พระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์๓๖ศก ๑๒๒

ถึง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์

ได้รับหนังสือวานนี้แล้ว ความสันนิษฐานเรื่องสาสนามาอย่างไรฉันได้เรียงขึ้นไว้เปนตัวหนังสือแล้วแต่ย่ออยู่ที่กรมขุนสมมต จะเรียกมาดู ถ้าควรจะเพิ่มเติมอันใดจะเพิ่มแล้วจะส่งไปให้ดู เรื่องนี้เปนพูดกับกรมสมมตเห็นจริงเห็นจังกันแล้ว จึงได้ไปพูดกับกรมหมื่นวชิรญาณ เมื่อลูกไปบวชเณรหลายวันจนเห็นจริงกันแล้วว่าเดิมเราถือมหายาน กรมหมื่นวชิรญาณรับจะค้นหนังสือสอบ เพราะหนังสือเรื่องมหายานท่านมีอยู่บ้างแปลส่งมาแล้วก็มี ฉันถวายไปให้เปนเครื่องประกอบก็มี

เวลาหีนยานเข้ามาในประเทศแถบเรานี้ไม่ช้านานอันใดเลย คือคราวท่านมหาสามีสังฆราชก่อนอายุหนังสือชินกาลมาลินีสักร้อยปี ชั่วพอสาสนาตั้งมั่น ท่านผู้นี้มาจากลังกา มานครศรีธรรมราชแล้วมาอยุธยาขึ้นไปสุโขทัย แล้วขึ้นไปนครลำพูน เชียงใหม่ แล้วกลับออกไปเมืองลังกา ดูเหมือนจะทางเมืองมอญ แล้วท่านองค์นั้นกลับเข้ามาเองฤๅผู้อื่นที่เปนศิษยเข้ามาอิกหนุนเนื่องกันมา แยกไปเมืองเขมรบ้าง ถ้าจะใคร่รู้เรื่องท่านสามีสังฆราชนี้ ให้ดูคัมภีร์ชินกาลมาลินี พงศาวดารเชียงแสน เชียงใหม่ พงศาวดารหริภุญชัย หนังสือทั้งหลายเหล่านี้แต่งเปนภาษามคธก่อนทั้งหมด ศิษยท่านสามีสังฆราชเปนผู้แต่ง ยังมีที่จะตรวจได้อีกคำจารึกเสาศิลาสุโขทัยที่อยู่ในวัดพระแก้ว ต้นหนึ่งเปนเรื่องท่านสามีสังฆราชเข้าไปตั้งอยู่ในสุโขทัย พระบาทกมรเดงอัด ศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราชทรงผนวชในสำนักสามีสังฆราช แต่ข้างพงศาวดารเชียงใหม่ เขาเยาะเย้ยว่าเมืองสุโขทัยนับถือไม่พอ ท่านสามีสังฆราชจึงได้ขึ้นไปเชียงใหม่ ท่านองค์นี้เอาพระธาตุมาเปนถุง ๆ เที่ยวได้บรรจุไว้เปนหลายแห่ง เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์นี้ ข้างฝรั่งเขาสอบสวนคำจารึกคะเนว่า จะเปนลูกพระร่วงคือพระเจ้าแผ่นดินที่ ๕ เวลาก็ตรงกันกับข้างเชียงใหม่ ๆ เวลาพระร่วงเขาตรงกับอาทิตยราชซึ่งขึ้นไปสร้างเมือง และคำจารึกที่วัดเชียงมั่นซึ่งจารึกภายหลังครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีกรุงศรีอยุธยาไปตีได้ ก็กล่าวท้าวถึงความต้นว่าวัดนั้นพระเจ้าอาทิตยราชและพระร่วงพร้อมกันสร้าง เพราะฉะนั้นศรีสุริยพงศนี้ทีหลังน่าจะเปนเจ้าแผ่นดินที่ ๖ ต่อแต่ศรีสุริยพงศเสียสุโขทัยแก่กรุงศรีอยุธยา

