๑๓
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท่านท้าวปะรังศรี |
เสวยราชสมบัติเปรมปรีดิ์ | ในบูรีอุรังฆารกรุงไกร |
ประกอบด้วยเดชาวราฤทธิ์ | ทุกทิศคร้ามครั่นหวั่นไหว |
ม้ารถคชพลสกลไกร | ไพร่ฟ้ามิได้อนาทร |
โฉมยงองค์พระมเหสี | ชื่อสร้อยสุนีดวงสมร |
พระสนมดั่งดารากร | งามดั่งอัปสรในเมืองอินทร์ |
มีพระบุตรีศรีสวาดิ | ชื่อเยาวราชบุษหรีโฉมฉิน |
อรชรอ้อนแอ้นดั่งกินริน | พระภูมินทร์พิศวาสเพียงขาดใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นปฐมยามราตรี | พระเข้าที่ไสยาสน์พิสมัย |
บรรทมหลับนิ่งนิทราไป | ภูวไนยเธอทรงสุบิน |
ว่าได้นกหัสรังสี | งามลํ้าสกุณีในไพรสิณฑ์ |
ในเศียรมีวิเชียรมณีนิล | ทั่วทวีปแดนดินไม่เปรียบปาน |
ใครได้ดวงมณีศรีสวัสดิ์ | จะเป็นจักรพรรดิมหาศาล |
เหาะเหินเดินบนมัฆวาน | ไม่มีใครจะต้านทานฤทธิไกร |
กระษัตริย์ใดรุ่งเรืองศักดา | เที่ยวเสาะแสวงหาเห็นจะได้ |
ยังอยู่กลางดงพงไพร | ภูวไนยตื่นขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เวรามาเข้าดลจิต | คิดจะใคร่ได้ปักษี |
สรงพักตร์แล้วเสด็จจรลี | ออกยังที่พระโรงรัตนา[๑] ฯ |
ฯ เสมอ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมด้วยเสนาพฤฒามาตย์ | ราชครูประโรหิตพร้อมหน้า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่แสนเสนาทั้งปวงไป |
คืนนี้เราเข้าที่ไสยา | ในเมื่อเพลาประจุสมัย |
ทรงสุบินหลากนักประจักษ์ใจ | ว่าได้หัสรังสกุณา |
เรืองฤทธิ์เดชาอานุภาพ | อาจจะปราบประจามิตรทุกทิศา |
บัดนี้อยู่ในพนาวา | ผู้ใดจะอาสาเราไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนามาตยาน้อยใหญ่ |
จึ่งกราบทูลพระองค์ผู้ทรงไชย | อย่าร้อนฤทัยพระทรงธรรม์ |
จะให้พรานป่าพนาลัย | เที่ยวค้นไปในป่าพนาสัณฑ์ |
เห็นจะได้พบนกสำคัญ | แม่นมั่นดั่งพระทัยจินดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวปะรังได้ฟังหรรษา |
จึ่งพระราชบัญชา | ให้หาพรานป่ามาฉับไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กิดาหยันบังคมประณมไหว้ |
คลานออกจากท้องพระโรงไชย | มาสั่งตำรวจในฉับพลัน |
รับสั่งให้หาพรานป่า | เร่งรีบเข้ามาขมีขมัน |
ยังเสด็จอยู่ท้องพระโรงคัล | ให้ทันเพลาวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำรวจในแจ้งใจถ้วนถี่ |
เผ่นขึ้นหลังอาชาทันที | ตีม้าควบขับหนักไป ฯ |
ฯ เชิด ๒ คำ ฯ
๏ มาเอยมาถึง | ที่บ้านพรานป่าอาศัย |
ตำรวจจึ่งร้องบอกไป | รับสั่งให้หาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพวกพรานป่าพนาศรี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | ต่างรีบจรลีทันใด |
ตำรวจเร่งรัดให้เดินมา | เข้าในทวาราใหญ่ |
ยังเสด็จอยู่ท้องพระโรงไชย | พรานคลานเข้าไปมิได้ช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวปะรังแลเห็นหรรษา |
จึงมีพระราชบัญชา | ว่าไปแก่นายพรานไพร |
เอ็งจงเที่ยวเสาะแสวงหา | ปักษามาให้จงได้ |
นามชื่อหัสรังศรีใส | อยู่ในแดนดงพงพี |
เลิศล้ำสกุณีในไพรวัน | ขนนั้นพันอย่างต่างสี |
ในเศียรนั้นมีจินดาดี | ทรงอิทธิฤทธีมหึมา |
แม้นสมดั่งจิตเราคิดปอง | จะรางวัลเงินทองเสื้อผ้า |
