ความสันนิษฐานเรื่องมหายานและหีนยาน

ในการที่จะเรียบเรียงความเห็นเวลานี้ หาได้มีสมุดซึ่งคิดจะอ้างถึงอยู่ในมือไม่ คือสมุดที่พรตญี่ปุ่นให้ ได้ถวายไปให้กรมหมื่นวชิรญาณสอบสวน ชินกาลมาลินีและพงศาวดารเชียงใหม่ก็ไม่ได้ตระเตรียมมา หนังสือต่าง ๆ ไม่พร้อม เพราะเห็นว่าถึงจะเอามาให้พร้อมก็ไม่มีเวลาจะตรวจ จึงคิดว่าเขียนแต่พอเปนเค้าตามความจำได้ก็จะพอเปนทางคิดเห็นอยู่แล้ว เมื่ออยากจะรู้ละเอียดจึงไปค้นสอบสวนหนังสือเหล่านั้นสำหรับผู้มีเวลาที่สามารถจะแต่งให้ละเอียดได้ ที่เขียนบัดนี้เปนแต่นำให้นึก

ข้อซึ่งจะพิจารณาว่ามหายานเปนอย่างเก่าฤๅหีนยานเปนอย่างเก่า ตามความเห็นที่เธอคะเนว่าหีนยานจะเปนพวกข้างมีน้อย มหายานมีมาก พวกหีนยานเห็นว่าพวกมหายานเลอะเทอะนักจึงได้ตัดรอนเสียเหมือนธรรมยุติกากับมหานิกาย

ความ ๒ ข้อนี้ได้เคยพิจารณาเห็นเช่นนั้นครั้งหนึ่งแล้ว แต่ครั้นเมื่อได้เห็นหนังสือที่พรตญี่ปุ่นแต่งว่าด้วยนิกายและคณะพรตในเมืองญี่ปุ่นกล่าวท้าวขึ้นไปถึงพุทธกาล จึงได้สนทนากับกรมหมื่นวชิรญาณ ๆ ได้ค้นเรื่องตัวอย่างที่มีมาในบาลีประกอบ จึงลงสันนิษฐานกันว่าข้อที่แบ่งเปนพวกเปนหมู่นี้ ได้มีมาเสียแต่พระพุทธเจ้ายังเสด็จอยู่แล้ว

ข้อซึ่งว่าหีนยานและมหายาน ข้างไหนจะเก่าข้างไหนจะใหม่ ได้วินิจฉัยจากหนังสือพรตญี่ปุ่นซึ่งเปนตัวมหายานเอง กล่าวว่าหีนยานเคยเป็นหมู่ใหญ่ มหายานรุ่งเรืองต่อภายหลังดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้

ในบาลีมีพระพุทธเจ้ายกเอตทัคคฐานพระเถรรูปหนึ่ง ว่าฉลาดในการจัดเสนาสนสงฆ์ให้อยู่เปนหมู่เปนเหล่าตามความประพฤติของภิกษุพวกนั้น ๆ ในเรื่องราวของท่านผู้ฉลาดในการแบ่งปันนี้ คือปันเป็น ๖ พวก มีพวกที่ทรงวินัยเคร่งครัดเปนต้น ความพิสดารมีเคยแปลแล้ว แต่จะหยิบไม่ได้ในเวลานี้ แต่พวกที่แบ่งกันในเวลานั้น ไม่แรงถึงนุ่งกางเกงข้างหนึ่ง นุ่งสบงข้างหนึ่ง แยกกันเปนทำนองฝ่ายวิปัสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระในเวลานี้ แต่ความประพฤติของท่านพวกนั้น ลางทีเอื้อเฟื้อแต่อย่างเดียว ๒ อย่าง ไม่เอื้อเฟื้อต่อความปฏิบัติอย่างอื่น เหมือนหนึ่งว่าผู้ที่ประพฤติธุดงค์ มักจะเอื้อเฟื้อต่อวินัย ประพฤติวินัยดี ฝ่ายข้างพวกที่เอื้อเฟื้อต่อพระสูตร คือฝ่ายคันถธุระไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัย ถือวินัยอย่างหละหลวมเช่นนี้มีมาแต่ก่อนแล้ว ถ้าจะมาเทียบดูที่เปนอยู่ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ ก็คือตรงกับพระมหานิกาย เอื้อเฟื้อในทางพระสูตรและคันถธุระ ไม่สู้เอื้อเฟื้อในทางวินัย มหานิกายเช่นนี้ไม่ใช่พึ่งเกิดมีมาแต่ครั้งพระพุทธองค์ยังเสด็จอยู่แล้ว พิเคราะห์ดูตามลาดเลาของหนังสือ เสมือนหนึ่งจะเห็นได้ว่า มหานิกายเดี๋ยวนี้ยังประพฤติดีกว่าภิกษุบางพวกเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่เสียอีก เพราะอาณาจักร์เข้าช่วยปกครอง ข้างฝ่ายธรรมยุติกานั้นตกอยู่ในพวก ๑ ใน ๖ พวกซึ่งประพฤติศึกษาในทางพระสูตรและพระวินัย นับว่าเสมอกันกับที่มีตัวอย่างมาแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังเสด็จอยู่ อีก ๔ พวกนั้นของดไว้ไม่พรรณนา แต่ก็เปนอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้างเจือปนกัน

ข้อที่แยกหมู่กันแต่เดิมมาเปน ๖ พวกเช่นนี้ ก็คงจะเกิดลัทธิอาจารย์ต่าง ๆ กันเปนต้นเหตุมีมาแล้ว

ข้างฝ่ายหนังสือญี่ปุนที่เขากล่าวนั้น เขาจับเอาปฐมสังคายนาว่าพระสงฆ์ซึ่งทำสังคายนานั้น เปนหีนยาน เมื่อเสร็จการสังคายนาแล้วได้แยกตั้งเขาเรียกว่าโรงเรียนเปน ๖ ๖ โรงเรียนนั้นก็เปนหีนยาน เมื่อจะทำสังคายนาที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยโรงเรียนทั้ง ๖ กล่าวต่าง ๆ กันไป จึงได้ประชุมสังคายนา ซึ่งเรียกว่าเคาซิลเป็นครั้งที่ ๒ เพิ่มเติมที่เรียนขึ้นอีก แต่เปนหีนยานทั้งสิ้น ในระหว่างนี้จนถึงตติยสังคายนา พระพุทธสาสนาร่วงโรยลงไปมาก พระเจ้าอโศกประชุมพระสงฆ์บรรดาซึ่งจะหาได้ในอินเดียมาสอบสวน ในเวลานั้นจึงรู้ว่ามีลัทธิต่างกันอยู่ แต่พระอุปคุปตและโมคคัลลีบุตรดิศเถร เปนหีนยาน เพราะฉะนั้นสังคายนาครั้งที่ ๓ จึงเป็นพวกหีนยานยังมีอำนาจ ได้ตั้งโรงเรียนหลายโรง แต่พวกมหายานก็มีโรงเรียนเกิดขึ้น เว้นแต่อำนาจยังน้อยกว่าพวกหีนยาน

จะเปนก่อนสังคายนาที่ ๓ ฤๅสังคายนาที่ ๓ แล้วจำไม่สนัด พวกมหายานไปพบคัมภีร์พุทธวจน เขียนบรรจุไว้ในถ้ำ ได้ธรรมอันลึกลับซึ่งพระเถรเจ้าแต่ก่อนได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้วจารึกไว้เป็นหลักฐาน จึงนำมาสั่งสอน แต่นั้นฝ่ายมหายานก็รุ่งเรืองขึ้น ฝ่ายหีนยานซึ่งสั่งสอนกันแต่ด้วยวาจาความรู้เสื่อมทรามลงไปทุกที ไม่เหมือนพระเถรเจ้าซึ่งเป็นอรหันต์ ยังคงมีอยู่แต่ก่อนนั้น