ประมาณเวลาที่ท่านสามีสังฆราชเข้ามาไม่มากกว่า ๘๐๐ ปีนักอย่างยิ่งก็ ๑๐๐๐ ปีในหนังสือที่กล่าวต่าง ๆ กัน แปลว่าเราเข้ารีดเปนหีนยานมาได้เท่านั้น เวลานั้นนครไชยศรีหมดแล้ว แต่เพ็ชรบุรีนครศรีธรรมราชมีเจ้า ได้อยู่จนถึงตกอยู่ในอำนาจพระรามาธิบดีกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ในคำจารึกวัดเชียงมั่น

ข้อซึ่งเธอคิดเห็นว่าหีนยานจะเกิดขึ้นใหม่อย่างธรรมยุตินั้นเดาผิด เรื่องของญี่ปุ่นเขาเองตั้งแต่ปฐมสังคายนามาเปนสังคายนาของพวกหีนยาน แล้วจึงตั้งโรงเรียนเปน ๘ ฤๅ ๑๖ ตำบลจำไม่สนัด มาจนถึงทุติยสังคายนา พวกโรงเรียนเหล่านั้นต่างคนต่างถือลัทธิแผกกันไป จึงได้เกิดสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้น ในครั้งนั้นฤๅใกล้ ๆ กับราวนั้น พวกที่แพ้จึงไปพบพระไตรปิฎกจารึกไว้ในถ้ำ เกิดสอนลัทธิใหม่ขึ้นเปนมหายาน พวกเก่าเปนหีนยาน เพราะเหตุว่าพวกมหายานได้ปรูฟคัมภีร์ที่เขียนไว้ในถ้ำ แต่เมื่อพุทธปรินิพพานใหม่ ๆ มีตัวหนังสือเปนหลัก

ถ้าจะคิดเทียบดูเวลาก็จะถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกพอดีกัน จึงสอบกับหนังสือเรื่องปาตลิบุตร เขากล่าวว่าเมื่อเวลาพระเจ้าศรีธรรมาโศกเปนเจ้าแผ่นดินนั้น พุทธสาสนาไม่เปนสาสนาที่สอนคนทีเดียว เพราะไม่มีผู้ใดถือนอกจากภิกษุประมาณสัก } ร้อย ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ในที่ต่าง ๆ มีอุปคุปตเปนหัวหน้าฤๅเปนผู้ใหญ่กว่าเพื่อน

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกเปนเจ้าแผ่นดินนั้นแรกอยู่ราชคฤห์ ต่อไปเที่ยวปราบปรามเมืองได้หมดแล้ว จึงยกไปอยู่ปาตลิคามยกขึ้นเปนปาตลิบุตรต้องด้วยพระพุทธทำนาย

ข้างฝ่ายหีนยานกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเข้ารีดอย่างไร เธอ คงจะได้อ่านแล้ว แต่ข้างฝ่ายมหายานเขากล่าวว่าอโศกดุร้ายนัก วันหนึ่งขับรถไปพบบ่อแห่งหนึ่ง จึงถามเสนาว่านั่นอะไร เสนาทูลว่านรกในยามะ พระเจ้าอโศกจึงถามว่าใครเปนนาย บอกว่ายามราชะ พระเจ้าอโศกว่าแต่อมนุษย์ยังมีนรกได้ ทำไมเราจึ่งจะมีได้บ้าง อำมาตย์ทูลว่าการสิ่งนั้นเปนบาป พระองค์จะหานิริยบาลไม่ได้ พระเจ้าอโศกจึงให้ป่าวร้องว่าใครจะรับเปนบ้าง ในขณะนั้นมีคนหน้าเขียวตัวเหลืองมือเท้าเปนขอ ถ้านกบินมาก็เอามือเกี่ยวตวัดไว้ เอาเท้าลงไปส่ายในน้ำเกี่ยวปลามากิน มารับอาษา อโศกจึงสั่งให้ก่อกำแพงขึ้นสี่ด้านทำประตูให้มั่นคง ในนั้นให้ขุดสระปลูกต้นไม้ดอกไม้ผลไว้ ถ้าผู้ใดล่วงเข้าไปในเขตต์ประตู ให้นายนิริยบาลผู้นั้นทำทารกรรมเช่นนรกที่แลเห็น ถึงพระองค์เองล่วงเข้าไปในนั้นก็อย่าให้ละเว้น