จงช่วยกันรีบไคลคลา | อย่าช้าเร่งรัดบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มะยุหงัดรับสั่งใส่เกศี |
ก้มเกล้ากราบงามลงสามที | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ เจรจา ๒ คำ ฯ
๏ ต่างคนต่างแยกกันไคลคลา | ไปตามมรคาพนาสัณฑ์ |
บ้างถือธนูเกาทัณฑ์ | ปืนสั้นนกคาบศิลา |
แต่นายมะยุหงัดพรานไพร | กับบ่าวเที่ยวไปที่ในป่า |
ดั้นดัดลัดไปในหิมวา | เสาะแสวงหานกทุกตำบล |
แยกกันเที่ยวไปทั้งเรือบก | ที่รกที่แจ้งทุกแห่งหน |
แลไปเห็นม้ากับคน | นอนอยู่ใต้ต้นพระไทรทอง |
นายพรานมะยุหงัดจึ่งขัดปืน | มิให้เครงครื้นค่อยยอบย่อง |
แอบแฝงซุ้มพุ่มไม้มอง | เอะเจ้าไทรทองหรือเทวัญ |
หรือองค์อสัญแดหวา | ลงมาแต่ชั้นกระยาหงัน |
หรือจะว่าอำพนคนธรรพ์ | ทรงเครื่องพรายพรรณทั้งกายา |
นั่นอะไรที่อยู่ในกรงแก้ว | แล้วจะเป็นหัสรังปักษา |
ซึ่งพระองค์ทรงถวิลจินดา | ให้เที่ยวแสวงหาที่ในดง |
พรานป่าร่าเริงบันเทิงใจ | ทีนี้จะได้ดั่งประสงค์ |
ลูกเมียจะได้ดีเป็นมั่นคง | กูจะลักเอากรงนกไป |
ฆ่าเจ้าของเสียให้ม้วยมรณ์ | จะได้ทั้งอัสดรเครื่องทรงใส่ |
คิดสรรพประทับปืนไว้ | เผอิญให้ประหวั่นพรั่นกลัว |
ตัวสั่นมือสั่นครั่นคร้าม | เข็ดขามสยองพองหัว |
เวียนด้อมมองหมอบอยู่รอบตัว | คิดกลัวไปเองไม่อาจใจ ฯ |
ฯ ร่าย ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันรัศมีศรีใส |
ประทมอยู่ใต้ร่มไทร | ภูวไนยพลิกฟื้นกาย |
แลเห็นพรานป่ามาด้อมมอง | พวกพ้องแอบแฝงอยู่มากมาย |
จึ่งมีพจนารถภิปราย | บ่าวนายเอ็งไปไหนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พรานตระหนกตกใจเป็นหนักหนา |
ตัวสั่นกราบลงกับบาทา | ข้ามาแต่อุรังเที่ยวตะรัน |
ครั้นเห็นพระองค์ก็สงสัย | เสด็จมาอยู่ในไพรสัณฑ์ |
อะไรอยู่ในกรงนั้น | ทรงธรรม์จงบอกให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ เจรจา ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันเฉิดโฉมพิสมัย |
ได้ฟังพรานป่าพนาลัย | ภูวไนยจึ่งตอบวาจา |
เราชื่อยุขันเรืองฤทธิ์ | หน่อท้าวอุรังยิดนาถา |
ไปเมืองอุเรเซนกลับมา | หลงลืมมรคาพนาลี |
ที่ในกรงนั้นสกุณา | ชื่อว่านกหัสรังสี |
จะขอถามบรรดาที่มานี้ | บูรีอุรังยิดอยู่ทิศใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พรานป่ายินดีจะมีไหน |
จึ่งตริตรึกนึกในใจ | กูหลายคนจะชิงเอาสกุณี |
แล้วคิดครั่นคร้ามหวั่นไหว | เกลือกมิได้จะม้วยเป็นผี |
อย่าเลยจะลวงภูมี | เข้าไปธานีพระเวียงไชย |
ให้อยู่ในสวนอุทยาน | อย่าให้ภูบาลสงสัย |
แล้วจะไปทูลปิ่นภพไตร | ให้ยกนิกรโยธา |
ออกมาช่วงชิงเอานกไว้ | ก็จะได้ดั่งใจปรารถนา |
คิดแล้วจึ่งทูลพระราชา | ว่ากรุงอุรังยิดพระบูรี |
อยู่ยังเบื้องบุรพ์ทิศา | ไปมาถึงกันพระโฉมศรี |
องค์ท้าวปะรังธิบดี | มีราชบุตรีดั่งดวงจันทร์ |
เจ็ดวันมาชมสวนศรี | พรุ่งนี้นางจะมาสัตตาหมัน |
ทรงโฉมประโลมวิไลวรรณ | พระทรงธรรม์อย่าเพ่อจรลี |
คอยชมพระราชธิดา | เมื่อจะออกมาเล่นสวนศรี |
อันกรุงอุรังฆารธานี | กับบูรีอุรังยิดไม่ไกลกัน |
ขอเชิญเสด็จคลาไคล | เข้าไปอาศัยในสวนขวัญ |
