิ่มเฉิดโฉมเสนหา |
ก้มเกล้าถวายบังคมลา | ให้ยกกรงสกุณาคลาไคล ฯ |
ฯ เพลง ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปรางค์รัตนมณี | จึ่งสั่งพี่เลี้ยงผู้ใหญ่ |
ให้ทำกรงสุวรรณอำไพ | จงเร่งรัดเร็วไวอย่าได้ช้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพระพี่เลี้ยงสันหยา |
รับสั่งพระราชธิดา | มาให้ช่างทำกรงสกุณี ฯ |
ฯ เจรจา ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายช่างรับคำนางสาวศรี |
ทำกรงสุวรรณทันที | ประดับด้วยมณีพรรณราย |
เนาวรัตน์กุดั่นสุวรรณมาศ | งามสะอาดประเสริฐเฉิดฉาย |
บานแกลบังอวจลวดลาย | แล้วเสร็จไปถวายพระบุตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สันหยาพี่เลี้ยงนางโฉมศรี |
รับกรงสุวรรณมาทันที | มาถวายพระบุตรีทันใด |
ตั้งไว้ข้างที่พระบรรทม | เชยชมฟูมฟักด้วยรักใคร่ |
สกุณาเข้านอกออกใน | เผยไว้ไม่ปิดกรงทอง |
พลอดเล่นเจรจาพาที | กับหมู่สาวศรีที่ในห้อง |
ลางนางบ้างจับรับรอง | ต่างสอนให้พาทีทุกนิรันดร์ ฯ |
ฯ ยานี ๖ คำ ฯ