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง มีภิกษุไปเที่ยวบิณฑบาตเห็นต้นไม้ร่มรื่น หมายจะเข้าไปฉันเพน พอล่วงประตูเข้าไป นายนิริยบาลก็จับจะทำทารกรรม ภิกษุนั้นผัดว่าขอฉันเพนเสียก่อนแล้วจึงทำ นายนิริยบาลก็ยอม เมื่อภิกษุกำลังฉันเพนอยู่นั้นมีผู้อื่นล่วงเข้าไป นายนิริยบาลจับลงในครกโขลกจนโลหิตนั้นฟูมขึ้นมาท่วมตัว ภิกษุได้เห็นก็เกิดสังเวชสำเร็จพระอรหัตต์ในขณะฉันอยู่นั้น ครั้นเมื่อฉันแล้ว นายนิริยบาลเรียกให้ไปยังปากขุมอันเต็มด้วยเพลิง ผลักให้ตกลงไปไฟก็ดับ เกิดเปนดอกบัวรับภิกษุรูปนั้น ภิกษุก็นั่งแสดงธรรมแก่นายนิริยบาล ๆ เกิดความเลื่อมใส จึงมาทูลอโศก ๆ ไม่ยอมไป ด้วยกลัวว่านายนิริยบาลจะทำตามคำสั่งเดิม นายนิริยบาลก็ทูลยกคำปฏิญาณนั้นเสีย แล้วนำเสด็จไปได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์องค์นั้น เกิดความเลื่อมใส จึงให้ไปเที่ยวตามหาพระสงฆ์ได้อุปคุปตเปนต้นมา จึงสร้างกุกกุฏารามให้อยู่ก่อน นรกขุมนั้นที่เพลิงดับแล้ว ยังอยู่คุงเท่าบัดนี้ ลึกไม่มีอะไรโยนถึงหยั่งถึง ครั้งมาภายหลังจนถึงเวลาพวกมหมาดันมาเปนเจ้า ขุนนางผู้ใหญ่มายังต้องไปเส้นสรวงทิ้งทรัพย์สมบัติลงไปในเหวนั้น จนถึงบัดนี้เมื่อไปค้นพบราษฎรยังมีการปีมีอาหารและเบี้ยไปทิ้งปากเหวนั้นเสมอทุกปี แต่มิใช่จะรู้เรื่องว่าเป็นนรกตามที่กล่าวในพุทธสาสนา เขาถือลัทธิตามสาสนาข้างฝ่ายเชนอีกส่วนหนึ่ง นรกนี้ตั้งอยู่มุมมหาเจดีย์ ซึ่งรวมพระธาตุ ๗ ตำบลมาบรรจุข้างตวันออกเฉียงใต้ เรื่องเมืองปาตลิบุตรนอกจากกล่าวถึงเรื่องพระมีในหนังสือราชทูตกรีก และจดหมายเหตุเปนคาถาภาษาสันสกฤตเขานำมาสอบต้องกันโดยมาก