ให้สบายพระทัยสักสามวัน | จึ่งจะพาทรงธรรม์คลาไคล |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันรัศมีศรีใส |
ได้ฟังมะยุหงัดพรานไพร | ภูวไนยสำคัญว่าจริงจัง |
เผอิญให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล | เพราะกรรมทำไว้แต่หนหลัง |
จะได้ร้อนรนพ้นกำลัง | คลุ้มคลั่งด้วยราคะรุมรึง |
ยิ้มเยื้อนแล้วว่ากับพี่พราน | อุทยานเมื่อไรจะไปถึง |
อยากยลพักตราสักหน่อยหนึ่ง | สักเมื่อไรจะได้ถึงพระบูรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายพรานประณตบทศรี |
จึ่งทูลไปพลันทันที | ข้าจะนำภูมีเข้าไป |
สักหน่อยก็จะถึงอุทยาน | ผลไม้ตระการงามไสว |
เชิญพระองค์เสด็จคลาไคล | ไม่ช้าจะถึงพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันฤทธิรงค์ทรงศร |
ได้ฟังพรานป่าพนาจร | ภูธรเสด็จขึ้นอาชา |
พรานป่านำมรคาลัย | ดั้นดัดลัดไพรปรึกษา |
พอสายบ่ายแสงสุริยา | มาถึงสวนขวัญทันใด |
มะยุหงัดจึ่งทูลพระผ่านฟ้า | ให้เสด็จเข้ามาอาศัย |
จึ่งปล่อยมิ่งม้าอาชาไว้ | ให้กินหญ้าอยู่ในสวนนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันผู้เฉิดโฉมศรี |
จึ่งเสด็จลงจากพาชี | ภูมีลูบหลังอัสดร |
เราจะหยุดพักสักราตรี | พาชีจงอยู่ที่นี่ก่อน |
แล้วจึ่งจะไปพระนคร | จงจรไปกินหญ้าให้สำราญใจ |
สั่งแล้วยุรยาตรคลาดคลา | พรานป่านำมาที่อาศัย |
พระหิ้วสกุณาคลาไคล | ทรงกฤชศรไชยเสด็จมา |
ขึ้นยังตำหนักที่ในสวน | รัญจวนคิดถึงขนิษฐา |
เหมือนอย่างประวะลิ่มที่กล่าวมา | ผ่านฟ้านิ่งคะนึงตะลึงไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พรานป่าทูลแจ้งแถลงไข |
เพลาอัสดงลงไรไร | จะใกล้เข้าสนธยาราตรี |
จึ่งทูลลาองค์ทรงไชย | กลับไปเคหากระเษมศรี |
จงสำราญพระทัยเปรมปรีดิ์ | พรุ่งนี้จึ่งจะกลับมา |
ข้าจะอาสาองค์พระทรงศักดิ์ | จะอุบายย้ายยักให้หนักหนา |
เมื่อนางมาชมสวนมาลา | พระจะได้ทัศนาแจ่มจันทร์ |
แม้นพระจะได้เห็นนางโฉมตรู | จะไม่ทันขอสู่ตุนาหงัน |
เห็นดีก็จะรี่เข้าหากัน | แต่อย่าให้โทษทัณฑ์ถึงเฒ่าพราน |
ว่าแล้วถวายบังคมคัล | ออกจากสวนขวัญกระเษมสานต์ |
ตรงเข้าวังในมิทันนาน | นายพรานถึงท้องพระโรงไชย ฯ |
ฯ ร่าย ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีเป็นใหญ่ |
พระมิได้สำราญรำคาญใจ | ตรึกไปอยากได้สกุณี |
ไม่เป็นสรงเป็นเสวยโภชนา | ให้รำลึกตรึกตราถึงปักษี |
แต่คอยพรานป่าผู้ภักดี | เป็นหลายราตรีทิวาวัน |
พระเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกพระโรงรจนาเฉิดฉัน |
พร้อมหมู่มนตรีครามครัน | แน่นนันต์เกลื่อนกลาดดาษดา |
พอแลไปเห็นพรานไพร | พระเปรมใจใสโสมนัสา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ปราศรัยไถ่ถามทันใจ |
ตัวท่านไปหาสกุณา | ได้มาฤๅว่าเป็นไฉน |
เรานับวันท่าเห็นช้าไป | ได้การฤๅไม่จงบอกมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มะยุหงัดบังคมเหนือเกศา |
จึ่งทูลสนองพระบัญชา | ข้าเที่ยวสัญจรในดอนดง |
ได้พบสกุณาปักษา | ดั่งพระองค์นั้นมาต้องประสงค์ |
ของหน่ออุรังยิดฤทธิรงค์ | อยู่ในแดนดงพงพี |
ข้าบาทล่อลวงพระองค์มา | ให้อยู่ในอุทยานสวนศรี |
หัสรังนั้นงามพันทวี | ภูมีไม่วางห่างไกล |