ข้อซึ่งต่างกันในระหว่างหีนยานและมหายานนั้น เขายอมรับว่าเปนพุทธวจนด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่แบ่งเปน ๒ กาล คือตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้สั่งสอนเวไนยสัตว์โดยพระวินัยและพระสูตรเปนพื้น จนตกมาถึงเมื่อขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์แล้ว ได้สั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยอภิธรรมมากกว่าพระสูตร เขาตั้งรายปีลงว่าปีที่หนึ่งเทศนาสูตรนั้น ๆ ที่ ๒ สูตรนั้น ๆ จนปีที่ ๔๕ พระสูตรตอนข้างต้นเราฟังรู้จักบ้าง แต่ตอนหลัง ๆ ลงมาชื่อสูตรนั้นยาว ๆ ฟังไม่รู้ว่าไปข้างไหน บัญชีนี้ยาวมากอ่านเหน็จเหนื่อยทีเดียว แต่ไม่มีแก่นสารอะไรสำหรับความรู้เราเลย

ต่อไปจึงบรรยายว่าคณะในเมืองญี่ปุ่น ได้รับความรู้มาจากที่ไหน มีมาจากเมืองจีนโดยมาก จากธิเบตบ้าง จากอินเดียบ้าง จากโคเรียบ้าง แล้วไปแยกกันออกด้วยเหตุผลต้นปลายอย่างไร ซึ่งไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่เราจนหมดเล่ม

คราวนี้เมื่ออ่านสอบดูกับรายงานขุดค้นของโบราณในเมืองปาตลิบุตร อันอยู่ที่เมืองปัตนาในปัจจุบันนี้ ของ แอล เอ วัดเดล ซึ่งเปนเลบเตอแนลเคอแนลในกองหมอทหารอินเดีย ลงพิมพ์เมื่อคฤสตศักราช ๑๙๐๓ รัฐบาลอินเดียส่งมาให้ฉัน ซึ่งเขาไม่ได้จงใจจะกล่าวเรื่องพุทธสาสนา แต่หากเมืองปาตลิบุตรเปนเมืองสำคัญในพุทธสาสนา เขาจึงเก็บเรื่องราวบรรดาซึ่งกล่าวถึงเมืองที่มีอยู่ในบทกลอนและนิทานในประเทศอินเดียนั้นเอง และจดหมายเหตุของทูตกรีกและพรตจีนซึ่งได้ไปถึงเมืองปาตลิบุตร ในเวลาพระเจ้าอโศกกำลังมีอำนาจ และที่ร่วงโรยต่อ ๆ กันมาเปนลำดับ เอาถ้อยคำของผู้ที่ไปเห็นนั้นสอบสวนกันสำหรับที่จะขุดค้นให้ถูกเบาะแส แต่คำที่เขาเก็บรวบรวมมานี้ อยู่ข้างจะเปนประโยชน์แก่ความอยากรู้ของเรา แต่ข้างเขาก็ร้องว่าเต็มค้นอยู่เหมือนกัน เพราะหนังสือเก่า ๆ มักแต่งเปนเรื่องเฟเบอลคล้ายรามเกียรติ์เสียมาก ที่อาศัยเป็นหลักฐานได้จากหนังสือกรีกเปอเซียนจีนพอเปนหลักหลาย ประกอบกับคำจารึกศิลาและเงินตรากับสิ่งอื่น ๆ ซึ่งขุดได้ จับเอาหนังสือท่อนเล็กท่อนน้อยเหล่านี้ผสมกันเข้า ที่ขาดอยู่ก็เอาเรื่องราวที่มีในจดหมายอินเดียคงไว้ ผสมเข้าพอเปนเรื่องได้ว่า

เมืองซึ่งพวกกรีกเรียกว่าปาลิบุธร คือปาตลิบุตร แปลว่าเมืองดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอม เป็นเมืองสำคัญในเรื่องพงศาวดารข้างฝ่ายตวันออก ถึงว่าไม่เปนเมืองเก่าลึกซึ้งในพวกพงศาวดารอินเดีย แต่เปนเมืองที่ราชวงศ์อันหนึ่งมีอำนาจใหญ่ เปนหลักคือแลนมารกของอินเดีย

เมืองนี้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จซึ่งมีปรากฎในบาลีและหนังสือต่าง ๆ เมื่อก่อนคฤสตศักราช ๔๐๐-๕๐๐ ปี ยังเป็นหมู่บ้านเล็กชื่อปาตลีคามฝั่งใต้แห่งแม่น้ำแคนเยส แต่เรียกตามเสียงฝรั่ง ความตั้งใจเขียนเห็นจะเขียนคังเคส์ คือคงคา พระเจ้าแผ่นดินราชคฤห์ เดี๋ยวนี้เรียกราชเคีย พระเจ้าอชาตศัตรูโอรสพระเจ้าพิมพิศาลซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินก่อนพุทธปรินิพพาน ๘ ปี ได้ตั้งเปนเมืองด่านไว้สำหรับเปนที่ข้ามพลไปปราบเมืองริปับลิกเล็กน้อยซึ่งอยู่อีกคนละฟาก

แต่เมืองนั้นตั้งอยู่ในที่ท่าค้าอันสำคัญ เพราะได้ตั้งอยู่ที่แม่น้ำร่วมฤๅใกล้แม่น้ำร่วมของแม่น้ำทั้ง ๕ ในกลางประเทศอินเดีย เมื่อฟ้าเหียนไปว่าอยู่ใต้แม่น้ำร่วมประมาณโยชน์หนึ่งฤๅ ๗ ไมล์ แม่น้ำทั้ง ๕ นั้น คือ แคนเยส ๑ โคครา ๑ ราบติ ๑ คันดั๊ก ๑ โสน ๑ เพราะฉะนั้นเรือที่จะไปมาจำต้องผ่านจึงได้เจริญเปนเมืองใหญ่ขึ้นเร็วนัก ต้องด้วยพระพุทธทำนาย

ตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปที่นั้นแล้ว เพียงชั่วอายุเดียวพระเจ้าอุทายินฤๅอุทยาสวะฤๅอุทธัยน ซึ่งเปนพระราชนัดดาของพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ย้ายจากเมืองราชคฤห์ซึ่งอยู่ข้างตะวันออก ซึ่งเป็นแผ่นดินสูงประกอบไปด้วยภูมิประเทศเปนเขา ที่พวกอารยันคือพวกกรีกมักมารบกวนนั้นลงมาตั้งอยู่ในที่นี้ ครั้นเมื่อปราบข้างฝ่ายเหนือได้แล้วจึงได้ยกขึ้นไปเปนพระราชธานีนครหลวง ชื่อปาตลิบุตร