ในเวลาเมื่ออโศกเข้ารีดพุทธสาสนาครั้งนั้น มีสาสนาอื่นคือเชนเปนต้นกำลังจำเริญแพร่หลายอยู่ในประเทศเหล่านั้น อโศกก็ไม่ทำอะไรให้คงอยู่ตามเดิม คิดแต่ยกย่องพระพุทธสาสนาส่งภิกษุที่เหลืออยู่ ๕๐๐-๖๐๐ นั้น ให้แยกกันออกไปสอนสาสนาทั่วพระราชอาณาเขตต์ มีคนบวชขึ้นเปนอันมากทั่วทุกแห่ง แล้วให้ไปหาช่างกรีกที่อยู่เมืองมิตถิล (คือมิตถิลลา) ในมณฑลปัญจาปะซึ่งอโศกเคยไปเปนเจ้าเมืองเมื่อครั้งวินทุศาลผู้บิดาเปนเจ้าแผ่นดิน เพราะเจ้าแผ่นดินกรีกได้ถอยไปตั้งอยู่ในโฮลิแลน คือเมืองพวกยรุซาเลมก่อนพระเยซูเกิด แต่ครั้งจันทรคุปตซึ่งเปนพระราชบิดาวินทุศาลนั้น ให้ทำตัวอย่างและส่งไปให้สร้างพระเจดีย์ในที่ต่าง ๆ หลายพันองค์ในเมืองซึ่งได้ส่งพระไปให้สั่งสอนนั้น ครั้นเมื่อการที่จัดเช่นนี้สำเร็จแล้วจึงประกาศว่าพระพุทธสาสนาเปนสาสนาสำหรับชาติ เจ้าแผ่นดินต่อแต่อโศกมาคือกุนาลาราชบุตรถือพุทธสาสนา แล้วทศรฐ นัยหนึ่งเรียกว่าสัมประติ เปนราชนัดดาอโศก เดิมก็ถือพุทธสาสนาจนถึงสร้างพระในถ้ำและจารึกศิลาอักษรอย่างเดียวกันกับอโศก แต่ภายหลังกลับเข้ารีดเชนะ พุทธสาสนาก็เสื่อม

ในที่นี้ควรจะเล่าถึงสาสนาเชนะซึ่งยังแพร่หลายอยู่มากในอินเดีย ที่ฉันได้ไปเห็นเองแก่ตาและสนทนาต่อผู้ที่ถือสาสนานั้น ชื่อศิวประษาตร เปนครูโรงเรียนภาษาสันสกฤตของรัฐบาลอังกฤษ พูดอังกฤษได้ เขามาตีคอว่าเขาถือสาสนาเดียวกับเรา นำไปวัด ๆ นั้นลักษณเทวสถานยอดปรางค์มืด ๆ จุดตะเกียงดวงหนึ่ง มีพระพุทธรูปศิลาขาวหน้าตักศอกเศษนั่งอย่างมารวิชัย พระศกทาดำพระเนตรฝังพลอยฤๅกระจกอะไรวาว ๆ พอแลเห็นเข้าก็ตกลงจะไหว้ แต่เวลานั้นใจกำลังอินเป็นกำลัง เข้าไปมองดูว่าจะเปนอย่างไรบ้าง ไม่มีรอยห่มผ้าเกลี้ยง ๆ นึกเฉลียวใจขึ้นมาพนมแต่มือคม แล้วกลับมาสนทนากันใหม่ เกณฑ์ให้แกสวดอิติปิโส เพราะอิติปิโสนี้ ไปได้เค้าจากเมืองพะม่าที่แวะก่อน จากฝรั่งที่เขามากำกับว่าพวกที่ถือพุทธสาสนาเขาสอบกันว่าจะถือถูกกันฤๅไม่นั้น เขาให้สวดอิติปิโส ฝรั่งคนนั้นเคยเปนข้าหลวงอังกฤษไปอยู่กับเจ้าแผ่นดินพะม่า แกสอนให้สวดอิติปิโสเสียคล่องทีเดียว ครั้นตาศิวประษาตรสวดอิติปิโส มันยาวออกไปกว่าเราหลายวาเปนวิปัสสิกลาย ๆ จึงได้ไล่เลียงต่อไป แกไกล่เกลี่ยว่าพวกแกนั้นเปนคนพุทธสาสนา แต่เจ้าแผ่นดินที่เปนฮินดูไม่ชอบ จึงต้องไถลไปถือพระพุทธเจ้าที่ได้มาตรัสก่อนพระโคดม ออกชื่อถูกมาตั้งแต่กกุสันธะ เชนะนั้นอธิบายว่าคือชิน ลักษณที่บูชามีสั่นกระดึงแกว่งธูปอย่างพราหมณ์ แต่สิกขาอย่างอื่นไม่มีเวลาจะไล่เลียง ได้ความแต่ศีลห้าตรงกัน แกกลับอธิบายต่อไปว่า เสื้อที่สวมอยู่นั้น (คือเสื้ออย่างแขก) ก็เป็นข้อบังคับครั้งเจ้าแผ่นดินเปนมหมดัน ผ้าที่นุ่งปล่อยชายโจงชาย ถ้าไปในราชสำนักก็นุ่งไม่ได้ ต้องนุ่งกางเกง มีเรื่องที่ไปเห็นเองเท่านี้