ข้าน้อยแกล้งอุบายย้ายยัก | จะลอบลักเอานกนั้นไม่ได้ |
ด้วยพระองค์ทรงอิทธิฤทธิ์ไกร | ภูวไนยจงทราบบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีนาถา |
ฟังนายพรานไพรทูลมา | ดั่งได้ฟากฟ้าอมรินทร์ |
ทีนี้สำเร็จบรมจักร | จะหักสี่ทวีปได้สิ้น |
อันในพิภพแดนดิน | จะดูหมิ่นเราได้นั้นไม่มี |
คิดแล้วจึ่งมีวาจา | แก่มหาเสนาทั้งสี่ |
จงเร่งจัดหาคนดี | ที่มีฝีมือเชี่ยวชาญ |
ทั้งสะกดสะดมคาถา | วิทยาสามารถอาจหาญ |
เหล่าฉกรรจ์สันทัดอาชาชาญ | ประมาณให้ได้สี่สิบม้า |
เราจะไปแต่ย่ำราตรี | จงกำชับเสนีพร้อมหน้า |
อย่าให้เสือกสนไปมา | กิจจาจะแพร่งพรายไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุปิหลันรับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาจากท้องพระโรงไชย | จึ่งให้เร่งรัดจัดกัน ฯ |
ฯ เจรจา ๒ คำ ฯ
๏ ได้ทหารอาสา | พร้อมสี่สิบม้าแข็งขัน |
ทั้งวิทยาอาคมครบครัน | เสร็จแล้วจรจรัลเข้ามา |
ครั้นถึงจึ่งกราบบังคมทูล | นเรนทรสูรปิ่นภพนาถา |
ตรวจเตรียมพหลโยธา | พร้อมตามบัญชาพระภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีเป็นใหญ่ |
ได้ฟังมหาเสนาใน | มีพระทัยชื่นชมยินดี |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสรัศมี |
พระกรจับกฤชฤทธี | ภูมีเสด็จขึ้นอาชา |
พรั่งพร้อมจัตุรงค์ทวยหาญ | พรานนำเข้าในพฤกษา |
เลี้ยวลัดตัดดงตรงมา | แต่ในเพลาราตรี ฯ |
ฯ กราว ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสวนพลันทันใด | ภูวไนยปรีดิ์เปรมกระเษมศรี |
หยุดประทับยับยั้งโยธี | พรานพาภูมีเสด็จไป |
เข้าใกล้เดินย่องมองดู | พระกุมารนอนอยู่ที่ตรงไหน |
ครั้นแลเห็นองค์พระทรงไชย | ถอยหลังออกไปมิทันนาน |
แล้วมีพระบัญชาไป | แก่พรานผู้ใหญ่ใจหาญ |
จงเร่งเข้าไปดูอาการ | แม้นกุมารสนิทนิทรา |
จงเร่งรีบกลับมาฉับไว | กูจะใช้เสนีอันแกล้วกล้า |
เข้าลอบลักสกุณา | ทั้งกฤชศรมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มะยุหงัดรับสั่งใส่เกศี |
ทูลลาพระองค์ทรงธรณี | เข้ามายังที่อุทยาน |
ล่วงเข้าปฐมราตรี | สงัดเสียงสกุณีขันขาน |
แอบดูอยู่ที่พระทวาร | เห็นภูบาลแล้วถอยไปหยุดยั้ง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันหวั่นใจพระทัยหวัง |
บรรทมแท่นรัตน์บัลลังก์ | ฟังเสียงนกในอุทยาน |
บ้างเข้ารังร้องคลอแคล | เซ็งแซ่ให้ประหวั่นเสียงหวาน |
เรไรแทรกเสียงสกุณนาน | ดั่งเสียงซอประสานเรื่อยรับ |
ยิ่งนั่งยิ่งให้ไม่เสบย | นิจจาเอ๋ยไหนเลยจะนอนหลับ |
เสียงดุเหว่าร้องแว่วใจวับ | บ้างกระหยับปีกบินโบกโบย |
จักจั่นร้องแจ้วจะเจื่อยจ้าน | หมู่วิหคหงส์ห่านหวนโหย |
ดอกพะยอมเหยเปรยโปรย | ร่วงโรยรื่นรสเรณู |
สารภีพิกุลกาหลง | หอมส่งกลิ่นรสปรากฏอยู่ |
ผลิดอกออกช่อตามฤดู | แมลงภู่รู้รสชมเชย |
ใบผลัดดอกช่อเกสร | ยังไม่วายอาวรณ์อกเอ๋ย |
วิตกถึงประวะลิ่มไม่ลืมเลย | ได้เสบยเชยสไบที่ได้มา |
ทรงลูบจูบชมบรมสุข | ค่อยสบายคลายทุกข์ถวิลหา |
หอมหวนยวนยินกลิ่นมณฑา | กรก่ายพักตราเข้าจาบัลย์ |
ให้สะท้อนถอนใจไหวหวาด | ผิดประหลาดพลางให้ไหวหวั่น |
จวนจะใกล้รุ่งแสงพระสุริย์ฉัน | อัศจรรย์ให้ประจักษ์หนักใจ |