ในขณะนั้นประมาณ ๓๐๐ ปีฤๅ ๓๐๒ ปีก่อนคฤสตศักราช พระเจ้าแผ่นดินเวลานั้น ทรงพระนามจันทรคุปต แต่พวกกรีกเรียกว่า สันทรากุตโต ได้เปนทางพระราชไมตรีกับอาเลกซานเดอดิเกรต จนถึงได้เปนเกี่ยวดองอันสนิท อาเลกซานเดอดิเกรตนั้นอยู่ปันชาบ (ปัญจาลฤๅอุตรปัญจา) เมื่อมาตีเมืองอินเดียข้างเหนือก่อนคฤสตศักราช ๓๒๖ ปี ตามเรื่องราวที่ชาวมาเซโดเนียได้เขียนเปนพงศาวดารไว้ว่าเจ้าองค์นี้ (คือจันทรคุปต) เปนชาติต่ำ แต่ได้เปนเจ้าขึ้นโดยอำนาจเทพดาทั้งหลาย เมื่อได้ทำความผิดต่ออาเลกซานเดอโดยกล่าววาจาหยาบ อาเลกซานเดอให้เอาไปประหารชีวิตเสีย แต่หนีรอดจึงควบคุมพวกกองผู้ร้ายหลายพวกเข้าเปนกำลัง และยั่วใจพวกชาวอินเดียให้มีความมานะชิงอำนาจคืน ในการที่ได้ต่อรบกับแม่ทัพนายกองของอาเลกซานเดอ จันทรคุปตมีชื่อเสียงปรากฎว่าเปนขุนคชสารใหญ่ซึ่งมีกำลัง เมื่อได้อำนาจเช่นนั้นแล้วสันดรกุตโต จึงได้เปนเจ้าแผ่นดินพร้อมกันกับเซลิวโกซึ่งเปนราชโอรสของอาเลกซานเดอ แต่ผู้จดหมายข้างกรีกอีกคนหนึ่ง เขียนชื่อว่าสันดรคุปตัส อีกผู้หนึ่งเขียนว่าอันดโรกุตโต แต่หมายความว่าจันทรคุปตคนเดียวกัน เรื่องราวฝ่ายข้างพุทธสาสนากล่าวว่า ชาติเดิมและวงศ์ตระกูลของจันทรคุปตเปนโมระฤๅมยุระซึ่งพวกคัมภีร์พราหมณ์เรียกว่าเมารยะ ตั้งอยู่ในเชิงเขาหิมมาลัยฝ่ายเหนือประเทศอินเดีย อีกนัยหนึ่งกล่าวว่ามยุระราชาซึ่งได้สร้างพระสถูปเปนชาติสากยะอยู่ในเมืองที่ตั้งอยู่หว่างเขาโมรา เรียกว่าบ้านสวาสด ผู้แต่งรายงานนี้ไปขุดได้รูปภาพต่าง ๆ ในพุทธสาสนามาไว้ในมิวเซียมอินเดียเปนอันมาก และบรรดาสิ่งที่ขุดได้เหล่านั้นเกือบจะมีรูปโมระ ฤๅนกยูงเปนเครื่องหมายทั้งนั้น

ตามเรื่องราวกรีกกล่าวว่าเซลิวโกสะนิกตอไปตีเมืองบาไบลอน แผ่อำนาจไปทางนั้น จันทรคุปตจึงได้ตีเอาอาณาเขตต์แผ่อำนาจในอินเดียแล้วตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าแผ่นดิน ภายหลังได้รบกันกับเซลิวโก จนกลับลงเปนมิตรแล้วเปนญาติโดยแต่งงาน ได้รับของตอบแทนจากจันทรคุปตเปนช้าง ๕๐๐ เชือก เมื่อทำไมตรีข้างฝ่ายอินเดียแล้ว เซลิวโกจึงได้ไปรบแอนติโคนัตต่อไป

ในเมื่อเปนไมตรีกันแล้วนั้นเซลิวโกจึงได้แต่งให้เมคัสติเนสเปนราชทูตมายังราชสำนักแห่งจันทรคุปตที่เมืองปาตลิบุตร เมคัสติเนสผู้นี้ (ตายเมื่อก่อนคฤสตศักราช ๒๙๑ ปี) กล่าวว่าเมืองปาตลิบุตรนี้ยาวประมาณสัก ๙ ไมล์ล้อมด้วยกำแพงไม้ มีหอรบและประตูเปนอันมาก และมีช่องสำหรับยิงธนูตลอดไป ข้างด้านหน้ามีคูสำหรับป้องกันและมีท่อน้ำเข้าออกในเมือง พลเมืองประมาณสี่แสน ส่วนราชบริพารของเจ้าแผ่นดินหลายพันคน แต่เป็นการปลาดที่กล่าวถึงสาสนาของราษฎรในเวลานั้น หาได้กล่าวถึงพุทธสาสนาไม่ ได้กล่าวถึงสารมเณียแต่งตัวด้วยเปลือกไม้ ก็ดูเป็นทางข้างพราหมณ์ ในรายงานนี้เขากล่าวว่าพระพุทธเจ้าพึ่งปรินิพพานราวร้อยปีเท่านั้น (ใกล้ข้างถูก) และเขาเห็นว่าถ้อยคำที่ใช้เรียกชื่อเสียงอันใดในจดหมายเหตุนั้นเป็นสำเนียงสันสกฤตคือมีตัว ร มาก จึงคเนว่าภาษาบาลีนั้นไม่ได้ใช้ คงจะเป็นภาษาที่เกิดขึ้นภายหลัง ทั้งที่มีคำกล่าวอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าพระพุทธเจ้าตรัสภาษาบาลีเสมอนั้น ทางไมตรีในระหว่างกรีกกับเมืองปาตลิบุตรดูจะเป็นที่สนิทสนมกันมาก จึงมีจดหมายเหตุกล่าวว่าโอรสของจันทรคุปโต อันทรงนามว่า อามิโตรจะเตสะ ฤๅ (อามิโตรฆาตะ) อีกนัยหนึ่งเรียกว่า อัลลิโตรจะเทศ (ซึ่งคงจะหมายความตามสันสกฤตว่าอมิตรฆาฏะ แปลว่าเป็นผู้ฆ่าศัตรู) และโสภคเสนัส (ถ้าหากว่าหมายว่าสุภาคเสน ก็คงจะเป็นชื่อยศ) ได้ให้กำลังแก่กองทัพอันเตียวโชสซึ่งเป็นราชโอรสของเซลิวโกส แลแอนติโกนัสดิเกรตด้วยช้างเป็นอันมาก ในการทำศึกกับชาวเปอเซียน และมีสำเนาพระราชสาสนของเจ้ากรุงปาตลิบุตรขอซื้อน้ำองุ่นหวาน และมะเดื่อแห้งด้วย

ส่วนบทกลอนที่มีอยู่ในอินเดีย กล่าวถึงการกล้าหาญและกล่าวถึงความส่อเสียดในราชสำนัก และในการศึกที่ได้รบพุ่งกันอยู่โดยรอบเมืองปาตลิบุตร เป็นเรื่องที่เล่นละคอนกันอยู่ในเมืองอินเดีย ซึ่งแต่งขึ้นโดยคนอายุชั้นกลาง ดูเหมือนหนึ่งว่ามีที่ตั้งจากหนังสือโบราณที่ได้เล่าเรื่องราวเป็นพงศาวดารมีหลักฐาน แต่หนังสือนั้นจะสูญหายไปเสียแล้ว