ครั้นเมื่อได้อ่านหนังสือทั้งปวงเข้า ปรากฎว่าสาสนานี้มันมีมาเสียแต่ก่อนพระเจ้าอโศกยกย่องพุทธสาสนาแล้ว ในเวลาปัจจุบันนี้ ที่ฝรั่งไปพบเมืองปาตลิบุตรนั้น ได้พบวัดเชนสร้างอยู่บนโคกที่เป็นพระเจดีย์มีคำจารึก แต่เทียบดูกับคฤสตศักราชเปน ๑๗๙๑ เท่านั้น คนทั้งเมืองเดี๋ยวนี้ถือสาสนาเชน

จึงคะเนเอาว่าพระสงฆ์ที่เปน ๒ นิกายนั้น น่าจะเปนมาเสียช้านานนักหนาแล้ว มหายานคงจะหันเหียนเข้าหาเชน พวกหีนยานคงจะเสื่อมสูญหมดในอินเดียไม่ช้าเลย แต่เชื้อสายที่เข้ามาในเมืองเราทีหลังนั้น มาจากลังกา เพราะสาสนาไปถึงเมืองลังกาครั้งอโศกบำรุงพระสาสนา ซึ่งชาวลังกาถือว่าพระมหินทรเถรซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าอโศกออกไป จึงไปสอบเรื่องพระมหินทรนี้ข้างมหายานจะกล่าวว่ากระไร เขากล่าวว่ามเหนทรเปนอนุชาพระเจ้าอโศกสำเร็จพระอรหัตต์อยู่ในเขาครึธรกุฎ (คือคิชฌกุฎ) ชอบที่สงัด เจ้าแผ่นดินมีความนับถือนัก จึงอาราธนาให้มาอยู่ในที่ใกล้ พระมเหนทรไม่อยากจะรับนิมนต์ด้วยเสียดายความสงัดแห่งเขานั้น เจ้าแผ่นดินจึงตั้งเครื่องบวงสรวงพวกอมนุษย์ และว่าเวลาพรุ่งนี้ขอเชิญให้มารับเครื่องสังเวย แต่จะไม่มีเสื่อปูให้นั่ง ขอให้เอาที่นั่งของตัวมาเอง ครั้นรุ่งขึ้นพวกผีทั้งปวง จึงเอาศิลาหน้าร่าห์เปนที่นั่งมาคนละแผ่น ครั้นเลี้ยงเสร็จแล้วเจ้าแผ่นดินจึงขอให้ช่วยก่อเขาเอาศิลา ๕ แผ่นนั้นตั้งขึ้นเปนถ้ำ ในถ้ำนั้นยาวประมาณ ๓๐ คิวบิกเศษ กว้างประมาณ ๒๐ คิวบิก สูง ๑๐ คิวบิก ที่เขานี้อยู่เหนือพระราชวัง อยู่ใต้เมืองปาตลิบุตร เพราะพระราชวังอยู่นอกเมืองปาตลิบุตร ไม่มีเรื่องไปลังกา นอกจากที่ลังกาเล่า แต่สำนวนคนอังกฤษเขาเชื่อว่าจดหมายลังกาเปนความจริง เพราะนางสังฆมิตตาลูกพระเจ้าอโศกที่ว่าไปลังกาถูกเรื่องกับที่กล่าวว่าบวช ถ้าหากว่าพระมหินทรได้ไปลังกาแต่ในเวลานั้นบางทีจะยังเป็นครูหีนยานได้ เรื่องมหินทรที่กล่าวถึงถ้ำนี้ เอามาจากฟ้าเหียนเล่า เพราะประสงค์จะฟังคำพวกมหายานซึ่งเขาไม่อินเตอเรสในเมืองลังกา

บัดนี้จะกล่าวถึงเรื่องไถลของมหายานซึ่งฟ้าเหียนเล่าเรื่องมเหนทรว่าด้วยมหายาน เป็นได้ดังนี้ ว่า

ในพระนครอันมีพราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ รถสวามี เปนอาจารย์ใหญ่ฝ่ายมหายานเปนผู้บริสุทธิ์จากกิเลศ มีปัญญามาก เข้าใจสารพัด อยู่แต่ลำพังตัวด้วยความบริสุทธิ์ หามลทินมิได้ (ที่นี่มีฟุตโน๊ตว่านิ่งภาวนาอยู่) พระเจ้าแผ่นดินเมืองนี้นับถือเคารพปฏิบัติดุจอาจารย์ ถ้าเจ้าแผ่นดินจะเข้าไปสนทนาฤๅจะไปนมัสการ ก็ไม่อาจจะประทับเคียง ถ้าหากว่าด้วยความรักและความนับถือพระเจ้าแผ่นดินไปยึดมือของท่านพราหมณ์นั้น ถ้าปล่อยเมื่อใด ท่านก็หยิบน้ำมาเทล้างมือเสียทันที อายุท่านเห็นจะกว่า ๕๐ ปี ทั่วพระราชอาณาเขตต์มีความนับถือท่าน โดยอาศัยท่านผู้นี้ผู้เดียว พระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงได้รู้แพร่หลาย ผู้ซึ่งถือตามลัทธิอื่น ไม่เห็นอำนาจของตัวซึ่งจะทำอันตรายร่างกายแห่งท่านมัง (ภาษาฝรั่งแปลว่านักบวชฤๅโยคี) ผู้นี้ได้

ฟ้าเหียนกล่าวต่อไปว่า ที่ข้างโตเป (ในที่นี้เขาเรียกว่าเตาเวอภาษาฝรั่ง แต่คำโตเปนี้ ตาฟ้าเหียนแกเคยเรียกพระเจดีย์ก็เรียกมาจากสถูป) ของพระเจ้าอโศก ได้สร้างวัดมหายานใหญ่และงามมาก มีทั้งอารามหีนยานด้วย รวมด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายประมาณพระ ๖๐๐-๗๐๐ สิกขาบทและธรรมในใจกับทั้งจัดการเล่าเรียนของท่านทั้งสองพวกนี้สมควรจะชม

ซามัน (ภาษาฝรั่งแปลว่า ผู้บำเพ็ญเพียรฤๅสมณะ) ซึ่งมีคุณธรรมอย่างสูงทั่วทุกทิศ และนักเรียนผู้ไต่ถามซึ่งจะใคร่ทราบความจริงและต้นเหตุของความจริง ย่อมมายังอารามทั้ง ๒ นี้ อนึ่งโสดในอารามนี้มีพราหมณ์เปนครูผู้หนึ่งมีนามปรากฎว่า มัญชุสรี ซึ่งซามันทั้งหลายผู้มีคุณธรรมอันใหญ่ยิ่งในพระราชอาณาเขตต์นี้ กับทั้งมหายานภิกษุย่อมนับถือแลดูท่าน (คือเป็นที่พำนัก)

หมดในเรื่องที่ว่าด้วยสาสนา ขอให้พิเคราะห์ดูว่ามันปนกันเลอะอย่างไรอยู่ที่กล่าวนี้เปนเวลาซึ่งกำลังพร้อมมูลกันอยูในพระนครอันเดียว ถ้าหากว่าจะไปเกิดเลือกทางบริสุทธิ์ชำระเครื่องรึงรัง น่าจะไปชำระกันที่เมืองลังกา เมื่อสังคายนาชั้นหลัง ซึ่งเขายกย่องว่าเปนการสำคัญมาก คงจะได้เลือกฟั้นกั้นจริง ๆ ไม่ใช่แต้มหัวตะอย่างสังคายนากรุงเทพ ฯ ส่วนสังคายนาในอินเดียนั้น เห็นจะไม่คงอยู่ได้เท่าใด เพราะใช้ท่องเอาด้วยปาก และด้วยเหตุนั้นจึงได้แพ้พวกมหายานอันได้คัมภีร์มาจากในถ้ำ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ทีหมดเวลา แต่เรื่องสวาสติกาและเครื่องหมายอื่น ๆ ยังไม่เห็น.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