ระวังองค์ทรงกฤชติดกร | เอนองค์ลงนอนไม่หลับไหล |
ด้วยเวรามาซัดวิบัติไป | ภูวไนยม่อยหลับลงทันที ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายพรานชำนาญพนาศรี |
เห็นพระองค์ผู้ทรงฤทธี | มิได้หลับสนิทนิทรา |
จะนิ่งอยู่ฉะนี้ก็มิได้ | จำจะไปทูลพระบรมนาถา |
คิดแล้วมะยุหงัดก็กลับมา | ทูลพระราชาให้แจ้งใจ |
ว่ายุขันผู้มีฤทธิรงค์ | จะบรรทมหลับลงก็หาไม่ |
พระกรนั้นกุมกฤชกับศรไชย | กรงสกุณานั้นไว้ไม่เคลื่อนคลา ฯ |
ฯ ร่าย ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีรุ่งฟ้า |
ได้ฟังพรานไพรทูลมา | พระถวิลจินดาในพระทัย |
อันกุมารนี้มีฤทธิ์นัก | จึ่งหาญหักเอานกมาได้ |
เราก็เป็นกระษัตริย์อันชาญชัย | จำจะแก้ไขเอาด้วยความคิด |
ถึงจะเป็นหน่อเนื้อเชื้อบุญ | ก็ยังเป็นเด็กรุ่นกระจิริด |
จะรบราฆ่าฟันกันด้วยฤทธิ์ | ไพร่พลก็ไม่มีติดมา |
ที่ไหนจะสู้เราได้ | เสมือนไข่กระทบแผ่นผา |
ป่วยการเสียเปล่าไม่เข้ายา | จะเอาแต่สกุณาไป |
แล้วจะเก็บเอาเครื่องสัตรา | อีกทั้งอาชาก็จะได้ |
คิดแล้วจึ่งมีบัญชาไป | แก่เสนาในทั้งปวงพลัน |
เราจะไปจับเอาตัวมา | ฆ่าเสียให้ม้วยอาสัญ |
ที่ไหนจะต้านทานทัน | มันมาคนเดียวจะสู้ใคร |
แต่ว่ากิตติศัพท์จะเฟื่องฟุ้ง | ถึงกรุงอุรังยิดเป็นใหญ่ |
เกลือกว่าจะเกิดยุ่งยิ่งชิงชัย | ไพร่ฟ้าจะได้ความเดือดร้อน |
จะใกล้รุ่งขึ้นแล้วนะเสนา | อย่าช้าเร่งคิดผันผ่อน |
เห็นมันทรงกฤชฤทธิรอน | แม้นนอนหลับไปจะได้ที |
เกรียวกรูจู่โจมเข้าจับมัด | ชิงเอานกหัสรังสี |
ทั้งศรกฤชอันเรืองฤทธี | มาให้กูนี้เร็วไว |
ถ้าแม้นมันสู้รบกับเรา | สูเจ้าฆ่าเสียให้ตักษัย |
ได้นกโดยดีก็แล้วไป | อย่าให้ชีวิตมรณา ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุปิหลันว่องไวใจกล้า |
รับสั่งแล้วบังคมลา | ออกมาลอบสั่งกันงุบงิบ ฯ |
ฯ เจรจา ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เหล่าทหารตัวดีสี่สิบ |
รับสั่งแล้วคอยกระซิบ | ย่องกริบเข้าไปมิให้รู้ |
พอพระกุมารเธอหลับ | ทรงกฤชนั้นติดพระกรอยู่ |
สุปิหลันคอยย่องมองดู | ยืนพร้อมล้อมอยู่แต่ไกล |
จะหลับไหลแล้วฤๅว่ายัง | เหลียวหลังนัดเหล่าบ่าวไพร่ |
ได้ทีโห่เกรียวเข้าไป | ล้อมไล่หน้าหลังพรั่งพรู |
บ้างจับกรชิงศรกระชากกฤช | เข้าประชิดโจมตีต่อสู้ |
เหล่าทหารแอบนิ่งวิ่งกรู | จู่ลู่เข้าจับเอาอาวุธ |
มี่ฉาวเข้าชิงสกุณี | รบรอต่อตีอุตลุด |
ยุขันไม่ท้อต่อยุทธ์ | รับจนอาวุธหลุดมือไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันปิ่มเลือดตาไหล |
จะต่อตีไพรีก็จนใจ | ไม่มีอันจะยงยุทธ์ |
แต่กำลังพระองค์มือเปล่า | เข้ากลุ้มรุมปล้ำอุตลุด |
พระเอียงด้วยกำลังฤทธีรุด | บ้างแตกหักชำรุดหมอบไป |
เหล่าทหารมากมายหลายมือ | จับถือมิให้เลี้ยวตัวได้ |
เข้ากลุ้มรุมจับจนอ่อนใจ | ภูวไนยเซองค์ลงทันที |
เหล่าทหารเข้าจับพระองค์ได้ | ตีไม่ปราศรัยดั่งสรรพศรี |
ล้มกลิ้งนิ่งไปไม่พาที | รังสีร้องขอเพียงมรณา ฯ |
ฯ โอด ช้า ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันพรั่นใจเป็นหนักหนา |
งวยงงมึนไปทั้งกายา | ครั้นว่าเขารัดมัดมือ |
จึ่งถามว่าท่านมาจับเรา | ประสงค์จะเอาสิ่งใดหรือ |