คงอยู่แต่เรื่องราวเมื่อได้เป็นพระนครหลวงอันสมบูรณ์สนุกสนานของอโศก ซึ่งปรากฎพระเกียรติยศเป็นผู้กล้าหาญใหญ่ ในเมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีก่อนคฤสตศักราช (ข้างลังกาว่าพระเจ้าอโศกได้ทำตติยสังคายนา เมื่อพุทธสาสนากาลล่วงได้ ๒๑๓ ปี อยู่ข้างใกล้กันมาก) เป็นพระราชนัดดาของจันทรคุปตะ เป็นเรื่องที่รู้ปรากฎกว้างขวางมาก อโศกนี้เป็นเอมเปรอใหญ่ยิ่งกว่าเอมเปรอทั้งหลายซึ่งได้มีมาในอินเดีย เป็นคอนสแตนไตน์ของพุทธสาสนา เกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้ตั้งสาสนาพระพุทธขึ้นเป็นสาสนา คือหมายความว่าเป็นสาสนาของราษฎร เพราะเหตุว่าก่อนแต่รัชชกาลของท่านมีแต่ภิกขุหมู่ละเล็กละน้อยแยกย้ายกันอยู่เป็นพวก ๆ มีจำนวนน้อยทีเดียว เพราะเมื่อก่อนคฤสตศักราช ๓๐๐ ปี พวกกรีกที่เขียนพงศาวดารจึงไม่ได้กล่าวถึงเลย ครั้นเมื่ออโศกได้เข้าถือสาสนานั้นเมื่อตอนปลายจึงได้ยกขึ้นเป็นสาสนาสำหรับแผ่นดินด้วย เป็นสาสนาซึ่งมีความมุ่งหมายมากแต่บังคับกดขี่น้อย เพราะเป็นเหตุฉะนั้นจึงได้ถือแพร่หลายในหมู่ราษฎรทั้งปวงทั่วไป ทั้งเจ้าแผ่นดินได้ตั้งความพยายามเพาะปลูกโดยแต่งมิศชันนารีแยกย้ายกันไปสั่งสอน จนถึงนอกพระราชอาณาเขตต์ เธอเป็นผู้มีราชศรัทธาเหลือเกิน ที่โลกนี้พึ่งได้เคยเห็น เธอได้ปกคลุมพระราชอาณาเขตต์อันใหญ่ ตั้งแต่อาฟคานิสตาน จนถึงไมซอ ตั้งแต่เนปาล จนถึงกุชราช ด้วยเจดียฐาน และการก่อสร้างสำหรับพุทธสาสนาอันมีขนาดล้วนใหญ่ ๆ ไม่ได้คิดถึงพระราชทรัพย์เลย โดยที่พระองค์เป็นพระราชาธิราชแท้ และมีนิสสัยในการช่างจึงได้ทำการก่อสร้างทั้งปวง ออกจากวิธีกรีกและออไซเรียนเป็นที่ตั้ง ไม่ตรงก็ยักเยื้องเสียบ้าง เพราะฉะนั้นเจดียฐานซึ่งเธอได้สร้างไว้ จึงเป็นสิ่งที่ล้วนแต่มีสง่างดงามทั่วทุกแห่ง พระสถูปฤๅจอมดินซึ่งเธอได้สร้างด้วยอิฐเป็นแท่งทึบ บรรจุพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าฤๅเป็นที่หมายตำบลอันเป็นเจดียสถาน ย่อมพบเห็นทั่วไปตลอดประเทศอินเดีย และเกือบจะเหมือนปิริมิตในเมืองอิยิปต์โดยขนาด เสาศิลาจารึกใหญ่ซึ่งเป็นแท่งเดียวราว ๓๐ ฤๅ ๔๐ ฟิตขัดและสลักเกลี้ยงเกลา ยังปรากฎเป็นที่พิศวงควรชมของผู้ซึ่งได้เห็น เพราะฉะนั้นพระนครของเจ้าแผ่นดินองค์นี้จะงดงามสักเพียงใด ศิลาจารึกที่เราได้พบเห็นและได้อ่านทราบความว่าได้เป็นไมตรีกับเจ้าแผ่นดินกรีกหลายองค์ แอนเตียวชัสที่ ๒ เจ้าแผ่นดินเมืองไซเรีย โปเลมีเจ้าแผ่นดินอียิปต์อันติโคโนส โคนาตัดเจ้าแผ่นดินมาเซดอน มาคัสเจ้าแผ่นดินไซเรเน แลอาเลกซานเดอ เจ้าแผ่นดินเอเปรัส เพราะฉะนั้นจึงทำให้คิดเห็นว่าเสาศิลาจารึกในพระนครหลวงของท่านเอง ซึ่งได้ความว่ายังอยู่มีผู้ได้เห็น เมื่อคฤสตศักราชล่วงได้ ๒ -๓๐๐ ปี จะสาปสูญไปเสียข้างไหนคงจะจมอยู่ในดิน ในที่ร้างของเมืองปาตลิบุตรนี้เอง (นี้เป็นความปรารถนาของผู้ยื่นรายงาน ตั้งใจจะค้นหาให้พบจงได้)

การปลูกสร้างก่อนสมัยแห่งพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ และทั้งกำแพงพระนครเห็นเป็นทำด้วยไม้เหมือนเมืองพะม่าและเมืองญี่ปุ่นทุกวันนี้ การที่เปลี่ยนแปลงใช้ศิลาโดยรวดเร็ว ล้วนแต่เป็นศิลาใหญ่ ๆ จึงเป็นเหตุให้มาภายหลัง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยยักษ์ ว่ามีอำนาจอาจจะใช้ยักษ์ให้หาศิลามาส่งและก่อสร้างการเหล่านี้ (ขันอย่างหนึ่งในภาษาอังกฤษเขาใช้ว่าเยนต์ฤๅเยนนี แต่แปลลงไว้ด้วยว่ายักษ์ เว้นแต่คนธรรมดาทุกวันนี้ในเมืองอินเดียเรียกกันว่ายักเฉย ๆ ไม่มี ษ เหมือนเราเรียก) แต่ข้างฝ่ายกรีกเขากล่าวว่าเฮอกุเลส คือเทวดาที่เขาถือว่ามีกำลังมาก เช่นนิทานอิสปที่กล่าวถึงคนเข็นเกวียนมาหักลง เรียกให้เฮอกุเลสช่วย เฮอกุเลสเยี่ยมเมฆออกมาบอกว่าให้เอาบ่าดันเข้า นิทานนั้นเป็นคำเปรียบ แต่ความจริงนั้นเฮอกุเลสเป็นเทวดาองค์ ๑ ที่เขานับถือ อีกนัยหนึ่งจะเป็นด้วยอโศกทำรูปยักษ์เป็นเครื่องประดับ รูปยักษ์ทั้งสองนั้นเป็นศิลาแท่งเดียวใหญ่มาก ขุดได้ที่เมืองปาตลิบุตร เดี๋ยวนี้ตั้งอยู่ในอินเดียนมิวเซียม คำจาฤกปีที่สร้างภายหลังสร้างเสาศิลาหน่อยหนึ่ง ศิลาที่ทำนั้นอย่างเดียวกันกับที่ทำเสาและขัดเกลี้ยงเกลาเหมือนกัน

ฝีมือช่างที่ทำการในครั้งนั้น มีแบบข้างตะวันตกเจือปนมากเป็นคลาสซิกอย่างแอดไซเรียนและกรีกเป็นอันมาก ทั้งฝีมือที่ทำนั้นดี ผู้ที่แต่งรายงานนี้จึงคะเนว่าคงจะได้ใช้ช่างกรีกหรือไซเรียนทำด้วย และหนังสือข้างพุทธสาสนากล่าวว่าอโศกได้ไปเป็นเจ้าเมืองตะศิลา (คือตักศิลา) ซึ่งเป็นเมืองเก่าในแขวงปันชาปห่างจากแม่น้ำอินทสทางสามหลับ ในเมืองนั้นเป็นเมืองที่อาเลกซานเดอได้ปกครองอยู่ก่อน มีช่างกรีกอยู่มาก

