คำนำ (ในการพิมพ์ครั้งแรก)

สำหรับงานพระราชกุศลในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงคราวนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะพิมพ์หนังสือแจกเหมือนอย่างที่แล้วมา จึงได้ให้ค้นหาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ยังเหลืออยู่ไม่เคยพิมพ์ กรมราชเลขาธิการค้นพบพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจดูเห็นว่าเป็นเรื่องที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธสาสนาและตำนานพระสาสนาในเมืองไทย เห็นว่าควรพิมพ์แจกในงานนี้ได้ จึงได้สั่งให้จัดพิมพ์ขึ้น พระราชวิจารณ์เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยและมีใจความสั้นก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอ่าน ทั้งแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระปรีชารอบคอบเพียงไร ทรงพยายามหาความรู้ในเรื่องทุกเรื่อง. ด้วยเหตุนี้เองพระองค์ท่านจึงต้องนับว่าเป็นอัจฉริยบุรุษ และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยอดเยี่ยมของประเทศสยาม เพราะท่านมิได้ทรงนิ่งเฉย ท่านทรงพยายามหาความรู้อยู่เสมอ. เมื่อผู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานของชาติทรงมีความรู้รอบคอบอย่างนี้ จึงเป็นโชคลาภอันประเสริฐของประเทศ. พวกเราผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ก็ควรโดยเสด็จในทางที่ชอบอันนี้ ควรพยายามเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ ให้มีความรู้กว้างขวางที่สุดที่จะเป็นได้ ย่อมเป็นประโยชน์ในการที่เราจะทำการงานของเราตามหน้าที่เสมอ.

พระราชวิจารณ์เรื่องนี้เป็นพระราชหัตถเลขา พระราชทานพระบรมราชาธิบายแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ข้าพเจ้าจึงได้ให้ทูลถามพระองค์ท่านว่า เหตุเบื้องต้นที่จะทรงพระราชวิจารณ์เรื่องนี้ขึ้นนั้นมีมาอย่างไร ข้าพเจ้าได้ให้พิมพ์ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ทรงตอบในข้อนี้ไว้ด้วยแล้ว และได้ให้พิมพ์ภาพรูป วาณี ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ด้วย ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้ที่ได้รับแจกหนังสือนี้ คงมีความพอใจทั่วกัน.

ประชาธิปก ปร.

สวนไกลกังวล หัวหิน

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

  1. ต่อมาได้เฉลิมพระยศขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