เราจะให้ตามประสงค์จงวางมือ | นี้ชาวป่าหรือชาวเวียงไชย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทหารขบฟันหมั่นไส้ |
กูเป็นทหารชาญชัย | จะเอาตัวไปถวายพระทรงยศ |
เหตุไรขึ้นร่วมแท่นศิลา | ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นกระบถ |
ว่าพลางทหารไม่เงือดงด | รุมกันพาบทจรมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยุขันทุกข์ใจเป็นหนักหนา |
อนิจจากูหลงตรงเข้ามา | แพ้รู้พรานป่าน่าเจ็บใจ |
เป็นคนสักแต่ว่าคน | ไม่รู้กลไอ้พรานมันลวงได้ |
ได้ข่าวสตรีก็ดีใจ | ตามมันมาได้ไม่ยั้งคิด |
ผิดท่วงผิดทีที่จะหลง | ไม่เห็นรูปเห็นทรงแต่สักนิด |
สตรีเอ๋ยพ้นที่จะคิด | แต่ข่าวกล่าวก็ปลิดชีวิตกัน |
ชั่วเองไม่ฟังสั่งสอน | คำท่านแต่ก่อนกล่าวมั่น |
อย่าใหลหลงด้วยกลสี่อัน | นั่นคือรูปวาจากลิ่นรส |
ทั้งดุริยางค์แลดนตรี | สี่อย่างท่านห้ามขาดหมด |
ครั้งนี้กูมาเสียยศ | เพราะฟังคำรสวาจา |
ความนี้ควรเป็นธรรมเนียมไว้ | สอนใจบุรุษไปภายหน้า |
อย่างวยงงหลงด้วยมารยา | ดังว่าไว้นี้ทั้งสี่อัน |
อย่าได้ฟังคำคนกลสัตย์ซื่อ | เหมือนเราปลายมือได้โศกศัลย์ |
โอ้กูอยู่ไยให้เขาฟัน | มาจะกลั้นใจเสียให้บรรลัย ฯ |
ฯ ช้า ร่าย ๑๔ คำ ฯ
๏ ท่านท้าวปะรังศรีมีพจนา | สั่งว่าอย่าให้ตักษัย |
เอาไปทิ้งเสียที่ในไพร | เร่งเร็วแต่ในบัดนี้ |
ครั้นสั่งเสนาเสร็จสรรพ | ทรงอาชากลับเข้ากรุงศรี |
ได้ทั้งมิ่งม้าพาชี | สกุณีสมคิดทรงธรรม์ |
เสนีที่รับบัญชาไท | ชวนกันไปส่งองค์ยุขัน |
เดินพลางทางสะกิดคิดกัน | ตัวสั่นครั่นคร้ามขามกลัว |
ผลักลงให้ตายในนที | เห็นว่าจะดีมิใช่ชั่ว |
จะปล่อยไปเล่าเราก็กลัว | จับตัวเราได้มิเป็นการ |
ด้วยองค์โฉมศรีมีบุญหนัก | ทรงศักดิ์ฤทธิไกรใจหาญ |
ชวนกันฆ่าเสียให้วายปราณ | ทุ่มทิ้งกุมารลงนที |
สุดแต่ให้สูญเสียได้ | รอดไปจะม้วยเป็นผี |
ถึงนอกรับสั่งไปนี้ | อันสูญไปดีไม่เป็นไร |
คิดกันฉับพลันก็มาถึง | ตะลึงอยู่มิใคร่จะทำได้ |
จะให้กลัวด้วยบุญพระภูวไนย | ครั้นทำไม่ได้จะเสียที |
คิดพร้อมใจพรั่นชวนกันเข้า | ผลักเจ้าลงน้ำแล้วแล่นหนี |
ไม่เหลียวหลังดูพระภูมี | ชวนกันรีบรี่ตะบึงไป |
ล้มแล้วลุกขึ้นวิ่งเย่าเย่า | หนามในทำเนาหาเจ็บไม่ |
ต่างคนต่างพรัดกันไป | บัดใจมาถึงวังพลัน ฯ |
ฯ เชิด ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีเฉิดฉัน |
เสด็จมาถึงท้องพระโรงพลัน | พอสุริยันส่องฟ้าธาตรี |
เสด็จนั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ | ตรัสแก่พรานป่าพนาศรี |
แล้วประทานเงินทองมากมี | เสื้อผ้ากำมะหยี่ครบครัน |
อีกโคกระบือช้างม้า | ทั้งข้าชายหญิงเมียขวัญ |
ส่วยสาอากรครบครัน | แล้วทรงธรรม์ก็เสด็จเข้าไป ฯ |
ฯ เสมอ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ยกกรงสกุณา | มายังปราสาทศรีใส |
พร้อมแสนสุรางค์นางใน | ทั้งประไหมสุหรีเยาวมาลย์ |
แล้วพระจึ่งกล่าววาที | แก่สร้อยสุนียอดสงสาร |
พี่ได้สมบัติมัฆวาน | ใครจะต้านทานได้ก็ไม่มี |
นี่คือมณีจักรพรรดิ | ชื่อว่านกหัสรังสี |
ในเศียรสกุณาจินดามี | ฤทธีประเสริฐเลิศไกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสร้อยสุนีศรีใส |