แต่เมื่อก่อนจะถึงคฤสตศักราชเมืองปาตลิบุตรร้างสิ้นเชื้อวงศ์ของอโศก เมืองหลวงได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น คงจะเป็นด้วยเหตุ ๓ ประการเช่นพระพุทธเจ้าทำนายไว้ คือไฟและน้ำกับทั้งศึกภายใน เมื่อสังเกตดูก็เห็นจริงว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ในทางน้ำเซาะ คงจะพังทางโน้นบ้างพังทางนี้บ้าง ทั้งน่าที่ไข้ห่าจะลงอย่างเช่นเมืองอื่น ๆ ทั้งการศึกภายในเป็นเหตุให้ศึกภายนอกมีมาทั้งข้างเหนือข้างใต้

ในระหว่าง ๑๐๐ ปีที่ ๓ ถึงที่ ๕ ดูเหมือนยังมีเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองเมืองปาตลิบุตร ที่นับถือและอุดหนุนพระพุทธสาสนาอยู่ เชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินปาตลิบุตรชั้นหลังนี้ว่าเป็นวงศ์พระจันทร เพราะพวกมอริยะนั้นเป็นวงศ์พระอาทิตย์ ภายหลังจึงได้ย้ายเมืองหลวงจากปาตลิบุตรไปตั้งอยู่เมืองกะนันชเมื่อระหว่างคฤสตศักราชปีที่ ๓๐๐ ถึง ๕๐๐ พรตจีนชื่อฟ้าเหียนยังได้ไปพบว่าเป็นเมืองใหญ่ มีสถานซึ่งอโศกได้สร้างไว้ยังเป็นปกติดีอยู่ ได้กล่าวถึงด้วยความพิศวงในฝีมือสลักและฝีมือฝังลายกับทั้งภาพศิลาเป็นอันมาก และเวลานั้นยังเป็นเมืองที่เล่าเรียนของพุทธสาสนา มีพระอยู่ประมาณสัก ๖๐๐-๗๐๐ เขาได้อยู่เล่าเรียนในที่นั้นถึง ๓ ปี เมื่อไปสืบหาพุทธสาสนาข้างอินเดียฝ่ายเหนือไม่พบแล้ว

ต่อมาอีก ๒๐๐ ปี เมืองปาตลิบุตรโทรมลงโดยเร็ว เมื่อพรตจีนชื่อห้วนเจียง ได้ไปถึงราวคฤสตศักราช ๖๓๕ ปี พบเมืองนั้นและสิ่งที่ก่อสร้างทำลายโทรมเป็นป่าไปแล้ว แต่เขายังสังเกตได้ว่าวัดฮินดูและสถูปซึ่งทำลายอยู่นั้นถ้าจะนับก็ด้วยร้อยเป็นอันมากที่ยังเป็นปกติดีมีอยู่ ๒-๓ แห่งเท่านั้น ครั้นเมื่อภายหลังมาพวกแขกมหมดันเข้ามาตีอินเดียเมื่อคฤสตศักราช ๑๒๐๐ ปี ได้ตัดทอนเลิกพระพุทธสาสนาขาดไม่มีเหลือในประเทศอินเดีย แต่ชื่อและที่ตั้งเมืองปาตลิบุตรอยู่แห่งใดก็ไม่มีผู้ใดรู้ ครั้นเมื่อฝรั่งมาสืบหาขึ้นเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ ๑๘ ของคฤสตศักราช ผู้ที่เล่าเรียนรู้มากซึ่งเป็นชาวอินเดีย ไม่มีผู้ใดรู้เลยว่าอยู่ที่ไหน แต่นี้ไปเขากล่าวถึงเหตุผลซึ่งได้ค้นคว้าพบอย่างไร อาศัยเหตุอย่างไรประกอบกันต่อไปตามลำดับ ซึ่งไม่เข้าอยู่ในวงความพิจารณาซึ่งต้องการในเวลานี้

เมื่อได้อ่านหนังสือ ๒ เรื่องเช่นกล่าวมาแล้วจึงเอามารวมกันพิเคราะห์เดาตามความเห็นซึ่งน่าจะเรียกว่าอนุมาน เห็นว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่นั้น การปกครองพระสงฆ์เห็นจะไม่เป็นอย่างเดียวกันหมด และไม่สู้จะกวดขันเหมือนสมภารครองพระอารามหลวงเดี๋ยวนี้ ถึงประพฤติรักษาวินัยก็จะเป็นแต่ความพอใจของผู้ใดจะประพฤติเคร่งไม่เคร่ง ทางที่จะทำความเพียรก็ต่าง ๆ กันตามครูบาอาจารย์ที่ควบคุมกันเป็นหมู่ ๆ พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้สั่งสอนให้ตรัสรู้ธรรมที่เป็นยอดของบรรพชา แต่ทางซึ่งจะประพฤติอย่างไรจึงจะตรัสรู้จะไม่กวดขันนัก เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้ตรัสยกย่องพระเถระองค์นั้นเลิศด้วยทางนั้นองค์นี้เลิศด้วยทางนี้ ใครที่อยู่ในคณะท่านองค์ไหนที่เลิศทางใดก็คงพยายามกันไปตามทางอาจารย์ไม่สู้เอื้อเฟื้อต่อทางอื่นนัก ข้อนี้ยังมีพยานอีกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพพาน ยังได้อนุญาตไว้ว่าสิกขาวินัยอะไรควรจะคงไว้ก็ให้คง ถ้าควรจะยกเสียก็ให้ยกเสีย ควรจะเพิ่มขึ้นก็ให้พร้อมกันเพิ่มขึ้น ข้อนี้ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าถือเอาทางตรัสรู้เป็นสำคัญ ไม่ถือข้อวัตตปฏิบัติเป็นหลักฐาน แต่หากท่านผู้ที่ทำสังคายนาเห็นว่าคำสั่งของพระพุทธเจ้านี้กว้างนัก จึงประกาศห้ามกันเสียไม่ให้ผู้ใดแก้ไข ข้อซึ่งต้องประชุมพระอรหันต์ทำสังคายนาในครั้งแรก ได้ยกเหตุว่าวิตกด้วยถ้อยคำของสุภัททภิกษุ กล่าวเมื่อได้ข่าวพุทธปรินิพพานเป็นที่ตั้ง คงจะประกอบด้วยคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่เปิดทางกว้างนัก อีกข้อหนึ่ง แต่ที่เป็นยอดสำคัญนั้น คือพระพุทธเจ้าเทศนาฤๅสั่งสอนอันใดไม่ได้เขียนลงเป็นลายลักษณอักษร และไม่ได้เทศน์ให้พระสงฆ์ฟังพร้อม ๆ กันทั้งหมด พวกนี้รู้อย่างนั้นพวกนั้นรู้อย่างนี้ จึงนัดประชุมกันสังวัธยายความรู้ตามที่ผู้ใดได้ยินได้ฟังให้รู้เท่ากันทั้ง ๕๐๐ องค์ เพราะท่านทั้ง ๕๐๐ นี้คงเป็นหัวหน้าเจ้าคณะควบคุมศิษย์อยู่องค์ละมาก ๆ เมื่อได้ประชุมสาธยายแลกความรู้กันให้รู้เท่า ๆ กันหมดแล้วนำไปสั่งสอนสาวก ก็คงจะเป็นแบบเดียวกันได้หมด เพราะเหตุฉะนั้น ถึงว่าพระอานนท์เป็นปุถุชน ท่านพระอรหันต์เหล่านั้นยังต้องการนักด้วยพระอานนท์เป็นผู้ได้ฟังมาก แสดงให้เห็นว่าความรู้พระอรหันต์ทั้งปวงนั้นไม่เท่ากัน แม้แต่พระอานนท์ยังเป็นปุถุชน พระอรหันต์เหล่านั้นยังรู้น้อยกว่า

