ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๗๑

เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ

ได้รับหนังสือของท่าน ที่ ๘๑/๒๐๒๘ ส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระราชทานถึงฉัน ทรงพระราชวิจารณ์ในเรื่องลัทธิมหายานกับหีนยาน โปรดเกล้า ฯ ให้ถามความแก่ฉันเพื่อประกอบเรื่อง จะโปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์พระราชทาน ในงานวันที่ ๒๓ ตุลาคม ถ้ามีสำเนาหนังสือฉันกราบบังคมทูลประการใด ก็ให้ส่งมาด้วยนั้น

ฉันได้เพียรค้นหนังสือเก่าที่เก็บไว้หมดแล้ว มีความเสียใจจริง ๆ ค้นไม่พบหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เคยมีอันตรายถูกปลวกขึ้นกัดหนังสือเสียไปบ้างคราวหนึ่ง ทำให้สงสัยไปว่าเรื่องนี้จะถูกปลวกกัดเสียสูญไปในครั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี หนังสือของฉันอันติดต่อกับพระราชวิจารณ์นี้ไม่สำคัญเลย เปนแต่กราบบังคมทูลถามเพื่อศึกษาเท่านั้น เค้าต้นเรื่องอันเป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์จำได้อยู่บ้าง ดั่งจะบรรยายต่อไปนี้

ในกาลครั้งหนึ่ง กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงพระดำริทำพระบฏเล็ก ๆ ขาย ให้พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) เขียนตัวอย่าง เป็นปางมารประจญ แล้วส่งออกไปตีพิมพ์ที่เมืองนอก ครั้นได้เข้ามาก็ส่งไปจำหน่ายตามร้าน เป็นที่ต้องตาต้องใจคนเป็นอันมาก ขายดีเล่าลือจนทราบถึงพระกรรณ ตรัสถามถึงลักษณพระบฏนั้น ฉันจึงไปซื้อมาถวายแผ่นหนึ่งก็พอพระราชหฤทัย

ต่อมากรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจเห็นว่าขายดีมีกำไรมาก จึ่งทรงจัดให้ช่างเขียนขึ้นอีกหลายแบบ ส่งออกไปให้ทำเข้ามาอีก แล้วคนอื่นก็สั่งทำเข้ามาขายด้วย ต่างคิดค้นหาแบบเก่าใหม่ ที่หวังว่าคนจะชอบ ส่งไปเป็นตัวอย่าง เป็นการแย่งขายแย่งประโยชน์กันตามเคย พระบฏต่าง ๆ จึ่งมีทอย ๆ กันเข้ามามาก

ฝ่ายฉันเห็นว่ามีพระราชหฤทัยใฝ่อยู่ในพระบฏที่เขาทำเข้ามาขายนั้น เวลาเที่ยวเดินเล่นตามถนนเห็นแบบที่ทำเข้ามาใหม่ ก็ซื้อส่งขึ้นถวายต่อไปเนือง ๆ

พระบฏแบบที่ซื้อถวาย เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์เรื่องลัทธิมหายานกับหีนยานนี้ เป็นรูปกอบัวขึ้นจากน้ำ ดอกกลางเป็นดอกบัวบานมีรูปนางนั่งขัดสมาธิอยู่บนนั้น หัตถ์ซ้ายพาดตักอย่างพระมารวิชัย ในอุ้งหัตถ์มีดวงแก้ว หัตถ์ขวาทำอาการกวักดุจพระคันธารราษฎร์ ดอกริมเป็นดอกบัวโรย เบื้องขวามีรูปบุรุษ เบื้องซ้ายมีรูปสตรีนั่งพับเพียบประนมมืออยู่บนนั้น เบื้องบนมีรูปเทวดาถือเครื่องสักการดั้นเมฆสองแถวซ้อนกัน เบื้องล่างมีรูปนาคกับสัตว์ต่าง ๆ ตีความไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร แต่มีท่วงทีคล้ายพระทางลัทธิมหายานอันเคยเห็นมาเนือง ๆ ซึ่งทำเป็นดอกบัวขึ้นจากน้ำ มีพระพุทธรูปนั่งบนนั้นองค์เดียวบ้าง สามองค์บ้าง ห้าองค์บ้าง จึ่งพระราชทานไปสอบถามกรมพระสมมตอมรพันธุ์ แล้วพระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงฉัน ตามที่ปรากฎอยู่ในสำเนาฉะบับต้นนั้น

ฉันไม่ทราบลัทธิทางมหายาน มีใจใคร่จะทราบ จึ่งเขียนหนังสือกราบบังคมทูลถาม ท้าวถึงความคาดคะเนตามที่สังเกตเห็นมาบ้าง จึงทรงพระราชวิจารณ์พระราชทาน ตามที่ปรากฎในสำเนาฉะบับหลังๆ ต่อไปนั้น

