พระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒

พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒

ถึง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์

รูปภาพที่ส่งมาวันนี้ ๒ แผ่นนั้น เคยเห็นแขวนอยู่ตามตลาด แต่พระพุทธรูปอีกแผ่นหนึ่งไม่เคยเห็นแปลกดี กิริยาอาการช่างเปนรูปข้างมหายานเสียจริง ๆ ได้ส่งออกไปสอบถามกรมขุนสมมต ๆ ว่าได้ทราบแต่ว่ามีคัมภีร์เปนพวกสัททาวิเศษกล่าวถึงเรื่องนี้ สมเด็จพระวันรัตน์เก็บมาจากคัมภีร์นั้นไม่ทราบว่าชื่อคัมภีร์อะไร ฉันได้ขอให้กรมสมมตสอบถามพระธรรมโกษาและพระศรีสมโพธิเห็นจะได้ความ

เรื่องมหายานและหีนยานแยกกันอย่างไรมีพงศาวดารซึ่งพรตญี่ปุ่นเก็บมาแต่งเปนภาษาอังกฤษบอกวงศ์แห่งพรตญี่ปุน เขาได้ให้ฉันได้ถวายกรมหมื่นวชิรญาณไป ยังยึดไว้สืบค้นจนเดี๋ยวนี้ เมื่อแรกนี้ใกล้เคียงกันมากถึงอยู่ร่วมอารามแต่แยกเปนคนละคณะ ฟ้าเหียนซึ่งเปนพรตจีนออกไปสืบข่าวพระสาสนาที่อินเดียก่อนคฤสตศักราช ๖๐๐ ปี ได้ไปถึงเมืองปาตลิบุตร ได้ไปที่วัดอโศการามและกุกกุฏารามได้พบพระสงฆ์ทั้งสองคณะอยู่กุฏิคนละฟาก มีเสาศิลาซึ่งจารึกคำพระเจ้าธรรมาโศกถวายสกลชมพูทวีปเปนพุทธบูชา ๓ ครั้ง กุฏิฟากหนึ่งเปนมหายานฟากหนึ่งเปนหีนยาน ฟ้าเหียนออกไปขัดข้องด้วยภาษา จึงได้เที่ยวไปในประเทศอื่น ๆ มีกาสีชนบทเป็นต้นถึง ๓ ปีแล้ว จึงย้อนกลับมาในมคธราฐ เข้าเรียนพระวินัยในสำนักมหายานแล้วพวกมหายานให้ลอกคัดพระวินัย พระสูตร พระปรมรรถ อยู่อีก ๖ ปีจึงแล้ว รวมเปนเวลา ๑๐ ปีเศษ จึงได้กลับไปเมืองจีน

ภายหลังมีพรตจีนอีกรูปหนึ่ง ชื่อห้วนเจียงออกไปเมื่อก่อนคฤสตศักราช ๓๐๐ ปี เวลานั้นเมืองปาตลิบุตรร้างไปมากแล้ว พระสงฆ์ไม่มี แต่เสนาสนเหล่านั้นยังมีรากปรากฎอยู่

บัดนี้อังกฤษไปค้นพบตำบลที่ตั้งเสนาสนและเจดียสถานต่าง ๆ ทั้งวังและเมืองซึ่งอยู่บนบกบ้างจมอยู่ในน้ำบ้าง ได้หลักฐานสำคัญเป็นอันมาก ขาดสิ่งซึ่งต้องการอย่างยิ่งอยู่นั้น คือคำจารึก หลักศิลามีถึง ๓ หลัก แต่แตกย่อยกระจาย เก็บมาคุมเข้าได้ก็ยังไม่ถึงตัวหนังสือ ที่ชำรุดมากนัก เพราะมีมิจฉาทิษฐิไปทำลาย แล้วซ้ำถูกสายน้ำกัดผ่าเข้าไปในกลางเมืองด้วย ดีที่พบรอยพระพุทธบาทซึ่งเหยียบไว้ที่ริมแม่น้ำเมื่อเวลาจะไปปรินิพพาน แต่ยังไม่ได้สร้างเปนเมืองนั้น ครั้นเมื่อสร้างเปนเมืองแล้ว พระเจ้าอโศกเชิญเข้ามาไว้ในพระราชวัง ขนาดแผ่นศิลาและรอยต้องกันกับพรตฟ้าเหียนและพรตห้วนเจียงได้ไปเห็น ศิลานั้นเปนศิลาทรายขนาดเป็นคั่นบันไดท่าเรือจ้าง กว้าง ๒ ฟิต ยาว ๒ ฟิตครึ่ง รอยพระพุทธบาทนั้นวัดแต่ปลายนิ้วจนถึงส้นได้ฟุต ๑ กับ ๖ นิ้ว กว้างในที่กว้าง ๖ นิ้ว รอยลายที่ปรากฎอยู่ที่นิ้วอุตคุตเปนดอกไม้ คือก้นหอย และพวงปลาต่อลงมา แต่เดี๋ยวนี้ชำรุดมาก ด้วยชาวบ้านใช้ลับมีด พระบาทนี้ช่างห่างกับเราเสียจริง ๆ ถึงพรตจีน ๒ รูปก็ได้กล่าวไว้ว่ารอยโตกว่าชนสามัญ เพราะพระพุทธเจ้าโตมาก แต่ยังหาถึงใจท่านพวกลังกาไม่

ที่กล่าวมานี้ เพื่อจะให้เห็นว่าหีนยานกับมหายานอยู่ด้วยกันมาแต่ก่อน หีนยานเห็นจะคอยหารมหายานอยู่เสมอ แต่เพราะรกรากอันเดียวกัน จึงไม่หารเสียหมด เพราะมีมูลอยู่บ้าง เช่นกับมูลแห่งสาสนามหายาน ถือว่ามีพระพุทธเจ้าโลกธาตุละองค์ ขึ้นพระพุทธอมิตาภาซึ่งอยู่ในศุขัสนคร จึงมีสูตรสำหรับบูซาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยิ่งท่องสูตรเหล่านั้นได้มากเท่าใดยิ่งได้บุญ จนพวกจีนทำเครื่องจักร์สวดมนต์ ข้างฝ่ายสูตรสัมพุทเธของเรามีมูลเปนอันเดียวกัน บอกอานิสงส์ก็คล้ายกัน แต่ตัดชื่อเสียงลงเสียเปนอันมาก ปรากฎว่ามาจากครูเดียวกับมหายาน ฉันเข้าใจว่ารูปที่สมเด็จพระวันรัตน์เขียนมาจากคัมภีร์ใดคัมภีร์นั้นจะเป็นมหายานแปลงเช่นสัมพุทเธ

อนึ่งมีเรื่องซึ่งเปนอินเตอเรสซองช่างที่เก็บไว้ว่าจะบอก แต่ท่าจะลืมเสีย ไหน ๆ วันอาทิตย์ก็ปล่อยเสียที

ข้างฝรั่งเขากล่าวกันมานานนักหนาแล้วตั้งแต่ฉันไปอินเดีย บรรดาฝีมือช่างที่เราเรียกว่าฮินดู เขาเรียกว่ากรีก เปนคู่กันกับมโฮมาดัน กรีกเปนของเก่า มโฮมาดันเปนของใหม่ ได้นึกเถียงในใจเสมอมาแล้วก็ค่อยรู้มาทีละน้อย ๆ จนบัดนี้ลงใจเชื่อเสียแล้ว เหตุที่เชื่อนั้น คือ ในประเทศอินเดียก่อนแต่พระเจ้าอโศกขึ้นไป ปราสาทราชมนเทียรกำแพงเมืองและวัด ทำด้วยไม้ทั้งนั้น จนเมืองปาตลิบุตรที่พบนี้ กำแพงยาว ๔ ไมล์ กว้างไมล์ ๑ ก็ใช้เสาไม้รังปักเปน ๒ ชั้น ถมดินกลาง การช่างศิลาเกิดขึ้นในประเทศปันยอดที่อาเลกแซนดราดิเกรตมาตั้งอยู่ จันทรคุปตซึ่งเปนต้นวงศ์พระเจ้าอโศกได้รบพุ่งกันแล้วกลับเปนไมตรี สืบวงศ์มาจึงได้ไล่กรีกออกได้ ตกมาถึงครั้งอโศก เริ่มสร้างเครื่องศิลาเมื่อสร้างพระเจดีย์ ๘๔๐๐๐ บรรดาเครื่องศิลาที่มีอยู่ในอินเดีย ไม่มีอะไรเก่ากว่าที่อโศกสร้างทั้งสิ้น ในเมืองปาตลิบุตรนี้เอง ขุดได้บัวปลายเสา รูปเปนกรีก ลวดลายทั้งแก้ไขบ้างแล้วก็ยังมีลายกรีกติดอยู่ เพราะฉะนั้นข้อที่เราจะทำอะไรไม่ให้ฝรั่งเห็นว่าเลียนอย่างฝรั่ง เห็นจะไปไม่รอด แต่เปนเครื่องอุดหนุนให้เราเถียงว่าไม่ใช่เอาอย่างฝรั่ง เพราะเราเอาอย่างผู้ซึ่งเขาเอาอย่างฝรั่งถึง ๒๐๐๐ ปีเศษมาแล้ว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  1. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เรียกว่า พระราชหัตถเลขาฉะบับที่ ๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