ข้อซึ่งหนังสือพรตญี่ปุ่นแต่งกล่าวว่าสังคายนาครั้งแรกและครั้งที่ ๒ เป็นพวกหีนยานทำทั้งนั้น คำที่ว่านี้เห็นจะเรียกแต่พอให้เข้าใจว่าเป็นพระอย่างเก่า เห็นจะไม่หมายว่าท่านทั้ง ๕๐๐๗๐๐ } องค์นี้มีญาณต่ำ เพราะเขาได้กล่าวถึงอาจารย์ข้างฝ่ายมหายานของเขา ว่าเป็นศิษย์ของท่านผู้ที่สืบมาแต่ท่านเถระองค์นั้น ๆ มีมหากัสสปเป็นต้นกี่ชั่วคนทุก ๆ อาจารย์

สังคายนาครั้งแรกนี้พระอรหันต์ที่มาประชุมทั้ง ๕๐๐ นั้น คงจะเป็นผู้ซึ่งมีอายุมากไล่เลี่ยกับพระพุทธเจ้าโดยมาก ไม่ช้านานก็เห็นจะไม่เหลืออยู่สักเท่าใด ตกลงเป็นชั้นศิษย์ก็คงจะหลายชั้น จึงมีความเห็นต่างแตกกันขึ้น ความเห็นที่ต่างแตกกันนี้ ก็คงจะเป็นอยู่หลายปี และความเชื่อถือของคนทั้งปวงก็คงต่างแตกกัน แต่เมื่อยังไม่มีเจ้าแผ่นดินองค์ใดนับถือพระพุทธสาสนาแขงแรงก็ยังไม่อาจจะหักล้างกันลงได้ เมื่อได้พระเจ้ากาฬาโศกเป็นกำลังจึงได้ชำระตัดสินผิดชอบแล้วทำสังคายนาใหม่ สังคายนาครั้งที่ ๒ นี้คงเป็นลักษณเดียวกันกับครั้งแรกแปลกแต่จะกล่าวว่าได้ฟังมาจากอาจารย์ของตน ๆ

ในระยะ ๑๐๐ ปีนี้เป็นเวลาที่พวกกรีกเข้ามาตีอินเดีย พุทธสาสนาซึ่งจับโทรมมาตั้งแต่พระเจ้าอชาตศัตรูล่วงลับไปแล้ว คงจะไม่แพร่หลายอันใดมากนักด้วยเป็นเวลารบพุ่งกันในเมือง ครั้งที่ ๒ มาได้อาศัยกาฬาโศก วงศของกาฬาโศกไม่ยืนยาวไปได้เท่าไร มีศัตรูมาแต่ต่างประเทศคงโทรมอีก ศัตรูต่างประเทศครั้งนี้อยู่ข้างมีอำนาจมาก ครอบงำทั่วทั้งประเทศอินเดีย พวกพระสงฆ์ทั้งปวงคงซ่อนเร้นอยู่เงียบ ๆ จนไม่ปรากฎเป็นสาสนาสมดังที่เขากล่าวไว้ในรายงานปาตลิบุตร ถึงว่าวงศ์จันทรคุปตจะคืนได้อินเดียแล้วก็ไม่ได้เป็นผู้ที่นับถือพระพุทธสาสนา จนถึงปีที่๑๐ ของรัชชกาลแห่งพระเจ้าอโศกผู้เป็นราชนัดดาจันทรคุปต จึงได้นับถือพระพุทธสาสนา

ตติยสังคายนาซึ่งพระเจ้าอโศกเป็นผู้อุปถัมภ์นั้น ห่างกันกับทุติยสังคายนาถึงราว ๑๓๘ ปี การสังคายนาครั้งนี้นับว่าเป็นการเก็บรวบรวมธรรมที่หายหกตกหล่น ดูเป็นส่วนข้างฝ่ายพระเจ้าอโศกอยากทำเองมากกว่าที่พระสงฆ์จะขวนขวาย ข้างลังกาว่ามีพระโมคคัลลีบุตรดิศเถรอีกองค์หนึ่งนอกจากพระอุปคุปต แต่ข้างฝ่ายมหายานไม่กล่าวถึงออกชื่อแต่อุปคุปต จนผู้ที่แต่งรายงานปาตลิบุตรเขากล่าวว่าพวกอาจารย์ฝรั่งเขาคิดเห็นไปว่าอุปคุปตและดิศโศเป็นองค์เดียวกัน เพราะในเสาศิลาจารึกก็กล่าวถึงแต่พระอุปคุปต (เขาคัดคำเทียบไว้แต่ดูยังเป็นเดาหลวม ๆ อยู่ไม่ต้องการจะเอามากล่าวถึงก็กล่าวถึง)

ข้อซึ่งพวกมหายานไม่กล่าวชัดว่าผู้ซึ่งทำสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ เป็นมหายานฤๅหีนยานบางทีเขาจะหมายเอาความเกิดของมหายานว่า เกิดที่เมืองปาตลิบุตรในคราวเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงพระมหินทรเถร เขากล่าวต่างไปว่าเป็นน้องพระเจ้าอโศกเรียกว่ามเหนทร จนพระเจ้าอโศกให้ยักษ์สร้างถ้ำให้อยู่ในระหว่างพระราชวังกับเมืองปาตลิบุตรก็ไม่กล่าวถึงว่าเป็นฝ่ายมหายานฤๅหีนยาน และตามที่กล่าวนั้นบวชอยู่ในเมืองราชคฤห์แล้วไม่ได้มาบวชในเมืองปาตลิบุตร และเมื่อมาอยู่เมืองปาตลิบุตรก็อยู่ลำพังไกลกันกับเขาที่สร้างขึ้นให้ท่านอุปคุปตอยู่มาก ถ้าหากว่าเชื่อพวกลังกาว่าพระมหินทรได้ออกไปลังกาเป็นแน่ ซึ่งฝรั่งเขาก็ออกจะเชื่อ ๆ เพราะไปค้นพบชื่อสังฆมิตตาบวชและออกไปลังกากับมเหนทร ถ้าเช่นนั้นได้ออกไปในปีที่ ๑๗ แห่งราชสมบัติของอโศก ตามเรื่องลังกาว่าได้ไปทำสังคายนาในเมืองลังกา เป็นจตุตถสังคายนาตามเสียงชาวลังกานับ แต่ที่แท้เป็นการทำคนละแห่งห่างกันเพียง ๒๐ ปี แปลว่าเหมือนเอาสำเนาในอินเดียออกไปประกาศที่เมืองลังกา เพราะเหตุฉะนั้นจะถือว่าพระมหินทรเถรเป็นมหายานไม่ได้ ถ้าจะถือว่าเป็นครูของหีนยานจะชอบกลกว่า