ทั้งนางสนมกรมใน | เข้าไปล้อมชมสกุณี |
งามประเสริฐนกในแดนไตร | ขนนั้นอำไพต่างสี |
เขียวขำอำไพรูจี | ม่วงสีโมราศิลาทอง |
ขาวเหลืองเรืองอร่ามงามนัก | ในไตรจักรไม่มีเทียมสอง |
ลางนางจะใคร่จับรับรอง | กลัวท้าวผู้รองธรณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวเจ้ากรุงปะรังศรี |
จึ่งสั่งสาวสรรทันที | จงไปหาพระบุตรีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลรับสั่งใส่เกศา |
ก้มเกล้ากราบงามสามสา | ลงมาปราสาทพระบุตรี ฯ |
ฯ ชุป ฯ
๏ ครั้นเอยครั้นถึง | นางจึ่งประณตบทศรี |
ทูลว่าพระผู้ทรงธรณี | ให้เชิญเทวีขึ้นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางบุษหรีศรีใส |
ได้ฟังสาวสรรกำนัลใน | ทรามวัยสระสรงคงคา |
ทรงเครื่องเรืองรัตน์อำไพ | เฉิดโฉมวิไลดังเลขา |
จึ่งเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | มายังปราสาทพระบิตุรงค์ ฯ |
ฯ เพลง ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนางจึ่งอัญชุลี | พระชนกชนนีสูงส่ง |
แลเห็นสกุณาอยู่ในกรง | โฉมยงเพ่งพิจารณา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวปะรังศรีนาถา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ปราศรัยธิดาดวงจันทร์ |
คืนนี้พ่อไปพนาลี | ได้หัสรังสีเฉิดฉัน |
ขนนั้นหลายอย่างต่างพรรณ | ต้องกันกับทรงพระสุบิน |
ดั่งหนึ่งดวงแก้วจักรพรรดิ | จะปราบกรุงกระษัตริย์ได้สิ้น |
ในเศียรนั้นมีมณีนิล | จะเหาะเหินวิถีได้ดั่งใจ |
เจ้าจงเชยชมสกุณา | แล้วบิดาจะฆ่าให้ตักษัย |
จักเอาวิเชียรในเศียรไซร้ | จึ่งจะได้สำเร็จดั่งจินดา ฯ |
ฯ ร่าย ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางบุษหรีเสนหา ฯ |
ได้ฟังบิตุเรศบัญชา | กัลยาจึ่งทูลสนองไป |
ลูกคิดเสียดายเป็นหนักหนา | พระบิดาจะฆ่าให้ตักษัย |
นกนี้ประเสริฐเลิศไกร | งามวิไลดั่งเทพรจนา |
พระองค์จงโปรดเกศี | ขอประทานสกุณีให้ข้า |
ลูกรักดั่งดวงชีวา | กัลยาวิงวอนพระภูวไนย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเมืองอุรังฆารเป็นใหญ่ |
ได้ฟังธิดายาใจ | ภูวไนยสำรวลไปมา |
เออกระนี้เป็นไรสายสวาดิ | ควรหรือรักราชปักษา |
ยิ่งกว่าสมบัติกษัตรา | จะเอาสกุณาไปเลี้ยงไว้ |
ครั้นพ่อจะขืนขัดนัก | ลูกรักจะทรงกันแสงไห้ |
เอาไปเลี้ยงไว้เถิดดวงใจ | เจ้าระวังระไวให้จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งโฉมนวลนางบุษหรี |
รับสั่งทรงธรรม์พระพันปี | เทวีชื่นชมภิรมย์ใจ |
นางจึ่งถวายบังคมลา | ยกกรงสกุณาศรีใส |
มาส่งให้สาวสรรกำนัลใน | เสด็จไปปราสาทนางเทวี ฯ |
ฯ เพลง ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งแท่นสุวรรณรัตน์ | เชยชมนกหัสรังสี |
ชักชวนสกุณาพาที | แม่นี้ขอถามเหตุการณ์ |
เป็นไฉนจึ่งมาถึงนี้ | หรือพรัดบูรีราชฐาน |
หรือว่ามาแต่หิมพานต์ | จึ่งถึงอุรังฆารกรุงไกร |
หรือหลงมาเที่ยวไพรสิณฑ์ | ถิ่นฐานรวงรังอยู่ไหน |
จงเล่าไปให้แม่เข้าใจ | เป็นไฉนจึ่งมาถึงบูรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนกหัสรังปักษี |
ได้ฟังนางกล่าววาที | สกุณีตริตรึกนึกใน |
ครั้นจะบอกตามจริงบัดนี้ | เทวีจะคิดสงสัย |