ส่วนทางที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์ไปสืบนั้น ได้ความว่าเป็นแบบที่สมเด็จพระวันรัตน (แดง) คิดออกจากคาถาอันหนึ่ง ซึ่งมาในพวกหนังสือสัททาวิเสส ให้เขียนเข้ากรอบไว้ ท่านเรียกว่ารูปสุนทรีวาณี กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้นำรูปแผ่นต้นนั้นมาถวายทอดพระเนตร มีอธิบายยืดยาวจำไม่ได้ แต่ได้ไปเรียนถามสมเด็จพระพุฒาจารย์มาใหม่แล้วดั่งจะเล่าต่อไป รูปนั้นเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอันมาก จนถึงทรงพระราชดำริจะทำประกอบกับแผ่นศิลาจารึก ประดิษฐานไว้ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ดูประหนึ่งจะทรงพระราชดำริให้เป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระวันรัตนด้วย

สมเด็จพระพุฒาจารย์อธิบายว่า รูปสุนทรีวาณีนั้นหมายเป็นพระธรรม ดอกบัวนั้นหมายเป็นพระโอษฐพระพุทธเจ้า ตามที่มาในคาถานี้เป็นหลัก

มุนินฺท วทนมฺพุช คพฺภสมฺภว สุนฺทรี
ปาณีนํ สรณํ วาณี มยฺหํ ปิณยตํ มนํ ฯ

วาณี นางฟ้า คือพระไตรปิฎก มุนินฺท วทนมฺพุช คพฺภสมฺภว สุนฺทรี มีรูปอันงาม เกิดแต่ห้องแห่งดอกบัว คือพระโอษฐแห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ปาณีนํ สรณํ เป็น ที่พึ่งแห่งสัตว์ผู้มีปราณทั้งหลาย มยฺหํ ปิณยตํ มนํ จงยังใจแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายให้ยินดี ฯ สมเด็จพระวันรัตนกล่าวว่า อาจารย์ของท่าน ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ สอนให้บริกรรมคาถานี้ ก่อนที่จะเริ่มเรียนพระปริยัติและเข้าที่ภาวนาทุกคราวไป ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราชวัดราชสิทธารามเป็นต้น ล้วนนับถือคาถานี้อยู่ทั่วกัน จนกระทั่งอาราธนาธรรมก็ใช้คาถานี้ ท่านจึ่งคิดเอามาผูกเป็นรูปปรุงเปรียบเข้าอีกหลายอย่าง หัตถ์ขวาแห่งสุนทรีวาณีซึ่งทำให้เป็นอาการกวักนั้น เพื่อจะให้ได้กับคำว่าเอหิปสฺสิโก ดวงแก้วในหัตถ์ซ้ายนั้น เปรียบเป็น อมต รูปบุรุษเบื้องขวานั้น เปรียบเป็นภิกษุสงฆสาวก รูปสตรีเบื้องซ้ายนั้นเปรียบเป็นพระภิกษุณีสงฆสาวิกา เทวดาแถวล่างนั้นหมายถึงเทวโลก พรหมแถวบนหมายถึงพรหมโลก ต่างมาทำสักการบูชา น่านน้ำภายใต้นั้นเปรียบด้วยสังสารวัฏฏ์ นาคและสัตว์น้ำนั้น เปรียบเป็นพุทธบริษัท ท่านหาหมื่นศิริธัชสังกาศ เจ้ากรม (แดง) มาเขียนแล้วเข้ากรอบเป็นลับแลตั้งไว้บูชา ภายหลังได้ทำเป็นรูปหล่อขึ้นด้วย เมื่อท่านอาพาธด้วยถูกสุนักข์บ้ากัด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม ทอดพระเนตรเห็นตรัสถามว่ารูปอะไร ท่านทูลว่ารูปวาณี แต่มิได้ตรัสซักไซ้ประการใดต่อไป เห็นจะเป็นด้วยทรงเกรงใจว่าท่านกำลังอาพาธอยู่ เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจให้มายืมรูปเขียนไปถ่ายทำแบบตีพิมพ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นแบบตีพิมพ์คงจะทรงระลึกได้ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ไปสอบถาม และนำรูปมาถวายทอดพระเนตร รูปเดิมนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ สมเด็จพระพุฒาจารย์รักษาไว้

ข้อความทั้งนี้ จะสมควรนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาหรือไม่ แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร ได้ส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาคืนมานี้แล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

  1. ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้พบหนังสือต้นเรื่องแล้ว จึงได้นำมาพิมพ์ประกอบให้ความสมบูรณ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