ในระยะนี้เกือบ ๒๐๐ ปีไม่มีสังคายนาเป็นเวลาที่พระเจ้าอโศกล่วงลับไป โอรสของพระเจ้าอโศกยังคงถือพุทธสาสนา แต่ราชนัดดาปรากฎว่ากลับไปถือเชนะ เข้าใจว่ามหายานคงจะเกิดในระยะ ๒ แผ่นดินนี้เอง พวกหีนยานผู้รู้จะน้อยเข้า พวกมหายานจะเกิดผู้มีสติปัญญาและความรู้ ทั้งจะมีท่านพวกพราหมณ์ที่เป็นอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่สันทัดในทางนั่งกรรมฐาน เป็นที่นับถือของพระไปร่ำเรียน จึ่งเกิดเขียนคัมภีร์ปรุงสาสนาขึ้นใหม่ ฤๅสาสนาพระพุทธแต่เดิมจะออกพราหมณ์ ๆ อยู่มากกว่าที่พวกหินยานถืออยู่เดี๋ยวนี้ แต่ครั้นเมื่อนาน ๆ มาความรู้ทางฝ่ายหีนยานจะเสื่อมลงเลยแพ้มหายาน แต่ยังไม่สูญสิ้นเชื้อ จนฟ้าเหียนซึ่งออกไปเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๘๐๐-๙๐๐ ปีก็ยังมีอยู่

ข้อที่ทำจัตุตถสังคายนาเมื่อพระพุทธสาสนาล่วงได้ ๔๓๓ ปี และเขียนเป็นหนังสือจารึกลงในใบลานนี้ คงจะเป็นด้วยท่านพวกพระในอินเดีย นำคัมภีร์มหายานออกไปเมืองลังกา จึงเกิดเป็นปากเสียงเถียงกันขึ้น พวกลังกาจึงได้ทำสังคายนาและเขียนลงในใบลานเป็นภาษาลังกา เพราะจะเถียงกันกับพวกมหายานปากเปล่าเป็นการเสียเปรียบ ความคิดที่เขียนหนังสือนั้นเป็นความคิดได้จากพวกมหายาน

แต่นี้ทอดไปอิกถึง ๕๐๐ ปี จนถึงพุทธสาสนาล่วงได้ ๙๕๖ ปี พระพุทธโกษาจึงออกไปแปลภาษาลังกาลงเป็นภาษามคธเขียนขึ้นใหม่ การที่แปลกลับเป็นภาษามคธเสียนี้ ก็บอกเหตุผลชัดว่าเป็นภาษาลังกาอยู่แต่งเพิ่มเติมง่าย พวกลังกาคงจะทำลิ้นลงไปไว้มากเหลือเกิน จนเอาหนังสือนั้นไว้ไม่ได้ต้องเผาไฟหมด ถ้าขืนเอาไว้คนก็ยังจะเชื่ออยู่เสมอ งานที่พระพุทธโกษาไปทำนั้นคงจะเอาฉะบับที่พวกหีนยานแต่งขึ้นสู้มหายานในอินเดียลงไปสอบกับฉะบับลังกา เพราะเหตุว่าถ้าลังกาเป็นผู้ที่ได้เป็นหีนยานมาแต่เดิม ไม่ได้มีมหายานแซกแซง คงจะได้ความสั่งสอนฝ่ายหีนยานซึ่งท่านพวกหีนยานในอินเดียลืมเสียบ้าง ปรวนแปรไปตามมหายานบ้าง

ข้างฝ่ายหนังสือที่มีอยู่ในลังกานั้นเล่า ของเดิมก็คงจะมีที่พวกลังกาแต่งขึ้นเชือนไปเหลือกำลังก็คงจะมี ท่านพุทธโกษาคงจะได้เลือกทิ้งเสียทั้งสองข้าง คัดเอาแต่ที่เห็นว่าควรจะเป็นธรรมเขียนขึ้นใหม่ จึงต้องทำการอยู่ถึงปีหนึ่ง

ในระหว่าง ๖๐๐-๗๐๐ ปี ตั้งแต่พระพุทธสาสนาได้ ๒๐๐ เศษ ฤๅ ๓๐๐ จนกระทั่ง ๙๐๐ ซึ่งพวกมหายานมีอำนาจมากนั้น คงจะได้ส่งพวกสอนสาสนาออกมาเที่ยวสั่งสอนในเมืองต่างประเทศตลอดจนเมืองเราจึงถือลัทธิมหายานทั่วกันทั้งสิ้น แต่ข้อซึ่งจะเข้าใจว่านุ่งกางเกงฤๅไม่นั้นเห็นจะไม่นุ่ง อยู่ในอินเดียอย่างไรก็คงมาอยู่อย่างนั้น

ข้อสำคัญมีอีกอย่างหนึ่งที่พวกมหายานเขียนคัมภีร์ของตัวใช้ภาษาสันสกฤต ด้วยเหตุฉะนั้น เมืองใดซึ่งมหายานเคยเป็นสาสนาสำหรับเมือง ๆ นั้นยังคงใช้ชื่อเสียงเป็นภาษาสันสกฤต ถ้าหากว่าเมืองเราไม่ได้ถือสาสนามหายานเหตุไฉนภาษาสันสกฤตและสันสกฤตแผลงลงจนเป็นภาษาไทยจึงจะมีแน่นหนานักดังนี้เล่า จนภายหลังมาเรียนสาสนาจากภาษาบาลีแล้วยังต้องกลับแปลลงเป็นภาษาสันสกฤตเล่า อย่าป่วยกล่าวถึงสิ่งก่อสร้างและที่จมดินอยู่อันเราได้พบเห็นบ่อย ๆ นั้นเลย แต่ภาษาบาลีซึ่งใช้สำหรับพระไตรปิฎกอยู่ทุกวันนี้เป็นภาษาหนึ่งต่างหาก แต่ออกจากภาษามคธ ข้อที่พระพุทธโกษาแปลภาษาลังกาลงเป็นภาษามคธ ฉันเชื่อว่าจริง แต่ที่กลายเป็นภาษาบาลีไปนั้น เข้าใจว่ากลายเมื่อครั้งพระกัสสปเขียนใหม่ เมื่อสังคายนาที่ ๗ เหตุว่าล่วงมาถึง ๔-๕๐๐ ปี ภาษามคธไม่ใช่ภาษาพื้นเมืองของลังกาก็ค่อยเปลี่ยนแปลงเลือน ๆ ไป ท่านกัสสปผู้นี้ไม่ใช่ชาวมคธราฐเป็นชาวลังกาคงจะตกแต่งขึ้นใหม่ ฤๅใช้ตามที่เคยพูดกันในเมืองลังกา เช่นกับมอญเมืองเราพูดไม่เหมือนกันกับมอญมรแมนยังว่านั่นภาษาเดียวกัน นี่เป็นภาษาต่างประเทศแท้ ๆ ภาษาบาลีกับภาษามคธใกล้กันจริง แต่บางคำต่างกันห่างไกลคะเนไม่ได้

สังคายนาซึ่งเขานับว่าเป็นที่ ๗ เมื่อพุทธสาสนาล่วงได้ ๑๕๘๗ ปีนั้น เห็นจะเป็นส่วนข้างเลอะกันในลังกาเอง ด้วยการรบพุ่งในเมืองและด้วยอดเขียนแซกแซงไม่ได้ ภาษาลังกาที่เผาเสียแล้วก็กลับมีขึ้นอีก ต้องเผากันใหม่ สังคายนาครั้งนี้ดูจะไม่สู้มีหลักเหมือนครั้งก่อน น่าจะเป็นเลือกตามใจมาก นิทานรุง ๆ รัง ๆ เห็นจะเลือกติดเข้าไว้ในนี้มาก และในระหว่างนั้นคือพระพุทธสาสนาล่วงได้ ๑๑๐๐ ปี พรตห้วนเจียงไปพบเมืองปาตลิบุตรร้าง ข้างมหายานเองก็จะโทรมมาก ถึงเวลาที่ทำสังคายนาที่ ๗ นี้พุทธสาสนาอินเดียก็เกือบจะหมดฤๅพอจะหมดกัน พะม่าจึงต้องไปรับพระธรรมมาจากเมืองลังกา ๆ อวดว่าเป็นผู้ที่แผ่พระสาสนา ก็อวดกันในระยะนี้