จึ่งทูลไปพลันทันใด | ลูกไซร้มาแต่อุเรเซน |
กับองค์สมเด็จพระบิดา | เข้าดงพงป่าแสนเข็ญ |
ถึงพระไทรสาขาเพลาเย็น | เคลิ้มสนิทนิทรา |
ตื่นขึ้นก็เห็นพรานไพร | ห้อมล้อมภูวไนยนักหนา |
ทูลองค์สมเด็จพระบิดา | ว่าเจ้าแม่จะมาอุทยาน |
พระองค์คลั่งไคล้ใหลหลง | พรานป่าพาตรงมาสู่สถาน |
พอสิ้นแสงสุริยาเพลากาล | พระภูบาลเสด็จเข้าไสยา |
ครั้นเมื่อเพลาประจุสมัย | ท้าวไทผู้ผ่านแหล่งหล้า |
ไปลักเอากรงข้ามา | ทั้งอาชาแลกฤชศิลป์ไชย |
ทูลพลางสกุณาก็โศกศัลย์ | ถึงองค์ทรงธรรม์เป็นใหญ่ |
ป่านนี้จะเป็นประการใด | หรือจะม้วยบรรลัยมรณา |
จะสร้อยเศร้าแสนศัลย์พันทวี | ถึงข้าสกุณีเป็นหนักหนา |
ลูกได้สมเด็จพระมารดา | ช่วยชีวาไว้จึ่งรอดตาย ฯ |
ฯ โอด ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์นางบุษหรีโฉมฉาย |
ได้ฟังปักษีภิปราย | บรรยายแต่ต้นจนปลายไป |
นางตริตรึกนึกในไปมา | พระบิดาควรเป็นกระนี้ได้ |
โลภหลงปลงจิตผิดไป | จะมีเหตุเภทภัยถึงบูรี |
เห็นจะเกิดรบพุ่งชิงชัย | เดือดร้อนไปทั่วทั้งกรุงศรี |
ด้วยพระองค์ผู้ทรงธรณี | ท้าวมิได้อยู่ในยุติธรรมา |
นางโลมลูบจูบชมสกุณี | อย่าโศกีเลยฟังแม่ว่า |
นางอุ้มรังสีไคลคลา | เข้าห้องไสยาบรรทมใน ฯ |
ฯ ช้า ๘ คำ ฯ
๏ ถึงห้องแล้วหับพระทวาร | รูดม่านขึ้นแท่นผ่องใส |
อุ้มนกแอบอกนางไว้ | พระทัยตริตรึกถึงราชา |
ยอกรก่ายเกยเขนยทอง | นางปองประหวัดหวนหา |
ถ้อยคำหัสรังเล่ามา | จะเป็นมารยาก็ผิดไป |
กล่าวกลอนย้อนถามสกุณี | รังสีเจ้าแม่ยังสงสัย |
พระบิดาเจ้าอยู่บูรีใด | จะไปไหนจึ่งเจ้ามา ฯ |
ฯ ร่าย ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนกหัสรังปักษา |
ได้ฟังนางถามความมา | สกุณาจึ่งทูลไปทันใด |
อันพระบิตุรงค์ของข้า | อยู่พาราอุรังยิดเป็นใหญ่ |
ทูลพลางทางทรงโศกาลัย | รํ่าไปถี่ถ้วนทุกสิ่งอัน |
สรรเสริญยกข้อยอโฉม | ให้ประโลมถึงองค์รังสรรค์ |
หัสรังช่างรู้รำพัน | ถึงพระบิดานั้นทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ได้เอยได้ฟัง | นางยิ่งคลุ้มคลั่งพิสมัย |
ทำไฉนจะได้พบพระทรงไชย | จิตใจให้ร้อนอยู่รุมรึง |
พระจะเที่ยวไปกว่าจะสุดฤทธิ์ | อุรังยิดเมื่อไรจะไปถึง |
ไม่มีเพื่อนสองน้องคำนึง | จะไปถึงบูรีนั้นเมื่อไร |
หรือยังจะอยู่ในไพรพนม | หลงชมสกุณีมิ่งไม้ |
พระเสด็จองค์เดียวเปลี่ยวใจ | ค่ำไหนจะนอนองค์เดียว |
ถ้ามิกลัวสมเด็จพระบิดา | จะให้สกุณานำไปเที่ยว |
โตรกตรอกซอกศิลาลดเลี้ยว | เที่ยวไปให้พบพระราชา |
จะเดินกระไรในไพรพนม | จะระบมบอบชํ้าหนักหนา |
จะลัดห้วยเหวเขาลำเนามา | น่าที่จะเปล่าเศร้าใจ |
แม้นน้องนี้ได้ไปเป็นเพื่อน | เดินในไพรเถื่อนหากลัวไม่ |
ให้เห็นประหนึ่งว่ามาอยู่ใกล้ | หลงใหลด้วยกลสกุณี |
คลับคล้ายประหนึ่งจะเห็นทรง | แอบองค์เคียงอยู่บนแท่นที่ |
ด้วยนางปฏิพัทธ์ยินดี | เทวีวิตกตายใจ |
ให้ฟั่นเฟือนจิตแสนทวี | บุษหรีรำพึงพิสมัย |
ประหนึ่งนางจะทรงโศกาลัย | ให้อักอ่วนครวญใคร่ไปมา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
[๑] ต้นฉบับว่า “ออกไปยังที่พระโรงไชย” แต่สัมผัสไม่ส่งตามบังคับ ในการตรวจชำระครั้งนี้จึงแก้เป็น “ออกยังที่พระโรงรัตนา”