(สำเนา) คำอธิบายการเขียนพระบท แบบที่ ๓ สำหรับวัดโชติทายการาม

กระดานต้องเขียนกรอบโดยรอบ แต่ว่ากรอบนั้นต้องให้เล็ก ๆ จะได้มีที่เขียนภาพมาก ๆ

กระดานที่จะเขียนแบบนี้ มีขนาดสูง ๖ ศอก ต้องแบ่งทำคั่นกลาง ไว้เนื้อกระดานข้างบน ๓ ศอก ๖ นิ้ว ข้างล่าง ๒ ศอก คืบ ๖ นิ้ว

ช่องบนเขียนพระเจ้ากระทำยมกปาฏิหาร ต้องไปถ่ายอย่างที่เขียนไว้ในห้องผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้านข้างใต้ แต่ในห้องนั้นเขียนปะปนกันอยู่หลายเรื่อง ต้องแบ่งตัดเอา แต่ที่ตรงยมกปาฏิหารคือที่มีพระเจ้า ๕ พระองค์ นอนนั่งยืนอยู่บนต้นมม่วง กำหนดที่ตัดนั้นด้านสูงเอาแต่เชิงห้องขึ้นไปถึงชายพื้นพระสุเมรุ ซึ่งเปนที่สุดแห่งยอดพระรัศมี ด้านกว้างพอหมดหมู่เดียรถี ซึ่งทำการแข่งฤทธิพระเจ้า การเขียนถ่ายนั้นขยายให้ใหญ่กว่าเดิมสองเท่า ก็จะเปนอันพอดีกับเนื้อที่ซึ่งมีอยูในกระดานนั้น

ช่องล่างเขียนเรื่องมโหสถตอนธรรมยุทธ ต้องไปถ่ายอย่างฝีมือนายคงแป๊ะ ซึ่งเขียนไว้ในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย เขียนขนาดเท่าต้นอย่าง ถ่ายตัดเอาแต่จำเพาะตรงหมู่เกวัตตะครุบแก้ว อย่างประหนึ่งว่าตัดรูปเขียนที่นั้นมาปิดลงบนกระดาน คือข้างด้านสูงจับแต่ปลายฉัตรมโหสถลงมาจนสุดท้าวม้าห้อ ข้างด้านกว้างจับแต่สุดห้องข้างซ้ายมือมาจนสิ้นกระดาน ได้เท่าใดก็เท่านั้นที่ว่าสุดห้องนี้ หมายความว่าสุดห้องตามรอยเดิม ไม่นับรอยที่เขียนเติมเมื่อแก้แผละน่าต่างออกไปทีหลังนั้นเข้าด้วย ในหมู่ภาพนั้นมีรูปหยาบอยู่รูปหนึ่ง คือพลฝ่ายหนึ่งหลกก้นให้สัตรู รูปนั้นเมื่อเขียนถ่ายควรแก้ให้ผ้านุ่งหลกน้อยกว่ารูปเดิม

ริมกรอบล่างต้องทำช่องอักษรจาฤกไว้ พอที่จะเขียนอักษรได้ ๒ บรรทัด.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