สังคายนาที่ ๘ ซึ่งว่าพระธรรมทินเถรได้ทำที่เมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๒๐๒๐ ปีนั้น เห็นว่าสาสนาหีนยานจะได้เดินมาจากฝ่ายเหนือคือมาจากพะม่า แต่วิปริตผิดเพี้ยนมามากนานอยู่แล้ว ท่านองค์นี้คงจะมาจากลังกาจึงมาแก้ไขขึ้นใหม่

ตอนนี้เองถึงเรื่องที่เรามี ๆ อยู่ คือชั้นคัมภีร์ชินกาลมาลินีพงศาวดารหริภุญชัย พงศาวดารเชียงแสนเชียงใหม่มีท่านพวกลังกามาหนุนเนื่องกันเป็นลำดับ ท่านผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นสามีสังฆราชซึ่งมีคำจารึกเสาศิลาสุโขทัยที่เจ้าแผ่นดินออกบวช ท่านผู้นี้มาทางเมืองนครศรีธรรมราช เดินเรื่อยขึ้นไปตามลำดับจนถึงเมืองเชียงใหม่ การที่เรากลับเป็นหีนยานนั้นคงจะเป็นทั้งข้างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ล้นหลามกันเข้ามา

สังเกตดูเรื่องราวที่ผิดกันในระหว่างหีนยานกับมหายานตามที่ได้รู้เรื่องข้างหีนยานน้อยที่สุดในเวลานี้ ดูเป็นข้างฝ่ายมหายานกล่าวถึงโยกราฟีในอินเดียอยู่ข้างจะถูกต้องมาก ข้างฝ่ายหีนยานออกจะงม ๆ เช่นกับเมืองปาตลิบุตรค่อนจะว่าอยู่ข้างริมทะเล แต่ข้างฝ่ายมหายานเขารู้ชัดเจนว่าอยู่ริมแม่น้ำคงคา ถ้าเป็นเรื่องนิทานชาดกยิ่งเลอะมาก เช่นกับท่านพวกขาดขอนต่าง ๆ ไปเที่ยวป่าพระหิมพานต์ไพล่ลงมาขาดขอนอยู่ในทะเลซึ่งเหลือจะเดินลงมาอย่างไรได้ เห็นจะเป็นด้วยบ้านแกอยู่ลังกา การที่จะลงไปถึงทะเลนั้นดูไม่สู้ยากนัก แต่ข้อซึ่งจะแลเห็นแม่น้ำใหญ่ซึ่งแลไม่เห็นฟากข้างโน้น อยู่ข้างจะนึกยาก เพราะแม่น้ำในลังกามันร่องแร่ง ยิ่งตกมาถึงพวกลาวไปจนถึงได้ทองจากกระสือ ฉันได้แปลคัดเรื่องนิทานมหายานซึ่งเขารบุที่ถูกมาให้ฟังเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยเขาแต่งในท้องที่ ฝ่ายหีนยานแต่งที่อื่น

ธรรมที่ดี ๆ เขาก็รู้อยู่ แต่มีอีกข้อหนึ่งซึ่งจะเป็นการเอาใจให้เข้ากับสาสนาเดิมของพื้นเมือง คือมีเมืองสุขัสวดี มีพระพุทธอมิตาภะซึ่งพุทธุบาทสาสนายืนยาวไม่มืที่สุด นั่งอยู่บนดอกบัว แม้แต่ใครได้ยินพระนามฤๅได้เห็นรัศมีเกิดปีติก็ได้ไปเกิดเป็นอุปปาติกฤๅคัพภไสยกะในดอกบัวที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ มีกำหนดปีได้สำเร็จ มีพระพุทธเจ้าอื่น ๆ ทุกโลกธาตุสั่งสอนธรรมโดยลำพังพระองค์ แต่คงมีองค์หนึ่งครั้งหนึ่งบ้างสองครั้งบ้าง เทศนาถึงพระอมิตาภะ ในเวไนยสัตว์ทราบรูปความอย่างเดียวกันกับเริ่มมหาสมัยสูตร ต่างแต่กลายเป็นออกชื่อพระอย่างอาฏานาติยสูตรนั่นก็ย่อยลงไปจนกระทั่งถึงสูตรนี้ใครเขียนขึ้นตอนหนึ่ง อายุจะไม่ต่ำกว่าขัย ๒ ตอน ๓ ตอนอายุก็ทวีมากขึ้นไป บ่นบริกรรมได้มากเที่ยวก็มีอานิสงส์ต่าง ๆ ขึ้นไป มันไปข้างทางกอดของฝรั่ง ข้อที่ฝรั่งนิยมชมชื่นว่าพุทธสาสนาคล้ายสาสนาพระเยซูนั้น เขาเรียนจากมหายาน ดูเหมือนหนึ่งว่าจะเลื่อมใสมหายานมากกว่าหีนยานเพราะแลเห็นพระนิพพานไม่ได้จริง ๆ เป็นพ้นวิสัย เมื่อ } วันล่วงมานี้มีผู้ลงพิมพ์กล่าวถึงอนาคตวงศ์ที่เขาได้อ่านจากเมืองพะม่า กล่าวติเตียนต่าง ๆ แล้วบอกว่ากลิ่นอายเหมือนออกจากเกือกบู๊ตพวกมหายานเพราะพวกมหายานเขาแต่งหรูกว่ามาก

วิธีนั่งพระธรรมเขาแปลเป็นอังกฤษก็มี ขึ้นต้นก็นั่งพับแพนงเชิง ตั้งศีร์ษะให้ตรงแล้วก็เริ่มอานาปานัสติ เรียกอย่างเดียวกันกับนั่งพระธรรมของเรามีโอภาส มีกระสิณ แต่มีอะไร ๆ ต่อไปอีกมากจนถึงฌาน แล้วฉันก็หยุดอ่านเสียเพราะฝืดเต็มทีด้วยต้องมานึกเทียบกับข้างเรา ถูกที่เกินความรู้ก็ไม่ออกสนุก เข้าใจว่าหนังสือจะมีมากกว่าหีนยานมาก แต่ลงปลายก็ไปที่สระบัวนั้นเอง

ได้แปลคำฟ้าเหียนเล่าเรื่องมหายานหีนยานปนกับพราหมณ์อย่างไรเมื่อเวลาเขาไปเห็น พอให้เป็นทางสันนิษฐานกับเรื่องสาสนาเชนที่ฉันได้ไปพบอีกเรื่องหนึ่งส่งมาให้ดูด้วย

ฉันมีความเห็นแต่พูดออกไปมันชวนจะเป็นมิจฉาทิษฐิ ว่าหีนยานก็ดี มหายานก็ดี ที่จะเหลือแก่นเดิมนั้นน้อย ผู้ที่แต่งขึ้นก็แต่งไปตามความเข้าใจของตัวและตามกาลตามสมัยและชั้นชั่วอายุคน และไมใช่แต่พุทธสาสนาถึงสาสนาเก่า ๆ อื่นๆ เช่นสาสนาพระเยซู ก็เซนต์อะไรต่ออะไร แกแต่งไปตามใจต่าง ๆ กัน จะมีแต่ปรินสิเปอล คือข้อที่ตั้งของสาสนายังคงอยู่เท่านั้นทุก ๆ สาสนา

สวนดุสิต

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